รองนายกฯ แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจนายกฯ สั่งได้เหมือนเจ้ากระทรวง ปัดปิดเสรีภาพ แต่ระวังไม่ให้ตื่นตระหนก ยังไม่ห้ามออกจากบ้าน แต่จวนแล้ว ไม่ห้ามข้ามจว. แต่มีมาตรการจนไม่น่าไป ห้ามต่างชาติเข้าไทย ย้ำยังไม่เคอร์ฟิว แต่ถ้ามี 24 ชม.
วันนี้ (25 มี.ค.) เวลา 13.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงกรณีนายกฯประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้เป็นการประกาศทั่วราชอาณาจักร เพราะโควิด-19 กระจายไปทั่ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้เป็นต้นไป ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย.63 และสามารถต่ออายุเป็นคราว ๆ ไปได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน โดยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสาเหตุที่ต้องต้องประกาศให้มีผลบังคับใช้หลังจากมีมติครม. 2 วัน เพราะต้องการให้ประชาชนและส่วนราชการเตรียมการ ปฏิบัติตาม และเมื่อพ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะโอนอำนาจสั่งการของรัฐมนตรีมาที่นายกฯ เสมือนนายกฯเป็นเจ้ากระทรวง แต่ไม่ใช่การปลดรัฐมนตรี รัฐมนตรียังรับผิดชอบเหมือนเดิม
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า จะมีการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ ซึ่งนายกฯเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ พร้อมแต่งตั้งรองนายกฯทุกคนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ และจะแต่งตั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ โดยให้ปลัดสาธารณสุขรับผิดชอบสั่งการด้านสาธารณสุข ปลัดมหาดไทยรับผิดชอบด้านปกครองสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าฯกทม. ปลัดกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบควบคุมสินค้าไม่ให้กักตุนและขาดแคลน ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) รับผิดชอบการสื่อสารสื่อมวลชนและโซเชียล ป้องกันข่าวเฟกนิวส์ ปลัดกระทรวงต่างประเทศรับผิดชอบดูแลคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้าประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) รับผิดชอบด้านความมั่นคง มีอำนาจสั่งการดูแลความปลอดภัย และปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท นอกจากนี้ ด้านการประสานงานจะให้เลขาฯสมช. เลขาฯนายกฯ เลขาฯครม. และปลัดสำนักนายกฯ รับผิดชอบการประสานงาน และเหตุที่ต้องให้ปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบนั้น เพราะพ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดให้ผู้รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ต้องเป็นข้าราการประจำ ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ส่วนรัฐมนตรีจะให้ทำงานในส่วนนโยบาย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) นั้น เป็นการยกระดับจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เดิม มาเป็นศูนย์ดังกล่าวแทน นายกฯสามารถสั่งการผ่านศอฉ.โควิด-19 โดยไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะเพื่อขอมติ หรือประชุมผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คนก็สามารถออกเป็นมติได้ และจะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ปรึกษา รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการย่อย 5-6 ศูนย์ ทางสมช.จะดำเนินการ ซึ่งตรงนี้เป็นการดำเนินการภายใน ไม่เกี่ยวกับประชาชน
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ข้อกำหนดในฉบับที่ 1 จะกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ เอาไว้ 3 ประเภท คือ ห้ามทำ, ให้ทำ และไม่ควรทำ โดยมาตรการที่เกี่ยวกับการห้ามทำ คือ การห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตเดิมที่ผู้ว่าราชการแต่จังหวัดกำหนดให้ปิดสถานที่ไว้ ส่วนจังหวัดใดที่ผู้ว่าฯยังไม่มีการสั่งให้ปิด ให้ยึดคำสั่งในแนวทางเดียวกัน ต้องสั่งปิดหมดเพื่อป้องกัน แต่ไม่ต้องปิดเหมือนกันทั้งหมด เช่น กรณีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ อย่างชายหาด ที่บางจังหวัดมีไม่เหมือนกันและลักษณะแตกต่างกัน และที่ประชาชนทักท้วงว่ารัฐบาลไม่กล้าปิดเอง เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาสั่งปิดโดยปิดตามคำแนะนำของรัฐบาล แต่เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว ที่มีการปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว จะเป็นการสั่งปิดตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ เรื่องการห้ามผู้ใดเข้าในราชอาณาจักร ไม่ว่าทางบก น้ำ อากาศ ด้วยยานพาหนะใดทุกจุดทุกด่านทั่วประเทศ รวมสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ยกเว้นคนไทย และบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ที่มีใบรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถเดินทางได้ รวมถึงคณะทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย ผู้ขนส่งสินค้าที่ขนส่งเสร็จแล้วกลับออกไปโดยเร็ว ผู้ที่โดยสารมากับยานพนะ เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส นอกจากนี้ ยังห้ามชุมนุม ห้ามเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวโควิด-19 ที่ทำให้ตื่นตระหนก ส่วนที่ว่ารัฐฉวยโอกาสปิดเสรีภาพนั้น ไม่ใช่ แต่จำเป็นต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ส่วนข้อกำหนดที่ให้ทำ จะบังคับกับส่วนราชการ ให้กระทรวงเตรียมการช่วยเหลือประชาชน เช่น เตรียมสถานที่เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เตรียมยา และบุคลากรทางการแพทย์
