อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกกว่า 70 ปี ในรัชสมัยของพระองค์อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามากที่สุด ทรงได้รับการยอมรับจากองค์พระประมุขจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในฐานะของ King of Kings เป็นราชันย์ของราชาทั้งปวง การทรงงานกว่า 70 ปีนั้นทำให้ทรงมีผลงานมากมาย เฉพาะโครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ ขอบข่ายของการทรงงานในสาขาวิชาการต่างๆ มากมายหลายแขนง จนกว่าจะบรรยายได้หมดสิ้น สิ่งที่ทรงสอน ทรงที่ทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่างล้วนแล้วแต่เป็นศาสตร์พระราชา ที่คนไทยทั้งปวงควรได้เรียนรู้และนำมาทำตาม แม้พระองค์จะไม่เสด็จอยู่แล้วก็ตาม แต่คำสอนและพระราชจริยวัตรเหล่านั้นไม่เคยจางหายไปจากใจของคนไทย ข้าแผ่นดินทั้งปวง การปฏิบัติตามแนวทางแห่งศาสตร์พระราชาจึงเป็นปฏิบัติบูชาที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า มีความมั่นคง ผาสุก และยั่งยืนต่อไปในภายภาคหน้าดังที่ทรงห่วงใยประชาชนคนไทยและแผ่นดินมาตลอดรัชสมัย การปฏิบัติบูชาด้วยการทำตามศาสตร์พระราชาจึงเป็นการปฏิบัติธรรมบูชาพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเฉกเช่นเดียวกันกับที่พุทธบริษัท 4 ยึดถือหลักธรรมะในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและปฏิบัติธรรม บูชาธรรม ฉันใดก็ฉันนั้น
อย่างไรก็ตาม การประมวลและรวบรวมศาสตร์พระราชาเพื่อให้คนไทยได้ศึกษาและค้นคว้าเพื่อนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคตไม่ได้เป็นเรื่องง่ายแต่อย่างนั้น ทั้งนี้ศาสตร์แห่งพระราชามีความลุ่มลึกและกว้างขวางแผ่ไพศาลเกินจะประมาณได้ถ้วน ในบทความนี้พยายามกลั่นกรองและสกัดปรัชญาและทฤษฎีแห่งศาสตร์พระราชาลงในภาพประกอบ Infographic แผ่นเดียว ให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อเป็นแนวทางที่ให้อนุชนคนไทยได้ศึกษาและค้นคว้าต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้การประมวล เรียบเรียง วิเคราะห์ ศาสตร์แห่งพระราชาลงบนกระดาษแผ่นเดียวนั้นไม่มีทางทำได้ดีและครบถ้วน ดังนั้นความบกพร่องใดๆ อันอาจมีผู้เขียนขอน้อมรับไว้ และขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงอยู่ในรอยความทรงจำของคนไทยทุกคน ดังนั้นแต่ละคนก็อาจจะได้เคยเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปได้ซึ่งหากได้นำมาปฏิบัติตามก็ล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติได้ทั้งสิ้น ดังนั้นศาสตร์แห่งพระราชาจึงไม่ใช่ศาสตร์ที่นิ่งและตายตัว หากแต่เป็นปรัชญาและทฤษฎีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม สภาพบุคคล และสถานการณ์ มีความทันสมัยเหนือกาลเวลาได้ตลอดเวลา
ในบทความนี้ได้วิเคราะห์สังเคราะห์และนำเสนอว่าศาสตร์พระราชาประกอบด้วยสี่องค์ประกอบสำคัญดังนี้ หนึ่งวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สาม สอง ปรัชญาแห่งศาสตร์พระราชาคือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บทประยุกต์แห่งศาสตร์พระราชา และสี่ ผลลัพธ์ของศาสตร์พระราชาคือแผ่นดินธรรมและประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
1. จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหลักการนำทาง ประกอบด้วยสามห่วง สองฐาน คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันในตน มีฐานความรู้ และ ฐานคุณธรรม
2. วิธีการของศาสตร์พระราชาคือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยต้องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
เข้าใจ หมายถึง การใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว การใช้และแสวงหาข้อมูลเชิงประจักษ์ การวิเคราะห์และการวิจัย การทดลองใช้จนได้ผลจริงก่อน
เข้าถึง หมายถึงการระเบิดจากข้างใน เข้าใจกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา และสร้างปัญญาสังคม
พัฒนา หมายถึง การพัฒนาที่ประชาชนเริ่มต้นด้วยตนเอง พึ่งพาตนเองได้ และมีต้นแบบในการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้
3. การประยุกต์แห่งศาสตร์พระราชา ต้องทำให้ด้วยความรัก ความปรารถนาและด้วยใจ ต้องประยุกต์ใช้อย่างยั่งยืน ไม่ยึดติดตำรา ปรับตามบุคคล ภูมิสังคม สภาพพื้นที่และสถานการณ์ ตัวอย่างของการประยุกต์แห่งศาสตร์พระราชาได้แก่ โครงการพระราชดำริกว่า 4000 โครงการ เกษตรทฤษฎีใหม่ แกล้งดิน แก้มลิง ฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา หญ้าแฝก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สถานีวิทยุ อส ถนนวงแหวน ถนนรัชดาภิเษก ทางด่วนลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี สะพานพระราม 8 ฟอนท์ไทยจิตรลดา และเสาอากาศสุธี เป็นต้น
4. ผลลัพธ์ ของศาสตร์พระราชา คือแผ่นดินโดยธรรมและประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามตามพระปฐมบรมราชโองการ พออยู่พอกิน และ รู้รักสามัคคี อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ขอเชิญคนไทยทุกคนก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้