xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

#เรียนออนไลน์ เละ “ณัฎฐพล” กอดคอ สพฐ. “สอบตก” ยกกระทรวง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นึกว่าส่ง “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ไปคุมกระทรวงสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ น่าจะช่วยจัดการศึกษา #เรียนออนไลน์ ในภาวะศึกสงครามไวรัสโควิด-19 ให้เดินหน้าไม่มีปัญหา แต่ที่ไหนได้ผลออกมาปรากฏว่าเละเป็นโจ๊ก สะท้อนชัดฝีมือรัฐมนตรีและทีมผู้บริหารไม่เข้าตาสมราคาคุย

นี่อาจเพราะมัวแต่ปั่นเกมชิงเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน” จนทำให้ “ครูตั้น-ณัฎฐพล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสียงานหลัก และที่พลอยซวยหนักไปด้วยก็ไม่ใช่ใครแต่เป็น “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งโดนลูกหลงเจอรุมถล่มเสียเละ จนต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ แล้วประกาศว่า อย่าไปซีเรียส เดี๋ยววันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก็เปิดโรงเรียนเรียนกันตามปกติแล้ว

แต่ก่อนจะถึงวันเปิดเทอมใหญ่จริง บทเรียน #เรียนออนไลน์ บอกอะไรต่อมิอะไรมากมาย ทำไมการเรียนรู้และศึกษาไทยถึงล้มเหลว ทำไมประเทศไทยจึงติดกับดักเดินหน้าไปไม่ทันบ้านอื่นเมืองอื่นเขา ไม่ต้องมองไปไกลดูเวียดนามที่ก่อนนี้ห่างชั้นกับไทยมากแต่ตอนนี้หายใจรดต้นคอแล้วในแทบทุกด้าน อย่าไปคิดถึงเกาหลีใต้ สิงคโปร์ เขาไปไกลไม่เห็นฝุ่น ความล้าหลังนี้ต้องโทษกระทรวงศึกษาธิการ ที่ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ขณะที่ระดับอุดมศึกษาก็ใช่ว่าจะมีความหวัง

รู้กันดีว่าสงครามไวรัสโควิด-19 คราวนี้ยืดเยื้อแน่ๆ กระทรวงศึกษาฯ เองก็รู้ว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ๆ ในการเปิดการเรียนการสอนในสถานการณ์ไม่ปกติ การเตรียมพร้อมรับมือต้องทำและเตรียมการแต่เนิ่นๆ และต้องลงจากหอคอยงาช้างไปสัมผัสความจริงว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง ได้ผลจริง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะประเทศไทย ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีอย่าเอาแต่สั่ง ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็อย่าเอาแต่ว่าได้ครับท่าน โยนปัญหาให้ครู ผู้ปกครองและนักเรียน รับกรรมจากความไม่พร้อมในแทบทุกเรื่อง เอาง่ายๆ แค่เน็ตไม่มี เข้าไม่ถึง มีโทรศัพท์ธรรมดาไม่ใช่สมาร์ทโฟน ทีวีไม่มีหรือต้องมีให้ครบสำหรับบ้านที่มีลูกเรียนหลายคน นี่ก็จบเห่แล้ว

อย่างที่พูดกัน การเรียนออนไลน์ไม่ใช่ธรรมชาติของห้องเรียนปกติที่ครูผู้สอนและนักเรียน สามารถสื่อสารกันสองทางได้ทันที มีอะไรไม่เข้าใจก็ถามไถ่ในหลักสูตรแกนกลางที่พัฒนามาเพื่อการเรียนการสอนในห้องเรียน ยิ่งระดับชั้นเด็กเล็กหรือเด็กประถม ครูผู้สอนต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อให้เด็กเรียนรู้ไปด้วยกันได้อย่างมีความสุข

ดังนั้น โดยพื้นฐานการศึกษาของประเทศไทยที่มีระบบการเรียนการสอนผ่านโรงเรียนเป็นหลัก จึงไม่คุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ ยิ่งจะเอาโมเดลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และเป็นการเรียนการสอนในสเกลเล็กมาครอบเข้ากับการศึกษาการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งประเทศทุกชั้นทุกโรงเรียน จึงทำให้เกิดปัญหา

