xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ณัฏฐพล” จัดให้ ร.ร.นานาชาติ ต้องมาก่อน “โรงเรียนไทย” ต่อคิวรอยาวไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ** รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อาจเพราะมี passion เป็นพิเศษ “ครูตั้น” - นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อดีตประธานโรงเรียนนานาชาติ Rugby School Thailand ธุรกิจของครอบครัว “ทีปสุวรรณ” อันโด่งดัง จึงชงเรื่องเสนอ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ไฟเขียวให้โรงเรียนนานาชาติ 216 แห่ง เปิดเทอม 1 มิถุนายนนี้ ขณะที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ ก็ลุ้นกันไป โรงเรียนไหนจะได้เปิดหรือไม่ได้เปิดเทอมตามกำหนด 1 กรกฎาคมนี้

อย่างที่ว่า โรงเรียนนานาชาติ เป็นธุรกิจการศึกษาที่มีมูลค่ารวมหลักแสนล้านบาท การเรียนออนไลน์ ยังไงก็ไม่ได้ผลเท่ากับการเรียนการสอนตามปกติ หากจ่ายแพงแล้วไม่คุ้ม ไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จะทำให้เสียลูกค้า ดังนั้น ความชัดเจนจะเปิดเรียนได้เมื่อไหร่ ต้องมีคำตอบให้เพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคยอยู่ในวงการเดียวกัน

ในเรื่องนี้ “ครูตั้น” ดูจะมีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ และรับลูกจากสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่เสนอเรื่องขึ้นมาที่ ศธ. และ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้พิจารณาทบทวนการประกาศเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 โดยขอให้โรงเรียนนานาชาติ 216 แห่ง เปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เนื่องจากบางโรงเรียนจำเป็นต้องเปิดเพื่อให้สอดคล้องกับต่างประเทศ ส่วนมาตรการป้องกัน “ครูตั้น” ยืนยันว่าค่อนข้างพร้อม หากมีปัญหานักเรียนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ก็พร้อมจะกลับไปสอนในระบบออนไลน์

สังคมต่างรับรู้กันว่า ครอบครัว “ทีปสุวรรณ” เป็นผู้ลงทุนสร้าง โรงเรียน รักบี้ สคูล ไทยแลนด์ (Rugby School Thailand) โดยจับมือ Rugby School โรงเรียนเอกชนชั้นนำของสหราชอาณาจักร ที่มีประวัติยาวนานกว่า 450 ปี จุดกำเนิดของกีฬารักบี้ โดยใช้งบลงทุน 1,500 ล้านบาท ที่จังหวัดชลบุรี บนเนื้อที่กว่า 180 ไร่ เมื่อปี 2561 ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เจาะกลุ่มลูกค้าอีลีทในไทยและต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV)

ในช่วงต้นนั้น นายณัฏฐพล นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เจ้าของโรงเรียนฯ และประธานโรงเรียน Rugby School Thailand ก่อนจะให้ศรีภรรยา นางทยา ทีปสุวรรณ นามสกุลเดิม “ศรีวิกรณ์” ซึ่งมีประสบการณ์บริหารโรงเรียนศรีวิกรณ์มายาวนาน ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงเรียนนานาชาติรักบี้ฯต่อมาทั้งคู่ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในโรงเรียน เมื่อนายณัฏฐพล เข้าสู่สนามการเมือง เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ดังนั้น เมื่อมีเรื่องนี้ออกมา จึงไม่แปลกใจที่สังคมจะตั้งคำถาม


เดชะบุญที่ “ลุงตู่” ไม่เห็นด้วย ดังนั้น เมื่อนายณัฏฐพลนำเสนอเข้าสู่การประชุมของ ศบค.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงไม่ผ่านความเห็นชอบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนสังกัด สพฐ. ซึ่งขอให้มีการตรวจสอบรายชื่อเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม จะเปิดเทอมได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ได้หรือไม่ได้ แต่กรณีที่จะเปิดก่อนกำหนดคงยาก เพราะการสอบรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ยังไม่เรียบร้อย

