ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว สัดส่วนสูงถึง 21.6% ของ GDP นั่นหมายความว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างหนัก และกลายเป็นประเด็นคำถามว่าหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปอย่างไร
ข้อมูลจาก Tripadvisor.com ระบุว่าแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะออกเดินทางแห่งแรกหลังพ้นโควิด-19 คือ สถานที่ใกล้บ้านที่สุดทานอาหารท้องถิ่น พักแรมในท้องถิ่น หรือเดินทางภายในประเทศ ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นเป็นลำดับรองลงมา สอดคล้องกับ หนึ่งในทีมวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของ UNESCAP วิเคราะห์อนาคตการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ว่าคนจะหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศกันมากขึ้น เพราะกังวลเรื่องการแพร่ระบาดไวรัส
นอกจากนี้ ผลสำรวจจาก Longwoods International บริษัทให้คำปรึกษาด้านการตลาด มีประสบการณ์ยาวนานเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เปิดเผยข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง บางส่วนเปลี่ยนจากเดินทางไปต่างประเทศเป็นภายในประเทศ โดยนักท่องเที่ยวกว่า 82% เปลี่ยนแผนสำหรับการท่องเที่ยวในอีกครึ่งปีข้างหน้า จำนวน 50% ยกเลิกทริป
เทรนด์การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 นอกจากนิยมเที่ยวใกล้ๆ ยังให้ความสนใจเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น Omer Rabin กรรมการผู้จัดการ Guesty บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์การจัดการด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่าผู้ประกอบการบ้านพักตากอากาศใน Guesty ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดมากขึ้น เช่น ติดตั้งประตูที่ล็อคและเปิดได้ด้วยแอปพลิเคชัน เว้นระยะในการเข้าพักต่อจากคนก่อนหน้า 1 วัน เป็นต้น
รวมทั้ง ผู้คนเริ่มสนใจประกันภัยการเดินทางมากขึ้น จากเดิมหากมีประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ จะไม่สนใจประกันการเดินทางสักเท่าไหร่ ข้อมูลจาก InsureMyTrip.com ระบุถึงเทรนด์การท่องเที่ยวว่า เมื่อผู้คนรู้สึกสะดวกสบาย จะเริ่มเดินทางออกไปให้ไกลจากบ้านมากขึ้น กล่าวคือ เริ่มจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ก่อนจะเดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งหลังจากการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ยอดสั่งซื้อประกันภัยการเดินทางเพิ่มขึ้นกว่า 25 – 30%
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายตามลำดับ ธุรกิจท่องเที่ยวเตรียมพร้อมกลับมาเปิดให้บริการหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด หลังหยุดชะงักนานกว่า 3 เดือน
“การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” โต้โผใหญ่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าฯ ททท. ประเมินว่าหลังจากจบโควิด-19 แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะปรับตัวไปสู่ New Normal หรือบรรทัดฐานใหม่ๆ บนพื้นฐานการเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ตลอดจนประสานความร่วมกับภาคเอกชนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และอื่น ๆ รวบรวมเป็นแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย โดย ททท. จะเสนอรัฐบาลเพื่อของบประมาณสนับสนุนการฟื้นฟูจากงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทของรัฐบาล
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่พร้อมออกเดินทางหลังการระบาดคลี่คลาย คือ กลุ่มเจเนอเรชั่น Y กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 23-40 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงาน มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบคิดนอกกรอบ ชอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต้องปรับตัวให้ เพื่อรองรับกระแสการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือการเปลี่ยนแปลงภายใต้ New Normal การท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ ไม่อาจคาดหวังนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ได้แล้ว เพราะหลังจากนี้ไปการเดินทางท่องเที่ยวจะเปลี่ยนมาเป็นกรุ๊ปขนาดเล็กมากขึ้น หรือเดินทางด้วยตัวเอง และรูปแบบการท่องเที่ยวจะเป็นระยะสั้น เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
กล่าวสำหรับ ททท. เตรียมเดินเครื่องเต็มสูบเพื่อสร้างรายได้ท่องเที่ยวไทยให้มีอัตราการขยายตัว ไม่น้อยกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ดันแคมเปญส่งเสริมการตลาดหลังจบโควิด-19 แบ่งเป็น “ตลาดในประเทศ” ระยะสั้นจะมุ่งกระตุ้นเพิ่มความถี่ในการเดินทาง คาดว่าคนไทยบางส่วนเริ่มรู้สึกอัดอั้น อยากออกมาเที่ยวให้สะใจ หลังมีข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและการเดินทางเพื่อควบคุมโรค ททท. จึงเตรียมออกแคมเปญ “ไทยเที่ยวไทยวิบวับ” เชิญชวนคนออกไปเที่ยวอย่างมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยคึกคัก
