xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ติดเชื้อลด คลายล็อกเฟส 2 “เจ้าสัวซีพี” แนะบูมท่องเที่ยว-สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับเสียงร้องระงมจากการเยียวยาไม่ทั่วถึงในหลายกลุ่มเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า ยังมีประชาชนที่ตกหล่นต้องการมาร้องทุกข์อีกจำนวนมาก จึงสั่งการให้ขยายเวลาการรับเรื่องร้องทุกข์ออกไปอีก ตั้งแต่วันที่ 18-29 พฤษภาคมนี้

ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เริ่มทยอยรับการโอนเงินเข้าบัญชี รายละ 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค. 63) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยัน เยียวยาเกษตรกรกลุ่มแรกที่ลงทะเบียนในโครงการฯ และผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว โดยรอบแรกเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป จำนวน 8.33 ล้านราย ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

เกษตรกรกลุ่มที่สองที่อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนเกษตรกร ราว 1.67 ล้านราย ซึ่งมีกำหนดขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะได้รับเงินเยียวยาเป็นลำดับถัดไป สำหรับเกษตรกรที่ไม่เข้าเกณฑ์การรับสิทธิ์การช่วยเหลือเยียวยาคราวนี้ เช่น ไม่สามารถเพาะปลูกได้ในปีการผลิต 2563/64 จะมีมาตรการช่วยเหลือในอนาคต แต่ขอให้เร่งขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันภายในวันที่กำหนด

นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมจัดตั้ง “ศูนย์รับเรื่องอุทธรณ์ฯ” เพื่อเป็นช่องทางให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากสาเหตุต่าง ๆ อีกด้วย เป็นการเก็บรับบทเรียนจากการร้องทุกข์การเยียวยาในกลุ่ม #เราไม่ทิ้งกัน ของกระทรวงการคลัง

มีเพียงกลุ่มแรงงานประกันสังคมเท่านั้นที่ยังชักช้าอืดอาด ทั้งที่น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการเยียวยาได้รวดเร็วและครบถ้วนเรียบร้อยเร็วกว่ากลุ่มอื่นเนื่องจากมีการหักเงินสมทบนำส่งประกันสังคมมาโดยตลอด แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อถึงเวลาเดือดร้อน ผู้ประกันตนกลับได้รับการดูแลช้ามาก ซึ่งจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม สำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วจำนวน 700,6633 ราย เป็นเงิน 3,997 ล้านบาท จากตัวเลขผู้มายื่นขอใช้สิทธิ์สะสม 1,087,085 ราย และคาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาใช้สิทธิ์กรณีว่างงานอีกเป็นจำนวนมาก

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า การจ่ายเงินชดเชยว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ขณะนี้มีจ่ายไปกว่า 7 แสนคนแล้ว ที่เหลืออีกประมาณ 2 แสนคน จ่ายให้ครบในวันที่ 15 พฤษภาคม ส่วนคนที่ไม่ได้รับสิทธิ์ตามที่ยื่นขอ ได้เปิดให้ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 18 พฤษภาคม ที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่ง คาดว่าจะมีประมาณ 1 แสนคนที่ข้อมูลยังไม่ครบ เพราะนายจ้างยังไม่รับรองการหยุดงาน

สำหรับมาตรการคลายล็อกซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างเฝ้ารอกันอย่างใจจดจ่อนั้น “รองฯวิษณุ” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการระยะที่ 2 ยังยึดเกณฑ์ระยะที่หนึ่งเป็นหลัก เช่น โอกาสเสี่ยงของบุคคล โอกาสเสี่ยงสถานที่ แต่ละกิจกรรม และให้ดูแต่ละประเภทกลุ่มคนที่จะได้รับความเสี่ยง และนำดัชนีผู้ป่วยสะสมและเสียชีวิตมาประเมินด้วย บางมาตรการก็อาจผ่อนปรนมากขึ้น แต่ยังคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะปัญหาหลายอย่างจำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการแก้ไข และเยียวยาผลกระทบที่จะตามมาได้ทั่วถึง

ทั้งนี้ การคลายล็อกระยะที่ 2 โฟกัสไปที่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกกิจกรรมมีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงอาหาร ขนมหวาน ไอศกรีม ในอาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล (ยกเว้น สวนน้ำ ศูนย์พระเครื่อง โรงหนัง), ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งอื่นๆ, ร้านเสริมสวย ย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆ ไม่เกิน 2 ชม. และร้านทำเล็บ

กลุ่มสองกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม คุมน้ำหนัก, กีฬาประเภทกลางแจ้ง เล่นป็นทีม ไม่มีผู้ชม, สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สวนสาธารณะ, สถานประกอบการ นวดแผนไทย (นวดเท้า) และกลุ่มสาม กิจกรรมการประชุมสถานที่ภายในลักษณะการบรรยาย ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์โฆษณา ถ่ายแบบทำคลิป จำนวนไม่เกิน 5 คน หรืออาจจะขยายเป็น 10 คน สอดคล้องกับการทำงานจริง เป็นต้น

หลังจากมีข่าวดีจะคลายล็อก กิจการต่างๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ทั้งหลาย ต่างเตรียมพร้อมเปิดให้บริการ โดยวางหลักปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่ทางการขอความร่วมมือ พร้อมกับคำสำทับจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ที่ย้ำว่า “เปิดได้ก็ปิดได้” หมายความว่าถ้าหละหลวม ทำติดเชื้อพุ่งก็พร้อมออกคำสั่งปิดให้บริการ ถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่

