อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาตลอดรัชสมัย อย่างไรก็ตาม คำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เริ่มติดหูคนไทยในครั้งแรกที่พรุแฆแฆ และหลายคนก็เข้าใจผิดไปเสียอีกว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ใช้ได้เฉพาะการพัฒนาในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
พื้นที่พรุแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่ประมาณ 11,000 ไร่ เป็นพื้นที่พรุเสื่อมโทรม มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดทั้งปี ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ถูกปล่อยรกร้างมานาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนิน ได้ทรงศึกษาแผนที่ ศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ หลังจากนั้นได้ทรงสนทนากับวาเด็ง ปูเต๊ะ [1] ซึ่งได้ตอบคำถามถวายพระองค์ ได้ให้ข้อมูลของพระองค์ โดยที่ทรงศึกษาจน เข้าใจ อย่างถ่องแท้ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรจนได้รับการยอมรับและมีผู้ถวายที่ดินเพื่อเข้าร่วมโครงการพระราชดำริเรียกว่าทรงงานอย่าง เข้าถึง นำมาสู่การ พัฒนา ที่ได้ผลในท้ายที่สุด
พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เขียนไว้ในบทความ “พระมหากษัตริย์นักคิด...นักปฏิบัติเพื่อความสุขของประชาชน” [2] ความว่า
“ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า “ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร” เป็นที่ประจักษ์ว่าทรงมองการเป็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องของงาน เป็นพระราชภาระ ที่จะสนองความต้องการของราษฎร เพื่อราษฎรจะได้ดำรงชีวิต อย่างมีความสุขและการที่จะทรงงานให้ได้ผลตรงเป้าหมายได้นั้น ต้องทราบว่าประชาชนต้องการอะไร”
การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นทรงยึดวิธีการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาตลอดรัชสมัย ดังที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริและอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เขียนไว้บทความ “ประสบการณ์สนองพระราชดำริเรียนรู้ หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” [3] ความว่า
“พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่น คือต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ ทันได้มีโอกาสเตรียมตัว .....ทรงใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นั่น คือก่อนจะทำอะไร ต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งทางด้านกายภาพด้านจารีตประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น และระหว่างการดำเนินการนั้นจะต้องทำให้ผู้ที่เราจะไปทำงานกับเขาหรือทำงาน ให้เขานั้น “เข้าใจ” เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ “เข้าถึง” ก็ เช่นกัน เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้วก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้ว จะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย .....ดังนั้น จะเห็นว่าเป็นการสื่อสารสองทางทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่อง “การพัฒนา” จะ ลงเอยได้อย่างดี เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ต่างฝ่ายอยากจะเข้าถึงกันแล้ว การพัฒนาจะเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ให้และผู้รับ” |
หลักการทรงงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั้น ทรงใช้กับทั้ง คน วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และ วัฒนธรรม มีความลุ่มลึกและมีโครงการพระราชดำริหรืองานอื่นที่ทรงทำเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน
ผู้เขียนสรุปวิธีการแห่งศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา [4] ลงในแผนภาพศาสตร์พระราชาดังนี้
เข้าใจ (Understanding) นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 4 องค์ประกอบ คือ 1. การใช้ข้อมูลที่มีอยู่ (Existing data) 2. การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical data) 3. การวิเคราะห์และวิจัย (Analytics and Research) และ 4. การทดลองจนได้ผลจริง (Experiment till actionable results)
1. การใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว (Existing data) ทรงสนใจค้นคว้าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และทรงรับฟังข่าวสารจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะแผนที่ ทรงตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ทุกครั้งที่เสด็จทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริง เมื่อเสด็จประทับบนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็ทรงทอดพระเนตรและตรวจสอบ หากไม่ถูกต้องจะทรงส่งข้อมูลให้หน่วยราชการเช่น กรมแผนที่ทหารไปดำเนินการแก้ไข [5] ในทางวิทยาการข้อมูล (Data Science) นั้นการทำความสะอาดข้อมูล (Data cleaning) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงทำเช่นนั้นมาโดยตลอด เช่น ทรงสอบถามความถูกต้องของแผนที่กับพระสหายแห่งสายบุรีเมื่อเสด็จพรุแฆแฆ ที่ปัตตานี เป็นต้น บรรดานักสถิติต่างทราบกันดีว่าเมื่อใส่ข้อมูลที่ไม่สะอาดเข้าไป วิเคราะห์ดีใช้แบบจำลองดีอย่างไรก็ได้แบบจำลองขยะออกมาเช่น (Garbage-in, Garbage out (GIGO) model) อันแสดงให้เห็นว่าทรงใช้หลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ได้อย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกันกับที่มีความรู้ทางสถิติศาสตร์อย่างลุ่มลึก ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้หากแต่เป็นผู้ใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างผู้มีความรู้ ระมัดระวัง รอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแม้แต่นักวิทยาการข้อมูลที่มีอาชีพดังกล่าวโดยตรงยังรู้สึกเบื่อหน่ายและต้องใช้เวลามากเป็นพิเศษในการทำความสะอาดข้อมูลดังกล่าว การที่ทรงแก้ไขความถูกต้องของข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น การแก้ไขแผนที่นั้นสะท้อนให้เห็นถึงพระนิสัยในการทรงงานอย่างมีวิริยะและมีความเข้าใจในวิชาการเป็นอย่างยิ่ง [6]
2. การใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical data) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเอาพระทัยใส่ในการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะระบบสถิติทางการ (Official statistics) และการการสำมะโนประชากร (Census) [7] และสถิติศาสตร์ศึกษา (Statistical Education) [8] ทรงมีความรู้ความเข้าใจอย่างลุ่มลึกถึงความสำคัญของการใช้สถิติในการพัฒนา [9]
ทรงรับเป็นพระราชภาระในการแก้ไขปัญหาและวางระบบดังกล่าว โดยทรงติดต่อกับ Rockefeller foundations โดยมีพระราชปรารภขอความช่วยเหลือจาก Dr. David Rockefeller ให้ช่วยส่ง Dr. Stacy May ผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมาช่วยประเทศไทยในราชการสถิติเพื่อการพัฒนาประเทศและจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ท่านแรกได้บันทึกไว้ว่า
“เวลานั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ [10] ม.ล. เดช ท่านก็บอกผมว่าในหลวงมีพระราชดำริ ในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก และถ้ามีการตั้งสถาบันขึ้นมาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการให้วิชาในการสร้างคนเตรียมไว้เพื่อจะส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเมืองเป็นไปได้ดีเร็วขึ้น”
พระราชดำริเรื่องการประยุกต์ใช้สถิติศาสตร์ในการวิเคราะห์/ประเมินโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและประเทศชาตินั้นคงฝังแน่นในพระราชหฤทัยดังที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ความว่า
“…เดิมทีเดียวข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ…” |
3. การวิเคราะห์และวิจัย (Analytics and Research)
โครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการนั้นอาศัยการวิเคราะห์และการวิจัย สร้างองค์ความรู้ที่มั่นใจว่าได้ผลก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริง โครงการพระราชดำริโครงการหนึ่งที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและการวิจัยมากที่สุดโครงการหนึ่งคือโครงการหลวง (Royal Project) โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชเมืองหนาวและการเลี้ยงสัตว์จากเมืองหนาวเช่นปลาเทราท์ มีการจัดตั้งสถานีวิจัยโครงการหลวง และสถานีเกษตรหลวงมากมาย การค้นคว้าวิจัยดังกล่าว รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการวิจัยตลาด ผลสำเร็จจากการวิจัยทำให้โครงการหลวงมีความก้าวหน้ามาก ทำให้แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่สูง ทำให้คนไทยได้บริโภคสินค้าคุณภาพสูงและทดแทนการนำเข้าได้มหาศาล [11]