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนเรื่องข้อกำหนดที่ควรทำ เช่น ประชาชนควรอยู่กับบ้าน ไม่ออกจากบ้าน ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่จวนแล้วที่จะสั่งห้าม ทั้งนี้ คำแนะนำของแพทย์ระบุไว้ว่า 3 กลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ได้แก่ 1.บุคคลสูงอายุเกินกว่า 70 ปี 2.มีโรคประจำตัว เช่น เบาเหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด และ 3.เด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ ขอให้อยู่ที่บ้าน เว้นแต่ต้องออกไปทำธุระที่มีความจำเป็น เช่น ติดต่อศาล ไปพบหมอ ทั้งนี้ เราไม่ห้ามประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด แต่จะมีมาตรการออกมาทำให้เกิดความลำบาก จนไม่น่าเดินทาง ยกเว้นคนที่จำเป็นจริง ๆ โดยฝ่ายมั่นคงจะจัดทหาร ตำรวจ อาสาสมัครตั้งจุดสกัด หรือด่าน ดูว่ายานพาหนะนั้น มีการเว้นระยะในการนั่งหรือยืนบนรถห่างกัน 1 เมตร และสวมหน้าการอนามัยหรือหน้ากากผ้า รวมทั้งเรียกลงมาตรวจวัดอุณหภูมิและใช้เจลล้างมือ และจะให้ผู้ที่เดินทางทำประวัติ ติดตั้งแอพพลิเคชั่นผ่านโทรศัพท์ให้สามารถติดตามตัวได้ หากผู้โดยสารร่วมในรถคันดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อ จะเรียกตัวมาพบทันที ทั้งนี้สิ่งที่ห้าม ให้ และควร ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
“ที่ถามว่าปิดประเทศหรือยังนั้น เรายังไม่ปิด เพราะยังเปิดให้คนไทยกลับเข้ามาได้ แต่คนต่างประเทศก็เหมือนปิด เพียงแต่ท่าอากาศยานยังเปิดอยู่ ส่วนเรื่องปิดบ้านนั้น ยังกึ่ง ๆ ปิดสำหรับคน 3 ประเภทที่แนะนำ ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนให้เปิด และขอร้องอย่าปิด คือ โรงงาน ธนาคาร ร้านขายยา สถาบันการเงิน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าแผนกอาหาร-ยา และสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แผนกแฟชั่น การบริการขนส่งสินค้า โดยการซื้อหาอาหารยังทำได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า ขณะที่สถานที่ราชการยังเปิดทำการปกติ และวันนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเคอร์ฟิวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพียงแต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้มีอำนาจประกาศเคอร์ฟิวได้ แต่ถ้าวันหนึ่งต้องประกาศเคอร์ฟิว จะไม่เหมือนวันที่ผ่านมา ที่ประกาศเพื่อรักษาความมั่นคง แต่เชื้อโควิด-19 ไม่จำกัดเวลา ถ้าประกาศเคอร์ฟิวต้องทำ 24 ชั่วโมง แต่จะมีข้อยกเว้นจำนวนมาก เพื่อให้ซื้อหาอาหารได้ รวมถึงขนส่งสินค้า วิทยุโทรทัศน์จัดรายการได้ตามปกติ โดยจะประกาศเมื่อใดนั้น จะมีการประเมินสถานการณ์ทุกวัน เพราะขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน” นายวิษณุ กล่าว
คำต่อคำ : วิษณุ เครืองาม แถลงข่าวมาตรการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19
ท่านสื่อมวลชนทุกท่านครับ ดังที่ได้ทราบและได้มีการเผยแพร่ไปแล้ว คือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เรื่องนี้สืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ว่า ขณะนี้สถานการณ์มาถึงขั้นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อจัดการกับปัญหาและสถานการณ์โรคโควิด-19
การประกาศครั้งนี้เป็นการประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะฉะนั้นกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจนี้ได้ออกมาเป็นเวลานานสิบกว่าปีแล้ว และได้เคยประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอย่างนี้ในบางพื้นที่ในประเทศไทยมาแล้ว เช่น กรุงเทพมหานคร และขณะนี้ก็กำลังประกาศใช้อยู่ในพื้นที่บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก แต่ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาที่ผ่านมา เป็นการประกาศเพราะเหตุสถานการณ์ของการเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในประเทศ ครั้งนี้เป็นการนำเอามาใช้ประกาศในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงเป็นครั้งแรก แต่ก็สามารถทำได้ เพราะนิยามของคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินในกฎหมายนั้น เขารวมไปถึงภัยสาธารณะ นั่นก็คือโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงการสู้รบเท่านั้น
ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องกระทำโดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติแล้วเมื่อวานนี้ และให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในประกาศ ท่านนายกฯ ก็ได้ลงนามแล้ว เผยแพร่ประกาศแล้วในวันนี้ แต่จะมีผลจริงในวันที่ 26 มีนาคม นั่นก็คือเที่ยงคืนของวันนี้เป็นต้นไป และประกาศในแต่ละครั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 3 เดือน แล้วก็มาขยายเวลาต่ออายุเอาอีกทีหนึ่ง ซึ่งการประกาศครั้งนี้คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะกำหนดช่วงเวลาไว้เดือนเศษ คือตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 แล้วค่อยประเมินสถานการณ์พิจารณาต่ออายุเป็นคราว ๆ ไป คราวละไม่เกิน 3 เดือน
โดยสรุปก็คือ ครั้งนี้เป็นการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก และมีกำหนดระยะเวลาประมาณเดือนเศษ เหตุที่ต้องประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรนั้น ก็เพราะโรคระบาดโควิด-19 นั้นแพร่หลายและมีตั้งแต่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ในภาคเหนือ ลงไปจนกระทั่งถึงสุไหงโก-ลก ยะลา นราธิวาส ในภาคใต้ มีตั้งแต่กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ทางทิศตะวันตก ไปจนกระทั่งถึงศรีสะเกษ อุบลราชธานี ทางทิศตะวันออก และเรามีสนามบิน จุดผ่านแดน จุดผ่อนปรน เป็นอันมากทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องปิดล้อมสถานการณ์ทั้งหมดเอาไว้โดยการประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักร
เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ก็แปลว่าเราอยู่ในระหว่างการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะไม่เหมือนกับสถานการณ์ปกติ คำถามเบื้องต้นอาจจะมีว่า เมื่อรัฐรู้ และประชุมคณะรัฐมนตรีไปตั้งแต่เมื่อวันอังคาร วานนี้ แล้วทำไมการประกาศจึงทอดเวลาข้ามวันอังคาร วันพุธ ไปจนกระทั่งไปใช้ในวันพฤหัสฯ เสมือนหนึ่งจะไม่ฉุกเฉินจริง มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ เพราะเหตุว่าเราได้เตรียมการที่จะประกาศ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติแล้ว จะให้มีผลปุบปับทันที ไม่ได้ แม้รัฐจะได้เตรียมในส่วนของเอกสารต่าง ๆ เอาไว้แล้ว แต่ก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจ เจ้าหน้าที่จะต้องรับรู้ เตรียมที่จะปฏิบัติ เพราะว่าคนที่จะต้องปฏิบัตินั้นมีตั้งแต่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พลเรือน ลงไปจนกระทั่งถึงท้องถิ่น และที่สำคัญคือ ประชาชนเองที่จะต้องเตรียมตัว จึงต้องเตือนหรือประกาศบอกให้รู้ แล้วถึงเวลาก็จะเริ่มบังคับใช้จริง เพราะถ้าหากว่าละเมิด หรือมีความผิด หรือมีโทษ ก็จะได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่เริ่้มมีผลเป็นต้นไป อันนี้จึงได้เตือนให้รู้มากกว่า 24 ชั่วโมงล่วงหน้า แล้วก็จะเริ่มใช้บังคับกันจริงจังตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของคืนวันนี้เป็นต้นไป
ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กฎหมายได้กำหนดเบื้องต้นไว้ว่า สามารถที่จะโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายใดก็ได้ มาเป็นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้ท่านนายกฯ ก็ได้รับข้อเสนอจากกระทรวงต่าง ๆ และก็จะได้มีการออกคำสั่งให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ตามพระราชบัญญัติ 40 ฉบับ ในเบื้องต้น มาเป็นของนายกรัฐมนตรี การโอนในที่นี้หมายถึงว่าโอนอำนาจในการสั่งการเสมือนหนึ่งนายกฯ เข้าไปเป็นเจ้ากระทรวง แต่ความจริงท่านรัฐมนตรีแต่ละท่านก็ยังคงเป็นเจ้ากระทรวงอยู่อย่างเดิม ไม่ได้หมายความว่าปลดรัฐมนตรี หรือให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง หรือไม่ต้องรับผิดชอบ ยังคงต้องรับผิดชอบอย่างเดิม เพราะรัฐมนตรียังต้องรับผิดชอบในกระทรวงและตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ๆ เพียงแต่อำนาจโอนมาเป็นของนายกฯ บางมาตรา และบางมาตรการในขณะนี้ ซึ่งในการโอนอำนาจนี้ก็ได้มีข้อความเขียนไว้ท้ายคำสั่งด้วยว่า ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้เข้าไปสวมอำนาจและสั่งการเป็นอย่างอื่น ท่านรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเดิมก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ไปตามคำสั่งเดิมทุกอย่าง เพียงแต่นายกฯ จะเข้าไปสวมอำนาจนั้นเมื่อใดก็ได้ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นคำสั่งฉบับแรกที่ออกมาจะเป็นเรื่องการโอนอำนาจตามพระราชบัญญัติ ในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 40 ฉบับ เพื่อความรวดเร็ว บูรณาการ
คำสั่งฉบับที่ 2 ที่จะออกตามมา ก็คือคำสั่งที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ กฎหมายกำหนดว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ทั่วประเทศ และขณะเดียวกัน นายกฯ ได้ตั้งให้รองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นผู้ช่วยในการรักษาสถานการณ์ เรียงตามลำดับในการรักษาราชการแทนนายกฯ คือ ท่านรองนายกฯ ประวิตร ท่านรองนายกฯ สมคิด ผม ท่านรองนายกฯ จุรินทร์ ท่านรองนายกฯ อนุทิน ท่านเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีในการเป็นผู้อำนวยการทั่วประเทศ เหมือนกับยอดปิรามิด ถ้าเรานึกถึงตาราง แต่ความสำคัญจะอยู่ที่ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารับผิดชอบด้านต่าง ๆ ในอดีต เรามีหัวหน้าผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว เพราะมีด้านเดียว และมันก็จำกัดพื้นที่ แต่ครั้งนี้ทั่วราชอาณาจักร จึงได้มีการแยกหัวหน้าผู้รับผิดชอบ คำ ๆ นี้เป็นคำในกฎหมาย โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขทั่วราชอาณาจักร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านการปกครอง เกี่ยวกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าฯ กทม. ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมสินค้า มิให้ขาดแคลน มิให้ขาดตลาด มิให้ขึ้นราคา มิให้ปลอมแปลง ท่านปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อสารโซเชียล ออนไลน์ทั้งหลาย
ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งดูแลทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. นอกจากนั้น ยังจะมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับด้านการประสานงาน ก็มีท่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงาน นี่ก็จะเป็นโครงสร้างและอยู่ในคำสั่งฉบับที่ 2 นอกจากนั้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ
พูดถึงเรื่องโครงสร้างแบบนี้ ก็ต้องขออธิบายเสียก่อนว่า หลายคนเข้าใจว่าทำไมไม่ตั้งรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ทำไมไม่ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำไมไม่ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำไมไม่ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำไมไม่ตั้งรัฐมนตรีดิจิทัลฯ เหตุใดจึงตั้งปลัดกระทรวง คำตอบก็คือว่า ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กำหนดว่า ต้องมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบ จะกี่ด้านก็ตาม โดยแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี นี่คือเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งปลัดกระทรวง
แต่ขณะเดียวกัน ท่านรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็ยังคงต้องรับผิดชอบอยู่ ท่านยังไม่ได้หมดอำนาจ ท่านยังต้องดูแลอยู่ เพียงแต่ว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเขาถือว่า รัฐมนตรีไปทำงานในระดับนโยบาย แต่การสั่งการประสานกับข้าราชการประจำทั้งหลายทั่วประเทศ ซี 6 ซี 7 ซี 3 ซี 1 นั้น โดยปกติรัฐมนตรีก็ลงมาสั่งการไม่ได้อยู่แล้ว จึงให้ปลัดกระทรวงลงมาเป็นผู้มีอำนาจตรงนี้เต็มตัว สั่งการ และสั่งแบบบูรณาการข้ามกระทรวงได้ เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุข แปลว่าท่านสามารถประสานงานกับหมอของกระทรวงสาธารณสุข หมอของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งไปอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หมอทหารซึ่งอยู่กับกระทรวงกลาโหม หมอตำรวจซึ่งอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ด้วย ทั้งหมดมาอยู่ในคำว่า ด้านการสาธารณสุข
นี่ก็ขอเรียนให้ทราบว่าอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนั้น ยังคงอยู่ทุกประการ เพราะท่านต้องรับผิดชอบ มีกระทู้ถามในสภาฯ ท่านก็ต้องไปตอบ ไม่ใช่ปลัดกระทรวง มีเรื่องร้องเรียนมา ท่านก็ต้องดูแลรับผิดชอบ แต่ปลัดกระทรวงจะเป็นผู้กำกับในเรื่องด้านนี้และลงลึกไปถึงข้าราชการประจำเท่านั้นเอง
คำสั่งฉบับที่ 3 ที่จะออกมา เป็นคำสั่งที่เกี่ยวกับการตั้งศูนย์ หรือหน่วยบริหาร ถ้าเทียบกับในอดีต เราก็ชินกับคำว่า ศอฉ. ศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน ครั้งนี้โควิดเราก็มี ศอฉ. แต่เราเรียกว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งก็คือศูนย์ที่นายกฯ เป็นประธานนั่งประชุมกัน 30-40 คน ที่ตึกสันติไมตรี เมื่อวานซืนนี้นั่นเอง ยกระดับศูนย์นั้นขึ้นมาเป็น ศอฉ.ตรงนี้ ตามพระราชกำหนด และเขียนให้เกิดความคล่องตัว เพราะจะปล่อยให้เป็นแบบในอดีตไม่ได้ ที่กรรมการอะไรกันตั้ง 40 คน ประชุมกันที ก็ไม่ครบองค์ประชุม หาองค์ประชุมยาก คำตอบก็คือว่า ในการตั้ง ศอฉ. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 นั้น ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาสั่งการไปในนามของ ศอฉ.นี้ได้โดยที่ไม่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการ หรือจะเชิญเฉพาะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 4-5 คน 6-7 คน มาประชุมกันแล้วสั่งการ ถือเป็นมติของศูนย์นี้โดยที่ไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะทั้ง 40 คน และสามารถตั้งกรรมการเฉพาะกิจ ตั้งที่ปรึกษาได้
ในศูนย์ที่ว่านี้จะมีการจัดโครงสร้างเป็น ศปก. หรือศูนย์ปฏิบัติการย่อย ๆ อีก 5-6 ศูนย์ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับการบ้านไปดำเนินการ ตรงนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างการจัดการ ไม่ได้เกี่ยวพันกับประชาชน เกี่ยวกับราชการกันเอง
คำสั่งที่สำคัญที่สุด และจะลงมาเกี่ยวกับประชาชนและอยู่ในใจของคนทั้งหลายที่อยากรู้ว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ชีวิตเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็คือคำสั่งฉบับสุดท้ายในขณะนี้ ซึ่งเรียกว่า ข้อกำหนด
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดต่าง ๆ ได้ และข้อกำหนดเหล่านี้เองที่จะมากระทบกับวิถีชีวิตและทำให้สถานการณ์มันฉุกเฉิน
ข้อกำหนดนี้ก็จะมีข้อย่อยประมาณ 16-17 ข้อ ยาวและหนามาก ซึ่งก็จะต้องลงราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่ต่อไป ก็ขอให้สื่อมวลชนช่วยกรุณาไปอ่าน ตรวจสอบ สกัดเอามาเผยแพร่ให้ประชาชนทราบด้วย
โดยสรุป ในข้อกำหนดนี้ได้พูดถึงอะไรไว้บ้าง ซึ่งก็จะเป็นการตอบคำถามว่า ประกาศเคอร์ฟิวหรือยัง กักตุนสินค้าเป็นอย่างไร ออกมาซื้อของได้ไหม จะไปธนาคารได้หรือเปล่า ฉันอยู่กรุงเทพฯ จะกลับอุบลฯ จะกลับได้ไหม ฉันอยู่เชียงใหม่ จะกลับเข้ากรุงเทพฯ กลับได้หรือเปล่า คำตอบจะอยู่ในข้อกำหนดนี้ทั้งหมด
ข้อกำหนดดังกล่าวจะกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ เอาไว้เป็น 3 ประเภท คือ ประเภทห้ามทำ ประเภทให้ทำ และประเภทควรทำ ห้ามทำ ก็คือสิ่งที่ภาษาอังกฤษบอกว่า Don't ให้ทำก็คือสิ่งที่เรียกว่า Do และควรทำก็สิ่งที่เรียกว่า Should หรือ Ought to ควรทำ น่าจะทำ ทำแล้วดี เชื่อเถอะ ความหมายคืออย่างนั้น
มาตรการที่เกี่ยวกับการ ห้ามทำ จะเป็นการห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด ซึ่งเขตกำหนดคืออะไร ท่านก็ลองนึกถึงคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. เมื่อไม่กี่วันนี้ ในต่างจังหวัดก็หมายถึงคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อไม่กี่วันมานี้ ที่ให้มีการปิด ปิดสนามกีฬา ปิดสถานบริการ ปิดสถานบันเทิง พวกเหล่านี้คือสถานที่ที่ได้มีการห้ามไว้ก่อนแล้ว ก็ยกเอามากล่าวซ้ำในข้อกำหนดนี้อีก ห้ามอย่างไรก็ห้ามอย่างนั้น แต่เขาติ่งท้ายไว้นิดหนึ่งว่า ในจังหวัดใดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่ได้ออกคำสั่งห้ามหรือปิด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นดำเนินการสั่งห้ามหรือปิดในลักษณะอย่างเดียวกัน ที่แล้วมาก็อาจยังชะล่าใจอยู่ว่าจังหวัดฉันยังไม่มีเคส ไม่มีเรื่อง แต่มาถึงวันนี้จะมีหรือไม่มี ท่านต้องสั่งปิดทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องของการป้องกัน แต่ไม่จำเป็นต้องสั่งห้ามหรือปิดเหมือนกันหมดทุกแห่ง เพราะแต่ละแห่งจะมีสิ่งที่แตกต่างกันออกไป
