ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลกระทบจากวิกฤตการณ์โรคระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรง ส่งผลให้ยอดจองห้องพักรวมถึงรายได้จากค่าห้องพักหดหายกลายเป็น “ศูนย์” และแน่นอนว่า ย่อมกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ตั้งแต่โรงแรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ด้วยต้นทุนในการประกอบธุรกิจค่อนข้างสูง
วิกฤตดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมชื่อดังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสนอขายโรงแรมต่อนักลงทุนจำนวนหลายแห่ง โดยรายงานข่าวระบุว่า มีโรงแรมระดับ 4 ดาว - 5 ดาว ย่านสุขุมวิท สีลม พระราม 3 วิภาวดีรังสิต หลักสี่ คลองเตย และริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ประกาศขายธุรกิจผ่านนายหน้าซื้อขายอสังหาฯ โดยตั้งราคาเสนอขายหลักร้อยล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท
“มีธุรกิจโรงแรมประมาณ 4-5 รายเข้ามาเสนอหุ้น ให้ช่วยซื้อหุ้น โดยพ่วงสัญญาลูกค้าเข้าพักในอนาคต และยังมีบางรายเสนอขายโรงแรมทั้งหมดให้เราเข้าไปทำต่อ กำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ หาทำเล และเจรจาราคา รวมถึงรูปแบบการลงทุน เป็นช่วงเวลาที่ดีในการลงทุนธุรกิจโรงแรมเพราะมีหลายรายเข้ามาเสนอขาย ในราคาที่น่าสนใจ หากลงทุนก็มีโอกาสได้ยีลด์ที่ดี ซึ่งกำลังรออีกในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ช่วงเดือน ก.ค. จึงค่อยตัดสินใจ เพราะเชื่อว่าราคาขายโรงแรมจะลดลงเพิ่มอีก” นายไซม่อน ลี ประธานกรรมการบริษัท แองเจิล เรียลเอสเตท คอนซัลแทนซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและขาย เปิดเผยข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลออกมาด้วยว่า บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างเจรจากับนักลงทุนเพื่อเสนอขายหุ้นสัดส่วน 98.48% ในบริษัท โรงแรม รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ แอนด์ ทาวเวอร์ส โรงแรม 5 ดาว ขนาด 726 ห้อง เนื้อที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา โดยมีนักลุงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ ฮ่องกง ให้ความสนใจซื้อกิจการโรงแรมในครั้งนี้
กล่าวสำหรับ ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยนั้น ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจซื้อโรงแรมในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก
ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงขึ้นกว่า 180% หรือ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 18% โดยปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 39.80 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.97% เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2561 ทำให้สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2.02 ล้านล้านบาท
ปี 2562 อัตราเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศไทย เฉลี่ยสูงกว่า 80% ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกแสดงความต้องการซื้อโรงแรมในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งนี้ ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนโรงแรมที่เสนอขายอยู่ในตลาดนั้นค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด แต่หลังจากวิกฤตการณ์ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายนำโรงแรมออกมาเสนอขายกันมากขึ้น
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายรวมอยู่ที่ประมาณ 124,530 ล้านบาท เฉพาะในช่วงปี 2560 และ 2561 ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายโรงแรมในประเทศไทยสูงกว่าถึงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าซื้อโรงแรมในไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนจากจีน และฮ่องกง แสดงความสนใจซื้อโรงแรมในประเทศไทยจำนวนหลายแห่ง
โดยโครงการที่นักลงทุนจะสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ 1. โครงการที่ผลตอบแทนจะต้องมากกว่า 6% ต่อปี 2. อายุอาคารไม่ควรเกิน 15 ปี หรือต่ำกว่า 10 ปียิ่งน่าสนใจ 3. จำนวนห้องพักควรมากกว่า 150 ห้อง เนื่องจากจะคุ้มค่าเงินลงทุน ทั้งนี้ เมื่อเข้าซื้อโรงแรมแล้วส่วนใหญ่จะนำโรงแรมมา Renovate อัปเกรดรูปแบบโครงการขึ้น หรือมีการนำแบรนด์ของโรงแรมที่ดังอยู่แล้วหรือเชนโรงแรม หรือที่ในวงการเรียกกันว่า Brand Affiliation มาช่วยบริหารโรงแรม
อย่างไรก็ดี สืบเนื่องจากภาวะซบเซาของภาคธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหาย ความต้องการเข้าใช้ห้องพักโรงแรมลดลงฮวบฮาบ ซ้ำร้ายยังต้องปิดกิจการเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกัน ยังเกิดรายจ่ายบางประการทำให้แบกรับภาระไม่ไหว ทำให้มีแนวโน้มขายกิจการโรงแรมเพิ่มมากขึ้น
