xs
xsm
sm
md
lg

กรณีไม่อุทธรณ์คดีพานทองแท้ อัยการต้องตอบให้สิ้นสงสัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ


จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้อง นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีฟอกเงินจากกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนเช็ค 10 ล้านบาท และต่อมาคณะทำงานในสำนักอัยการคดีศาลสูง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ โดยส่งความเห็นไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และดีเอสไอทำความเห็นแย้งส่งกลับไปยัง อัยการสูงสุด ว่า คดีนี้มีประเด็นสำคัญควรให้ศาลสูงวินิจฉัย จึงขอให้อุทธรณ์คดีดังกล่าว

ต่อมานายประยุทธ เพชรคุณ อัยการคดีพิเศษสำนักงานคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การพิจารณาผลสรุปคำสั่งชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพานทองแท้ โดยผู้ลงนามคำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์คือ นายเนตร นาคสุข รอง อสส. คนที่ 1 อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่รักษาราชการแทน นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ระหว่างเดินทางไปราชการในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 7 ตลอดสัปดาห์

การแถลงของนายประยุทธ ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่อุทธรณ์ต่อสื่อมวลชน แจ้งเพียงว่า สำนวนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีหน้าที่พิจารณาความเห็นแย้ง ได้ทำความเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว ก่อนส่งความเห็นมายังอัยการสูงสุด โดยมีนายเนตรรักษาการแทน และพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรอุทธรณ์คดีตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นมา จึงมีความเห็นชี้ขาดไม่ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ตั้งแต่ 24 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

มีคำถามตามมาว่า ทำไมนายเนตรซึ่งเป็นเพียงรักษาการจะต้องรีบร้อนเซ็นในวันดังกล่าวทั้งที่ทางสำนักงานอัยการฯได้ยื่นขยายเวลาอุทธรณ์ไป 25 มิ.ย. 2563 ยังมีเวลาอีกมากที่จะรอให้อัยการสูงสุดกลับมาพิจารณาด้วยตัวเอง


เป็นที่ทราบกันว่า คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ ไม่ผิดฐานฟอกเงิน เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่านายพานทองแท้จำเลยได้รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาทที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ โอนเข้าบัญชีว่านายวิชัยได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย

ทั้งนี้ศาลอ้างว่า ขณะที่รับโอนเงินจำเลยมีอายุเพียง 26 ปีและขณะนั้นมีเงินรายได้จากหุ้นในบริษัทอยู่แล้ว ถึง 4,000 ล้านบาทโดยเมื่อเทียบกับเงิน 10 ล้านบาทแล้วคิดเป็น 0.00 25 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินดังกล่าว ขณะที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่าขณะที่รับโอนหุ้นในพานทองแท้เป็นบุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตรและมีความสนิทสนมกับครอบครัวของนายวิชัยเพียงเท่านั้น

มีคำถามนะครับว่า เหตุผลในการอ้างว่า มีเงินอยู่จำนวนมาก เมื่อเทียบกับเงินที่ถูกกล่าวอ้างว่า มีการฟอกเงินมีจำนวนน้อยนั้นสามารถนำมากล่าวอ้างได้หรือไม่ในการพิจารณาคดี หรือเราจะใช้ตรรกะว่ารวยแล้วไม่โกงมาเป็นบรรทัดฐานได้ไหม แต่ช่างเถอะเมื่อศาลพิจารณาแล้ว เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการของศาล


แต่ที่สำคัญในคดีนี้ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว องค์คณะฯ ได้ชี้แจงให้คู่ความรับทราบด้วยว่า คดีนี้องค์คณะผู้พิพากษา (มี 2 คน) มีความเห็นต่างกันในการตัดสิน จึงได้นำความเห็นที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสิน ขณะที่ความเห็นขององค์คณะอีกคนหนึ่งนั้นเห็นแย้งว่า จำเลยมีความผิด เห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย หากคู่ความยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ในสำนวนก็จะขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ทราบเช่นกัน

สำหรับความเห็นแย้งนั้นระบุว่า คดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้ จึงให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลย ซึ่งเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 5(1)(2), 60 ลงโทษจำคุก 4 ปี ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า คือยกฟ้อง

จะเห็นได้ว่า แม้รายพานทองแท้จะได้ประโยชน์จากความเห็นที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยมาเป็นคำตัดสินให้ยกฟ้อง แต่เมื่อมีความเห็นจากผู้พิพากษาอีกท่านหนึ่งว่า มีความผิด ก็ย่อมจะเป็นช่องทางที่อัยการหยิกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ได้โดยง่าย

เพราะโดยหลักแล้วการยื่นฟ้องคดีนายพานทองแท้ของอัยการต่อศาลแต่ต้นนั้น จะต้องมีความเชื่อเป็นเบื้องต้นว่า คดีมีมูล

ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุผลที่อัยการสำนักงานคดีศาลสูงมีคำสั่งไม่ให้อุทธรณ์ และต้องทำหนังสือชี้แจงเหตุผลในการสั่งไม่อุทธรณ์ไปยังอธิบดีดีเอสไอเนื้อหาของเหตุผลคืออะไร

