xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ทุบผู้ประกอบการกระอัก แห่เทขายโรงแรมมูลค่ารวมนับแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โควิด-19 กระทบธุรกิจท่องเที่ยวหนัก ผู้ประกอบการโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวตัดใจเทขาย คาดมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โบรกเกอร์ชี้โอกาสดีของนักลงทุนที่มีความพร้อมซื้อกิจการ

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 180% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 18% โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 39.80 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.97% เมื่อเปรียบเทียบกับในปีก่อนหน้า และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.02 ล้านล้านบาท

การที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจซื้อโรงแรมในประเทศไทยกันอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนจากจีน และฮ่องกง แสดงความสนใจซื้อโครงการโรงแรมในประเทศไทยจำนวนหลายแห่ง โดยโครงการที่นักลงทุนจะให้ความสนใจเข้าซื้อ ได้แก่ 1.โครงการที่ผลตอบแทนจะต้องมากกว่า 6% ต่อปี 2.อายุอาคารไม่ควรเกิน 15 ปี หรือต่ำกว่า 10 ปียิ่งน่าสนใจ 3.จำนวนห้องพักควรมากกว่า 150 ห้อง เนื่องจากจะคุ้มค่าเงินลงทุน เมื่อนักลงทุนสนใจเข้าซื้อโรงแรมแล้วส่วนใหญ่จะนำโรงแรมมา Renovate แล้วอัปเกรดรูปแบบโครงการขึ้น หรือมีการนำแบรนด์ของโรงแรมที่ดังอยู่แล้วหรือเชนโรงแรม หรือที่ในวงการเรียกกันว่า “Brand Affiliation” มาช่วยบริหารโรงแรม

สำหรับภาพรวมการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ประมาณ 124,530 ล้านบาท เฉพาะในช่วงปี 2560 และ 2561 ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยสูงกว่าถึงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าซื้อโรงแรมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยในช่วงปี 2562 พบว่า การซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยมีเพียงแค่ประมาณ 4 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากโรงแรมที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการลงทุนมีการเสนอขายลดลงมากและการซื้อขายในบางโรงแรมผู้ซื้อผู้ขายมีการลงนามในสัญญาซื้อขายกันไปแล้ว แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันและต้องเลื่อนการโอนออกไป ซึ่งบางโรงแรมเป็นการซื้อขายที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง


โอกาสนักลงทุนซื้อของถูก
ในช่วงก่อนหน้านี้จำนวนโรงแรมที่มีการเสนอขายอยู่ในตลาดค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด แต่หลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 พบว่า มีผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะนำโรงแรมออกมาเสนอขายกันมากขึ้น ทั้งในส่วนของโรงแรมในกรุงเทพมหานคร และเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในภาวะเช่นนี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มีความพร้อมที่สนใจเข้าซื้อกิจการโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จบลง นอกจากนักลงทุนที่สนใจอาจสามารถซื้อโรงแรมได้ในราคาที่ดี และอาจส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามากระทบภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกยังคงมองว่าประเทศไทยยังคงเป็นที่ปลอดภัยของพวกเขาและยังคงน่าท่องเที่ยวหากสถานการณ์ดีขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวในประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้หลังจากการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ของทางรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนต่างเตรียมแผนท่องเที่ยวไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเป็นการผ่อนคลายหลังจากที่ได้แต่กักตัวไว้แค่ที่พักอาศัยหากสถานการณ์ดีขึ้น อาจส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 สิ้นสุดลง

“ในภาวะเช่นนี้จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มีความพร้อมที่สนใจเข้าซื้อกิจการโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จบลง นอกจากนักลงทุนที่สนใจอาจสามารถซื้อโรงแรมได้ในราคาที่ดีแล้ว ประเทศไทยซึ่งยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจอยากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมากในอนาคต ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังคงเป็นธุรกิจที่จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตและอาจส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งนอกจากโรงแรมแล้วยังเห็นการซื้อขายอาคารสำนักงานเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” นายภัทรชัยกล่าว

นายภัทรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 ต่ำกว่าการคาดการณ์ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเล็กน้อย ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 40.14 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 39.80 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.97% สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในช่วงปี 2562 อัตราเข้าพักโรงแรมในไทยเฉลี่ยประมาณ 80% ซึ่งถือว่าสูง อีกทั้งการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกแสดงความต้องการซื้อโรงแรมในประเทศไทยจำนวนมาก แต่เนื่องจากโรงแรมที่มีศักยภาพที่ดีน่าสนใจซื้อมีเสนอขายน้อยมาก ทำให้ในปี 2562 มีการซื้อขายโรงแรมเพียงประมาณ 4 แห่ง มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือที่อยู่ระหว่างทยอยโอน