ความวุ่นวายโกลาหล คาดหมายได้ล่วงหน้าว่าเกิดขึ้นแน่ แล้วจะเตรียมพร้อมและปรับแก้อย่างไร นั่นเป็นโจทย์ที่ “ครูตั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ และผู้บริหาร สพฐ. ต้องคิดอ่านให้ดีตั้งแต่ต้น ซึ่งอันที่จริงถ้าคิดให้ทะลุก็รู้ว่าการทดลองเรียนออนไลน์แบบเหมาทั้งประเทศมีคำตอบในตัวอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยาก เตรียมรับก้อนอิฐแทนดอกไม้ได้เลย

เสียงสะท้อนจากเด็ก ผู้ปกครอง รวมทั้งครูผู้สอน ปัญหาหลักอยู่ตรงการขาดการสื่อสารจากผู้บริหารกระทรวงมาตั้งแต่ต้น ครูเองก็งง นักเรียนก็งง จะเรียนออนไลน์ยังไง ผ่านช่องทางไหน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แทบแล็ต หรือทีวี สัญญาณอินเตอร์เน็ต ถ้าไม่มี จะทำยังไง

จุดพีคจึงมาพุ่งตรง ดรามายายพาหลานซื้อมือถือ ถามร้านค้าราคาไม่เกิน 2,000 บาท มีไหม? เพื่อเตรียมมาเรียนออนไลน์ กลายเป็นกระแส ตอกย้ำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความไม่เท่าเทียมในทุกด้านที่มีอยู่จริงในประเทศไทยและบนโลกใบนี้

หากจะชำแหละกันทั้งระบบและเอาให้ครบทั้งหัวยันหางของความไม่ได้เรื่อง#เรียนออนไลน์ ต้องเป็น “ครูตั้น” ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งแห่งความล้มเหลว

ถัดมาก็คือ สพฐ. เรื่อยไปตามสายบังคับบัญชา ลงไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนที่ชี้นิ้วคนสุดท้ายสั่งให้บรรดา “ครูน้อย” จกตากับลูกศิษย์น้อยใหญ่ เพื่อตอบสนองนโยบายที่หาความพร้อมอันใดไม่ได้ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองกุมขมับปวดเศียรเวียนเกล้ากับการเรียนออนไลน์อยู่บ้านของลูกๆ

“ครูตั้น” นั่นก็รู้ๆ อยู่ว่านับตั้งแต่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ป่านนี้ยังควานหาผลงานชิ้นโบแดง มาอวดประชาชนไม่มี เป็นรัฐมนตรีอีกคนที่โลกลืม หาความโดดเด่นอันใดมิได้ ทั้งที่ตอนรับสมัครเลือกตั้ง “เสี่ยตั้น” อดีตแกนนำ กปปส. อยู่ในระบบบัญชีรายชื่อเบอร์หนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กันเลยทีเดียว

อย่างที่รู้ๆ กัน ตอนศึกชิงเก้าอี้รัฐมนตรี “เสี่ยตั้น” ก็อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมากกว่า แต่พลาดหวังมานั่งจับเจ่าอยู่กระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่มีแรงผลักดัน หรือ passion ใดๆ ที่จะทำให้วงการศึกษาไทยก้าวหน้า งานหลักตอนนี้ก็อยู่ที่การเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรค พปชร. และหวังว่าเมื่อจัดทัพใหม่จะได้ย้ายก้นไปพลังงานสมอยาก

ถ้าไม่มีโควิด ถ้าไม่มีดรามา#เรียนออนไลน์ และว่ากันว่าถ้าไม่มีคลื่นใต้น้ำจากปีกของ “ทีมพี่ใหญ่” ที่มี “ครูตั้น” เป็นคีย์สำคัญร่วมอยู่ด้วยนั้นก่อกระแสกดดัน “ทีมสมคิด”- “แก๊งสี่กุมาร- อุตตม , สนธิรัตน์ , สุวิทย์, กอบศักดิ์” ที่โดดเด่นเป็นทีมสร้างผลงานหลักให้พรรค พปชร. พ้นเก้าอี้ เชื่อว่าสังคมคงอาจลืมชื่อ “ณัฏฐพล” ว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ไปแล้ว

ตามมาดู สพฐ. ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนโยบายเรียนออนไลน์ โดยโครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “การจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)” เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ. มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง การโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งแถลงเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งหมดก่อนทดลองเรียนกันเต็มรูปแบบในวันที่ 18 พฤษภาคม ทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