ในส่วนตลาดในประเทศจะสร้างสรรค์รูปแบบและกิจกรรมท่องเที่ยวแปลกใหม่ ภายใต้พื้นฐาน New Normal ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนไปเที่ยว ด้วยการชูเรื่องอาหารถิ่น การประชุมสัมมนาและจัดกิจกรรมในท้องถิ่น พร้อมดึงส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจากตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศซึ่งปีที่แล้วมีราว 13 ล้านคน ให้เปลี่ยนใจ ออกไปบอกรักเมืองไทย
นอกจากนี้ยังเตรียมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มพลังบวก เช่น กิจกรรมทำบุญไหว้พระ, กิจกรรมเที่ยวดีแข็งแรงได้ ชูจุดขายเรื่องการเข้าคอร์สสุขภาพ, เที่ยวพาไทยยิ้ม เป็นกิจกรรมซีเอสอาร์พาผู้ด้อยโอกาสไปเที่ยว รวมถึงกิจกรรมตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ และโครงการอาสาพาเที่ยว พาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเที่ยวในประเทศ
ด้าน “ตลาดต่างประเทศ” จะใช้แคมเปญ “Book Now Travel Soon” โดย ททท. วางเป้าหมายการทำตลาดระยะไกลและใกล้แตกต่างกันหลังจบโควิด-19 เพราะยังต้องติดตามพฤติกรรมนักท่องเที่ยวว่าหลังจากนี้จะยังชอบเดินทางไกลๆ กันหรือไม่ จึงต้องใช้กลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้าเดิมสำหรับตลาดระยะไกล เช่น จากยุโรป และอเมริกา ซึ่งรู้จักเมืองไทยดีอยู่แล้ว ด้วยการรุกดึงตลาดท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ คู่แต่งงานและฮันนีมูน ท่องเที่ยวเชิงกีฬา และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายดีให้เดินทางมาเที่ยวซ้ำ นอกจากนี้ยังเตรียมเจาะกลุ่ม LOH (Lifestyle of Health) ที่รักสุขภาพ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทาง
ขณะที่ตลาดในเอเชีย จะมุ่งดึงนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณอย่างมีคุณภาพ (Go Mass-Q) เพราะต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่เน้นเรื่องการเพิ่มความถี่ในการเดินทางได้ง่ายกว่าตลาดระยะไกล รุกเจาะกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่น นักท่องเที่ยวจีน และกลุ่มอินเซนทีฟ (ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล) เพื่อกระตุ้นให้ภาคท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวได้เร็ว
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ประเทศไทยยังเป็นหมุดหมายอันดับต้นๆ ของนักเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ผลสำรวจความเชื่อมั่น “China Thailand Travel Sentiment Survey 2020” พบว่า 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นชาวจีน ต้องการเดินทางไปต่างประเทศภายในปี 2563 และ 71% ต้องการมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดยจุดหมายปลายทางในประเทศไทยที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา ซึ่งพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวจีนแบบดั้งเดิมในตลาดมวลชน (mass market) มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ 83% ของนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มจะเลือกเดินทางแบบอิสระ (independent travel) มากกว่าการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์แบบเดิม
อย่างไรก็ตาม วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อตลาดการท่องเที่ยวไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย จากเมื่อปี 2562 มีผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศถึง 39.8 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีนกว่า 11 ล้านคน โดยภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และการเดินทางของไทย มีส่วนขยายอยู่ระหว่าง 12 – 15 % ของ GDP และเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหดตัวถึง 29.5% ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหายไปแล้วกว่า 90,000 ล้านบาท
สอดคล้องกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยปี 2563 อาจหดตัวประมาณ 46.4% - 52.3 หรือมีการเดินทางประมาณ 79.5 - 89.5 ล้านคน/ครั้ง ส่วนรายได้จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่าประมาณ 4.85 - 5.45 แสนล้านบาท หรือ หดตัวประมาณ 49.4% - 55.1%
และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยไม่เกิดการระบาดซ้ำ อีกครั้ง ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะค่อยๆ กลับมา แต่เนื่องจากยังมีปัจจัยท้าทายจากเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่อ่อนแอและความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำลดลง
โจทย์ใหญ่ของตลาดท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 เป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง