จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และในหลายจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นระยะเวลาหลายวันติดต่อกัน นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน และหากประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ กิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน และธุรกิจก็น่าจะทยอยกลับมาตามลำดับ สำหรับภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ต้องยอมรับว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในห่วงโซ่การท่องเที่ยวอย่างหนัก จากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ตามที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีข้อเสนอให้ ททท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำร่องวางแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ เน้นเป็นพื้นที่ที่สามารถดูแลควบคุมดูแลได้ทั่วถึง เบื้องต้น อาจนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ยังไม่ใช่ในระยะอันใกล้ คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงไตรมาส 4/2563 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว
"คงจะต้องพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ควบคู่ไปด้วย ระหว่างนี้ ททท.ได้มีการวางแผนไว้รองรับและพูดคุยในพื้นที่ด้วยว่า มีความพร้อมและมีเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ส่วนมาตรการด้านการท่องเที่ยว ททท.ทำใน 3 ส่วน แนวทางแรก เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ แนวทางที่สอง เตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวที่จะเกิดหลังโควิด-19 ดำเนินไปในทาง New Normal และแนวทางที่สาม ผลักดันการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา"
บอสใหญ่ CI แนะ "ไทยเที่ยวไทย" ฟื้นท่องเที่ยว
นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CI ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่พักหรูในหัวเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ภูเก็ต หัวหิน เปิดเผยถึงแนวคิดของภาครัฐที่จะเปิดนำร่องการท่องเที่ยวในหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สมุย นั้นว่า กว่าจะเรียบร้อยและคนไทยกล้าใช้บริการสายการบินน่าจะประมาณ 3 เดือนข้างหน้า หรือประมาณต้นไตรมาส 4 ของปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขว่า ทุกอย่างไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องช็อก หรือการหวนกลับมาของตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก แต่ถ้าไม่เรียบร้อย โอกาสของการท่องเที่ยวคงต้องลากยาวไปกว่านี้
"เราต้องโปรโมตไทยเที่ยวไทย ให้คนไทยกล้าบินไปสมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ ไม่ใช่เปิดบริการสายการบินแล้ว ไม่ได้สร้างความมั่นใจเลย นักท่องเที่ยวคนไทยอาจจะเลือกเที่ยวในระยะใกล้ เช่น พัทยา หัวหิน ชะอำ เป็นต้น เนื่องจากสามารถขับรถไปได้ ปลอดภัย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในหัวเมืองดังกล่าวจะเติบโตได้ก่อน และเมื่อไทยเที่ยวไทยดีขึ้น ก็ปรับไปเน้นตลาดต่างชาติ ซึ่งแต่ละขั้นตอน เริ่มหนึ่ง สอง และสาม ก็มีเรื่องความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจะทำให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างไร ไม่ใช่ว่า ขึ้นเครื่องบินไปภูเก็ต แต่ติดเชื้อบนเครื่องบิน หรือไปแล้วมีปัญหาระหว่างอยู่บนเกาะอีก ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยจะช่วยสร้างความมั่นใจ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาขยายตัว" นายสงกรานต์ กล่าว และชี้การทำธุรกิจโรงแรมจากนี้จะต้องปรับรับกับ New Normal (ไลฟ์สไตล์) ใหม่ว่า