สพฐ.หยิบยืมเอาการทำงานของ “มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” ซึ่งจัดการศึกษาทางไกลให้กับโรงเรียนห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาสอยู่แล้ว มาเป็นต้นแบบในการเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ สพฐ. จัดให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ทุกระดับชั้นทั่วประเทศ ผ่านช่องทางทีวีดิจิตัล 17 ช่อง พร้อมกับอบรมครูและผู้บริหารทั่วประเทศ 530,000 คน ให้เตรียมพร้อมสำหรับภารกิจนี้

สำหรับเนื้อหาระดับอนุบาล 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะเรียนผ่านระบบการศึกษาทางไกล หรือ ดีแอลทีวี (DLTV) จัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ

ระดับม.4-ม.6 จะมีแพลตฟอร์มผ่านการเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อความเป็นเลิศหรือ Digital Education Excellence Platform (Deep By MOE ) โดย ศธ. ให้ครูจากโรงเรียนดังทั่วประเทศอัดคลิปการสอนทุกสาระวิชาพื้นฐานมาไว้ในแพลตฟอร์ม ตามเป้าหมายวางไว้ 800 คลิป ซึ่งครูในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงเรียนที่มีครูไม่ครบสามารถดึงไปใช้สอนนักเรียนได้

ส่วนระดับอนุบาล จะมีครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียน และทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการเรียนรู้สื่อการเรียนการสอน ใบงานต่างๆ และการเล่มเกม สื่อการเรียนการสอน การทำกิจกรรม เพื่อให้ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้พร้อมกับครู และคอยดูแลเด็กร่วมด้วย

อย่างที่ว่า ปัจจัยที่จะทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ให้ได้ผลมันมีหลายปัจจัย ดังที่ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ความเห็นว่าจะต้องประกอบด้วย อุปกรณ์รับส่งที่มีคุณภาพ, สัญญาณการรับส่งที่มีคุณภาพดีไม่ขาดตอน, เนื้อหาการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่เหมาะสม, ครูที่เข้าใจเรื่องการเรียนออนไลน์และมีความรู้ความสามารถในการจัดการความรู้ในระบบนี้, ผู้เรียนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน และต้องมีผู้ปกครองที่มีความรู้และมีเวลาช่วยการเรียนรู้ของเด็ก หากขาดข้อหนึ่งข้อใดข้างต้นแล้วความตั้งใจที่จะให้เกิดผลตามเป้าหมายมีปัญหาอย่างแน่นอน


หากนักเรียนทุกคนไม่มีเครื่องรับสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถรับภาพได้ การเรียนออนไลน์ก็มีปัญหาแล้ว ถึงจะมีโทรศัพท์มือถือแต่ถ้าเป็นรุ่นที่ไม่แรงพอก็ยากแล้ว ซึ่งความจริงนักเรียนทุกคนก็ไม่ได้มีฐานะเท่าเทียมเสมอหน้ากัน

อย่าไปไกลถึงเรื่องการพัฒนาเนื้อหาของวิชาในระบบออนไลน์ หรือความรู้ความสามารถของครูในเรื่องการสอนแบบออนไลน์ ความสามารถและเวลาของผู้ปกครองส่วนใหญ่ การตั้งใจมุ่งมั่นเรียนรู้อย่างรับผิดชอบในสภาพที่ไม่มีครูกำกับ ฯลฯ ภายใต้ความจริงเช่นนี้ของสังคมไทยการ “ไปโรงเรียน” จึงไม่เท่ากับ “การเรียนรู้ออนไลน์ที่บ้าน” อย่างแน่นอนแม้แต่ในระดับมหาวิทยาลัย ผลลัพธ์การเรียนรู้ก็จะตกไปมาก

การเรียนการสอนออนไลน์จึงไม่ใช่ “งานหมู” แค่อุปกรณ์รับสัญญาณก็ไม่ใช่แต่นักเรียนเท่านั้นที่ขาดแคลน ไม่มีสมาร์ทโฟน แม้แต่ครูในบางสาขาวิชาก็ใช่ว่าจะมีคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มาเตรียมการเรียนการสอนได้ เช่น ครูสอนวิชาศิลปะและนาฏศิลป์ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่คิดกันว่าคงต้องไปกู้สหกรณ์มาซื้อแท็บเล็ตเตรียมการสอนเด็กกัน

นอกจากอุปกรณ์ไม่พร้อมแล้ว ครูบางคนในสองสาขานี้ก็ไม่ได้คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการสอนอีกด้วย ขณะที่โปรแกรมสำหรับการสอนออนไลน์หรือการทำข้อสอบก็มีความยากอยู่พอสมควร ครูบางคนได้ทดลองการสร้างข้อสอบที่ให้นักเรียนมาตอบบนโปรแกรม google From กว่าจะทำได้หนึ่งหน้าใช้เวลาประมาณ 2 วัน มีปัญหากันมากน้อยแค่ไหนตามไปดูได้ในโลกโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ที่ติดแฮชแทก #สอนออนไลน์

