xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรียน – เหล้า - ออกกำลังกาย “วิถีเก่า” ใน “ความปกติใหม่” ที่ยัง “ไม่ลงตัว”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองไทยนานนับเดือนโดยที่ไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อใด ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อข้ามผ่านวิกฤตโรคระบาด จนเกิดปรากฎการณ์ “New normal หรือ ความปกติรูปแบบใหม่ สร้างความแปลกหูแปลกตา ด้วยผู้คนมีวิถีชีวิตที่ต่างไปออกจากเดิม

นอกจากนี้ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หน้าตาของห้องเรียนสี่เหลี่ยมเปลี่ยนไปสู่ “การเรียนการสอนออนไลน์” แม้ยังเป็นปัญหาติดขัดในหลายเรื่อง แต่เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ต้องปรับตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเรียนออนไลน์ คือ ทางออกของการศึกษาในช่วงแพร่ระบาดของไวรัส นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องตีให้แตก ก่อนถึงกำหนดเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. 2563

อย่างไรก็ตาม New normal แทรกซึมเป็นส่วนของหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย ยิ่งเห็นได้ชัดหลังจากรัฐบาล “คลายล็อคดาวน์ ระยะที่ 1” เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2563 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (ศบค.) มีมติผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 “คลายล็อกดาวน์ 6 กลุ่มกิจการทั่วประเทศ” ไฟเขียวให้กิจการที่มีความเสี่ยงต่ำกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ภายใต้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์คุมเข้มต่างๆ

ผ่อนปรนให้ 6 กลุ่มกิจการทั่วประเทศเริ่มกลับมาเปิด ดังนี้ 1. ตลาด ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2. ร้านอาหาร ได้แก่ ร้านอาหารทั่วไป ร้านเครื่องดื่ม ขนนหวาน ไอศครีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็นและหาบเร่ 3. กิจการค้าปลีก-ส่ง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง/ยืนรับประทาน รถเร่ หรือ รถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อย/ร้ายอาหารปลีกชุมชน ร้านขายปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม 4. กีฬาสันทนาการ ได้แก่ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน,รำไทเก็ก สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและไม่มีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอฟล์และสนามซ้อม 5. ร้านตัดผม-เสริมสวย ได้แก่ ร้านตัดผมเฉพาะตัด สระ ไดร์ผม และ 6. อื่นๆ เช่น ร้านตัดขน ร้านรับเลี้ยงรับฝากสัตว์

ทั้งนี้ ระยะเวลา 14 วันหลังหลังจากคลายล็อคดาวน์จะเป็นตัวชี้วัดประเมินผล หากตัวเลขการติดเชื้อคงที่หรือลดลงเรื่อยๆ แสดงว่าประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมลำดับต่อไป โดยการการผ่อนคลายจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะละ 25 เปอร์เซ็นต์ 4 ครั้ง จนครบ 100 เปอร์เซ็นต์ กำหนดระยะเวลาครั้งละ 14 วัน รวม 2 เดือน

แน่นอนว่า ณ วันนี้ คนไทยได้เรียนรู้อยู่ร่วมกับความปกติใหม่ แม้การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ในเชิงปฏิบัติเปอร์เซ็นต์ยังน้อย แต่ประชาชนล้วนได้สัมผัสวิถีชีวิตต่างไปจากเดิม เรียนรู้กับความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นต้นว่า

หลังรัฐบาลมีมาตรการปลดล็อกให้กับธุรกิจร้านเสริมสวยเป็นวันแรก ช่างทำผมสวมใส่หน้ากากอนามัยและเฟสชิลล์ รวมถึงทำฉากพลาสติกใสกั้นระหว่างที่นั่ง และทำความสะอาดทุกครั้งหลังการให้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ลูกค้าพร้อมใจสวมหน้ากากอนามัยเป็นการป้องกัน โดยบรรยากาศทั่วประเทศเป็นไปอย่างคึกคัก

ร้านอาหารได้รับการผ่อนปรนให้เปิดพื้นที่นั่งรับประทานที่ร้านได้ โดยมีการเว้นระยะห่างทางสังคม Social Distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับตัวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม หลายแห่งติดตั้งฉากกั้นรักษาระยะทางสังคม รวมทั้ง จัดเตรียมแอลกอฮอล์เจล และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

ตลาดนัดหลายแห่งกลับมาคึกคัก ประชาชนเดินจับจ่ายใช้สอย โดยตลาดมีมาตรการคัดกรองทุกทางเข้า มีการประกาศประชาสัมพันธ์เป็นระยะให้รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ร้านขายอาหารมีการนำพลาสติกมาขึงเป็นฉากกั้นระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้อ