และเมื่ออธิบดีดีเอสไอเห็นแย้งว่าควรจะยื่นอุทธรณ์ แล้วส่งกลับมายังอัยการสูงสุดจนกระทั่งรองอัยการสูงสุดซึ่งรักษาแทนอัยการสูงสุดลงนามเซ็นสั่งไม่อุทธรณ์เพราะเห็นด้วยตามข้อเสนอของสำนักงานคดีศาลสูงนั้น เหตุผลที่สั่งไม่อุทธรณ์คืออะไร ควรจะแถลงชี้แจงตรรกะหลักการและข้อกฎหมายที่อ้างเหตุในการไม่อุทธรณ์ให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน

เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้อัยการเคยมีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาในคดีของนางพจมานมารดาของนายพานทองแท้ถูกกล่าวหาว่าหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท และภาษีที่หลีกเลี่ยงจำนวน 546 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91มาแล้ว ทั้งที่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาขัดแย้งกัน


คดีนางพจมานศาลชั้นต้นตัดสินให้จำคุกจำเลยทั้งสามรวมพี่ชายคือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่รับโอนหุ้นและเลขาของนางพจมานคนละ 2 ปี ฐานโดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จฯ หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่2 คนละ 3 ปี

แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องนางพจมานและเลขา แต่ลงโทษจำคุกนายบรรณพจน์ 2 ปี ปรับ 1 แสนบาท จำเลยที่ 1 เคยทำคุณประโยชน์ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา 1 ปี

จะเห็นว่าคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ขัดแย้งกัน อัยการควรจะมีเหตุในการยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาตัดสินคดีชี้ขาดให้สิ้นสงสัย

แต่กลายเป็นว่ากรณีของนายบรรณพจน์ที่ศาลอุทธรณ์ให้รอการลงโทษ อัยการกลับเห็นคล้อยว่า เป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุก ผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้อง อันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก

ทั้งที่ในครั้งนั้นประธานศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งว่าไม่สมควรรอลงอาญานายบรรณพจน์เช่นเดียวกัน

ส่วนกรณีของนางพจมานและเลขาอัยการอ้างเหตุในการไม่ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ทั้งที่ขัดกันกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เห็นว่าควรจะจำคุก

แม้การพิจารณาไม่ยื่นฎีกาของอัยการในคดีนางพจมานอาจจะขัดต่อความรู้สึกของสังคมส่วนหนึ่ง แต่องค์กรอัยการเป็นองค์กรที่สังคมยากจะเอื้อมถึง สังคมจึงยอมรับการใช้ดุลพินิจและเหตุผลที่อัยการพยายามจะชี้แจงต่อสาธารณชนในการไม่ฎีกาคดีนางพจมานครั้งนั้นไปโดยปริยาย

แน่นอนว่าเหตุผลในครั้งนั้นมันค้างคาอยู่ในใจของสังคมส่วนหนึ่งและตั้งคำถามต่อองค์กรอัยการซึ่งเขาเคยเชื่อว่า เป็นทนายของแผ่นดิน มีคนไม่น้อยที่คลางแคลงใจ เพราะในคดีของชาวบ้านทั่วไป แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้องศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง อัยการก็ยังยื่นฎีกาเพื่อจะเอาความผิดให้ได้

จนกระทั่งความคลางแคลงใจเกิดขึ้นอีกครั้งในคดีของนายพานทองแท้

ดังนั้นอัยการควรจะต้องชี้แจงให้สังคมหายสงสัยว่า หลักกฎหมาย เหตุผล และความเชื่อของสำนักงานอัยการที่มีความเห็นว่าไม่ควรยื่นอุทธรณ์คดีนายพานทองแท้คืออะไร

ทำไมอยู่ๆ ความเชื่อของอัยการที่ย่อมต้องเชื่อว่าคดีมีมูลก่อนที่จะสั่งฟ้อง และมีความเห็นแย้งขององค์คณะในศาลชั้นต้นที่มีความเห็น1เสียงว่า น่าจะเข้าข่ายความผิดอยู่ด้วยแล้วจึงหายไป ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการยื่นอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลตัดสินชี้ขาดให้สิ้นข้อสงสัย

ณ เวลานี้ผมต้องเชื่อมั่นต่อองค์กรอัยการไว้ก่อนว่า น่าจะมีเหตุผลที่ทำให้สังคมรับฟังได้ เพียงแต่ยังไม่ได้แถลงออกมาให้สังคมทราบ และเชื่อว่า องค์กรอัยการต้องยึดมั่นในพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 8 บัญญัติว่า “การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและหลักนิติธรรม”


อัยการเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบ และค้นหาความจริงในคดีอาญา อัยการมีหน้าที่ในการนําเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาต่อศาล และให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษที่เหมาะสมกับการกระทําความผิด เมื่อการพิจารณาของศาลยังมีเหตุให้ไม่สิ้นสงสัยและสอดคล้องกับเหตุผลในการสั่งฟ้องต่อศาลเพราะเชื่อว่าคดีมีมูลของอัยการเองด้วยแล้ว ปุถุชนทั่วไปก็ย่อมจะไม่สิ้นสงสัยว่า อัยการมีเหตุผลในการสั่งไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนายพานทองแท้อย่างไร

หลายปีมานี้สังคมไทยตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม จนกลายเป็นห่วงโซ่ของความขัดแย้ง องค์กรอัยการจึงต้องแสดงให้สังคมเห็นว่า ยังจะเป็นองค์กรที่ทำให้ประชาชนยังเชื่อมั่นในความยุติธรรมอยู่ได้


ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan



กำลังโหลดความคิดเห็น