ด้านคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นำโดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าปัญหาสถานการณ์โรงแรมของผู้ประกอบการไทย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทยอยปิดกิจการชั่วคราว อีกทั้งบางแห่งรับสภาพภาระการขาดทุนไม่ไหว เริ่มมีแนวโน้มจะขายกิจการให้ต่างชาติในราคาถูก อาจทำให้ที่ดินทำเลดีหลายแห่งถูกกดราคาต่ำลง ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติได้กว้านซื้อโรงแรมไทยโดยใช้ “นอมินีคนไทย” เข้ามาซื้อแทน เพราะกฎหมายไทย ยังไม่เปิดให้ต่างชาติมาเข้าถือหุ้นเกิน 49%
กล่าวสำหรับโรงแรมขนาดเล็กที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ยกตัวอย่างในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นั้น นายวสันต์ กิตติกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก (เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์) กล่าวว่าแม้ได้รับผลกระทบแต่ส่วนใหญ่ยังประคองธุรกิจด้วยการกู้เงินเพิ่มจากธนาคารเอสเอ็มอี ส่วนการประกาศขายกิจการเพราะขาดสภาพคล่องตัวเลขไม่ชัดเจน โดยพื้นที่ชะอำและหัวหินตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีทุนจีนเข้ามาผ่านบริษัทของคนไทยที่เป็นนอมินี เข้าไปซื้อกิจการ ซึ่งกรณีบริษัทนอกให้นอมินีคนไทยถือหุ้น ทำให้เงินรายได้บางส่วนถูกถ่ายโอนออกไปนอกประเทศ
ทั้งนี้ นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ประเมินว่ามีโรงแรมขนาดเล็กและกลาง หรือโรงแรมที่เปิดใหม่จำนวนไม่น้อยต้องการความช่วยเหลือในเรื่องกระแสเงินสด เพราะในช่วงที่ผ่านมาต้องปิดกิจการชั่วคราวทำให้รายได้หายไปทั้งหมด แต่ยังเกิดรายจ่ายขึ้นในบางส่วน ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้าซื้อธุรกิจโรงแรมต่อจากผู้ประกอบการรายเดิม ส่งผลให้บางแห่งอาจจำเป็นต้องขายกิจการเพื่อนำเงินที่ได้มาหมุนเวียน
พร้อมกันนี้ ได้มีการเสนอแนวคิดตั้ง “กองทุนรวมตราสารทุน” หรือ “อิควิตี้ฟันด์” กล่าวคือเปลี่ยนจากให้นักลงทุนต่างชาติมาซื้อธุรกิจโรงแรมจากผู้ประกอบการไปแบบซื้อขาด ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการโรงแรมแทน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ ประการสำคัญการจัดตั้งกองทุนฯ เป็นการตัดปัญหาการเข้ามาฮุบกิจการหรือเปลี่ยนมือของทุนต่างชาติ การออกกองทุนฯ จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไทยได้ ตลอดจนปกป้องธุรกิจโรงแรมไทยจากการฮุบกิจการของทุนต่างชาติ
“ความต้องการในการขายต่อธุรกิจคงไม่ได้มีมากมายนัก เชื่อว่าหากจัดตั้งเป็นกองทุนออกมา คงไม่ได้เห็นภาพการเทขาย หรือการทะลักเข้ามาของธุรกิจโรงแรม แต่จะมีในส่วนของผู้ประกอบการที่ไปไม่ไหวแบบจริงๆ ต้องการขายธุรกิจเข้าไปในกองทุนแบบชั่วคราว เงินเพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ แบบกำหนดระยะเวลา โดยพิจารณาว่าธุรกิจโรงแรมในสัดส่วน 100% อาจมีเพียง 5-10% ที่ต้องการขายเข้ากองทุน หรือขายขาดธุรกิจไป”
นอกจากนี้ ทีเอชเอ ได้ยื่นข้อเสนอไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้พิจารณาเยียวยาธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนี้
1. กระตุ้นให้ธุรกิจกลับมาเร็วที่สุด ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณประชุมสัมมนาของภาครัฐ โดยใช้โรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้มีการจัดประชุมสัมมนาและดูงานข้ามจังหวัดได้
2. ขอให้รัฐบาลเข้มงวดกับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
3 ขอให้มีมาตรการทางภาษี สนับสนุนการลงทุน เพื่อพัฒนามาตรฐานของโรงแรม ให้โรงแรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหักภาษีได้ 3 เท่า
4. ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นปลายปี และขอส่วนลดในช่วงที่มีการปิดกิจการชั่วคราว
5. เรื่องการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นมาตรการที่ดีมาก แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราว
6. การเปิดน่านฟ้า เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอให้ไม่ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน แต่ให้มีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย อาทิ ให้มีการตรวจหาโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
และ 7. ขอให้จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับข้อมูลของโรงแรมในประเทศทั้งหมด
ขณะที่ นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวสนับสนุนแนวคิดจัดตั้งเป็นกองทุนตราสารทุนเพื่อให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติลงทุนในโรงแรมไทย ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสนับสนุนธุรกิจโรงแรมไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยธุรกิจยังอยู่ในมือผู้ประกอบการรายเดิม
..อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายว่าจะมีโรงแรมแห่งใดเปลี่ยนมือบ้าง.