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อที่เตือนผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในประเภทที่ห้าม ว่า สถานที่บางอย่างยังไม่ได้ห้ามไว้ก่อน ให้ไปพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น แหล่งท่องเที่ยวสาธารณะโดยธรรมชาติ เราพูดถึงชายหาดบางแสน เราพูดถึงหัวหิน เราพูดถึงพัทยา เราพูดถึงชายหาดสัตหีบ เราพูดแหลมสมิหลา เหล่านี้อาจจะยังไม่ได้อยู่ในคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลาที่ผ่านมา ก็ขอให้ท่านไปพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะว่าหาดแต่ละหาด แห่งแต่ละแห่ง มันไม่เหมือนกัน บางแห่งไม่มีคนไป บางแห่งมีคนไปมั่วสุมประชุมกันมาก บางแห่งมีชาวต่างชาติไปอยู่บ้าง ก็ขอให้ท่านดู แต่เราก็ได้สะกิดเตือนเอาไว้ในข้อกำหนดนี้ว่า สถานที่บางแห่ง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะนั้น หรือท่องเที่ยวโดยธรรมชาตินั้น ก็ขอให้ท่านไปตรวจสอบ หรือแม้แต่ศาสนสถาน ท่านก็ไปดูตามความเหมาะสม
ตรงนี้ก็จะย้อนกลับ มีคำถามที่คนสงสัยมากเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไม่แน่จริงหรืออย่างไร ใจไม่กล้าหรืออย่างไร ขณะที่ผู้ว่าฯ กทม. เขากล้าปิดไปแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดปิดไปแล้ว ทำไมรัฐบาลจึงไม่สั่ง คำตอบก็คือ ในเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีอำนาจสั่ง เพราะว่าอำนาจในการสั่งปิดสถานที่นั้น เขาเขียนไว้ในมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ว่า ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจัหวัด เป็นผู้พิจารณาสั่งปิดสนามกีฬา สถานบันเทิง สถานบริการ หรือสถานที่อื่น ๆ เป็นการชั่วคราว ตรงนี้ก็เลยต้องอาศัยยืมมือท่านผู้ว่าฯ เพราะฉะนั้นผู้ว่าฯ บุรีรัมย์จะปิด ผู้ว่าฯ อุทัยธานีจะปิด ทั้่งหมดที่จริงท่านปิดไปโดยคำแนะนำจากรัฐบาลทั้งนั้นล่ะ ถ้ารัฐบาลไม่แนะนำไฉนที่ท่านจะไปกล้าปิด แต่ที่รัฐบาลปิดเองไม่ได้ก็เพราะว่าในเวลาที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจรัฐบาลไว้เลย เพราะว่าสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่มันไม่เหมือนกัน จึงต้องยกให้เจ้าของพื้นที่ วันนี้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ในข้อกำหนดจึงได้ประกาศว่า พื้นที่ที่ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งปิดแล้วทั้งหมดนั้น เป็นการสั่งปิดตามข้อกำหนดฉบับนี้
นั่นแปลว่าคนฝ่าฝืนจะยกระดับความรับผิดและโทษมาเป็นโทษตามพระราชกำหนด ซึ่งหนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ นั่นประกาศไปแล้ว และได้สั่งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดใดที่ยังไม่ได้สั่ง ก็ให้ไปสั่ง ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รายงานว่าเวลานี้ได้สั่งเกือบหมดทุกจังหวัดแล้ว เพียงแต่ว่าสถานที่นั้นยังลักลั่นแตกต่างกันอยู่ ก็ขอให้ไปปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย ส่วนพื้นที่ใดแต่ละจังหวัดมีไม่เหมือนกัน ก็ยกให้ท่านผู้ว่าฯ ใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งต่อไปได้
วันนี้ก็ประกาศไปแล้ว 2 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศที่เป็นการปิด นี่ประเภทห้ามทำ
ที่ห้ามอีก และนับว่าสำคัญก็คือห้ามเกี่ยวกับคนทั้งหลาย เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมาโดยทางบก ทางเรือ ทางอากาศ คือไม่ว่าจะมาโดยอากาศยาน โดยเรือ โดยรถยนต์ หรือยานพาหนะใด ทุกจุด ทุกด่าน ทั่วประเทศ รวมทั้งสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ห้ามเข้ามาในประเทศ "ยกเว้น" ขีดเส้นใต้คำว่ายกเว้น เพราะเราปิดโดยเด็ดขาดไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเรามีพี่น้องประชาชนชาวไทยของเราที่ยังตกค้างอยู่ต่างประเทศที่ต้องการจะเข้ามา และคนไทยเหล่านี้มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่เขาจะเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นเรายังต้องเอื้อให้คนไทยที่จะเข้ามาได้ ข้อยกเว้นจึงมีว่า ห้ามไม่ให้ผู้ใดเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักร ไม่ว่าโดยยานพาหนะใด และโดยเส้นทางใด ยกเว้นบุคคลดังต่อไปนี้
บุคคลอันดับแรก คือ ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย เพียงแต่จะต้องมีเอกสารสำคัญ นั่นก็คือ ใบรับรองทางการแพทย์ว่ามีสภาพที่สามารถบินได้ ที่เราเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Fit to Fly Health Certificate แล้วในกรณีที่หาใบรับรองแพทย์อย่างนี้ไม่ได้ ท่านจะหาใบแทนอย่างอื่น ก็กรุณาติดต่อสถานทูต วันนี้ทูตไทยในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ก็ใช้มาตรการระดมหมอไทยที่ไปอยู่ในประเทศเหล่านั้น มานั่งที่สถานทูต สถานกงสุล เซ็นใบรับรองให้ ซึ่งก็สามารถทำได้ ฉะนั้นนี่คือผู้มีสัญชาติไทยที่จะกลับเข้ามา ปัญหามันมีแต่เพียงว่า ตั๋วก็มี บัตรโดยสารก็มี ใบรับรองแพทย์ก็มี ท่านมียานพาหนะเข้ามาหรือเปล่า คือเครื่องบิน เพราะวันนี้สายการบินเริ่มปิดและหยุดทำการ และบางสายจะหยุดทำการ ตรงนี้ท่านก็ต้องจัดการกันเองว่าท่านจะสามารถอาศัยยานพาหนะใดเดินทางกลับเข้ามาในประเทศได้ นี่คือข้อยกเว้น
