xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ผับ บาร์” ไนท์ไลฟ์สะดุดแสนล้าน “นวดแผนไทย” เดือดร้อนแสนสาหัส

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้หลายภาคธุรกิจได้รับการผ่อนปรนให้กลับมาดำเนินกิจการได้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ดูทรงแล้วน่าจะ “ไม่มีอนาคต” เพราะนอกจากไม่รู้ว่าจะกลับมาเปิดได้เมื่อไหร่แล้ว ยังต้องลุ้นด้วยว่าเมื่อเปิดแล้วจะไปรอดได้นานแค่ไหนอีกต่างหาก

หนึ่งในภาคธุรกิจที่น่าจับตามากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจกลางคืน จำพวกธุรกิจบันเทิงต่างๆ ผับ บาร์ ร้านเหล้า ฯลฯ ซึ่งมีมูลค่าแสนล้านเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 ตามรายงานของสำนักข่าวญี่ปุ่น Nikkei Asian Review เรื่อง “Pandemic dims lights on Thailand's $5bn nightlife sector” ระบุว่า “ธุรกิจบริการภาคกลางคืนของไทยมีมูลค่ารายได้สูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท”

ขณะที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) องค์กรด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศรวมถึงแรงงานในสถานบันเทิงยามค่ำคืน เปิดเผยมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนของไทยนั้นสูงถึง 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2.1 แสนล้านบาทต่อปี

ตลอดจนรายงานของสำนักข่าว CNN สหรัฐฯ เรื่อง “Best party cities around the world” เกี่ยวกับ 10 เมืองโดดเด่นด้านท่องเที่ยวยามราตรี ช่วงปี 2562 ปรากฏว่าหนึ่งในนั้นมี “กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย” ติดโผอยู่ด้วย เช่นเดียวกับ เมืองลาสเวกัส เมืองไมอามี และเมืองนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ, เมืองบาร์เซโลนา ของสเปน, กรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี, กรุงโซล ของเกาหลีใต้ เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แสงสียามราตรีธุรกิจสถานบันเทิงเหล่านี้ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก เป็นธุรกิจสีเทาที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ดินมูลค่ามหาศาล ถึงขนาดมีข้อการเสนอเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 ในย่านยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ทั้งพื้นกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต สงขลา เป็นต้น โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วงกลางปี 2562 เพราะเล็งเห็นว่าสามารถดึงดูดเม็ดเงินได้มากมายเพียงใด แต่ท้ายที่สุดถูกปัดตกไป

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์สั่งปิดสถานที่ต่างๆ ในเมืองไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว โดยผลวิเคราะห์จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปิดสถานบันเทิง 14 วัน ระหว่าง 14 - 31 มี.ค. 2563 ทำให้สูญเสียเม็ดเงินประมาณ 2 - 3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ มีการคาดการณ์จะใช้เวลา 3-6 เดือนในการฟื้นฟูกิจการ

ที่สำคัญคือสถานบันเทิงยามราตรีเหล่านี้จัดอยู่ใน “กลุ่มสีแดง” ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 หรือ “ระยะสุดท้าย” ด้วยอาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด - 19 รอบ 2 ที่รุนแรงกว่าเดิม เช่นเดียวกับ กรณีที่เคยเกิดขึ้นในผับย่านอินแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อระลอก 2

“กิจกรรม ทุกๆ อย่างจะกลับมาได้เหมือนเดิม แต่ต้องอยู่ในชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal คือต้องมีการสวมหน้ากาก มีที่นั่งที่ปลอดภัย ต้องมีการดีไซน์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อให้ทางการหรือหน่วยงานสาธารณสุขมั่นใจได้ว่าเมื่อไปดื่ม ไปนั่งที่ร้าน แล้วจะปลอดภัยไม่ติดโรคโควิด-19 ได้ โดยระหว่างรอการเปิดร้านนั้นสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงการผ่อนปรนเปิดสถานบันเทิง

ทั้งนี้ หากไม่มีการระบาดซ้ำสอง ช่วงปลายเดือน มิ.ย. สถานประกอบการในเมืองไทยจะกลับมาเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบแต่จะอยู่ในวิถีที่เรียกว่า New Normal หรือ ความปกติใหม่ เพื่อประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโดยเร็วที่สุด

ข้อมูลจากผลสำรวจเรื่อง “เสรีภาพหรือสุขภาพ” ซึ่งทำการสำรวจเกี่ยวกับข้อเสนอให้ยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการให้ความสำคัญระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยว่า ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ควรอนุญาตให้เปิด เพราะผับ บาร์ ร้านเหล้า หวั่นทำให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2

