อัยการสูงสุดชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี “โอ๊ค พานทองแท้” ลูกชาย ทักษิณ ชินวัตร ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย 10 ล้านบาท ทำให้คดียุติลง
วันนี้ (28 พ.ค ) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า นายวงศ์สกุล กิติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดี ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค ชินวัตร คดีฟอกเงินการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ทำให้คดีนี้ยุติลง ซึ่งจะได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่อไป
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีอาญา หมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่น ฟ้อง นายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค ชินวัตร บุตรชายคนโต นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คดีฟอกเงินการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ล้านบาท เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2562 โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานต่างๆ ในคดีแล้ว ให้ยกฟ้องนายพานทองแท้
ต่อมาอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ได้ทำความเห็นเบื้องต้นว่า เห็นควรไม่อุทธรณ์คดีแล้วส่งความเห็นพร้อมสำนวนคดีทั้งหมดไปยังอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ซึ่งอัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีความเห็นพ้องตามด้วย
ทั้งนี้ ตามกฎหมายเมื่ออัยการสำนักงานคดีศาลสูง มีความเห็นไม่ควรอุทธรณ์ จึงต้องส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ และมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา คือ นายพานทองแท้ ข้อหาร่วมกันฟอกเงินพิจารณาตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งดีเอสไอได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอความเห็นต่ออธิบดีดีเอสไอ พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน ความเห็นของพนักงานอัยการ และคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่พิพากษายกฟ้อง และที่ทำความเห็นแย้งไว้ท้ายคำพิพากษา ประกอบกับความเห็นของพนักงานอัยการที่เห็นควรไม่อุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว ซึ่งอธิบดี ดีเอสไอ พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังมีประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ควรต้องนำสู่การพิจารณาของศาลสูง (ศาลอุทธรณ์) เพื่อวินิจฉัย
ดังนั้น เมื่ออธิบดีดีเอสไอ มีความเห็นควรให้นำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูง จึงส่งความเห็น ผลคำพิพากษาของศาล สำนวนคดีความเห็นของอัยการสำนักงานคดีศาลสูง ให้อัยการสูงสุด พิจารณาชี้ขาด เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยมีรายงานว่า รองอัยการสูงสุดคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติราชการเเทนอัยการสูงสุด ได้พิจารณากลั่นกรองและลงนามในคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ โดยเมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์ดังกล่าว ตามกฎหมายถือว่าคดีนี้เป็นอันสิ้นสุดแล้ว
สำหรับคดีนี้ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น องค์คณะผู้พิพากษา 2 คน มีความเห็นต่างกันในการพิพากษาวง โดย 1 ในองค์คณะ มีความเห็นแย้งว่า พฤติการณ์ที่มีเช็ค มีการลงชื่อ นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร โอนเข้าบัญชีของนายพานทองแท้ เป็นความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย โดยหากคู่ความยื่นอุทธรณ์ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบด้วย
สำหรับคำฟ้องคดีนี้อัยการ ยื่นฟ้อง บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 หลังจาก นายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทย ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัย ได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มี นายรัชฎา บุตรชาย, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการ บริษัท แกรนด์แซทเทิลไลท์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มี นายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัย ได้โอนเงินจากการขายหุ้น ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โดย นายวิชัย สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค. 2547 จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.ไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อ นายพานทองแท้ จำเลย ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2547 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัด ของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค. 2547 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลยอีกอัน จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค.- 26 พ.ย. 2547 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000-20,000 บาทรวม 11 ครั้ง และในช่วงวันที่ 14 มิ.ย. 47 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย. 2547 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาท จากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. 2547 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาท จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ โดย นายวิชัย, นายรัชฎา กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทย (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ คนละตั้งแต่ 12-18 ปี