หรือ การปรับตัวของกลุ่มนางรำแก้บน บริเวณศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ปรับตัวหลังมีมาตรการผ่อนปรน โดยสวมใส่เฟซชิลด์ (Face Shield) ระหว่างรำ ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพต่อตนเอง และผู้ศรัทธาที่เข้ามากราบไหว้สักการะ เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรการคลายล็อคเปิดสวนสาธารณะทำให้มีประชาชนออกมา “เดิน - วิ่ง ออกกำลังกาย” กันอย่างหนาตา และพบว่าจำนวนมากสวมหน้ากากวิ่งเพื่อป้องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทว่า ข้อเท็จจริงของการสวมหน้ากากอนามัยวิ่งนั้นมีความอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

“ขณะวิ่ง ไม่ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เนื่องจากเวลาออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากการหายใจเร็วขึ้น การสวมใส่หน้ากากผ้าหรืออนามัยจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอโดยเฉพาะหน้ากาก N95 ที่ป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่าหน้ากากอนามัย ก็จะยิ่งทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ออกมาจากร่างกายสะสมอยู่ในหน้ากาก มีโอกาสที่จะหายใจไม่ทันได้”พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูล

อย่างกล่าวไว้ข้างต้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาครั้งใหญ่และเกิดขึ้นเร็วขึ้น มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ทำให้สถานศึกษาทุกแห่งจำเป็นต้องปิด เพื่อลดช่องทางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส นำไปสู่ “การเรียนการสอนออนไลน์” เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ New normal หรือ ความปกติใหม่ ที่กำลังสั่นสะเทือนวงการการศึกษาไทย

การเรียนออนไลน์เป็นทางออกของการศึกษาไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งความพร้อมของฟากฝั่งผู้เรียนและผู้สอน เรื่องอุปกรณ์การเรียนอย่างคอมพิวเตอร์หรือแล็บท็อป อินเทอร์เน็ต แพลทฟอร์มและโปรแกรมต่างๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัว เอื้อต่อการเรียนรู้อยู่บ้าน หรือครอบฐานะยากจนไม่มีกำลังทรัพย์สนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น

ต้องยอมรับว่า การเรียนออนไลน์ในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ “ครู-อาจารย์” และ “นักเรียน” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์

ในส่วนของผู้เรียน ต้องมีความพร้อมทางด้านไอที ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ดี จัดการกับโปรแกรมต่างๆ ได้ หรือในส่วนของผู้สอน ต้องสามารนำบทเรียนมาประยุกต์ ปรับตัวใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เช่น โปรแกรม Zoom, Blackboard, Microsoft Teams เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจด้านความพร้อมในการเรียนออนไลน์ อันเนื่องผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 43,448 คน

ระบุว่า กลุ่มตัวอย่าง มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ครอบครัวไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน โดยปัญหาหลักคือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต และผู้ปกครองไม่มีเวลา และไม่มีทักษะด้านไอที ในการช่วยเหลือบุตรหลานในการเรียนออนไลน์

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เปิดเผยว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว

ทั้งนี้ สถานการณ์การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ครอบครัวมีฐานยากจน ที่ไม่มีกำลังทรัพย์มาสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน อาจเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษา และการเรียนออนไลน์ผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ของเด็ก เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง หากบ้านไหนไม่มีความพร้อมขาดทักษะช่วยเหลือบุตรในการเรียนรู้ ย่อมเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซ้ำเติม


ดังนั้น การเปิดเทอมเปิดโรงเรียนให้เด็กกลับไปเรียนได้อีกเป็นสิ่งจำเป็น กำหนดแนวทางการศึกษาควบคู่ไปกับมาตรการความปลอดภัยด้านมาตรการทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการปรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 16 พ.ค. 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคโควิด-19 ยับยั้งอัตราการระบาดภายในประเทศ โดยให้งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชา หรือปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยแนวทางความพร้อมรับการเปิดเทอมในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และกรณีสุดวิสัยหากไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนปกติได้ตามกำหนด มีการวางระบบเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม และการเรียนการสอนออนไลน์ โดยรายละเอียดดังนี้

1. รูปแบบการเรียนการสอนออกแบบให้สอดคล้องกับความปลอดภัยของพื้นที่ โดยมีการเรียนรู้แบบ onsite ในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่พื้นที่ไม่ปลอดภัยจะมีการเรียนรู้หลักผ่านทางการ on-air ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีการเรียนรู้เสริมผ่านระบบ online