โดยร้อยละ 78.87 ระบุว่า ยังไม่ควรอนุญาตให้เปิด เพราะผับ บาร์ ร้านเหล้า ถือเป็นแหล่งมั่วสุม แออัด ประชาชนบางกลุ่มยังไม่ให้ความร่วมมือ เกรงว่าการกลับมารวมตัวกันของประชาชน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ขณะที่ ร้อยละ 18.03 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เปิดได้แล้ว เพราะผู้ประกอบกิจการผับ บาร์ ร้านเหล้า ขาดรายได้ พนักงานตกงานมากขึ้น และควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันที่จะไม่ก่อให้เกิดการเเพร่ระบาดรอบ 2

เรื่องการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านเหล้า ฯลฯ การผ่อนปรนในระยะที่ 4 ยังคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ธุรกิจกลางคืนพร้อมแค่ไหน มีแนวทางรับมืออย่างไรหากกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เป็นโจทย์ท้าทายของรัฐทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

ส่วนบรรดาเจ้าของกิจการจะ “อดทน” ต่อไปได้แค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านของแต่ละคน เพราะหลายร้านก็ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจไปแล้วด้วยมองไม่เห็นอนาคตในภายภาคหน้า


นอกจากผับบาร์ยามราตรีแล้ว อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าเป็นห่วงเช่นกันก็คือ “กลุ่มธุรกิจนวดแผนไทย” ที่แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มผ่อนปรนในระยะที่ 2 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดกิจการ และยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาเปิดได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนดังที่ปรากฏเป็นข่าวหรือไม่ อย่างไร

นายพิทักษ์ โยธา ตัวแทนกิจการร้านนวดแผนไทย เปิดเผยว่าผลกระทบเกิดขึ้นตั้งแต่ทางการจีนสั่งปิดประเทศ เมื่อปลายเดือน ม.ค. ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และบรรดาหมอนวดแผนไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้คาดว่าน่าจะมีหมอนวดแผนไทยตกงานทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน และหลังจากที่ทางการสั่งปิดร้านนวด ทำให้หมอนวดไม่มีรายได้ ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวย้ำว่าการพิจารณาเปิดสถานประกอบการร้านนวดนั้นอยู่ที่การพิจารณาของ ศบค. ซึ่งทาง สธ. ได้วางหลักเกณฑ์พร้อมสำหรับการเปิดให้บริการตามหลักความปลอดภัยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยข้อสรุปเบื้องต้น กิจการร้านนวดจะได้รับผ่อนปรน “นวดช่วงล่าง” เปิดให้ทำหัตถการตั้งแต่ช่วงต่ำกว่าระดับเอวลงไป อาทิ นวดฝ่าเท้า นวดตัวส่วนล่าง ประคบ การสครับผิว การแรป เป็นต้น และยกเว้นนวดบริเวณใกล้กับใบหน้า คอ บ่า ไหล่ ศีรษะ รวมทั้งกำหนดมาตรการความปลอดภัยได้ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง เป็นต้น

นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับสมาคมผู้ให้บริการนวดและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ สมาคมสปาไทย มีการทำหลักเกณฑ์การประเมินกันว่าหากผ่อนคลายแล้วจะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัยและสามารถให้บริการได้

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2562 มีผู้ประกอบการร้านนวดที่ขึ้นทะเบียนฯ 3,500 แห่ง และร้านนวดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรวมทั้งหมดมากกว่า 40,000 แห่ง เพราะการได้มาซึ่งใบอนุญาตผ่านหลายขั้นตอน โดยเฉพาะพนักงานนวดต้องมีใบประกาศฯ เกิดปัญหาติดขัดจึงไม่ดำเนินกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ร้านนวดจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่นวดแผนไทยได้รับการยอมรับเป็น Medical Tourism

กล่าวสำหรับตลาดสปาและนวดเมืองไทย มีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. แบบทั่วไป อยู่ในแหล่งชุมชน อาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้า เน้นการทำทรีตเมนต์ในระยะเวลาตั้งแต่ 30 - 210 นาที 2. แบบ Destination ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีห้องพักให้ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการเข้าพักได้ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3 - 28 วัน และ 3. Hotel spa เป็นสปาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม เน้นโรงแรมระดับ 4 - 5 ดาว

สุดท้าย แม้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะโจทย์ในการปรับวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น