xs
xsm
sm
md
lg

‘เรียนออนไลน์’ ต้องมาพร้อมกับ 6 ตัวช่วย !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แถลงการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

การจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 2 (ในกรณีที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ในวันที่ 1 ก.ค 2563)

สวัสดีครับ ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา สื่อมวลชนและประชาชนทุกคนครับ ต่อเนื่องจากแถลงการณ์ในครั้งที่ 1 วันนี้ผมมาอัพเดทความก้าวหน้าในการเตรียมตัวเพื่อให้การเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญตั้งอยู่บนความปลอดภัยสูงสุดของลูกหลานเราครับ

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า นี่เป็นการจัดการเรียนการสอนในสภาวะที่ไม่ปกติ ในพื้นที่ยังมีความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้ โดยผมและบุคลากรกระทรวงศึกษาฯ ทุกคน ได้พยายามสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจได้ว่า

การเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน เพราะ“การเรียนรู้นำการศึกษา” โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้

ด้วยเจตนาข้างต้น ทำให้เราออกแบบการเรียนการสอนในช่วง COVID-19 โดยมีรายละเอียดในภาพรวมดังนี้

1. รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ Onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการ On-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ Online

2. นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพักซึ่งจะมีการแถลงอีกครั้งในรายละเอียด ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นโดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก ผมหวังว่าสิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักเรียนผ่อนคลายได้ไม่มากก็น้อยครับ

3. การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้เราพิจารณาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและการเข้าถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดในกรณีที่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เราไม่สามารถเปิดเทอมที่โรงเรียนได้

4. กระทรวงศึกษาฯจะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วน 80% เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ อีก 20% หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม

5. การเรียนผ่านการสอนทางไกลจะใช้สื่อโทรทัศน์ (TV) ในทุกระบบเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีมาตรฐาน โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาฯ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม

ในสถานการณ์ที่ COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ความท้าทายในการจัดการเรียนการสอนเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น บุคลากรทางการศึกษาพร้อมปรับตัวเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ตาม ขอเพียงพวกเราทุกฝ่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แน่นอนครับ

ขอบคุณผู้ที่เกี่ยวทุกท่านอีกครั้ง ที่ช่วยกันสร้างพลังบวก และใช้วิกฤติในครั้งนี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับการศึกษาไทยครับ

2 พฤษภาคม 2563
……………………………..
ข้างต้นคือข้อความแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊คของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เป็นปัญหาหนักอกหนักใจของคนเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในบ้านเราทุกระดับ เพราะทุกฝ่ายต้องปรับตัวแบบฉับพลัน แม้หลายโรงเรียนได้นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาช่วยเรื่องระบบการศึกษาอยู่แล้วจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มีการเตรียมการสำหรับสถานการณ์วิกฤติที่ทำให้ต้องเตรียมแผนแบบเต็มรูปแบบ

ในต่างประเทศก็เจอปัญหานี้เช่นกัน บางประเทศทยอยเปิดเทอมกันบ้างแล้ว และนำเรื่องการเรียนออนไลน์มาเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแบบเต็มรูปแบบเช่นกัน

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศให้สถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนเข้าสู่การเรียนการสอนแบบ HBL (Home-Based Learning) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยโรงเรียนแจ้งพ่อแม่ผู้ปกครองแบบเป็นระบบผ่านหน้าเว็บไซต์ มีคู่มือบอกเลยว่าพ่อแม่ต้องช่วยอะไรโรงเรียน ตารางกิจวัตรของเด็กแต่ละสายชั้นเป็นอย่างไร พ่อแม่จะต้องทำอะไรกับลูก จะเน้นให้ที่บ้านและโรงเรียนต้องเชื่อมโยงกัน เด็กกับผู้ปกครองต้องร่วมมือกัน โดยจะมีครูจำนวนหนึ่งอยู่ที่โรงเรียน เพื่อคอยตอบคำถามและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งส่งกำหนดตารางหรือกิจวัตรประจำวันของเด็ก รวมถึงตั้งเป้าหมายระยะสั้นร่วมกับเด็กในการเรียนรู้แต่ละวัน ตลอดจนงานต่างๆ ที่เด็กต้องทำให้เสร็จในแต่ละช่วงเวลาของวันนั้นๆ โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กทำตามตารางที่กำหนดไว้

เกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศที่เริ่มมาตรการผ่อนคลาย โดยการเปิดเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับที่นิวซีแลนด์ แต่ก็มีโรงเรียนหลายแห่งที่ยังคงปิดอยู่ และนักเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว

จะว่าไปแล้วการเรียนออนไลน์ของประเทศเกาหลีใต้ ก็แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ หรือชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยมีนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมต้น มากกว่า 3.1 ล้านคน เรียนผ่านออนไลน์ และต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก็อาจพิจารณาเปิดโรงเรียน โดยจะทยอยเปิดเป็นระดับชั้น

แล้วบ้านเราล่ะ..พร้อมหรือยังสำหรับการเรียนออนไลน์ ?

มาตรการที่รมว.ศึกษาธิการแถลงผ่านหน้าเฟสบุ๊คของตัวเอง เป็นแนวทางในการเตรียมรับมือระดับนโยบาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะแม้ช่วงเวลาเปิดเทอมของเด็กนักเรียนจะถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว สามารถเปิดเทอมได้จริงหรือเปล่า ฉะนั้น น่าจะถือโอกาสกับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ว่าจะตั้งรับและปรับตัว รวมถึงวางแผนเรื่องนโยบาย คน เทคโนโลยี หลักสูตร การเรียนการสอน ฯลฯ สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์น่าจะดีไม่น้อย

ลองสำรวจว่าอะไรเป็นอุปสรรคของการเรียนออนไลน์ในบ้านเรา และควรจะตั้งรับอย่างไร

หนึ่ง – เทคโนโลยี
การเข้าถึงเทคโนโลยี ระบบอินเตอร์เน็ตยังเป็นปัญหาอยู่มาก ยังไปไม่ทั่วถึง และยังมีความเหลื่อมล้ำดิจิทัล (Digital Divide) คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในรายงานของ Freedom House องค์กรอิสระตรวจสอบเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก ระบุว่า เมื่อปี 2019 มีคนไทยเพียง 57% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่ผลการสำรวจมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2561 ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มประชากรที่เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มากกว่านอกเขตเมือง นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนประชากรที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ มากกว่ากลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และส่วนใหญ่ ก็เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเช่นกัน

สอง – เร่งให้ครูปรับตัว
การจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนไปสู่ระบบออนไลน์โดยทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้สอนก็จำเป็นต้องปรับวิธีการสอนจากรูปแบบเดิมๆ ผู้เรียนก็จำเป็นจะต้องปรับวิธีการเรียนเช่นกัน รวมถึงต้องมีการปรับวิธีการประเมินและการวัดผลให้มีความเหมาะสมกับการสอนออนไลน์

ช่วงนี้อาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยมีการปรับตัวนำร่องไปแล้ว มีการนำโปรแกรม และแอพพลิเคชั่นจำนวนหนึ่งมาใช้ในการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ซึ่งก็พอจะเห็นข้อดีข้อเสียบางประการและก็พบว่านักเรียนแต่ละคนอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ที่บ้านไม่มีอุปกรณ์ หรือบางคนก็อาจไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน
บทบาทของครูต่อการเรียนออนไลน์มีความสำคัญมาก เพราะนักเรียนต้องเรียนรู้เนื้อหาผ่านสื่อที่ครูเตรียมไว้ให้ หากครูเลือกส่งเนื้อหาบทเรียนในรูปแบบที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน แล้วให้นักเรียนใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเหมือนในห้องเรียน จะทำให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองอย่างแท้จริง