ไม่นับว่าแนวทางการเรียนการสอนออนไลน์ที่เหมาะสมของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ยังมีข้อจำกัด มีเป้าหมายแตกต่างกันอีกด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงจึงไม่ต้องแปลกใจที่พอเปิดเรียนออนไลน์วันแรกจึงพบปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ “ครูตั้น” ก็โลกสวยว่า ทั้งการล่มของเว็บไซต์ การเชื่อมต่อสัญญาณกล่องจานดาวเทียม เพราะเด็กแห่เข้าไปดูผ่านเว็บไซต์จำนวนมาก อนาคต ศธ. จะเตรียม ระบบ Cloud หรือ CloudComputing รองรับการทำงานทั้งด้านระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล

สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอนของสื่อ DLTV ที่ล้าสมัยและมีบางส่วนสอนผิดนั้น รมว.ศธ. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้ว เนื่องจากเนื้อหาหลักสูตรมาจากต้นทางคือมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ต้องจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่ได้มีการปรับปรุงหลายสิบปีแล้ว อีกทั้ง สพฐ.ได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่จากเดิมเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งทางมูลนิธิฯและศธ.กำลังทยอยปรับปรุงแก้ไขระหว่างการทดสอบระบบให้หลักสูตรใหม่มีความเชื่อมต่อกันมากขึ้น

กรณีนี้เห็นได้ชัดว่า “ครูตั้น” และ “สพฐ.” บรมชุ่ย เพราะทำงานแบบขอไปที

การทดลองเรียนออนไลน์ที่ผลออกมาเละกันโจ๊ก ทำให้นายกรัฐมนตรี ออกมาสั่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดความชัดเจน ลดความโกลาหล ว่า การเรียนการสอนออนไลน์เป็นการแก้ไขปัญหาช่วงรอการเปิดเรียนปกติในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อสถานการณ์ปกติก็กลับมาเรียนในห้องเรียนตามปกติ ส่วนปัญหาต่างๆ ทั้งการเข้าไม่ถึงระบบอินเตอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ภาระของผู้ปกครอง ความรับผิดชอบของผู้เรียนที่ต้องมีวินัยติดตามการเรียนด้วยตัวเองนั้น รัฐบาลจะนำมาพิจารณาและแก้ปัญหาต่อไป

จะว่าไปแล้วตามหลักการโครงการเรียนออนไลน์และการศึกษาทางไกล เป็นแนวทางที่ดีเพื่อรองรับสำหรับโลกอนาคตที่ต้องเกิดขึ้น และการเรียนการสอนออนไลน์ ก็มีมุมดีๆ เหมือนกัน เช่น ลดเวลาการเดินทางทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน มีช่องทางสื่อสารระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียนได้สะดวก และใช้เครื่องมือออนไลน์ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้มากขึ้น เพิ่มการเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานเรื่องการเรียนสำหรับผู้ปกครองที่มีเวลาและความรู้ช่วยสอนเพิ่มเติม เกิดกลุ่มก้อนทางสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันสอนเด็กๆ โดยครูภูมิปัญญา ครูท้องถิ่น หรือแม้แต่ครูที่เกษียณแล้วมาร่วมไม้ร่วมมือกันถ่ายทอดความรู้ เป็นต้น

ส่วนปรากฏการณ์โกลาหลบ่นกันทั่วเมืองที่เกิดขึ้นจากการทดลองนำร่อง ถือเสียว่าเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ชื่อ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มากกว่าใคร รวมไปถึง “ความไม่พร้อม” ของเขา และ สพฐ. ที่มีมากกว่าเด็กและผู้ปกครองและบรรดาครูบาอาจารย์ที่รับคำสั่งนำไปสู่การปฏิบัติ

ขณะที่ “กล่องทีวีดิจิตัล 2 ล้านกล่อง” ซึ่งศธ.ขอการสนับสนุนจาก กสทช.และและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้นักเรียนนั้น ก็ต้องจับตาเช่นกันว่า จะดำเนินไปในลักษณะใด เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะเดินไปในลักษณะใดกันแน่




กำลังโหลดความคิดเห็น