สมควรปลดล็อก คลายมาตรการคุมเข้มการระบาดโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือยัง คำถามนี้มีอยู่ในหลายประเทศ ทั้งที่ยังมีการระบาด คนเสียชีวิต และสภาพโดยทั่วไปยังไม่สามารถวางใจได้ แต่แรงกดดันให้ต้องเปิดทางให้เดินหน้าเริ่มมีพลัง
ความจำเป็นที่จะต้องปลดล็อกบางส่วนอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป สภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทรุดหนัก จะอยู่ในขั้นที่จะฟื้นฟูเยียวยายาก นอกจากต้องใช้เงินมหาศาล การเริ่มต้นด้วยภาระหนี้สินสะสมไว้ จะต้องใช้เวลานาน
ดังจะเห็นได้ว่าหลายกิจการมีปัญหาตั้งแต่การลดค่าเงินบาทปี 2540 หรือภาวะวิกฤตการเงินในปี 2008 ในสหรัฐฯ ยังทำให้หลายกิจการยังอ่อนเปลี้ย นอกจากพวกที่ล้มหายตายจากไป แต่ผลจากการระบาดของโคโรนาไวรัสนั้นสาหัสกว่ามาก
จะเอาผลของต้มยำกุ้งรวมกับวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ก็ยังไม่เท่านี้ เพราะทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีจุดจบด้วยมาตรการเยียวยา ธุรกิจไหนล้มก็ล้มไป แต่วิกฤตปัจจุบันยังไม่เห็นจุดจบหรือทางออก เพราะอยู่เหนือการควบคุมกลไกต่างๆ ของมนุษย์
ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ทำได้คือใช้เงินฟื้นฟู อุ้มชูให้ลุกขึ้นเดินต่อไป ถ้ายังมีสภาพพอไปไหว แต่การติดเชื้อระบาด การเจ็บป่วย ทำให้บั่นทอนทรัพยากรทุกด้าน ประชาชนเป็นทุกข์กังวลในความเสี่ยงด้านสุขภาพ ความอยู่รอด
หลายประเทศ เช่นสหรัฐฯ และยุโรป ทนแรงกดดันของประชาชนซึ่งอ้างว่าขอเสี่ยงกับโรค แต่ไม่ยอมอดตาย ต้องออกไปทำมาหากินเหมือนเดิม ก็ต้องจำยอม และผลที่ตามมาเห็นชัดเจนในสเปน เกาหลีใต้ เยอรมนี ฯลฯ คือการระบาดรอบใหม่
หนักบ้าง เบาบ้าง แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนชัดเจนว่ามนุษย์จะทำอะไรตามใจตัวเองเหมือนเดิม รวมทั้งการตัดสินใจปลดล็อกมาตรการต่างๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะเชื้อโรคไม่สนใจว่าใครจะต้องห่วงอะไร ถ้าไม่ระวังดูแลสุขภาพก็ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อ
การตัดสินในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไม่มีการระบาดรอบใหม่ ก็ถือว่าโชคดี ถ้าไม่เป็นไปตามคาด ต้องเผชิญกับการควบคุม ขณะที่คณะแพทย์อ่อนล้ากับการรับมือในยกแรก มีแพทย์และบุคลากรเสียชีวิตมากมาย ทั้งขาดแคลนเวชภัณฑ์แทบทุกอย่าง
และการระบาดทุกวันนี้ก็มีในยุโรป อเมริกาเหนือ ใต้ ประเทศละตินอเมริกาเริ่มมีการระบาด มีผู้เสียชีวิต ทั้งทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง มากน้อยแล้วแต่การตั้งรับ ไม่มีทางที่ทุกประเทศจะปลอดโรคนี้พร้อมกัน มีแต่จะหมุนเวียนกันไปตลอด
ผู้เชี่ยวชาญเริ่มเชื่อแล้วว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ธรรมดา ปรับเปลี่ยนได้ อยู่ในทุกสภาวะอากาศ และทำให้ต้องศึกษาเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ความรวดเร็วในการระบาดน่ากลัว