และ 4. การทดลองจนได้ผลจริง (Experiment till actionable results)
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แตกต่างจากพระราชวังของพระมหากษัตริย์อื่นๆ ทั่วโลก สวนจิตรลดาเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้น มีทั้งการเลี้ยงโคนม ทำนา ปลูกต้นยางนา ปลูกป่า ทดลองทำโรงสี ทดลองทำนมผงอัดเม็ด ผลิตถ่านชีวภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ทรงทดลองจนกว่าจะทรงมั่นพระทัยว่าได้ผลดีจริง นำไปใช้งานได้จริง จึงทรงเผยแพร่ต่อไป ความใส่พระทัยในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ [12] นั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดตลอดพระชนม์ชีพ บางโครงการทดลองใช้เวลาทดลองยาวนานสิบสามถึงสิบสี่ ปี เพื่อให้มั่นใจว่าทำแล้วได้ผลจริง เช่น การทำฝนหลวงหรือฝนเทียม [13] ก่อนที่จะนำไปสร้างต้นแบบหรือขยายผลให้ความรู้แก่ประชาชนที่จะทำต่อเองได้ ทรงต้องมั่นใจผลของการทดลองว่าได้ผลจริงก่อนเผยแพร่หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประชาชน
เข้าถึง (Connecting) นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย 3 องค์ประกอบ คือ 1. ระเบิดจากข้างใน (Inside-out blasting) 2. เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (Understand target) และ 3. สร้างปัญญา (Educate)
1. ระเบิดจากข้างใน (Inside-out blasting)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงต้องการให้การพัฒนาเป็นการระเบิดจากข้างใน หมายความว่าให้ประชาชนหรือชุมชนที่เข้าไปพัฒนาหรือทำงาน เกิดการปรับตัวที่จะพัฒนาตนเอง เกิดความต้องการทีจะพัฒนาตนเองเสียก่อน ไม่ใช่สิ่งที่ทางราชการเข้าไปบังคับให้ประชาชนหรือชุมชนทำ ซึ่งจะไม่ยั่งยืน จึงทรงเน้นการพัฒนาคน ให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน แล้วจึงเข้าไปพัฒนาเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการเข้าถึงก่อนจะพัฒนา ไม่ใช่นำการพัฒนาเข้าไปโดยที่ประชาชนยังไม่ตระหนักหรือเห็นความสำคัญของการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลง หลักการในข้อนี้ตรงกับหลักวิชาการสมัยใหม่ว่าด้วยการนำและการบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) ดังที่ John P. Kotter ได้นำเสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงต้องทำให้คนตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง (Establishing a Sense of Urgency) ต้องสื่อสารวิสัยทัศน์ (Communicate the vision) เพื่อให้คนได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนที่จะเปลี่ยนแปลง [14]
2. เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (Understand target)
“ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร”
พระราชปรารภนี้สะท้อนให้เห็นวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาในการเข้าถึงแล้วจึงพัฒนาได้เป็นอย่างยิ่ง ทรงให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งคือประชาชน ว่าประชาชนต้องการอะไร ก่อนที่จะทรงงาน ภาพที่คนไทยทุกคนได้พบเห็นจนเจนตาคือภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชโปรดที่จะประทับกับพื้นดินเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อที่จะทรงเข้าใจความเดือดร้อน ปัญหา ความทุกข์ยากของชาวบ้าน เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป
ทรงมีพระเมตตาอย่างสูงต่อประชาชนในการที่จะเข้าใจปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะเมื่อประชาชนจะถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานพระเมตตาในการปัดเป่าความทุกข์ร้อนต่างๆ ในหลายครั้งทางราชการเองกลับขัดขวาง ทั้งนี้ทรงพยายามเข้าใจกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนของพระองค์ในแต่ละท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งมากที่สุด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวหญิงในปี 2523 เอาไว้ว่า [15]
