ในขณะที่ท่านผู้อ่านติดตามข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ท่านจะรู้สึกภูมิใจในความเป็นคนไทย ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในภาวะวิกฤต จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรู้สึกพอใจศักยภาพในการป้องกันการแพร่ระบาด และการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หลายประเทศ จะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จากตัวเลข 3 หลักเหลือเพียง 2 หลัก โดยใช้เวลาไม่นาน และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษา และการที่ประเทศไทยทำเช่นนี้ได้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำกัดเวลาและพื้นที่ในการเดินทาง ทำให้ผู้ติดเชื้ออยู่ในวงจำกัด ง่ายต่อการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อ ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับรัฐ
2. บุคลากรทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีศักยภาพในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ และมีความสามารถในการรักษาเยียวยา ทั้งยังทุ่มเทแรงกาย แรงใจให้กับงานนี้อย่างเต็มที่
3. บุคลากรของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะปลัดกระทรวงมหาดไทย และข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง มีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่เชื้อ และติดตามหาผู้ที่อยู่ในข่ายเป็นผู้ป่วยมาทำการตรวจ และทำการรักษาถ้าพบว่าติดเชื้อ จึงทำให้การแพร่เชื้อไม่ขยายวงลุกลามจนยากแก่การควบคุม
แต่ในขณะที่คนไทยพอใจในการควบคุมการแพร่ระบาด และการทำการรักษา คนไทยโดยเฉพาะคนยากคนจนส่วนหนึ่งรู้สึกท้อแท้ และผิดหวังกับมาตรการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะเงิน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนและวิธีการในการขอรับความช่วยเหลือสลับซับซ้อนสำหรับคนที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจระบบคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ จึงทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการช่วยเหลือได้ยาก ทั้งที่เดือดร้อนจริง
2. ในขณะที่ความเดือดร้อนเกิดขึ้นในทันทีที่เกิดวิกฤต และมีการประกาศล็อกดาวน์ แต่การขอรับความช่วยเหลือต้องใช้เวลาในการรอ และระหว่างที่รอคนเหล่านี้ต้องกิน ต้องใช้ จึงทำให้เกิดการฆ่าตัวตายดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วหลายราย
อันที่จริง การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทุกคนไม่ว่าจนหรือรวยล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมทั้งสิ้น จะต่างกันแต่เพียงว่า คนรวยเดือดร้อนน้อยกว่าคนจน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเงินสะสมเพียงพอที่จะนำออกมาใช้ในยามที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง แต่คนจนซึ่งปกติก็ไม่มีเงินมากพอจะเลี้ยงตนเอง และครอบครัวอยู่แล้ว เมื่อได้รับผลกระทบจากการว่างงาน ไม่มีรายได้ก็ยิ่งหนัก
ดังนั้น ถ้าภาครัฐจะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเดือดร้อนก็ควรจะแบ่งเป็นกลุ่ม โดยยึดความทุกข์ ความเดือดร้อนเป็นเกณฑ์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยอาศัยฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องรอให้มีการลงทะเบียนให้ยุ่งยาก
แต่ที่น่าจะดีกว่านี้ ถ้าคนไทยทุกคนคิดพึ่งตนเองก่อนรอความช่วยเหลือจากรัฐ โดยยึดแนวทางดำเนินชีวิตตามคำสอนของศาสนาพุทธที่ให้พึ่งตนเองก่อนพึ่งคนอื่น หรือให้คนอื่นเขาพึ่งตน
ถ้าคนไทยทุกคนดำเนินชีวิตโดยยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และบริหารรายได้โดยยึดหลักโภควิภาค 4 คือ แบ่งรายได้ออกเป็น 4 ส่วน ใช้ 1 ส่วนหรือเท่ากับ 25% เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมไปถึงช่วยเหลือผู้ที่ควรช่วยเหลือ 2 ส่วนหรือ 50% เพื่อการลงทุนทำมาหากินเพื่อหารายได้เพิ่มเติม และ 1 ส่วนหรือ 25% สุดท้ายเป็นเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น
ถ้าคนไทยทุกคนใช้ชีวิตตามแนวทางนี้มาแต่ต้น วันนี้จะมีคนเดือดร้อนน้อยที่สุด
แต่ที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้าอยู่ในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคนฟุ่มเฟือยอยู่ได้ด้วยการก่อหนี้ เพื่อสนองความต้องการส่วนเกินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือใช้จ่ายเกินตัวนั่นเอง