อย่างแรก ตัวโรงแรมต้องปรับการบริการและเจาะกลุ่มลูกค้าไพรเวตมากขึ้น ประการที่สอง อาหารเช้าหรือบุฟเฟต์ต้องเปลี่ยน คงมาตักเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เพื่อลดความหนาแน่นและสร้างความปลอดภัย โดยใช้ระบบการสั่งอาหารแล้วมาเสิร์ฟให้แก่ผู้ใช้บริการ 1 โต๊ะ จำกัด 2 ท่าน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนทุกกระบวนการที่เราปรับมีผลต่อต้นทุน แต่สภาพแบบนี้เป็นเหมือนกันไปหมดทั่วโลก
"คิดว่าไลฟ์สไตล์ใหม่นี้จะอยู่กันไปยาวจนกว่าเราจะเคยชิน และมี immunity เกิดขึ้นมาป้องกันก่อน หรือแม้แต่การบริหารโรงแรมในรูปแบบใหม่ ที่เป็นลักษณะการอาศัยเครือข่ายที่พักไปอยู่ทั่วโลกนั้น คำถามคือ ความสะอาดจะมีแค่ไหน ในเมื่อแต่ละคนเป็นเจ้าของ หรือแต่ละโรงแรมก็มีความต่างกัน ดังนั้น การแก้ไขก็ต้องมาดูแต่ละปัญหา บางแห่งมีห้องพักเยอะ แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดทั้งหมด ค่อยๆ เปิด เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนกอื่นๆ ซึ่งถ้าอุตสาหกรรมโรงแรมปรับตัว ถ้าปรับตัวไม่ได้ คุณก็ลงเหว ถ้าปรับตัวได้ คุณก็มีโอกาสอยู่รอด ในส่วนของโรงแรมศรีพันวา ที่ชาญอิสสระ เป็นเจ้าของนั้น เราปรับเปลี่ยนน้อย โครงการเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ รองรับ 100 กว่าคน และมีที่ดินอีก 2 ไร่ รองรับได้ 200 กว่าคน เราดูแลแขกได้ดีกว่า ลูกค้าจะพอใจมาใช้บริการอย่างนี้ ศรีพันวา ก็ฟื้นเร็ว แต่ถ้าเป็นตึกสูง อยู่กัน 400 ห้อง ปวดหัวมากกว่า ซึ่งโปรดักต์ของชาญอิสสระ มีหลายโลเกชัน ทั้งในกรุงเทพฯ หัวหิน ภูเก็ต แต่เราเน้นลูกค้าระดับไฮเอนด์" นายสงกรานต์ กล่าวและหวังว่า
เมื่อภาคเอกชน ธุรกิจโรงแรมพยายามดำเนินการในแต่ละส่วนงานแล้ว ก็ยังไม่ครบ 100% เพียงแค่ครึ่งเดียว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการวางระบบ และลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบนักท่องเที่ยวก่อนที่จะเข้ามาไทย ได้เดินทางไปประเทศใดมาก่อน เคยมีกิจกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งการพัฒนาแอปก็เพื่อทำให้ประเทศปลอดภัย นักท่องเที่ยวมาประเทศเราเพราะความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และเกิดการสื่อสารออกไปวงกว้างในเชิงบวกแล้ว ก็ยิ่งสร้างความเชื่้อมั่นและจูงใจให้ต่างชาติมาเที่ยวไทยมากขึ้น
นายสงกรานต์ กล่าวส่งท้ายต่อวิกฤตโควิด-19 ว่า "วิกฤตที่ผ่านมา เป็นแค่ล้างไพ่ เมื่อล้างเสร็จก็เริ่มใหม่ แต่ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่ แต่เป็นการเผาไพ่ เผาเสร็จ ก็เป็นหมากเก็บ แบบว่า เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังเท้า ถ้าใครปรับเร็วสู่สภาพแวดล้อมใหม่และถูกทางก็รอด แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็ตาย"
ส.อสังหาฯภูเก็ตแนะเปิดโซนนิ่ง10-20%รับนทท.
นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เปิดเผยว่าการจะเปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น สิ่งแรกที่เรา คือภาคเอกชนต้องการนโยบายของทั้งประเทศ และวิธีปฎิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐบาลเพื่อลดความสับสนเมื่อท้องถิ่นต้องดำเนินการจริงตามความเข้าใจแต่การจะกำหนดเป็นโซนนิ่งนั้น ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และสมาคมโรงแรม เห็นพ้องกับวิธีการดังกล่าวโดยอาจจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงแรกจำนวนที่น้อยประมาณ 10-20 %เพื่อนำร่องประเมินภาพรวมช่วงที่ทดสอบระยะ 1 เดือนก่อนซึ่งรูปแบบอาจจะรับเป็นกลุ่มรถบัสเล็ก หรือรถตู้ เป็นกลุ่มไพรเวทมากขึ้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาอาจจะสูงกว่าปกติหรือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงบนมากขึ้นโดยต้องมีการติดตามนักท่องเที่ยวรายนั้นๆ ไปใช้บริการสถานที่ใดหรืออาจจัดบริการพาไปยังจุดต่างๆ ในโซนที่จัดเตรียมเฉพาะให้ไว้ ซึ่งแน่นอน ร้านอาหารจะไม่สามารถรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากเพราะจะถูกกำหนดเรื่องรักษาความปลอดภัยแต่คิดว่าน่าจะเห็นภาพและเริ่มได้ประมาณปลายไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.)