2. นโยบายหลักที่นำมาใช้ คือ เพิ่มเวลาพัก ซึ่งจะมีการแถลงอีกครั้งในรายละเอียด ลดการประเมินและงดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นโดยเน้นเรียนเฉพาะวิชากลุ่มสาระหลัก

3. การเตรียมพร้อมในด้านระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์จะเริ่มทดสอบตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. นี้ เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาทั้งในเชิงประสิทธิภาพและการเข้าถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดในกรณีที่วันที่ 1 ก.ค. ไม่สามารถเปิดเทอมที่โรงเรียนได้

4. กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการสอนทางไกลในสัดส่วน 80% เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนขั้นพื้นฐานได้ อีก 20% หรือมากกว่า ให้ทางโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม

5. การเรียนผ่านการสอนทางไกลจะใช้สื่อโทรทัศน์ (TV) ในทุกระบบเป็นหลัก ทั้งนี้ ได้รับการอนุเคราะห์สื่อจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีมาตรฐาน โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ DEEP และการเรียนการสอนแบบโต้ตอบออนไลน์เป็นสื่อเสริม

การเรียนออนไลน์นับเป็นโอกาสดี แต่ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพการเรียนรู้อาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการเรียนออนไลน์หากประเมินประสิทธิภาพจาก 100 เปอร์เซ็นต์ ผู้เรียนจะได้รับประสิทธิเพียง 70 เท่านั้น ด้วยข้อจำกัด เช่น สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ไม่เอื้อ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ความไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ ที่ปัญหาการใช้งานแพลทฟอร์มการเรียนต่างๆ เป็นต้น




ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ความชุลมุนอันเกิดจากการที่ประชาชนเบียดเสียดรุมซื้อ “เหล้า-เบียร์” หลังเปิดขายวันแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา มิหนำซ้ำ ยังทำให้ยอดผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุมดื่มสุราพุ่งสูงปรี๊ดในวันเดียวกัน โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า การผ่อนปรนขายแอลกอฮอล์เป็นวันแรก ช่วงระหว่างวันที่ 3 พ.ค. เวลา 22.00 น. ถึงช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ค. พบผู้ออก นอกเคหสถาน 690 ราย เพิ่มขึ้น 136 ราย มีผู้ชุมนุมมั่วสุม 129 ราย เพิ่มขึ้น 22 ราย พบว่าการดื่มสุรามาเป็นอันดับ 1 60 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 การพนัน 21 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3 เสพยาเสพติด 11 เปอร์เซ็นต์

กลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องมารับมือกับกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมชุมนุมมั่วสุมดื่มสุรา ที่อาจเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์แพร่เชื้อโควิด-19 รอบสอง หลังรัฐบาลไทยผ่อนคลายล๊อกดาวน์

ขณะเดียวกันก็พิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่ง การรณรงค์งดหรือลดเหล้าเบียร์ ที่ใช้ “ภาษีบาป” ของ “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมการดื่มลดลง อย่างน้อยๆ ในเมืองไทยมีนักดื่มจำนวนกว่า 16 ล้านคน

อีกทั้ง ยังมีแรงกดดันจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 177,000 ล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนในประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย การหมุนเวียนของ Supply Chain เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ไปจนถึงการท่องเที่ยว

โดยปี 2562 ภาครัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากเบียร์ได้ 70,090 ล้านบาท สุรา 62,146 ล้านบาท รวมเป็น 132,236 ล้านบาท นำไปจัดสรรงบประมาณ เช่น นำส่ง กทม. และหน่วยงานเทศบาล จำนวน 10% หรือ 14,100 ล้านบาท เพื่อเอาไปเป็นงบประมาณ, นำส่ง สสส. , สมาคมกีฬา และ คนชรา จำนวนที่ละ 2% หรือ 2,800 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ทำโครงการฯ ในหน่วยงานและสมาคมฯ, นำส่งสถานีไทยพีบีเอส จำนวน 1.5% หรือ 2,100 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายสถานี และนำส่งในรูปแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 7% หรือไม่ต่ำกว่า 11,500 ล้านบาท

เอาเป็นว่า นับจากนี้ คงต้องปรับตัวกันไปในทุกภาคส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับ “ความปกติใหม่” ที่เปลี่ยนแปลงไป


กำลังโหลดความคิดเห็น