“ชาวบ้านภาคใต้นี่ฉลาด รู้ด้วยว่าจะถวายฎีกานี่ต้องทำอย่างไร เอาซ่อนไว้ใต้ดอกไม้แล้วเอาดอกไม้นั้นมาให้ บอกว่านั่น ข้างล่างน่ะ ฎีกาอยู่ข้างล่าง รู้จักด้วยนะ ซ่อนไว้ ไม่เช่นนั้นฎีกานี่ตำรวจเขาจะตรวจค้นก่อน อย่างที่ทุ่งใหญ่ นครศรีธรรมราช ถ้าตามไปดูจะเห็นเขามีเวรยามกันแล้วก็พยักหน้า หัวหน้าเขาล่ะ อุตส่าห์ซ่อนแทรกเข้าไปไว้ในดอกไม้ พับเสียจนนิดเดียว” “หนหนึ่ง ข้ำขำ เสี่ยงตุ๊บๆ ตั๊บๆ หันไปมองว่าอะไรกัน ที่แท้เห็นสิรินธรกับจุฬาภรณ์ไปแย่งฎีกาจากตำรวจ โดยมากเป็นตำรวจราชสำนัก เขาไม่อยากให้ยุ่งการเมือง คือประชาชนเห็นเราใกล้เข้ามาก็คง จะชักออกมาจากชายพกหรือตะกร้า ตำรวจก็แย่งมาเสีย สององค์นี่ก็วิ่งไปแย่งจากมือตำรวจ เสร็จแล้วแม่เล็กบอก เล็กได้มาแล้ว ก็บอกเขา โธ่คุณ ถ้าเผื่อปิดนี่บ้านเมืองเราจะไปไม่ไหวนะ ราษฎรไม่รู้จะออกทางไหน เราก็มีหน้าที่เอามาแล้วเอาไปให้แก่รัฐบาลเท่านั้น อย่าไปปิดๆ นี่ประชาชนไม่รู้จะไประบายทางไหน แย่เลย บ้านเมืองไม่ปลอดภัย” |
3. สร้างปัญญา (Educate)
การสร้างปัญญาสังคมเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเข้าถึงประชาชน หากประชาชนยังขาดความเข้าใจก็ต้องสร้างปัญญาสังคมให้ประชาชนเข้าใจ ครูแห่งแผ่นดิน เลือกจะใช้วิธีที่ง่ายที่สุดในการสื่อสารกับประชาชนเพื่อสร้างปัญญา ทรงเลือกใช้วิธีการพูดที่จะสร้างปัญญาให้เหมาะสมกับผู้ฟัง ในคราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทาน “โคพันธุ์และสุกร” แก่ชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ นักวิชาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามเสด็จฯ ไปด้วย พระองค์โปรดฯ ให้นักวิชาการเกษตรแนะนำชาวไทยภูเขา ซึ่งการบรรยายนั้นใช้ศัพท์วิชาการยาก ที่ชาวเขาฟังอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ พระองค์ทรงปล่อยให้นักวิชาการพูดอธิบายประมาณครึ่งชั่วโมง ทรงสังเกตเห็นชาวเขานั่งฟังทำตาปริบๆ จึงทรงถามว่า “จบแล้วหรือยัง” นักวิชาการกราบทูลว่า “จบแล้วพระพุทธเจ้าข้า” จึงมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ฉันพูดบ้างนะ” “ฟังให้ดีๆ นะ จะเลี้ยงหมูให้มันอ้วน โตเร็วๆ ต้องให้มันกินให้อิ่ม” แล้วทรงหันกลับมารับสั่งกับนักวิชาการว่า “จบแล้ว” ทำเอาผู้ตามเสด็จฯ อมยิ้มไปตามๆ กัน [16] ครูของแผ่นดิน พระองค์นี้ทรงมีความเมตตาในการสอนถ่ายทอดความรู้ไปจนถึงระดับนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาดังที่ทรงพระกรุณาสอนนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวลด้วยพระองค์เอง [17]
การที่ทรงสอนนั้นไม่ได้เพียงสอนด้วยการพูดให้ฟังเท่านั้น แต่ทรงสร้างแรงบันดาลใจ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ได้เขียนไว้ในหนังสือ "รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร" เรื่องกาแฟต้นเดียว เอาไว้ว่า ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบนดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ หลังจากทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่าม้ง ที่บ้านขุนกลาง อ. จอมทอง และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านอังกาน้อยและบ้านท่าฝั่ง ม.จ ภีศเดช รัชนี ผู้อำนวยการโครงการหลวง กราบบังคมเชิญทูลเสด็จให้ทรงพระดำเนินต่อไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟของราษฎรชาวกะเหรี่ยง รวมระยะทางที่ทรงพระดำเนินมาทั้งหมดในบ่ายวันนั้น ๖ กิโลเมตร เมื่อไปถึงปรากฏว่า ไร่กาแฟนั้นมีต้นกาแฟให้ทอดพระเนตรเพียงต้นเดียว พล.ต.อ. วสิษฐโกรธจนแทบระงับโทสะไว้ไม่ได้และระบายความรู้สึกนี้กับเพื่อนร่วมงานความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ
"...ตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือที่ว่าผมโกรธท่านภีศเดช ผมก็กราบบังคมทูลตามความเป็นจริงว่าเป็นเช่นนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามต่อไปว่า ผมทราบหรือเปล่าว่า เมื่อก่อนนี้กะเหรี่ยงที่ดอยอินทนนท์ ประกอบอาชีพอะไร ผมก็กราบบังคมทูลว่า ทราบเกล้าฯ ว่ากะเหรี่ยงปลูกฝิ่น
"พระเจ้าอยู่หัวตรัสต่อไปด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา (ไม่ได้ดุผม) ว่า แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เรา ไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขาลองมาปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อนเลย ที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่ ๑ ต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง จึงต้องไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปได้ว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่า ๑ ต้น”
