xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพาณิชย์ต้องทำหน้าที่ช่วยเกษตรกรรายย่อยให้ค้าขายพืชผักผลไม้ทางออนไลน์ในวิกฤตโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ และผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ศ.ดร.กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


วิกฤตโควิดทำให้เกือบทุกคนต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ออกไปหาซื้อของกินของใช้ในตลาดโดยทั่วไป ผู้ขายก็ไม่สามารถขายสินค้าได้ เพราะต้องปิดร้าน แต่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีความต้องการค้าขายกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการกินอยู่

การที่เกิดวิกฤติโควิด ทำให้สินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชผักผลไม้ปีนี้มีราคาถูก เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากินอาหาร มาซื้อผลไม้แปรรูปกลับบ้าน การส่งออกก็ทำได้ลดลง เพราะทุกประเทศต่างเว้นระยะห่างทางกายภาพ ที่เคยซื้อไปทำอาหารสำหรับ Catering ตามสายการบินต่าง ๆ ก็หายไปแทบจะหมด ราคาผลไม้ พืชผัก ในปีนี้จึงค่อนข้างถูกและล้นตลาดมากพอสมควร เพราะตลาดต่างประเทศและตลาดการท่องเที่ยวหดตัวลงไปเพราะวิกฤติโควิด

อย่างไรก็ตาม เราต่างก็เป็นผู้ซื้อที่มีความต้องการซื้อสินค้า โดยเฉพาะของกินทุกวัน โชคดีที่เล่นสื่อโซเชียลกับลูกศิษย์เป็นประจำ ทำให้ได้เห็นการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของผู้ขายท้องถิ่นรายย่อยหลายๆรายที่ไม่เคยเข้ามาขายผ่านระบบออนไลน์ ก็ต่างพากันมาเข้ามามากมาย เห็นแล้วเกิดความชื่นชมยินดีเป็นยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ผลไม้ อาหารทะเล และอาหารสด จากทั่วทุกภาคของประเทศ ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ต่างเข้ามาเสนอขายสินค้ากันอย่างมากมายจริง ๆ และเราต่างก็สนับสนุนไปมากมายจริง ๆเช่นกัน

ขอขอบคุณคุณมาร์ค ซักเกอร์เบิร์กกับเฟซบุ๊กของเขาที่ช่างนำเสนอโฆษณาให้ลูกค้าทั้งคนซื้อและคนขายอย่างต่อเนื่อง นับเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง

ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรหาช่องทางในการพัฒนาให้เกษตรกรยกระดับในสามเรื่อง

เรื่องแรก คือ ความสามารถในด้านการตลาดดิจิทัลของเกษตรกรรายย่อย ทุกวันนี้เห็นการตลาดดิจิทัลโดยเกษตรกรไปยังผู้บริโภคโดยตรงเก่งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นการลดพ่อค้าคนกลาง ส่งตรงถึงผู้บริโภคโดยตรง สิ่งที่ควรจะทำให้เกษตรกรที่หันมาค้าขายออนไลน์ทำได้เก่งมากขึ้น โดยรัฐบาลควรเข้าไปหาทางอบรมให้ (โดยให้ภาคเอกชนที่เก่งด้านนี้ช่วย) เช่น การวางแผน การจัดทำสื่อโฆษณาออนไลน์ การสร้างคุณค่าให้กับสินค้า เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) ให้เป็น เพื่อให้สินค้าเกษตรมีที่มาที่ไป มีเรื่องราว ทำให้การขายได้ราคาและมีคุณค่ามากขึ้น สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นนั้นจัดว่าเป็นเลิศในการเล่าเรื่องทำให้เห็นคุณค่าของถิ่นกำเนิด เช่น ข้าวพันธุ์นี้ปลูกในดินที่จังหวัดนี้มีรสดีที่สุด ข้าวสาลีที่นี่เอาไปบดเป็นแป้งทำราเมงได้ดีที่สุด เพราะถิ่นกำเนิด ของไทยเราก็ควรเล่าเรื่องให้เกิดคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นความทุ่มเทดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร อาจจะต้องสอนเรื่องการทำ animation การถ่ายวีดีโอ หรือการถ่ายรูปเพื่อให้สินค้าสวยงามและมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น