“..... ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ศบค. ไม่ใช่ว่า ศธ.เปลี่ยนนโยบายรายวัน ตรงนี้ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกัน หากเสนอเข้ามาผมก็พร้อมเสนอเรื่องให้ ศบค.พิจารณาต่อไป” นายณัฏฐพล กล่าว

“ครูตั้น” ออกตัวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนนโยบายรายวัน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปดูโครงการเรียนออนไลน์ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็สะท้อนว่า ศธ.ทำให้เกิดสับสนมั่วไปหมด และเมื่อมีปัญหาหนักก็ปัดสวะให้พ้นตัว รัฐมนตรีชิ่งเอาตัวรอดแบบงงๆ กันทั้งครูทั้งนักเรียน ไม่ต้องอื่นไกลเอานครหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯกทม. ก็ยังบอกว่า ภาพรวมการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง มีความพร้อมร้อยละ 70-80 เท่านั้น ส่วนที่ยังไม่พร้อมเป็นโรงเรียนตั้งอยู่ชานเมือง มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือเด็กนักเรียนยากจน เป็นต้น

เมื่อ “ครูตั้น” ออกอาการไม่อยู่กับร่องกับรอย “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงต้องคอยประคับประคองไม่ให้ล้มลุกคลุกคลานไปมากกว่านี้ โดยสำทับผ่านทางนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าในเรื่องการเรียนการสอน นายกรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ปรับแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

และเน้นย้ำเป็นพิเศษตรงที่ไม่ให้ส่งผลกระทบ สร้างภาระให้นักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมกับกำชับให้สร้างความเข้าใจต่อผู้นักเรียนและผู้ปกครองว่า การเรียนออนไลน์เป็นเพียงมาตรการการเรียนการสอนชั่วคราวเท่านั้น หากสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาเรียนตามปกติ ขอให้ผู้ปกครองและนักเรียนอย่าวิตกกังวล

อันที่จริง การเรียนการสอนออนไลน์ทุกชั้นทุกแผนการเรียนแบบเหมาเข่งนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงอยู่แล้ว และการเปิดเทอมมีการเรียนการสอนตามปกติก็ไม่ควรเหมาเข่งเช่นเดียวกัน กระทรวงศึกษาฯ ควรพิจารณาว่าโรงเรียนไหนมีความพร้อม ไม่มีความเสี่ยง การสมควรเปิดการเรียนการสอนเหมือนเดิม

หรือหากโรงเรียนใด มีวิธีการลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ก็น่าเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ เช่น คณะครูโรงเรียนสามโคก จังหวัดปทุมธานี ที่นำคูหาเลือกตั้งที่เลิกใช้งานแล้วมาดัดแปลงเป็นฉาก เพื่อช่วยป้องกันโควิด-19 ก็นับเป็นไอเดียที่ดีทีเดียว และเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างดี

กล่าวสำหรับโรงเรียนสามโคก ปทุมธานี ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มี นายชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นนายก อบจ. ต้องบอกว่าเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนาก้าวล้ำนำหน้าในหลายเรื่อง และนายกฯ ชาญ เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้โรงเรียนเตรียมการเพื่อเปิดเรียนตามปกติ นายกฯ ชาญ จึงเห็นว่าที่อบจ.ปทุมธานี มีคูหาเลือกตั้งเก่าตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ที่ยังเก็บรักษาไว้แต่สภาพไม่สมบูรณ์โดยนำมาดัดแปลงเป็นฉากป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้นักเรียนแต่ละคนขณะเรียนในชั้นเรียนเพื่อป้องกันละอองฝอยที่อาจเกิดขึ้นขณะพูดคุยกัน ซึ่งลูกหลานชาวปทุมที่มาเรียนที่โรงเรียนสามโคกและโรงเรียนวัดป่างิ้ว สัดกัด อบจ.ปทุมธานี มีประมาณ 6,000 คน ในปีการศึกษา 2563