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าทรงเข้าใจจิตวิทยาในการสอน ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินผู้ปลูกปัญญาสังคม กาแฟต้นแรกต้นนั้นที่ทรงพระดำเนินหลายกิโลเมตร ทรงสอนโดยสร้างแรงบันดาลใจ ได้ทำให้การปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยลดลงไปอย่างน่ามหัศจรรย์
ในการที่ทรงเป็นครูของแผ่นดิน ผู้นำการพัฒนานั้น กลับทรงถ่อมพระองค์ในการที่จะเรียนรู้จากนักเรียน ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตอาสาสมัครพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ. เมือง จ.สกลนคร วันที่ 22 พฤศจิกายน 2528
“…เราเป็นนักเรียน เราไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญ……. ถ้าหากว่าในด้านไหนก็ตาม เวลาไปปฎิบัติให้ถือว่าเราเป็นนักเรียน ชาวบ้านเป็นครู หรือ “ธรรมชาติเป็นครู” การที่ท่านทั้งหลายจะออกไปก็จะไปในหลายๆด้าน…ก็ต้องเข้าใจว่า เราอาจจะเอาความรู้ไปให้เขา แต่ก็ต้องนับถือความรู้ของเขาด้วย จึงจะมีความสำเร็จ….” |
พัฒนา
แนวพระราชดำริในการพัฒนานั้นเมื่อทรงเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนานั้นทรงมีหลักการสำคัญคือ 1. เริ่มต้นด้วยตนเอง (Self-initiated) 2. พึ่งพาตนเองได้ (Self-reliance) และ 3. ต้นแบบเผยแพร่ความรู้ (Prototype and role model)
1.เริ่มต้นด้วยตนเอง (Self-initiated)
ประเทศไทยมีปัญหาด้านทรัพยากรป่าไม้อย่างรุนแรง ทรงเข้าใจปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปหน่วยงานต้นน้ำพัฒนาทุ่งจือ จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2514 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ที่เฝ้ารับเสด็จฯความว่า
“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” |
แนวพระราชดำริในการพัฒนาทรงเน้นการพัฒนาที่เกิดจากประชาชนต้องการจะพัฒนา ตลอดรัชสมัยในการทรงงานในบางครั้ง ประชาชนก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการพระราชดำริเช่นกัน ไม่เคยทรงฝืนบังคับประชาชนให้ร่วมมือแต่อย่างใดด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน กลับทรงเริ่มต้นโครงการพระราชดำริใหม่ อย่างสม่ำเสมอจนมีโครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการ ทรงเคยมีรับสั่งกับนายปราโมทย์ ไม้กลัดว่า "...พระราชดำริเป็นแนวคิดของฉัน ไม่ได้เป็นพระบรมราชโองการ หรือคำสั่งนะ..." [18] ซึ่งสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยและความต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างเต็มที่ ดังที่ทรงเน้นเสมอว่าการพัฒนานั้นต้องระเบิดจากข้างในก่อน
2. พึ่งพาตนเองได้ (Self-reliance)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเน้นว่าการพัฒนาต้องทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ ทรงโปรดให้ประชาชนทำอะไรได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐ [19] พระราชดำรัสเกี่ยวกับในพิธีพระราชทานปริญญา บัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2516 ได้เน้นเรื่องของการพึ่งพาตนเองเอาไว้ว่า
...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นตอน ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อนโดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับ... |
อีกตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่รับสั่งกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ว่า
...ในการสร้างความเจริญก้าวหน้านี้ ควรอย่างยิ่งที่จะค่อยสร้างค่อยเสริมทีละเล็กละน้อยให้เป็นลำดับ ให้เป็นการทำไปพิจารณาไป และปรับปรุงไป ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริงสิ่งที่ใหม่แท้ๆ นั้นไม่มี สิ่งใหม่ทั้งปวงย่อมสืบเนื่องมาจากสิ่งเก่าและต่อไปย่อมจะต้องกลายเป็นสิ่งเก่า... |
