xs
xsm
sm
md
lg

อัยการชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี"โอ๊ค"ฟอกเงิน ทุจริตปล่อยกู้ ธ.กรุงไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีร่วมกันกันฟอกเงินทุจริตเงินปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย จำนวน 10 ล้านบาท ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91

สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง มีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งต่อมาทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ทำความเห็นส่งไปยังอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ว่าเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีต่อ ซึ่งอัยการสำนักงานคดีศาลสูงเห็นด้วย ตามกฎหมายจึงต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ความเห็นของพนักงานอัยการ และคำพิพากษาของศาล ทั้งที่พิพากษายกฟ้อง และที่ทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษา ประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการที่เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว เห็นว่ายังมีประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูงเพื่อวินิจฉัย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่ศาลสูงโดยส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา

คำสั่งชี้ขาดดังกล่าวลงนามโดยรองอัยการสูงสุดคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นขอขยายอุทธรณ์ครั้งที่ 6 โดยศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ เเต่เมื่อมีการชี้ขาดอัยการสูงสุดสั่งไม่อุทธรณ์ดังกล่าวคดีดังกล่าวถือเป็นอันสิ้นสุด

สำหรับคดีนี้ในศาลชั้นต้น องค์คณะผู้พิพากษา 2 คนมีความเห็นต่างกันในการตัดสิน โดยหนึ่งในองค์คณะมีความเห็นแย้งว่า พฤติการณ์ที่มีเช็คเงินลงชื่อนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โอนเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย โดยหากคู่ความยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย

โดยเหตุผลคำสั่งชี้ขาดดังกล่าวคาดว่าจะมีการชี้เเจงจากสำนักอัยการสูงสุดต่อไป