xs
xsm
sm
md
lg

เรียนออนไลน์วันแรก โซเชียลฯสับเละ ผู้ปกครอง-นักเรียน เจอปัญหาเพียบ ** “อัจฉริยะ” จับไม่ปล่อย ยกมาตรา 157 เดินหน้าแจ้ง บก.ปคบ.เอาผิด “จุรินทร์” กับพวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**เรียนออนไลน์วันแรก โซเชียลฯสับเละ ผู้ปกครอง-นักเรียน เจอปัญหาเพียบ แต่ “ครูตั้น” ยังโลกสวย ปัญหาและเว็บล่ม=เป็นเรื่องน่ายินดี

เปิดการเรียน-การสอนออนไลน์ สำหรับเด็กเล็กไปจนถึงเด้กมัธยม วันแรกเมื่อวาน (18 พ.ค.) ดรามาก็มาทันที เพราะ “เปิดปุ๊บล่มปั๊บ” ตั้งแต่ชั่วโมงแรก ปัญหาเพียบ!!

เรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดให้เรียนออนไลน์ ผ่าน 6 ช่องทางการรับชม ได้แก่ ทีวีดิจิทัล ช่อง 37-51, ทีวีดาวเทียม Ku-Band ช่อง 186-200, ทีวีดาวเทียม C-Band ช่อง 337-351, www.dltv.ac.th แอปพลิเคชัน DLTV ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และ Youtube ช่อง DLTV1 ถึง DLTV15 เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดเรียน 1 ก.ค. 63

นอกจากเว็บล่มแล้ว ตลอดทั้งวันมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนักเรียน และผู้ปกครอง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาของการเรียนออนไลน์กันกระหน่ำ

ว่ากันตั้งแต่ ปัญหานักเรียนบางบ้านไม่สามารถดูผ่านทีวีได้ อุปกรณ์การเรียนรู้ สื่อการสอนไม่เหมาะสม ปัญหาทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่ใช้ จดเนื้อหาการเรียนไม่ทัน ติติงครูผู้สอนน่าเบื่อ คลิปเก่าหลักสูตรเดิม ทั้งที่เปลี่ยนหลักสูตรกันไปนานแล้ว

ที่สำคัญ มีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่เสียเงินเสียทองเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมให้บุตรหลาน ทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ และมือถือ รวมถึงเมื่อเริ่มเรียนยังเจอค่าใช้จ่ายค่าอินเทอร์เน็ต ที่จะตามมา

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
งานนี้ “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่หล่อๆ พบว่า นักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในการเชื่อมต่อ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ดังนั้น ศธ.จะไปหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในการจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ต โดยจะนำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา สัปดาห์หน้า

สำหรับปัญหาเรื่องเว็บไซต์หลักของ DLTV เข้าไม่ได้ และแอปพลิเคชัน DLTV ล่มนั้น เกิดจากครึ่งหนึ่งจากจำนวนนักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในการดึงสัญญาณ ส่งผลให้เว็บไซต์ล่ม เนื่องจากมีผู้เข้าใช้จำนวนมาก

เรื่องนี้ “ครูตั้น” บอกว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดี” เพราะทำให้ทราบว่าในบางครอบครัวที่อาจจะมีรายได้ไม่สูงมาก ยังสามารถมีสมาร์ทโฟนได้ ทำให้เราเห็นว่าในอนาคตการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบดิจิทัล และออนไลน์ น่าจะมีโอกาสที่เด็กจะเข้าถึงมากขึ้น

เรียกว่า เป็นรัฐมนตรีโลกสวยด้วยมือเราจริงๆ ทั้งที่เห็นได้ชัดว่า เรียนออนไลน์ ณ เวลานี้มีความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง

นี่ไม่นับรวมกรณีที่มีเสียงวืพากษ์วิจารณ์ของคนในกระทรวงศึกษาฯ เองที่มองว่า รมว.และผู้บริหารกระทรวง ไม่ได้บอกกล่าวให้ชัดเจนถึงจุดประสงค์ของการเรียนออนไลน์ครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร เกิดความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติงาน หรือแม้กระทั่งคำสั่งที่ให้ครูผู้สอนออกไปสำรวจตามบ้านนักเรียน ซึ่งครูก็แอบหวั่นต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ ทำเอาผวาไปตามๆ กัน

สรุปว่าเรียนออนไลน์ “เวอร์ชันครูตั้น” ทั้งผู้ปกครอง-นักเรียน “ร้องยี้” ยังไม่พร้อม แต่กระทรวงยิ่งไม่พร้อมมากกว่า จนมีคำถามกันว่า เราจะฝากอนาคตลูกหลานไว้กับศธ.ที่ไม่พร้อมแบบนี้ได้อย่างไร ?

วาน “ครูตั้น” ช่วยตอบที !

** “อัจฉริยะ” จับไม่ปล่อย ยกมาตรา 157 เดินหน้าแจ้ง บก.ปคบ.เอาผิด “จุรินทร์” กับพวก ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยเอกชนส่งออกหน้ากากอนามัย

อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
ปัญหา “หน้ากากอนามัย” ที่ทำเอาประชาชนเดือดร้อน ทุกข์ใจแสนสาหัส ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มีใช้ จน “นายกฯลุงตู่” ต้องลงมาล้วงลูก จัดระบบบริหารจัดการใหม่ ปัญหาการขาดแคลนในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ค่อยคลี่คลายลง แต่ในส่วนของประชาชนก็ยังหาซื้อไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะขาดตลาด แต่ไปโผล่ในตลาดมืด ซึ่งราคาสูงลิ่ว จนต้องยอมตัดใจหันไปใช้หน้ากากผ้าแทน...