"New Normal จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว การทานอาหารเปลี่ยนไป ตรวจเช็กลูกค้าที่เข้ามาพัก เคยไปสถานที่ใดที่สุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ แต่จุดนี้ เราก็ยังกังวล เพราะถ้าเป็นไฟลต์บินตรงมาภูเก็ตเลย ป้องกันได้ แต่ถ้ามาทางอื่น หรือบินไปจุดอื่นที่ไม่อยู่ในข่ายต้องกักตัว 14 วัน ตรงนี้ เคยเป็นปัญหาช่วงภูเก็ตเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก"
ทั้งนี้ หากภายในไตรมาส 3 ถ้านักท่องเที่ยวมาภูเก็ตได้ ภายใต้เงื่อนไขปลอดเชื้อ จะทำให้ตัวเลขอัตราการเข้าพักในโรงแรมเพิ่มได้ 10% และคาดไตรมาส 4 เพิ่มได้อีก 20% ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่คนซื้ออสังหาฯในภูเก็ตมาจากท้องถิ่น ซึ่งส่วนนี้กำลังซื้อหายไปถึง 80% เนื่องจากเจอพิษโควิด-19 โรงแรมทั้งหมดปิดให้บริการ แต่ผู้ซื้อกลุ่มนี้ มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละวันที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งตลาดนักท่องเที่ยวและกำลังซื้อจากโควตาต่างชาติก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
"ช่วงหลายวันที่ผ่านมา แรงงานในภูเก็ต ทยอยกลับภูมิลำเนาของตนเองรวมไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของภูเก็ต คือ การท่องเที่ยว ตอนนี้รายได้จากการท่องเที่ยวในภูเก็ตถูกตัดเป็นศูนย์ คนทำงานกลุ่มนี้ต้องหนีตายเพื่อกลับบ้าน เนื่องจากโรงแรมหยุดให้บริการ โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลางถึงล่าง น่าเป็นห่วง นอกจากไม่มีรายได้แล้ว เงินฝากในแบงก์มีไม่มาก มีเงินอยู่ใช้ได้ 1-2 เดือนเท่านั้น ประกอบกับภูเก็ตต้องนำเข้าจากภายนอกทั้งหมด ทำให้ค่าครองชีพสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ"
สำนักวิจัยฯ คาดรายได้ภาคท่องเที่ยวลดฮวบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เนื่องจากตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีหลายปัจจัยลบ เช่น นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลต่อสถากนการณ์โควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำ และกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก จึงทำให้ทั้งปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจหดตัวประมาณ 52.3% ถึงหดตัวประมาณ 46.4% หรือมีจำนวน 79.5-89.5 ล้านคน/ครั้ง ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 4.85-5.45 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 55.1% ถึงหดตัวประมาณ 49.4% จากปีก่อน (การประเมินอยู่ภายใต้สมมติฐานที่โควิค-19 ไม่กลับมาระบาดอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้)
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวคาดการณ์ว่า ในปี 63 นักท่องเที่ยวเหลือ 28 ล้านคน โดยแผนกวิจัยฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยอาจจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ราว 1.4 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.7% จากในปีก่อนหน้า และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านคนเท่านั้น
ขณะที่ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุดประมาณ 11 ล้านคน สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท แผนกวิจัยฯ คาดการณ์นักท่องเที่ยวจากจีนที่หายไป จะส่งผลให้ไทยอาจจะสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปมากกว่า 3 แสนล้านบาท
ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้หลังจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของทางรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนต่างเตรียมแผนท่องเที่ยวไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการผ่อนคลายหลังจากที่ได้แต่กักตัวไว้แค่ที่พักอาศัยหากสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งในช่วงเวลานั้นรัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ออกมาท่องเที่ยวหรือเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี
CI ปลุกกำลังซื้อ จ่อยืดโปร "หุ้นแลกคอนโดฯ"
นายสงกรานต์ กล่าวเสริมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายในช่วงไตรมาส 2 ผ่านแคมเปญ "หุ้นแลกคอนโดฯ" กับโครงการที่อยู่อาศัยในหัวเมืองท่องเที่ยว ว่า "เหนื่อยมาก รับสายไม่หยุดเลย สนใจหุ้นแลกคอนโดฯ ทั้งวัน" โดยกลุ่มหุ้นที่เราเลือกจะต้องอยู่ใน SET100 Index กำหนดราคาแลกซื้อ ณ วันที่ตกลงกัน โดยมีคณะกรรมการของบริษัทและทีมวาณิชธนกิจในการประเมินหุ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตกลงวันนี้ สมมติมาตรวจคอนโดฯ ของโครงการทิวทะเล ราคา 2.5 ล้านบาท หุ้นที่นำมาแลก เราตีราคา 100 บาท ก็เอาหุ้นมาแลก 250,000 หุ้น แต่ถ้าจำนวนหุ้นไม่ครบ ก็เอาเงินสดมาเติมได้ แต่ถ้าเราดูว่าหุ้นไม่โอเค เราอาจจะขอ Discount ลง ถ้าลูกค้าพอใจก็โอน และเมื่อดำเนินการโอนหุ้นและห้องชุดเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถขายหุ้นออกไปได้ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นกระแสเงินสดเข้าบริษัท
"โครงการหุ้นแลกคอนโดฯ อยู่ที่จังหวะเวลา โครงการคอนโดมิเนียมของเรา เสร็จพร้อมโอน การตีราคาให้เหมาะสม ซึ่งแคมเปญมีระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้ วางเป้าตัวเลขการขาย 100-200 ล้านบาท วิธีนี้ดูแล้วตื่นเต้น เป็นการเล่นนอกเกม ดีกว่าแบบเดิมๆ คือ เล่นลดราคา และหากสำเร็จ ก็จะขยายผลไปโครงการอื่น จากเดิมที่ทำตลาดอยู่ 4 โครงการ ซึ่งเป็นแคมเปญในเชิงการขายที่อยู่ในแผนใหญ่ และในเดือนนี้ จะมีแคมเปญต่อเนื่องมาอีก
ครบดีลจ่ายหุ้นกู้ไปแล้ว 450 ล้านบาท
นายสงกรานต์ กล่าวให้ความเห็นต่อแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเข้าไปดูแลตราสารหนี้ของภาคเอกชนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะถ้าจะช่วย ต้องช่วยทั้งหมด ไม่ควรเลือกช่วย เพราะตราสารหนี้ระดับอินเวสเมนเกรดนั้น ตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เท่ากับต่ำกว่าอินเวสเมนต์เกรดลงมา วิธีนี้ เป็นการช่วยเหลือคนมีตังค์ ผมไม่เห็นด้วย ถ้าแน่จริง ก็ไม่ต้องช่วยไปทั้งหมด ซึ่งเราเข้าใจว่า ถ้าแบงก์มีปัญหา ก็แย่ อันนี้ผมเข้าใจ แต่ทำไมถึงเลือกช่วย ความเท่าเทียมควรจะมี ถ้าเป็นผม วัดดวงไปเลย ไม่ใช่บางคนได้ บางคนไม่ได้ และผมจะถาม ถ้ารายย่อยและรายกลาง เกิด Defaulted แล้วรายใหญ่จะอยู่ได้หรือ เกิดปัญหาทั้งระบบ ไม่ช่วยก็อย่าไปช่วย นี่คุณช่วยตัวใหญ่ ประเด็นผมอยู่ตรงนี้ ถ้าช่วยก็ช่วยหมด แต่ไม่ใช่ (เลวๆ แย่ๆ) ก็เข้าไปช่วย แบบนี้ก็ควรเว้นไว้
"ล่าสุด ชาญอิสสระได้ชำระหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไปแล้ว 450 ล้านบาท เราเอากระแสเงินสดไปชำระ และมีดีลที่ต้องชำระอีกทีปี 2564 ซึ่งกระแสเงินสดเราพอ เพราะเราเตรียมตั้งแต่ปีที่แล้ว มีทั้งเรื่องการเพิ่มทุน ขอวงเงินกับสถาบันการเงิน การขายสินทรัพย์ออกไป ทำให้มั่นใจว่า กระแสเงินสดเราพอไหวถึง 2 ปี"