สาม – ปรับเนื้อหาให้เหมาะกับวัยหรือชั้นเรียน
การสอนออนไลน์ไม่ได้หมายความว่า ครูต้องสอนแบบไลฟ์สดเสมอไป แต่ครูสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม เช่น ให้นักเรียนอ่านชีท หรือหนังสือ หรือฟังคลิปที่ครูเตรียมไว้ให้ โดยให้เด็กจัดสรรเวลาในการเรียนเอง แล้วครูค่อยจัดเวลาสำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดยอาจต้องแยกว่าวิชาไหนเหมาะกับการเรียนออนไลน์ และวิชาไหนต้องเรียนสดกับครู ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับชั้นของนักเรียนด้วย

สี่ – ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
ควรดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อการศึกษา โดยเฉพาะชุมชนในต่างจังหวัด แล้วก็ดึงเอาข้อดีที่เรามีการศึกษาทางไกลมาออกแบบเนื้อหาให้เหมาะกับพื้นที่ เหมาะกับวัย และเหมาะกับการเรียนรู้ ไม่อยากให้ใช้แบบเดิม ๆ ควรใช้เครื่องมือเครื่องไม้ที่มีอยู่มาปรับให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าใช้การศึกษาทางไกล มีทุกระดับชั้นของการศึกษา แล้วก็แบ่งช่วงเวลาของการศึกษาว่านี่จะเป็นช่วงเวลาของเด็กปฐมวัย เด็กประถมต้น เด็กประถมปลาย เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ฯลฯ
บางพื้นที่ที่สามารถทยอยเปิดโรงเรียนได้ ก็อาจจะต้องคิดถึงการจัดสถานที่การเรียนของชุมชน ที่สามารถจัดการเว้นระยะความปลอดภัยได้ มีรูปแบบการสลับกันไปโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องไปกันเต็มสูบ และก็เปลี่ยนบางวิชาที่เรียนออนไลน์ได้ เรียกว่าต้องพยายามพลิกเกมตลอดเวลา บางวิชาที่มันไม่ได้ ก็ไปเรียนปีหน้า หรือเทอมหน้า การศึกษาควรต้องเป็นอะไรที่เราต้องยืดหยุ่น และให้เกิดการเรียนรู้ที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ

ห้า – สร้างตัวช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง
เมื่อนักเรียนสามารถจัดสรรเวลาเองได้ว่า จะเรียนรู้จากบทเรียนที่ครูส่งมาให้เมื่อไรก็ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้ามาช่วยดูแลเด็ก ๆ ที่อาจจะยังควบคุม หรือจัดสรรเวลาให้ตัวเองได้ไม่ดีนัก หรือช่วยดูแลขณะทำแบบฝึกหัดต่าง ๆ โดยโรงเรียนเองก็ควรมีคู่มือพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อนำมาใช้ร่วมกับเด็กได้ด้วย

หก – ต้องมีที่ปรึกษา
ข้อนี้มีความสำคัญมาก ต้องสร้างกลุ่มระหว่างพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครูร่วมกันผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อแบ่งปันเทคนิคและเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเรื่องการเรียนออนไลน์ ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างครอบครัว โดยเฉพาะผู้ปกครองที่กำลังเคว้งคว้าง เครียด ประสบปัญหา ยิ่งควรมองหาคนที่พร้อมจะพูดคุยเพื่อหาทางออกจากสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

สิ่งที่ควรตระหนักอีกประการก็คือ ปัญหาของเราในตอนนี้ มันไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียว แต่มันคือปัญหาของสังคม ปัญหาของคนทั้งโลก เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มันเป็นปัญหาร่วม แล้วปัญหาร่วมที่มันกำลังอยู่แบบนี้ มันต้องใช้พลังใจที่ยิ่งใหญ่ ที่เราต้องหันกลับมาดูแลใจคนในครอบครัว นับจากนี้ไป หลังจากหมด COVID – 19 มันจะไม่เหมือนเดิม ชีวิตทุกคนจะเปลี่ยนไป ในช่วงวิกฤติเราสามารถที่จะแปรเปลี่ยนให้มันเป็นโอกาสได้

เพราะว่าเราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิด เราต้องเตรียมตัว ชีวิตไม่เหมือนเดิม แต่ว่าเราสามารถทำให้มันดีกว่าเดิมได้

คิดเสียว่าเป็นสถานการณ์ที่บังคับให้เราเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีที่ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น