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2563 คาดว่ายังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดหนักในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งจากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหายจากการวิกฤตการณ์โรคระบาดดังกล่าว ทำให้ความต้องการเข้าใช้ห้องพักโรงแรมในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราวหรือบางรายเลือกที่จะปิดกิจการลงอย่างถาวรเนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดของไวรัส Covid-19 จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ปี 2563 โดยจะส่งผลให้ยอดจองห้องพักรวมถึงรายได้จากค่าห้องพักในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อาจะหายไปมากกว่า 50% ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจโรงแรม ทั้งโรงแรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ค่อนข้างสูงในขณะที่ยอดจองห้องพักเป็นศูนย์ในช่วงของการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

นายภัทรชัย กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมควรเน้นบริหารจัดการการลดต้นทุนให้น้อยที่สุดในช่วงนี้ เพื่อที่จะประคับประคองให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถปรับตัวรับได้ทันท่วงทีอาจจะส่งผลให้ต้องปิดกิจการลง แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีน เริ่มมีสัญญาณบวก คือ เริ่มมีสายการบินในจีนติดต่อขอบินกลับเข้ามาประเทศไทย


วอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรวมถึงผู้ประกอบการเอง จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเตรียมพร้อมที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาหลังจากสถานการณ์ต่างดีขึ้น สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอง จะต้องเร่งปรับตัวโดยให้ความสำคัญต่อสุขอนามัย รวมถึงมาตรการคัดกรองและดูแลด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา รวมถึงเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและการปฏิบัติตัวหลังจากธุรกิจกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 กลับมารุนแรงอีกครั้งในอนาคต

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โรคระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปี 2563 จะยังคงเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายและยากลำบากเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เป็นอย่างมากเหลือเพียง 28 ล้านคน จากเดิมตั้งเป้านักท่องเที่ยวไว้ที่ 40.8 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 นี้ประเทศไทยอาจจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ราว 1.40 ล้านล้านบาท ลดลงประมาณ 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.7% จากในปีก่อนหน้า

ดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาครัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ออกมาท่องเที่ยวหรือเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงประชาชนในประเทศเกิดความรู้สึกอยากเดินทางออกไปท่องเที่ยวและเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจโรงแรมกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี

นักท่องเที่ยวจากจีนจะยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่ยังคงเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปีนี้ เฉพาะในปี 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตลาดหลักของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางข้ามาในประเทศไทย ด้วยจำนวนที่มากกว่า 10 ล้านคน เนื่องจากคนจีนเดินทางเที่ยวนอกปีละกว่า 120 ล้านคน และเลือกที่เดินทางมาไทยอยู่ที่ 10 ล้านคน นอกจากนี้ การขยายตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียก็เป็นอีกตลาดที่ค่อนข้างเติบโตเป็นอย่างมากในปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะไปชักชวนให้มีการเปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการ VISA ON Arrival (VOA) ที่จะขอให้รัฐบาลขยายมาตรการนี้ออกไปอีก และนโยบายของทางรัฐบาลที่อยากผลักดันนโยบายฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดัน

ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวอาเซียนจะยังคงมีการผลักดันให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนยุโรปการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะพยายามขยายฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มเฟิสต์วิสิตให้มากขึ้น รวมไปถึงการโฟกัสการขยายฐานนักท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นการเจาะเซกเมนต์นักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น การหาตลาดใหม่ๆ ในเมืองรองของประเทศต่างๆ มากขึ้นทั้งยังลดความผันผวนจากตลาดต่างชาติ ด้วยการปรับสมดุล ขยายฐานรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยให้สัดส่วนรายได้จากเที่ยวในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 33%

อัตราเข้าพักโรงแรม มี.ค.ลดเหลือ 20.8%
สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมโดยภาพรวมทุกระดับในกรุงเทพมหานคร ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 82.12% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในปีก่อนหน้าจากจำนวนคนเข้าพักทั้งหมดที่ประมาณ 32.54 ล้านคน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ซึ่งธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ประเทศไทย โดยคิดเป็นกว่า 28% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของนักท่องเที่ยว แต่ถึงแม้ว่าอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) เฉลี่ยทั่วประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ผ่านมาจะปรับลดมาอยู่ที่ 51.50% เท่านั้น และเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศ ลดลงมาเหลือเพียง 20.82% จากการปิดตัวลงของธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 รวมถึงการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ จากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างได้รับคำชมจากนานาประเทศทั่วโลกว่า มีการรับมือต่อการแพร่ระบาด รวมถึงมีมาตรการดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อาจส่งผลให้หลายประเทศมองว่า ประเทศไทยยังคงที่ปลอดภัยและยังคงน่าท่องเที่ยวหากสถานการณ์ดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงนี้มีผู้ประกอบการโรงแรมชื่อดังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนำโรงแรมเสนอขายต่อนักลงทุนจำนวนหลายแห่ง มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนในการการเจรจาต่อรองและเลือกซื้อโรงแรม โดยหลังจากนี้หากการเจรจาซื้อขายสำเร็จจะได้เห็นการเปลี่ยนมือเจ้าของโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น