ข้อยกเว้นอื่นก็ยังมีอีก เช่น กรณีที่เป็นบุคคลในคณะทูต ซึ่งเป็นทูตต่างประเทศที่เขามาอยู่ประเทศไทย และก่อนหน้านี้เขาได้กลับออกไปประเทศเขา และวันนี้เขาจำเป็นต้องกลับเข้ามาประเทศเรา ถ้าเราบอกว่าชาวต่างประเทศห้ามเข้าทั้งหมด มันก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาจะต้องเข้ามาประจำทำการ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของเขา ก็ต้องเข้ามาได้ โดยแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย แล้วก็ต้องมีใบรับรองที่เราเรียกว่า Fit to Fly เหมือนกับคนไทย จึงจะกลับเข้ามาได้
บุคคลประเภทที่สามที่ได้รับยกเว้นให้เข้ามาได้ ก็คือ ผู้ขนส่งสินค้าที่เข้ามาเสร็จแล้วกลับออกไปโดยเร็ว เช่น สมมุติว่าด่านแม่สอด จ.ตาก จำเป็นต้องลำเลียงขนส่งสินค้าจากพม่าเข้ามาที่ไทย จากไทยออกไปพม่า ออกไปเสร็จเขาต้องกลับเข้ามา อย่างนี้ต้องยกเว้นให้เขาได้ แต่มีระยะเวลาจำกัด
ข้อยกเว้นอีกอันหนึ่งคือกรณีของผู้ที่มากับยานพาหนะ เช่น คนขับรถที่มาจากต่างประเทศ นักบิน สจ๊วต แอร์ คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในเวลาจำกัดแล้วเขาต้องรีบกลับออกไป เมื่อเรายังไม่ได้ปิดสนามบินจนถึงขนาดห้ามเครื่องบินลง ก็ต้องมีคนเหล่านี้เข้ามา ก็ต้องยอมให้เขามาและกลับออกไป
สุดท้ายคือบุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็ต้องมีเงื่อนไข เงื่อนเวลา ต้องมีหลักฐาน ต้องมีใบตรวจอะไรต่อมิอะไร ก็กำหนดไว้หมด นี่เป็นตัวอย่างประเภทของการห้าม
ห้ามอย่างอื่นนอกจากนี้ ก็ยังมี เช่น ห้ามชุมนุม จะสู้กับโควิด เกี่ยวอะไรกับการห้ามชุมนุม ก็เพราะโควิดมันไปพร้อมกับการชุมนุม เราจึงต้องระวัง ที่เรียกว่า Social Distancing คือการเว้นระยะห่าง การชุมนุมคนมาก ๆ ไม่ว่าจะชุมนุมเพื่ออะไรก็ตาม เป็นสาเหตุที่ง่ายที่สุดในการแพร่โรค เราดูตัวอย่างจากคนที่ติดโรคมาจากสนามมวย ติดมาจากสนามกีฬา ติดมาจากการชุมนุมผู้คน เพราะฉะนั้น ห้ามในการชุมนุม เว้นแต่ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันให้ถูกต้อง สมควรตามหลักการแพทย์
ห้ามแพร่ข่าวที่เราเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Fake News ภาษาไทยเราเรียกว่า ข่าวเท็จ ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวที่คนตื่นตระหนกเกี่ยวกับโควิด เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะย้อนกลับเข้ามาว่า รัฐฉวยโอกาสออกข้อกำหนดตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ในการชุมนุม ในการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือจะเซ็นเซอร์กันหรืออย่างไร ไม่ใช่ครับ แต่เป็นความจำเป็นที่ต้องระมัดระวังในเรื่องการรวมกลุ่ม ระมัดระวังในการแพร่ข่าวเกี่ยวกับโควิด ถ้าท่านไปแพร่ข่าวอย่างอื่นมันเรื่องของท่าน ถ้ามันถูกกฎหมาย มันก็ถูก ถ้าผิด มันก็ผิด พ.ร.บ.อื่น แต่ในเรื่องโควิดนั้นจำเป็น เช่น ไปแพร่ว่าตายกันแล้วกี่คนบ้าง เจ็บกันแล้วกี่คนบ้าง เขาไม่เจ็บแต่ไปแพร่ว่าเขาเจ็บเขาป่วยบ้าง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการตื่นตระหนกและเกิดความเสียหายขึ้น ก็จำเป็น เพราะพระราชกำหนดเขียนให้อำนาจเอาไว้
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการห้าม เป็นตัวอย่าง ส่วน "ให้" เป็นการบังคับนั้น ไม่มีตรงไหนที่บังคับประชาชน แต่บังคับส่วนราชการ เช่น ให้กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ เตรียมมาตรการช่วยเหลือประชาชน ให้ส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ เตรียมโรงพยาบาลสนาม เตรียมที่จะหายา เตรียมที่จะหาเวชภัณฑ์ เตรียมที่จะหาหมอที่เกษียณไปแล้ว มาขึ้นทะเบียน เผื่อจะระดมสรรพกำลัง สรุปก็คือ เตรียมบุคลากร เตรียมยา เตรียมเวชภัณฑ์ เตรียมเตียง เตรียมโรงพยาบาล เตรียมสถานที่ ตรงนี้ข้อกำหนดสั่งไว้หมด การเตรียมนั้น ให้คิดเลยไปถึงการที่จะไปเช่าโรงแรมเพื่อจะเอามาเป็นที่พักรักษาผู้ป่วย การที่จะดูศาลาวัดเพื่อมาเป็นที่พักรักษาหรือกักกันตัวผู้ป่วย เตรียมการที่จะไปดูแลเรื่องการใช้หอประชุม เตรียมที่จะดูแลเรื่องการไปใช้อาคารของเอกชน หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเตียงหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งวันนี้หลายแห่งได้เตรียมการไปแล้ว โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ก็ได้เตรียมไปแล้ว โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลตำรวจ แม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ได้เตรียมการไปแล้ว มีรายงานเข้ามาถึงรัฐบาลแล้วว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้ใช้ที่จอดรถดัดแปลงเป็นโรงพยาบาล เตรียมเอาเตียงใส่เข้าไปแล้ว เหล่านี้คือการเตรียมทั้งสิ้น ซึ่งในข้อกำหนดสั่ง "ให้" คือให้มีการเตรียม
อีกประเภทหนึ่ง "ควร" ซึ่งเป็นคำแนะนำ คำแนะนำนี้แนะนำประชาชน วันนี้เรายังไม่ไปถึงขั้นที่จะบังคับประชาชน แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ใช้คำว่าควร ใช้คำว่าแนะนำ แต่ท่านต้องระวังว่า เมื่อไปถึงข้อกำหนดฉบับที่ 2-3 ที่ "ควร" มันจะยกมาเป็น "ห้าม" หรือ "ให้" ทันที ฉะนั้นในคำว่า "ควร" ก็จะมีเขียนไว้ว่า สำหรับประชาชนนั้นควรที่จะอยู่บ้าน ควรที่จะไม่ออกนอกบ้าน ที่เราจะสั่งห้ามทันทีก็ไม่ได้ในเวลานี้ แต่ก็จวนแล้ว เตือนไว้ก่อน แต่ขณะเดียวกัน คำแนะนำก็ได้บอกว่า บุคคล 3 ประเภทต่อไปนี้ เป็นบุคคลที่ทางการแพทย์ได้ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงมาก จึงขอให้อยู่ที่บ้าน เว้นแต่จะออกไปทำธุรกิจธุรกรรมบางอย่างที่จำเป็น หนึ่ง คือ บุคคลที่สูงอายุ เกินกว่า 70 ปี สอง บุคคลที่อายุใดก็ตาม แต่เป็นโรคประจำตัวบางอย่างตามที่ระบุ เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ทางเดินหายใจ โรคปอด คนเหล่านี้อยู่ในประเภทสอง ประเภทสาม ก็คือ เด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบลงมา สามประเภทนี้เสี่ยงต่อการติดโรคสูงมาก จึงขอให้อยู่กับบ้าน เว้นแต่จะต้องออกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในข้อยกเว้น
