xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อุตฯ ยานยนต์ดำดิ่งสุดรอบ 30 ปี จีดีพีติดลบ6% ว่างงานพุ่งแตะ10ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องบอกว่ายังอยู่ในอาการลุกลามไม่หยุด ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่สั่นสะเทือนต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบิน ส่งออก ยานยนต์ ฯลฯ ทุกภาคส่วนยังโงหัวไม่ขึ้น

ล่าสุด นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) แถลงตัวเลขยอดผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2563 มีทั้งสิ้น 24,711 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 83.55% เป็นการลดลงทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกที่ผลิตได้13,713 คัน ลดลง 81.76% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศผลิตได้ 10,988 คัน ลดลง 85.35%

ถือได้ว่า กำลังการผลิตรถยนต์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปีใกล้เคียงกับปี 2533 ที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์ 304,000 คันต่อปี ขณะที่ยอดขายในประเทศอยู่ที่ 30,109 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 65.02% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านและไม่อยากใช้เงิน เพราะรายได้และความเชื่อมั่นลดลง


สำหรับยอดการส่งออกก็ลดลงเช่นเดียวกันโดยอยู่ที่ 20,326 คัน ลดลง 69.71% เป็นการลดลงในทุกตลาดจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย คิดเป็นมูลค่า 65.15% อยู่ที่ 12,389.07 ล้านบาท โดยไทยมีสัดส่วนส่งออกรถยนต์ถึง 55%

ส่วนเป้าหมายยอดผลิตปีนี้ที่คาดไว้จะผลิตได้ 1 ล้านคัน โฆษกกุล่มอุตสาหกรรมยานยนต์ บอกว่ายังไม่แน่ใจจะเป็นไปได้หรือไม่ จากสภาพที่เห็นตอนนี้โชว์รูมรถยนต์ไม่มีคนเข้าไปซื้อเลย แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลาย แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะกลับมาระบาดรอบสองหรือไม่ เหมือนบางประเทศที่คลี่คลายและปลดล็อกดาวน์แล้วเกิดการระบาดกลับมาระลอกสองอีก

“...เบื้องต้นบอกได้เพียงว่ากรณีเลวร้ายที่สุดกำลังการผลิตก็น่าจะอยู่ที่ 1 ล้านคัน ถ้ายืดเยื้อนานกว่าที่ประเมินไว้เดือนมิถุนายน 2563 และรุนแรงถึงขั้นปิดทุกโรงงานก็ต้องประเมินใหม่อีกครั้ง...” นายสุรพงษ์ กล่าว

การถดถอยของเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบหนักถ้วนหน้า ฉายภาพผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกของปีนี้ ตามที่ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ติดลบ 1.8% จากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่จีดีพีติดลบหลายประเทศ และการส่งออกชะลอตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมทั้งการล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ

สภาพัฒน์ ยังปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น - 5% ถึง - 6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.5 -2.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการส่งออก ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด หลายประเทศที่เคยควบคุมได้ก็กลับมาแพร่ระบาดรอบสองอีก

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ทำให้ล่าสุดไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เสถียรภาพการเงินเปราะบางมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้

กรรมการ 4 เสียงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความเห็นโดยรวมของ กนง. เห็นพ้องกันว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ โดยเชื่อว่ามาตรการการเงินการคลัง จะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้

กนง. ยังมองว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่คาดไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด

ตัวเลขการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประเด็นสำคัญที่น่าห่วงที่สุดในเวลานี้ ตามที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยวิถีธุรกิจแบบใหม่W เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 5.8-8.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.4-9.7% ของ GDP โลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน และถ้าสถานการณ์ยาว 3-4 เดือนขึ้นไป อาจจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

สถานการณ์ว่างงานที่น่าห่วง ทางหอค้าไทยเตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชันแก้ปัญหาการว่างงานในภาคธุรกิจ โดยดึงบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย ให้เข้ามาอยู่ในแอพฯ และจะจับคู่ระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน หากบริษัทใดต้องการลดคนงาน เพราะไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ก็จะให้อีกบริษัทหนึ่ง ที่ขาดแคลนแรงงาน ให้รับพนักงานที่ถูกปลดเข้ามาทำงานทันที ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลแรงงานและศักยภาพของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างแล้ว

แอพฯดังกล่าวนี้ สภาหอฯ ได้แนวคิดมาจากสหรัฐฯ ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และช่วยให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างสามารถมีงานทำได้อย่างต่อเนื่อง หอการค้าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำแอพฯ นี้ และมีสมาชิกที่เป็นบริษัทรายใหญ่ ขนาดกลาง และเล็ก (เอสเอ็มอี) สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก จึงเชื่อมั่นจะช่วยเหลือผู้ที่ถูกเลิกจ้างได้ทันที หากเจ้าของกิจการและแรงงานตกลงค่าจ้างกันได้ ถือว่าเป็นมิติใหม่ที่จะนำมาใช้ในยุค New Normal ได้

นอกจากนี้ หอค้ายังได้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม “ไทยดอทแคร์” (Thai.care) เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ใช้บริการ โดยพัฒนามาจากแนวคิด “คนไทยร่วมกันแคร์” ประสานพลัง 3 แคร์ ได้แก่ร้านค้าแคร์ โดยจะสร้างเครือข่ายของร้านค้าที่มีความห่วงใยใส่ใจในบริการที่ปลอดภัย ลูกค้าแคร์ รับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงร้านค้าและบริการได้อย่างรวดเร็ว และสังคมแคร์ เอื้ออาทรต่อกัน

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แม้จะมีวิกฤตก็ยังมีโอกาส เช่นด้านการท่องเที่ยว ที่จะยกต้องระดับจากเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละกว่า40 ล้านคน ไปสู่เชิงคุณภาพ พร้อมมองว่าปัญหาโควิด-19 จะยังอยู่ไปอีก 1 ปี ดังนั้นภาคธุรกิจต้องปรับตัวสู่รูปแบบใหม่ตามวิถี New Normal โดยที่ผ่านมาทางหอการค้าได้สนับสนุนข้อมูลภาครัฐและการประเมินในการเปิดภาคธุรกิจ และมาตรการต่างๆเพื่อให้ธุรกิจเดินให้ไปได้



กำลังโหลดความคิดเห็น