เรื่องที่สอง คือภาครัฐควรเข้าไปช่วยพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสำหรับเกษตรกรรายย่อย เช่น การแปรรูป การถนอมอาหาร โดยใช้วิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และรวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ซึ่งเกษตรกรญี่ปุ่นก็เก่งกาจด้านนี้อีกเช่นกัน ไปดูเป็นตัวอย่างได้

และ เรื่องที่สาม คือปัญหาใหญ่ที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขก่อนอื่นเป็นลำดับแรกคือ โลจิสติกส์สำหรับสินค้าเกษตรราคาต่ำทางออนไลน์

ในขณะที่การค้าขายผ่านระบบออนไลน์กำลังเป็นไปด้วยดี เกษตรกรของไทยก็จัดการเรื่องนี้ได้เก่งมากขึ้น เราสังเกตเห็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของการค้าขายในระบบนี้ นั่นคือ การกระจายสินค้า ที่ส่งผลกระทบตรงที่สุดก็คือ “ค่าขนส่งสินค้า”

ค่าขนส่งสินค้าเป็นข้อจำกัดและปัญหาที่สำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาต่ำเช่น สินค้าเกษตร จำพวก มังคุด เงาะ ส้ม มะม่วง ทั้งสดและแปรรูป ที่มีราคาขายกิโลกรัมละสามสิบบาทหรือสี่สิบบาท แต่ค่าขนส่งจากสวนที่เป็นแหล่งผลิตทั้งจากกาฬสินธุ์ เชียงราย ปราจีนบุรี สงขลา ยะลา พัทลุง มีค่าขนส่งอีกกิโลกรัมละหลายสิบบาท ทำให้ราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่ายจริงมีราคาสูงมากขึ้น ในหลาย ๆ กรณีค่าขนส่งสินค้าท่วมราคาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากและมาจากสวนไกล ๆ

อย่าว่าแต่สินค้าเกษตรเหล่านี้เลย แม้แต่สินค้าที่ขายในลาซาด้าหรือช้อปปี้และตลาดออนไลน์ใหญ่อื่น ๆ เวลาจะซื้อ ดิฉันยังต้องจำใจยกเลิกคำสั่งซื้อไปตั้งหลายครั้ง เพราะมีค่าขนส่งที่แพงเกินไป

เราจึงมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยลดปัญหาเรื่องนี้ลงได้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถขายตรงสู่ผู้ซื้อได้ และได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ทั้งคนซื้อและคนขาย สำหรับการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ในประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

ส่วนการขายผ่านคนกลางเพื่อส่งออกก็เป็นอีกเรื่อง ประเทศเราต้องพึ่งพาการส่งออกเกินร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ส่วนนั้นก็ขายกันไป แต่ที่กำลังกังวลอยู่คือการขายในประเทศสำหรับชาวไร่ชาวสวนขนาดเล็ก

เราอยากขอนำเรียนเสนอท่านผู้เกี่ยวข้องได้โปรดช่วยพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องค่าขนส่งสินค้าเกษตรราคาต่ำเหล่านี้ให้สามารถขายได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ คงต้องรบกวนขอความกรุณารัฐบาล(อีกแล้ว) เพราะท่านคือหัวหน้าครอบครัว ถ้าเปรียบประเทศเป็นครอบครัว รัฐบาลก็คือหัวหน้าครอบครัวที่มีหน้าที่ช่วยเหลือลูกหลานในบ้าน เรามีไปรษณีย์ไทยที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ (จริง ๆ แล้วอยากให้ขยายออกไปครอบคลุมทั่วทั้งอนุภูมิภาคด้วยคะ) เป็นผู้ให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ มีคลังสินค้าใหญ่ มีกองรถขนส่งในความดูแลมากมาย สามารถให้บริการกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงในทุกจังหวัดและอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยก็กรุณาเสนอบริการขนส่งสินค้าฟรี โดยไม่คิดค่าบริการในการส่งพัสดุสิ่งของบริจาคหรือของที่ประชาชนนำไปให้แก่คุณทหารรั้วของชาติตามชายแดนมาแล้วหลายครั้ง ในหลาย ๆ เทศกาล ซึ่งเราขอขอบพระคุณและขอชื่นชมมา ณ ที่นี้