วันนี้เราเขียนไว้ในเรื่องของ "ควร" แต่วันหนึ่งก็จะยกระดับขึ้นเป็นเรื่องของการบังคับ หรือการ "ห้าม" หรือการสั่งให้ทำ
ควรอีกชนิดหนึ่งก็คือเรื่องการเดินทางไปต่างจังหวัด Social Distancing นั้น แปลว่าเว้นระยะห่าง ไม่ให้ติดต่อสัมผัสกันได้ ขณะนี้อย่างน้อยคือเว้น 1 เมตร แต่ที่เรากลัวมากกว่านั้น คือการที่สัญจร เดินทาง เช่น กลับต่างจังหวัด หรืออยู่ต่างจังหวัดกลับเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ถ้าเราดูโทรทัศน์ก็จะเห็นว่ามาตรการอย่างนี้เขาได้ใช้กันในหลายประเทศในโลก นั่นเป็นเพราะเขามีความเสี่ยงสูง และเมืองของเขาใกล้ชิดติดพัน ขณะเดียวกัน ความจำเป็นของผู้คนยังไม่ถึงขนาดนั้น เขาก็เลยห้ามได้ แต่ขณะนี้เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดนั้น ยังอยู่ในมาตรการควร ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 เพียงแต่ว่า แม้ยังสามารถเดินทางได้ อยู่กรุงเทพฯ ยังไปเชียงใหม่ได้ อยู่เชียงใหม่ยังเข้ามากรุงเทพฯ ได้ แต่ว่าเป็นกรณีซึ่งจะมีมาตรการเข้าไปเกี่ยวข้องกับท่าน จนทำให้การเดินทางยากและลำบาก จนไม่น่าจะเดินทาง เว้นแต่คนที่จะมีความจำเป็นจริง ๆ นั่นก็คือ ฝ่ายความมั่นคงจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อาจจะใช้ กอ.รมน. อาสาสมัคร ไปตั้งจุดสกัดหรือด่าน โดยเฉพาะตรงรอยต่อระหว่างจังหวัด แล้วก็ดูว่ายานพาหนะนั้นได้มีการเว้นระยะในการนั่งหรือยืนบนรถห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จริงหรือไม่ ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากาก
อนามัยหรือหน้ากากผ้าหรือไม่ เรียกลงมาตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงอาจจะให้ใช้เจล หรือแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือทำความสะอาด ตรวจดูว่าดื่มสุรา เมา เฮฮา สังสรรค์กันมาบนยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถ หรือรถไฟ หรือไม่ ซึ่งถ้ามีเขาก็ห้าม หรือเขาอาจจะดำเนินคดี
และในบางกรณีก็จะมีมาตรการซึ่งในข้อกำหนดอนุญาตให้ทำได้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย กำลังจะร่วมกับกระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หาทางที่จะติดแอปพลิเคชันติดตามตัวแก่ผู้โดยสารทั้งหลาย ท่านเดินทาง ท่านก็เตรียมโทรศัพท์มือถือไปด้วย ที่สำคัญท่านต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนของท่าน และเขาก็จะเรียกให้ท่านกรอกแบบฟอร์ม ท่านเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน จะไปไหน บ้านอยู่ที่ไหน โทรศัพท์หมายเลขอะไร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ถ้าสมมุติบนรถโดยสารที่นั่งกันไป 20 คนนั้น วันหนึ่งตรวจพบว่า 1-2 คนในนั้น เป็นโรคโควิด เขาจะเรียกทั้ง 20 คนมาพบได้ทันที ติดตามตัว และอาจจะต้องกักกันคนทั้ง 20 คนนั้น นั่นแปลว่ารัฐจะต้องมีข้อมูล หลักจึงคือว่า สามารถเดินทางได้ แต่จะยากลำบาก ตรงนี้ก็เป็นมาตรการในเชิงแนะนำ แต่มีมาตรการสั่งรัฐให้เข้าไปประกบในการที่ท่านจะเดินทาง
โดยสรุปทั้งหมดที่ได้เรียนมายืดยาว ท่านกรุณาดูรายละเอียดจากข้อกำหนดฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2-3 ยังไม่ออก เตรียมจะออกแต่ยังไม่ออก แล้วก็จะเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ แต่ว่าโดยสรุปข้อกำหนดฉบับที่ 1 เมื่อกี้ผมสรุปไว้ก่อนว่า มีประเภทห้ามทำ ให้ทำ ควรทำ แต่สำหรับโจทย์ในใจประชาชนที่มีอยู่ คือว่า เอ๊ะ นี่เขาปิดประเทศหรือยัง เขาปิดเมืองหรือยัง เขาปิดบ้านหรือยัง คำตอบสรุปซ้ำอีกครั้งดังนี้ ปิดประเทศ ยังไม่ปิด เพราะเราเปิดให้คนไทยกลับเข้ามาได้ แต่ท่านก็จะเห็นว่าสำหรับชาวต่างประเทศนั้นคือการปิดประเทศแล้ว แต่เรายังไม่ปิดสนามบิน เพราะฉะนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่าปิดประเทศที่พูด ๆ กันหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงปิดท่าอากาศยาน ยังครับ เพราะเรารอเครื่องบินขนคนไทยกลับอยู่ แต่ชาวต่างประเทศนั้นขนกลับเข้ามาไม่ได้ คนไทยกลับเข้ามาได้ แต่ท่านต้องมีใบรับรองแพทย์หรือใบรับรองอื่นที่ทัดเทียมกัน นี่คือปิดประเทศ
ปิดเมือง คือข้ามจังหวัด ปิดหรือยัง คำตอบคือ ยัง ยังสามารถเดินทางได้อยู่ แต่จะยุ่งยากลำบากในการเดินทาง เพราะเราไม่สนับสนุนให้มีการเดินทาง จึงใช้มาตรการที่ยุ่งยากลำบากในการเดินทาง และเสียเวลา แต่ก็จำเป็นต้องทำ แค่ท่านจะขึ้นรถที่ไม่ใช่รถส่วนตัวของท่านไปต่างจังหวัด ท่านก็จะต้องเจอกับมาตรการเว้นที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร ท่านต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน ท่านต้องมีโทรศัพท์มือถือเพื่อเตรียมที่จะติดแอปพลิเคชัน ท่านต้องเตรียมที่จะเผชิญกับการตรวจอุณหภูมิไปตลอดทาง อาจจะหลายด่าน ทุกจังหวัดที่ข้ามไป ท่านจะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย มีเจลหรือแอลกอฮอล์ล้างมือเตรียมไป ถ้าไม่มีเตรียมไปเขาก็อาจจะเตรียมไว้ให้ท่าน และถ้าตรวจพบระหว่างทางว่าอุณหภูมิท่านสูงผิดปกติ เสี่ยง เขาก็จะให้ท่านออกจากยานพาหนะนั้น แล้วส่งไปกักกันตัวหรือเก็บไว้ ณ สถานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค นี่คือเรื่องปิดเมือง
ปิดบ้าน ปิดหรือยัง คำตอบก็คือยัง แต่กึ่ง ๆ ปิดสำหรับคน 3 ประเภท ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคบางชนิด เด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบลงมา นอกจากนั้นก็ยังไปทำงานได้ตามปกติ ข้าราชการยังไปทำงานได้ตามปกติ คนที่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ห้างร้าน บริษัท ยังไปทำงานได้ตามปกติ