ทรงโปรดความเรียบง่ายและพึ่งพาตนเองได้ ดังที่ได้พระราชทานพระราชดำริ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่ง "การปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง" ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผลและไม้ฟืน นอกจากได้ประโยชน์ตามประเภทของการปลูกแล้วยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ พื้นดินด้วย พระองค์จึงทรงเข้าใจธรรมชาติและมนุษย์ที่อยู่อย่างเกื้อกูลกัน ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน [20] แนวพระราชดำริในเรื่องการพึ่งพาตนเองได้ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่เร่งร้อนจะพัฒนาโดยการยัดเยียดเทคโนโลยีต่าง ๆ หรือเงิน เข้าไปในการพัฒนาก็สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในเรื่องของการปลูกป่าดังพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปลุกป่าในหลายโอกาสดังนี้
“...ทิ้งป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...” “ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว” [21] "ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น…” “ในสภาพป่าเต็งรังป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม้สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้” |
3. ต้นแบบเผยแพร่ความรู้ (Prototype and role model)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการสร้างต้นแบบการเผยแพร่ความรู้ โดยทรงตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่างๆ เช่น ที่ห้วยทราย เขาหินซ้อน ภูพาน ห้วยฮ่องไคร้ อ่าวคุ้งกระเบย และ พิกุลทอง [22] โครงการชั่งหัวมัน หรือแม้แต่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ศึกษา เรียนรู้ ดูงาน สำหรับเกษตรทฤษฎีใหม่ส่งสร้างต้นแบบแห่งการเรียนรู้ให้ประชาชนได้ศึกษาที่วัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี [23] ทรงโปรดที่จะเลือกพื้นที่ที่มีปัญหาที่สุดเพื่อตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนา ยกตัวอย่างเช่น บริเวณห้วยทรายนั้น มีการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ทำการเกษตรแบบผิดวิธีจนดินเสื่อมโทรม แห้งแล้ง เป็นดินดาน เพราะหน้าดินพังทลายไปหมดสิ้น เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ ห้วยทราย มีพระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่า
"หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด" |
ทรงใช้ความอุตสาหะพยายามในการพัฒนาห้วยทราย ซึ่งมีแต่ดินดานแข็ง ในชั้นแรกต้องเจาะดินดาน เพื่อปลูกแฝง ให้หญ้าแฝกหยั่งรากลึกทลายดินดานออกให้โปร่งเพื่อให้รากพืชอื่นๆ สามารถชอนไชไปเติบโตได้ เนื่องจากพื้นที่แห้งแล้งและมีการกัดเซาะของหน้าดินมาก ต้องมีการสร้างฝายชะลอน้ำและหลุมกักเก็บน้ำเล็กๆ ไว้ในพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น
ในขณะที่ที่ตั้งของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เป็นพื้นที่ป่าพรุ ดินพรุ ซึ่งเปรี้ยวจัดมากจนไม่สามารถจะปลูกพืชใดๆ ได้เลย ก็ทรงใช้การแกล้งดินในการแก้ปัญหาจนเป็นพื้นที่การเกษตรได้
การทีทรงเลือกใช้พื้นที่ที่มีปัญหาและความยากลำบากในการพัฒนานั้นก็เพื่อเป็นต้นแบบให้ประชาชนได้เห็นและทำตาม ซึ่งหากแม้พื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุดก็ยังพัฒนาให้ดีได้ ประชาชนเองก็น่าจะทำตามได้เป็นการเรียนรู้จากตัวแบบ (Role model) ที่เป็นแรงบันดาลใจการพัฒนาประชาชนและประเทศชาติ
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จึงเป็นวิธีการแห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง
หมายเหตุ :
[1] ต่อมาได้รับฉายาพระสหายแห่งสายบุรี และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอีกหลายครั้งทั้งที่ปัตตานีและที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้วาเด็งไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แต่ถวายงานเป็นภาษามลายูผ่านล่ามภาษามลายูประจำพระองค์
[2] สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี, กรุงเทพ: บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด. หน้า179
[3] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2554, การทรงงานพัฒนา
ประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์เพชรรุ่ง, หน้า 52-53
