xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคดีโอ๊คฟอกเงิน ถูกอัยการฆ่าตัดตอน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"


ระบบศาลยุติธรรม ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เพื่อให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้คดีกันอย่างเต็มที่ ผู้แพ้คดีในศาลชั้นต้น หรือเห็นว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ใหม่ หากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ยังยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาได้

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลใหม่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2559 มีวิธีการพิจารณาคดีที่แตกต่างจากศาลยุติธรรมทั่วไป รวมทั้งการมีเพียงสองชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ คดีจะถึงที่สุดที่ศาลอุทธรณ์ ยกเว้นได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาในกรณีเช่น เป็นข้อกฎหมายใหม่ที่ศาลฎีกาต้องการวางบรรทัดฐานหรือคดี ที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิตจำเลย จึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาได้

จำเลยที่ต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริต จึงมีความเสี่ยงกว่าคดีอาญาทั่วไป ในแง่ที่ว่า คดีจะจบเร็วกว่า โอกาสที่จะ “แก้มือ” คือ ขอให้ศาลสูงพิจารณาทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นน้อยกว่า ไม่ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินในทางเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อจำเลย ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินอย่างใด หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาออกมา ถือว่า คดีสิ้นสุดไปเลย ไม่มีฎีกา

พูดง่ายๆ คือ จำเลยในศาลอาญาคดีทุจริต มีโอกาส “ติดคุก” เร็วกว่าศาลอาญาคดีอื่นๆ เพราะมีเพียง 2 ศาล ไม่ใช่ 3 ศาล

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ คดี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในคดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตในชั้นศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา นายยงยุทธ ยื่นฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2562 ทำให้นายยงยุทธ ต้องติดคุกทันทีในวันเดียวกันนั้น ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นจำเลย ข้อหาร่วมฟอกเงิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการที่ธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้บริษัท กฤษดามหานคร เป็นคดีในศาลอาญาคดีทุจริต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 2562 เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนัก

แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นนี้ ไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะองค์คณะผู้พิพากษา 2 คน คนหนึ่งตัดสินว่า ไม่ผิด อีกคนหนึ่งเห็นว่า ผิด ให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี

นายพานทองแท้ รอดคุกมาได้ เพราะหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญา มาตรา 184 ที่บอกว่า ในการประชุมปรึกษาขององค์คณะ เพื่อมีคำพิพากษา หากประเด็นใด ผู้พิพากษาองค์คณะเห็นแย้งกัน โดยไม่มีเสียงข้างมาก ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาก ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษา ซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

โดยธรรมเนียมปฏิบัติ และโดยสามัญสำนึก และโดยความคาดหวังของสังคม อัยการจะต้องอุทธรณ์คดีนี้ ยิ่งมีความเห็นของผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งว่า นายพานทองแท้ผิด ให้จำคุก 4 ปี ก็แสดงว่า ช่องทางในการต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์มีโอกาสที่จะเอาผิดนายพานทองแท้ได้ แต่อัยการกลับ “ตัดตอน” ยุติคดีให้จบเพียงเท่านั้น โดยการไม่ยื่นอุทธรณ์

ไม่รู้ว่า เป็นเพราะไม่อยากเอาชะตากรรมของนายพานทองแท้ ไปเสี่ยงกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือเปล่า เพราะหากยื่นอุทธรณ์ อัยการสามารถใช้ความเห็นแย้งของผู้พิพากษาที่ให้จำคุกนายพานทองแท้ 4 ปีประกอบคำอุทธรณ์ได้ และถ้าศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่มีการฎีกา

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า คณะทำงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตนั้น ชอบแล้วที่ยกฟ้อง เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาล จึงเสนอความเห็นควรไม่อุทธรณ์ไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลสูง ที่มีนายมนต์ชัย บ่อทรัพย์ เป็นอธิบดีอัยการ ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 คน ร่วมกันพิจารณาสำนวน คณะทำงานทั้ง 5 คน เห็นเป็นเอกฉันท์ ว่า คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องนายพานทองแท้นั้น ชอบแล้ว จึงเห็นว่า ไม่ควรอุทธรณ์ แต่ต้องถามความเห็นของดีเอสไอ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนก่อน

แสดงว่า อัยการไม่ให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้พิพากษาอีกคนหนึ่ง ที่ตัดสินว่า นายพานทองแท้ผิดให้จำคุก 4 ปี อ้างแต่ความเห็นที่เป็นคุณกับนายพานทองแท้

เคยมีคดีสื่อโดนฟ้องหมิ่นประมาท ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักการเมืองในรัฐบาลทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ไม่ฟ้องศาลเอง แต่ไปแจ้งความกับตำรวจ ตำรวจทำสำนวนส่งอัยการ อัยการสั่งฟ้อง เป็นทนายในศาลเอง ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง อัยการก็ยังยื่นฎีกา ทั้งๆ ที่เป็นคดีความส่วนตัว ไม่ใช่ผลประโยชน์ของแผ่นดินเลย แต่คดีการใช้อำนาจมิชอบของลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรี อัยการกลับตัดตอนอุ้มนายพานทองแท้ออกมาจากศาลเอง

ในอดีต เมื่อปี 2554 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ศาลชั้นต้นยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และลดโทษนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จากจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา เป็นจำคุก 2 ปีให้รอลงอาญา คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อธิบดีศาลอุทธรณ์ในขณะนั้น ทำความเห็นแย้งองค์คณะผู้พิพากษาว่า ไม่ควรรอการลงโทษนายบรรณพจน์ เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการหลีกเลี่ยงในคดีนี้มีจำนวนสูงถึง 273 ล้านบาท

คดีนี้ จบลงที่ศาลอุทธรณ์ เพราะอัยการสูงสุดในตอนนั้นไม่ยื่นฎีกา ถึงแม้ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์กับศาลชั้นต้นจะไปคนละทาง และถึงแม้ว่า อธิบดีศาลอุทธรณ์เอง ก็ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน

การตัดสินใจของอัยการที่ไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้นี้ ถูกต้องแล้วหรือไม่ มีหลักคิดง่ายๆ ข้อเดียวคือ ให้ถามตัวเองว่า ถ้าไม่ใช่นายพานทองแท้ ที่เป็นลูกนายทักษิณ แต่เป็นนาย ก. นาย ข. ลูกคนธรรมดา อัยการจะตัดสินใจแบบเดียวกันไหม?

กำลังโหลดความคิดเห็น