ส่วนการเคอร์ฟิวมีการหารือเตรียมขยับออกไปประมาณ 1 ชั่วโมง เป็น 23.00-04.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของประชาชน

สำหรับ 6 กิจการที่ผ่อนปรนหรือคลายล็อกไปรอบแรก มีการประเมินผลออกมาว่าน่าพอใจระดับหนึ่ง โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จากข้อมูลของ 2 กิจการ คือ กิจการร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ในส่วนของกิจการร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผมที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีอยู่ 63.08%, ที่ผ่านเกณฑ์ดีเยี่ยม มีอยู่ 27.18% และ ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน มีอยู่ 9.74%

โดยมาตรการ 3 อันดับที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การบันทึกรายชื่อ เบอร์โทรศัพท์ วันที่ เวลาของผู้ที่มารับบริการทุกราย มีอยู่ประมาณ 43.08%, จุดคัดกรองพนักงานหรือผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 30.26%, ผู้ให้บริการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหรือแผ่นใสครอบหน้า (Face Shield) และให้มีผ้ากันเปื้อน/เสื้อคลุมที่สะอาดตลอดเวลาที่อยู่ในร้าน 15.38% สำหรับในส่วนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์โดยเฉพาะร้านเสริมสวย ตัดผม หากได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ให้และผู้รับบริการอาจอนุญาตให้เปิดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจุดที่น่าห่วงกังวลคือ การใช้สวนสาธารณะ ที่พบว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อย กว่าร้อยละ 80 ที่ใช้บริการสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการผ่อนปรนการใช้สวนสาธารณะ เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ฯลฯ ซึ่งหากปรากฏว่าประชาชนยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด กทม.อาจปิดสวนสาธารณะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่

และเสียงจาก “เจ้าสัวอาณาจักรแสนล้าน” อย่าง นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือซีพี เชียร์ให้รัฐบาลปลดล็อกเมืองเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ โดยประเมินคร่าวๆ ว่าตั้งแต่ปิดเมืองไปร่วมเดือนได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท หากยังปิดล็อกต่อไปจะยิ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากเยียวยาให้ฟื้นคืนมาในเร็ววัน

“การปิดไปเลย ปล่อยให้ล้มละลายไปเลย เวลาฟื้นจะไม่ง่าย เหมือนสร้างบ้าน ระเบิดตึก 10 ชั้น วินาทีเดียวพังหมด แต่เวลาสร้างใหม่ 10 ชั้น ต้องใช้เวลาเป็นปี นี่จึงเป็นเหตุให้อเมริกา ต้องรีบเปิด แม้จะมีปัญหา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็รีบเปิดเหมือนกัน เพราะถ้าปิดไปนานๆ เศรษฐกิจจะพัง” ประธานอาวุโส เครือซีพี ให้ความเห็น

สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ศึกษาและรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ประมาณการมูลค่าความเสียหายของประเทศไทยว่า ด้านรายจ่ายจะเสียหายวันละ 15,010 ล้านบาท หรือ 32.5% ของจีดีพีต่อวันที่อ้างอิงจีดีพีปี 2562 ต่อวันอยู่ที่ 46,240 ล้านบาท และด้านผลผลิต เสียหายวันละ 16,460 ล้านบาท หรือ 35.6% ของจีดีพีต่อวัน

ส่วนการกู้เงินนั้น “เจ้าสัวธนินทร์” เห็นควรกู้จากต่างประเทศ วงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ระยะยาว 30 ปี นำเงินมาฟื้นฟูและพัฒนาประเทศโดยมุ่งไปใน 4 ด้านหลัก คือดูแลภาคเกษตรให้มีรายได้สูงขึ้น การจ้างงานให้มีรายได้ 70% ของเงินเดือน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และวางระบบสาธารณสุข รองรับไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของโลก ทั้งนี้เครดิตประเทศไทยดีกว่าอังกฤษ การเงินติดอันดับทอปเท็นของโลก ทุกวันนี้เราเอาเงินไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ รับผลตอบแทน 0.20% ให้เปลี่ยนเป็นกู้มาใช้จ่ายในประเทศ รักษากำลังซื้อ อย่าปล่อยให้โรงงานปิด เครื่องจักรหยุดทำงาน


นอกจากนั้นแล้ว “เจ้าสัวธนินทร์” ยังมองโลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างคาดไม่ถึง การศึกษาออนไลน์จะเกิดขึ้น การซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตอย่างรวดเร็ว การใช้เงินกระดาษจะลดลงเพื่อลดการติดเชื้อ ส่วนการท่องเที่ยวจะมีมากขึ้นเพราะคนไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศอีกต่อไป จะทำงานที่บ้าน หรือทำงานไปเที่ยวไป เทคโนโลยีจะช่วยสนับสนุน จึงเป็นโอกาสของประเทศที่จะดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพมีอำนาจการใช้จ่ายสูงมาเที่ยวไทย รัฐบาลจะต้องทำงานเชิงรุก ประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่าประเทศไทยปลอดภัย ผ่านทางสถานทูตและทูตพาณิชย์ ที่ต้องออกไปเคาะประตูบ้าน

“....ความจริงไทยควรจะติดโควิดมากที่สุดในอาเซียน เพราะคนมาเที่ยวปีละ 40 ล้านคน โดยเฉพาะคนจีน แต่เราติดน้อยที่สุดแค่หลัก 3 พันคน กระทบน้อยที่สุด เพราะมีหมอที่เก่ง และมีท่านนายกรัฐมนตรี ที่รับมือได้ทันเวลา” ประธานอาวุโส เครือซีพี ย้ำจุดแข็งและมองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น