ที่ผ่านมา “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ขุดคุยตามหา “หน้ากากอนามัยหายไปไหน” และได้ออกมาแฉถึงขบวนการหาประโยชน์ กักตุน ส่งออกหน้ากากอนามัย ซึ่งเกี่ยวโยงถึงคนในกระทรวงพาณิชย์ จนมีเรื่องฟ้องร้องกันนุงนัง ขณะเดียวกัน ก็ไปร้องเรียน กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย แต่บังเอิญเป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ จึงยังไม่มีความคืบหน้า

หลังจากพยายามรวบรวมเอกสาร พยานหลักฐาน มาตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน... ล่าสุด “อัจฉริยะ” ก็ได้เข้าร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แจ้งความดำเนินคดี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ และ “วิชัย โภชนกิจ” อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน กับพวก มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

มาย้อนความทรงจำกันหน่อย ว่า “โควิด-19” ระบาดเข้ามาในไทย ช่วงกลางเดือน ม.ค. ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงที่สภาพอากาศในกรุงเทพฯ ปกคลุมไปด้วยฝุ่นละออง PM 2.5 “หน้ากากอนามัย” จึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการป้องกันทั้งฝุ่นละออง และเชื้อโควิด-19

เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนว่า หน้ากากอนามัยจะไม่ขาดแคลน ...วันที่ 30 ม.ค. “รมว.จุรินทร์” ก็ยกทีมไปตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อสำรวจกำลังการผลิต พร้อมแถลงข่าวว่า ความต้องการในการใช้หน้ากากภายในประเทศ อยู่ที่เดือนละ 30 ล้านชิ้น... แต่เรามีกำลังการผลิตรวมเดือนละ 100 ล้านชิ้น และยังมีอยู่ในสต๊อกอีก 200 ล้านชิ้น ... ต่อให้ไม่มีการผลิตเพิ่ม ก็ยังมีพอให้ใช้ไปได้อีก 4-5 เดือนสบายๆ ขออย่าตื่นตระหนก หรือซื้อมากักตุน เพราะอาจทำให้ของขาดตลาดได้...

คล้อยหลังจากที่ “รมว.จุรินทร์” ออกมาแถลงได้แค่วัน สองวัน หน้ากากอนามัยก็เริ่มหายไปจากท้องตลาด

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
วันที่ 3 ก.พ. “รมว.จุรินทร์” ก็เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยที่เริ่มจะ “ขาดตลาด” ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบให้หน้ากากอนามัย และวัตถุดิบในการผลิต รวมถึง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ “เป็นสินค้าควบคุม” ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบ ในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่ง ครม.ก็ให้ความเห็นชอบไปตามนั้น ... จากนั้นก็มีประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาหน้ากากอนามัย ห้ามขายเกินราคาชิ้นละ 2.50 บาท

คราวนี้ หน้ากากอนามัย ก็เลยหายไปจากท้องตลาดแบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” แต่ไปโผล่ที่ตลาดมืด ตลาดออนไลน์ ขายกันในราคาชิ้นละ 15-20 บาท รวมทั้งมีข่าวพ่อค้าไปตัดราคาหน้าโรงงาน เพื่อส่งออกนอก...เพราะเมื่อ “โควิด-19” เริ่มระบาดออกไปในวงกว้าง ต่างประเทศก็มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มตามไปด้วย

ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน ลามไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ เพราะในโรงพยาบาล ก็ไม่มีหน้ากากอนามัยให้ใช้ ...

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับขบวนการหาประโยชน์จากหน้ากากอนามัย โดยมีพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง สมคบกัน ...กระทั่ง “นายกฯลุงตู่” ต้องลงมาจัดการ ... สั่งย้าย “วิชัย โภชนกิจ” อธิบดีกรมการค้าภายใน ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี ... พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

วิชัย โภชนกิจ
ขณะที่ “อัจฉริยะ” ก็ออกมาเปิดโปง ถึงเรื่องหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หายไปไหน ...ว่ามีผู้ใกล้ชิด รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน จนมีเรื่องฟ้องร้องกัน และเมื่อเรื่องปูดออกมา ทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็จำต้องตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง

จนกระทั่งรัฐบาล “ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ออกมาแล้ว ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด ก็ยังแก้ไม่ตก ผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งกรณีของ “อธิบดีกรมการค้าภายใน” และกรณี “ผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรี” จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผลสรุปออกมา

ระหว่างนั้น “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังออกมาแถลงแก้เกี้ยวว่า หน้ากากอนามัยที่ก่อนหน้านี้มีการระบุกันว่า มีในสต๊อกถึง 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน... ข้อเท็จจริงคือ ที่ว่ามีใน สต๊อกนั้น “เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น” ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ผลิตสำเร็จแล้ว กองอยู่ในโกดัง 200 ล้านชิ้น... ทาง “รมว.จุรินทร์” ก็ออกมาเออออห่อหมก ไหลตามน้ำไปด้วยว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

ถึงวันนี้ สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ประชาชนเลิกง้อหน้ากากอนามัย หันมาใช้หน้ากากผ้ากันจนชิน แต่ “อัจฉริยะ” ไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปตามสถานการณ์ของโรค จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดี “รมว.จุรินทร์ กับพวก” ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปล่อยให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัย จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ... ประกอบกับจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ทาง กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ก็จะกลับมาประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันต่อ


ก็คงต้องจับตากันต่อไปว่าเรื่อง “หน้ากากอนามัย” จะไปสุดทางหรือไม่ !!





กำลังโหลดความคิดเห็น