[4] ได้เคยมีความพยายามในการถอดรหัส เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ในมุมมองของการออกแบบสมัยใหม่เผยแพร่ใน นิตยสารคิด ฉบับพิเศษ (29 ธันวาคม 2559 ปีที่ 8 ฉบับที่ 3) “ก้าวตามเก้า ถอดวิธีคิดเชิงออกแบบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” จัดทำโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ได้เรียบเรียงสรุปพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ลงมาเป็นห้าองค์ประกอบย่อย ดังนี้ 1. Empathizeเข้าใจปัญหา เข้าถึงผู้คนและพื้นที่ 2. Define ระบุความต้องการ 3. Ideate หาแนวทางแก้ปัญหา 4. Prototype พัฒนาต้นแบบ 5. Test ทดสอบ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก http://www.tcdc.or.th/upload/medialibrary/55a/55adf58796de2d835e986b9dbb327a6c.pdf ในนิตยสารดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ถอดรหัสโครงการพระราชดำริต่างๆ โดยอาศัยกรอบแนวคิดห้าองค์ประกอบย่อยเอาไว้อย่างชัดเจน
[5] พระราชดำรัสสมเด็จพระราชินี "แผนที่" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยกองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์ http://www.posttoday.com/kingbhumibol/news/460472
[6] บทความใน Harvard Business Review ในปี 2012 เดือนตุลาคม เขียนโดย Thomas H. Davenport และ D.J. Patil ได้กล่าวว่า Data Scientist เป็นงานที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 (Data Scientist: The Sexiest Job of the 21st Century) อ่านเพิ่มเติมได้จาก https://hbr.org/2012/10/data-scientist-the-sexiest-job-of-the-21st-century แต่ในความเป็นจริงผลจากการสำรวจพบว่านักวิทยาการข้อมูลจำใจต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดข้อมูลมากที่สุด และต่างก็เบื่อหน่ายกับการทำความสะอาดข้อมูล โปรดอ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.forbes.com/sites/gilpress/2016/03/23/data-preparation-most-time-consuming-least-enjoyable-data-science-task-survey-says/#e0a95687f758
[7] โปรดอ่านบทความ “บทบาทสำนักงานสถิติแห่งชาติในการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000105098
[8] โปรดอ่านบทความ วิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อวงวิชาการสถิติศาสตร์ โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9590000103410
[9] โปรดอ่านบทความ สถิติคือวิชาว่าด้วย “รัฐ” โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000146666
[10] ประธานองคมนตรีในขณะนั้น
[11] ดูรายละเอียดได้จาก http://royalprojectthailand.com/memorable_research
[12] ทรงมีความถนัดและทรงชอบวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ได้ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ไปได้เพียงสองปีก็เกิดเหตุอันเศร้าสลด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สวรรคตโดยกระทันหัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแผนการเรียนไปทรงพระอักษรด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์แทน
[13] http://www.royalrain.go.th/royalrain/m/royalinitiativeproject
[14] ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Kotter, J. P. Leading Change. Boston: Harvard Business School Press, 1996.
และ Kotter, J. P. 1995. Leading change: Why transformation efforts fail. Harvard Business Review (March-April): 59-67.
[15] http://www.posttoday.com/kingbhumibol/news/463213
[16] จากหนังสือพระราชอารณ์ขัน โดย วิลาศ มณีวัต และบทความ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ กับการอนุรักษ์ภาษาไทย” โดยนวรัตน์ พลเดช
[17] http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000104444
[18] จากหนังสือ การทรงงานของพ่อในความทรงจำ โดยปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน
[19] โปรดอ่านได้จาก “แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (Self Reliance)” จากเว็บไซท์ของมูลนิธิชัยพัฒนา http://www.chaipat.or.th/site_content/70-3/283-self-reliance.html
[20] เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ http://www.forest.go.th/orip/index.php?option=com_content&view=article&id=408&Itemid=457&lang=th
[21] http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/723771
[22] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://web.ku.ac.th/king72/center/center.htm
[23] โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จาก http://www.chaipat.or.th/site_content/71-21/293-area-development-project-development-chai-mongkol-temple.html