“นายกฯ ชาญ” หรือ “ลุงชาญ” ให้ความสำคัญด้านการศึกษาด้วยแรงขับดันจากชีวิตวัยเด็กอันแร้นแค้น เรียนจบแค่ ป.4 ที่โรงเรียนวัดป่างิ้ว เป็นคนตั้งใจเรียนแต่ไม่มีโอกาสเมื่อคุณพ่อของนายกฯชาญ เสียชีวิต ลูกๆ ก็ต้องสู้ เมื่อเติบใหญ่ได้รับเลือกจากชุมชนให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิก อบจ. และนายกฯอบจ. มากว่า 10 ปีแล้ว เมื่อมีโอกาสจึงทุ่มให้การศึกษาเต็มที่

อบจ.ปทุมธานี ได้รับโอนโรงเรียนประถมวัดป่างิ้ว และโรงเรียนมัธยมสามโคก เข้ามาอยู่ในสังกัด โดยให้การสนับสนุนทุนการศึกษาทุกอย่างเรียนฟรี โดยงบจากกระทรวงศึกษาฯส่วนหนึ่ง และอบจ.ปทุมธานี ส่วนหนึ่ง เพื่อหวังให้เยาวชนไทยได้มีการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล การเรียนไม่เน้นเพียงตำราแต่เสริมทักษะอาชีพตามที่ผู้เรียนถนัดและต้องการให้พร้อมทุกด้าน ถึงไม่เรียนต่อก็ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

กรณีโรงเรียนสามโคก ปทุมธานี เป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจ หาก “ครูตั้น” หาเวลาหาโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้นำในท้องถิ่นบ้างก็ดี จะได้เข้าใจสภาพความจริงของการศึกษาไทย จะได้ไม่ยึดติดกรอบคิดแบบโรงเรียนนานาชาติ ที่เพียบพร้อมทุกอย่าง แล้วมามโนวางนโยบายและสั่งการจากหอคอยงาช้างแบบเลอะเทอะเปรอะเปื้อนให้ครู ผู้ปกครองและนักเรียน ปวดเศียรเวียนเกล้าในการวิ่งไล่ตามนโยบายที่เปลี่ยนรายวัน

อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องเรียนออนไลน์แล้ว ดูเหมือน “ครูตั้น” กำลังเผชิญกับมรสุมลูกใหม่ เมื่อมีรายงานข่าวว่า รมว.ศธ.คนนี้เสนอรายชื่อ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย เพื่อให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบจำนวน 80 ราย แต่ปรากฏว่ารายชื่อดังกล่าวที่ได้มาจากคณะกรรมการสรรหา ที่ได้รับการแจ้งตั้งจาก รมว.ศธ.แต่งตั้ง โดยมี นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัด ศธ. เป็นประธานกรรมการสรรหา ปรากฏรายชื่อบุคคลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก

ตามกำหนดการ เหมือนว่าจะเสนอเข้า ครม.ไปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ไม่เห็นมีมติ ครม.ออกมา ซึ่งตีความได้ว่า น่าจะถูกตีตกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลายผลงานที่ผ่านมา ดูทรงแล้วรับรู้ได้ว่า “ครูตั้น” อยู่ในช่วงขาลงจริงๆ เพราะใครๆ ก็ทำท่าจะไม่รักเหมือนก่อน

แต่ที่แปลกๆ ก็คือ มีเสียงร่ำลือมาว่า “ครูตั้น” เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้แล้วหากเกิดอุบัติเหตุกับรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ “ครูตั้น” เตรียมทางไว้อย่างไรให้ไปดู “บิ๊ก ศธ.” ระดับ 10-11 เวลานี้ เพราะเห็นชัดๆ ว่า โยงใยสายสัมพันธ์ไปที่ “ใคร” กันบ้าง....เอาเป็นว่า อยากฝากให้ “นายกฯ ลุงตู่” จัดทีมงานจับตาดูเป็นพิเศษเสียหน่อยก็แล้วกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น