“วัชระ เพชรทอง” อดีต ส.ส.ปชป.ยื่นอัยการขอเหตุผลไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงิน “โอ๊ค” มีใบสั่งหรือไม่ อัยการแจงอัยการคดีศาลสูงพิจารณาโดยเห็นพ้องตามศาล
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (17 เม.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ขอทราบเหตุผลรายละเอียดกรณีที่อัยการไม่อุทธรณ์คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษดามหานคร จำนวน 10 ล้านบาท ที่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย พร้อมนำบทความคอลัมน์ “กวนน้ำให้ใส” ของผู้ใช้นามปากกา “สารส้ม” จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า เรื่อง “อย่าหักดิบคดีพานทองแท้ ระวังสึนามิวิกฤตศรัทธา” ซึ่งมีเนื้อหาสรุปความเห็นแย้งของผู้พิพากษาในคดีนี้มามอบให้อัยการ โดยมี นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง
นายวัชระ เปิดเผยว่า ตามที่อัยการสำนักคดีพิเศษและอัยการศาลสูง ได้เห็นพ้องต้องกันมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ ฟอกเงินนั้น พี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีมีความสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดคดีนี้เป็นอย่างมาก จึงให้ตนส่งหนังสือถามดังต่อไปนี้ 1. การที่อัยการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ โดยอ้างคำพิพากษายกฟ้องนั้น ท่านได้อ่านความเห็นแย้งของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่ตัดสินลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ 4 ปี หรือไม่ ซึ่งคดีนี้มีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่านเท่านั้น และความเห็นแย้งของท่านผู้พิพากษาฉบับเต็มนั้นย่อมติดอยู่ท้ายคำพิพากษาในคดีนี้อยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดผู้ว่าคดีแล้ว
2. การปฏิบัติราชการของอัยการ กรณีผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นมีความเห็นแย้งแนบท้ายคำพิพากษา เมื่อคดีมันไม่ขาด ในอดีตอัยการมีธรรมเนียมการปฏิบัติราชการที่ผ่านมาอย่างไร 3. ขอให้เปิดเผยเหตุผลการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้โดยละเอียด และขออนุญาตถามตรงๆ ว่า มีใบสั่งหรือมีการแทรกแซงทางการเมืองหรือมีการวิ่งเต้นคดีนี้หรือไม่ 4. คณะกรรมการอัยการศาลสูงที่ตัดสินเห็นพ้องต้องกันไม่อุทธรณ์เป็นเอกฉันท์นั้น ได้มีการหารืออัยการสูงสุดหรืออัยการสูงสุดเห็นชอบด้วยหรือไม่ หรือจะมีการทบทวนดุลพินิจไม่อุทธรณ์นี้หรือไม่ 5. ขอให้เปิดเผยรายชื่ออัยการสำนักคดีพิเศษผู้ว่าคดีนายพานทองแท้ และขอคำสั่งแต่งตั้งหรือรายชื่ออัยการคดีศาลสูง โดยขอให้เปิดเผยรายชื่อต่อสาธารณชนได้หรือไม่ 6. ขอทราบรายชื่อคดีสำคัญๆ ที่สำนักงานคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ พ.ศ. 2540 มีคดีอะไรบ้าง
“ถามอัยการสูงสุด ถามสำนักงานอัยการสูงสุดตรงๆ ว่า คดีนายพานทองแท้คดีนี้มีใบสั่งหรือมีการวิ่งเต้นหรือไม่ ซึ่งจากการที่ผมขอรายชื่ออัยการศาลสูงทั้ง 5 ท่านนั้น ก็เพื่อที่จะเตรียมการนำไปพิจารณาดำเนินการฟ้องต่อศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยมี ทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ และคณะ ซึ่งเป็นทนายความกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะร่างสำนวนฟ้องต่อศาลยุติธรรมต่อไป” นายวัชระ กล่าว
เมื่อถามถึงการฟ้องอัยการจะใช้พยานหลักฐานเหตุผลอย่างไร นายวัชระ กล่าวว่า เรามาขอเหตุผลจากทางสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนว่าท่านมีเหตุผลประการใด ที่เห็นพ้องต้องกันในการไม่อุทธรณ์คดีนายพานทองแท้ เรามาขอทราบเหตุผลจากท่านก่อนว่ามีเหตุผลรับฟังได้หรือไม่ เพราะคดีนี้ศาลมีองค์คณะผู้พิพากษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งให้ยกฟ้อง อีกท่านให้ลงโทษจำคุก 4 ปี เมื่ออัยการเลือกใช้ดุลพินิจเห็นชอบกับท่านที่ให้ยกฟ้อง แล้วเหตุใดจึงตัดคำพิพากษาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอีกท่านหนึ่ง ทำไมไม่พิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลสูง เพื่อให้ความยุติธรรมกับนายพานทองแท้ต่อไป เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่เป็นเอกฉันท์ โดยหลักปฏิบัติที่ผ่านมา ต้องถามท่านอัยการปฏิบัติอย่างไร อุทธรณ์หรือไม่ ทำไมคดีนี้ถึงไม่อุทธรณ์
เมื่อถามถึงขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาอุทธรณ์แล้ว อยากฝากอะไรถึงดีเอสไอ นายวัชระ กล่าวว่า อยากให้รักษาการอธิบดีดีเอสไอได้ดู นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ เป็นอุทาหรณ์ เพราะถ้าทำตามใบสั่งทางการเมือง ในที่สุดไม่มีใครช่วยข้าราชการประจำได้ จึงขอให้ข้าราชการประจำทุกท่านได้โปรดยึดหลักกฎหมายของบ้านเมือง ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม อย่าทำตามใบสั่งหรือทำตามการวิ่งเต้นใดๆ ทั้งสิ้น ตนเชื่อว่า สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้ความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศต่อไป รวมทั้งดีเอสไอและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นผู้ติดตามเส้นทางการเงินของนายพานทองแท้ นำส่งหลักฐานให้ดีเอสไอในการฟ้องคดีฟอกเงินนี้ มีหลักฐานแจ่มชัด
หลังรับเรื่อง นายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือแล้ว โดยระเบียบขั้นตอนของสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้นำลงสารบบกราบเรียนท่านอัยการสูงสุดต่อไป คดีนี้เมื่อทางพนักงานอัยการศาลสูงมีคำสั่งไม่อุทธรณ์ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จตามกระบวนการกฎหมาย สำนวนคดีนี้ไปต่อที่ดีเอสไอ ถ้าดีเอสไอพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับคำสั่งของอัยการก็จะถึงที่สุด แต่ถ้าเห็นแย้งก็ส่งต่อมาที่อัยการสูงสุดชี้ขาด ในส่วนเนื้อหาโดยภารกิจตนไม่สามารถไปอธิบายได้ แต่ยืนยันในหลักการว่าศาลยกฟ้อง ความเห็นขององค์คณะที่แตกต่างเป็นรายละเอียดทางคดี
“ในแง่กฎหมายคือยกฟ้อง อัยการคณะทำงานก็เห็นด้วยกับศาลยกฟ้องเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ส่วนประเด็นการพิจารณาผมยืนยันได้ในหลักการ มีหนังสือร้องเรียนบอกว่ามีใบสั่งวิ่งเต้นไหม ขอให้มั่นใจว่าไม่มีประเด็นเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกับการวินิจฉัยของศาล อัยการสั่งไม่อุทธรณ์ก็คงทำนองเดียวกัน ในหลักการตรงนี้อธิบายได้” นายประยุทธ กล่าว