ไม่อย่างนั้นคงไม่สร้างความหายนะให้แทบทุกวงการทั่วโลก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แรงกดดันที่ต้องคลายล็อกให้คนทำมาหากินได้ อยู่บนพื้นฐานของการคาดคะเนว่าต้องใช้เวลาอีก 12-18 เดือนกว่าจะได้วัคซีนหรือยารักษาที่ได้ผลจริงๆ
ถ้าจะต้องรอถึงจุดนั้น คงมีคนเดือดร้อน ธุรกิจเสียหาย เกิดความอดยาก ความวุ่นวาย การจลาจล กลายเป็นมิคสัญญีเพราะคนย่อมไม่ยอมงอมืองอเท้ารออดตายอยู่ในบ้าน ถ้าไม่มีใครช่วย ก็ต้องออกไปปล้นชิงจากพวกที่มั่งคั่งนั่นแหละ
แต่ละประเทศมีทรัพยากรจำกัด ไม่สามารถแจกเงินอุ้มประชาชนเป็นเวลานานได้ ดังนั้นการตัดสินใจเสี่ยงให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปภายใต้กฎ New Normal ก็ต้องว่ากันไป พร้อมการระวังส่วนบุคคล และคุมด้วยมาตรการเท่าที่เป็นไปได้
ความเสียหายด้านธุรกิจเริ่มปรากฏให้เห็น การประกาศขายทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์เช่นโรงแรม สถานประกอบการ ที่เจ้าของเดิมไม่สามารถรักษาไว้ต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะมีคนซื้อ ส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก
เห็นกันอยู่ว่ากลุ่มทุนใหญ่ในประเทศต่างก็แบกภาระหนี้กันหลังแอ่นในรูปแบบของตราสารหนี้ หุ้นกู้ และหนี้ในรูปแบบอื่นๆ อยู่ในระดับที่ทำให้เจ้าหนี้นอนไม่หลับทั้งนั้น ถ้าลูกหนี้รายใหญ่ล้ม จะทำให้เจ้าหนี้ต้องโซซัดโซเซไปด้วย
ดังนั้น จะปลดล็อกเพื่อให้ธุรกิจใหญ่น้อยทั้งหลายมีช่องทางเดินหน้า หรือจะคงอยู่อย่างนี้ด้วยความห่วงใยประชาชนว่าจะเสี่ยงติดเชื้อ ป่วยและตาย จะให้เศรษฐกิจตาย หรือให้คนตาย บางประเทศมีคำตอบที่ไม่ประกาศเสียงดัง
กลุ่มประเทศตะวันตกที่เปิด ปลดล็อก เพราะคนป่วย ตายส่วนใหญ่ ไม่ใช่ประชากรของตัวเอง นั่นคือประเทศที่มีฝรั่งผิวขาว กลับมีคนป่วยและเสียชีวิตน้อย เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนผิวสีอื่นๆ ทั้งดำ น้ำตาล และเหลือง พวกด้อยโอกาสก็มาก
บางประเทศไม่ยอมรักษาผู้ป่วยที่มีอายุมาก เอาทรัพยากรที่จำกัดรักษาผู้ป่วยอายุน้อยกว่าและมีโอกาสรอด เป็นส่วนที่จะมีบทบาทด้านเศรษฐกิจ สังคมต่อไป หรือพูดง่ายๆ ว่าเอาพวกที่ยังมีอนาคตไว้ ปล่อยให้คนชราสิ้นอายุขัยไปดีกว่า
ประเทศไทยก็อยู่ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นกัน มีคนให้เหตุผลหลากหลาย ที่ไม่ยอมรับกันก็คือ มีผลประโยชน์มหาศาลเกี่ยวโยงด้วย ไม่ว่าจะตัดสินอย่างไร ล้วนแต่มีได้เสีย ผู้ได้รับผลประโยชน์คือผู้มีอำนาจในการกำหนดหรือยกเลิกกฎต่างๆ
ที่สำคัญ เมื่อเกิดความผิดพลาด ไม่มีใครกล้ารับผิดชอบ เช่นภาคธุรกิจหรือชาวบ้านอยากให้เปิด ถ้ามีระบาดรอบ 2 แพทย์ต้องระดมทรัพยากรเข้ารักษาผู้ป่วยอีก จะต้องใช้มาตรการปิดล็อกอีก ปิดๆ เปิดๆ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่หายขาด
ประชาชน คนด้อยสิทธิ รายได้น้อย เป็นกลุ่มเสี่ยง ด้านติดเชื้อ และความทุกข์