ดังนั้น ถ้าหากไปรษณีย์ไทยจะนำเสนอบริการลดค่าขนส่งสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทยได้มีโอกาสขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นและขายได้อย่างยั่งยืน ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง เราคงไม่ร้องขอให้ไปรษณีย์ไทยยกเว้นค่าขนส่งเหมือนในกรณีสิ่งของบริจาค เพราะเรื่องนี้เป็นธุรกิจ มีการซื้อขาย มีรายได้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงสมควรที่จะต้องคิดค่าบริการ

แต่ขอความกรุณาคิดค่าบริการในอัตราต่ำกว่าปกติมาก ๆ มากพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถค้าขายในระบบออนไลน์ได้ และไปรษณีย์ไทยเองก็ยังมีกำไร

ดิฉัน (ศ.ดร.กมลชนก สุทธิวาทนฤพุฒิ) เคยคุยกับลูกศิษย์ที่อยู่กระทรวงพาณิชย์ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยพาณิชย์จังหวัดน่าจะเจรจากับผู้ประกอบการคลังสินค้าเพื่อช่วยเก็บรักษาสินค้าระหว่างรอการกระจาย รวมทั้งเจรจากับไปรษณีย์ไทยเพื่อขอลดค่าขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกร เขาตอบทันทีโดยไม่ต้องใช้สมองคิดทบทวนเลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยไม่ได้ เป็นงานของคนละกระทรวงกัน! ดิฉันจึงบอกเขาไปว่ากระทรวงเกษตรมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลช่วยเหลือเกษตรการในส่วนของการผลิตคือการเพาะปลูก ทำอย่างไรจึงจะปลูกพืชผักผลไม้ให้ได้ผลงอกงามมากที่สุดในขณะที่ใช้ต้นทุนต่ำและพื้นที่ต่ำที่สุด แต่ทันทีที่ผลไม้หรือดอกไม้หรือใบผัก ถูกตัดออกจากต้น เมื่อนั้น มันจะกลายเป็นสินค้าทันที และมันจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์!

ซึ่งหากกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ มีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของตนเองอย่างถ่องแท้แล้ว ท่านจะไม่ต้องมาเกี่ยงกันอีกว่าไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ลูกหลานในบ้านเมืองนี้ ก็จะได้มีความสุขกันถ้วนหน้า

ในเรื่องของค่าขนส่งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถเจรจากับกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือ ขอส่วนลดค่าขนส่งสินค้าให้กับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอาจปูพรมให้กับทุกราย หรือถ้าหากอยากจะควบคุม ก็ให้เฉพาะรายได้ เช่น ให้เฉพาะรายที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่พึงได้รับความช่วยเหลือ (ซึ่งอาจวุ่นวายพอสมควร) และให้เกษตรกรมาทำการลงทะเบียนที่พาณิชย์จังหวัดเพื่อขอรับสิทธิ์ เป็นต้น

การช่วยเหลือคนต้องช่วยเหลือให้เขาช่วยเหลือตนเองได้ อยากให้หน่วยราชการช่วยกันยึดหลักนี้ตามรอยพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงสั่งสอนพวกเราไว้ ในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีศาสตร์พระราชา โปรดอ่าน แผนภาพศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน https://mgronline.com/daily/detail/9600000087787 และ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา : วิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน https://mgronline.com/daily/detail/9600000103010

ขอแถมอีกนิด...หากกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจร่วมมือกันอย่างแท้จริงแล้ว ลูกบ้านไทยทั้งคนขาย คนซื้อ โดยเฉพาะรายย่อยจริง ๆ คงจะมีความสุข ลืมตา เงยหน้า อ้าปากขึ้นมาได้ ดีกว่านโยบายแจกเงินให้เปล่าที่ทำๆมาในอดีตหลายล้านเท่า เช่น หากกระทรวงพาณิชย์จัดหาที่ราชพัสดุที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์ มาจัดสรรให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยได้มีตลาดค้าขายทำมาหากินในราคาค่าเช่าที่ต่ำ คิดค่าน้ำไฟในราคาต่ำกว่าปกติ แบบเดียวกับที่ให้สิทธิ์ผู้ประกอบการรายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรม เขาก็ไม่ต้องไปเร่ร่อนขายตามทางเท้า หรือที่ต่างๆให้เทศกิจไล่จับกันทุกวัน

ถ้าพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม อยู่ได้ ประเทศก็อยู่ได้...

เราคนไทยจะผ่านไปด้วยกัน......


กำลังโหลดความคิดเห็น