ในข้อกำหนดนี้ นอกจากจะพูดถึงเรื่องห้ามเข้าที่นั่นที่นี่ ไม่ควรเข้าที่นั่นที่นี่ มันมีการเขียนไว้ข้อหนึ่งว่า สถานที่หรือกิจการต่อไปนี้ รัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เปิด ไม่ใช่ให้ปิดไปเสียหมดนะ มีสถานที่หรือกิจการบางแห่ง รัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เปิด และขอร้องว่าอย่าปิด และตรงนี้ก็เป็นการตอบคำถามที่มีคนโทรศัพท์เข้ามาศูนย์โควิด 1111 วันละเป็นพันคนว่า นั่นปิดไหม นั่นเปิดไหม นั่นทำได้ไหม ในข้อกำหนดเขียนไว้หมดแล้ว เช่น โรงงาน ยังเปิดทำการได้ตามปกติ ธนาคาร เปิดครับ ATM ตู้ ATM ยังเปิดครับ ร้านอาหาร ยังเปิดครับ แต่ขอให้ใช้วิธีซื้อไปบริโภคที่บ้าน ห้างสรรพสินค้าให้เปิดเฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกอาหาร แผนกยา แผนกสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน นั่นก็แปลว่าไม่ใช่แผนกแฟชั่นแน่ หรือการบริการขนส่งสินค้า เช่น จำเป็นต้องขนปลากระป๋อง บะหมี่ มาม่า ยำยำ ไวไว ไปส่งตามห้างเพื่อให้เต็มหิ้งหรือชั้น ยังทำได้ตามปกติ การซื้อหาอาหารยังทำได้ตามปกติ ประชาชนยังสามารถไปซื้อหาอาหารได้ตามปกติ เพราะเรายังไม่ได้ปิดบ้าน และยังขายได้ตามปกติ แต่ห้ามกักตุนสินค้า กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบในเรื่องนี้ ปลัดพาณิชย์เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการดูแลคุณภาพ ปริมาณ ราคา
เพราะฉะนั้นจะมีกิจการหลายอย่างที่ต้องเปิด ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสถาบันการเงิน หรือคนที่จะต้องไปแจ้งความตำรวจ ของหาย ถูกขโมย สถานที่ราชการต่าง ๆ ยังเปิดทำการตามปกติ นี่เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ว่า รัฐมีนโยบายสนับสนุนให้เปิด โรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก ธนาคาร สถาบันการเงิน สถานที่ทำธุรกิจธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ หุ้น การขนส่งสินค้า โรงงานผลิต ธุรกิจเดลิเวอรี ออนไลน์ สั่งให้มาส่งที่บ้าน ยังทำได้ตามปกติทุกอย่าง และสนับสนุนให้ทำด้วย คือแม้วันหนึ่งจะไปปิดอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ปิด
คำถามมีว่า วันนี้เราประกาศเคอร์ฟิวหรือยัง เคอร์ฟิวคือห้ามออกจากสถานที่ในเวลาอันกำหนด ขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิว เคอร์ฟิว กับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพียงแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้รัฐมีอำนาจ 1..2..3..4..5..6..7..8..9..10 ซึ่ง 1 ใน 10 นั้นคือเคอร์ฟิวด้วย ซึ่งวันนี้ยังไม่ประกาศ เพราะฉะนั้น ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว ยังออกจากบ้าน 3 ทุ่ม 5 ทุ่ม ตี 3 ตี 5 ก็ยังออกได้ตามปกติ เพียงแต่บุคคล 3 ประเภทดังที่เรียนนั้น ไม่แนะนำให้ออกจากบ้าน เว้นแต่ต้องไปทำธุรกิจธุรกรรมบางอย่างอย่างที่ได้เรียนให้ทราบ
ถาม-ตอบ
ถาม - ตอนนี้มีความกังวลว่าด้วยปัญหาหลายอย่าง และทั้งคนต้องอยู่ที่บ้านโดยส่วนใหญ่ และหลายคนที่ไม่ได้ไปทำงาน ขาดรายได้ เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะความมั่นคง เช่น ทรัพย์สินทิ้งไว้ เรากลับบ้าน อาจจะมีการปล้น จี้ ชิงทรัพย์ หรือสถานที่ไม่ปกติที่จะเกิดขึ้น จะดูแลความมั่นคงตรงนี้อย่างไรบ้าง
ตอบ - ด้วยเหตุฉะนี้เองจึงได้ตั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง ที่จะดูแลเรื่องของตำรวจ ทหาร กอ.รมน. อาสาสมัคร ซึ่งจะเน้นในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันก่อนว่าสถานการณ์โควิดอาจจะทำให้อาชญากรรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจตราในเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิดอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายด้วยความไม่ค่อยมั่นใจ กรุณายังต้องทำด้วยความมั่นใจต่อไป เริ่มมีบ้างแล้วที่ตรวจพวกเมาแล้วขับ คนที่จะให้เป่าก็ไม่ยอมเป่า เพราะรังเกียจ ตำรวจก็ไม่กล้าให้เป่า เจ้าหน้าที่สนามบิน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินภายในหรือภายนอก ปกติต้องตรวจผู้โดยสาร ต้องมีการจับลูบตามตัว อาจจะระวังหรืออาจจะระแวง ไม่กล้าสัมผัส ก็จะทำให้เกิดอันตรายขึ้นในเรื่องของความปลอดภัยในการบินการเดินทาง ท่านนายกฯ ได้สั่งการแล้วว่ายังต้องเข้มงวดต่อไปและเพิ่มความเข้มงวดขึ้น และที่ต้องเพิ่มเข้ามาอีกอันหนึ่งนอกจากอาชญากรรม การใช้กฎหมายตามปกติที่อาจจะหย่อนยาน ต้องไม่หย่อนยาน คือคนที่ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนจากความทุกข์ครั้งนี้ เช่น ขึ้นราคาสินค้า หรือกลั่นแกล้ง เช่น สั่งน้ำมูกแล้วไปป้ายตามประตู หน้าต่าง ลิฟต์ อย่างที่เป็นข่าวไม่กี่วันมานี้ สิ่งเหล่านี้จะต้องเข้มงวดกวดขัน และดำเนินคดีทันทีโดยเฉียบขาดทุกประเภท เพราะฉะนั้นมาตรการเหล่านี้จะไม่หย่อนยานลง แน่นอนประชาชนก็ต้องระวังตัวเองด้วย การที่ท่านไม่ควรจะออกจากบ้าน นอกจากจะเป็นการป้องกันโควิดได้อย่างดีแล้ว ก็ทำให้ท่านพิทักษ์รักษาทรัพย์สินของท่านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
ถาม - แนวทางการทำงานของสื่อมวลชน จำต้องมีการกำชับหรือปรับเปลี่ยน หรืออย่างไร อะไรบ้างหรือไม่
ตอบ - ในส่วนที่เป็นนโยบายที่รัฐยังคงสนับสนุนให้ช่วยทำต่อไป เมื่อกี้ผมเรียนว่า เช่น โรงพยาบาล ฯลฯ ก็มีอีกอันหนึ่งด้วย คือธุรกิจ ธุรกรรม หรือการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับสื่อสารมวลชน โทรคมนาคม ยังทำต่อไปได้ เพราะแม้ว่าจะเคอร์ฟิว อยู่บ้าน แล้วเดี๋ยวทุกคนไม่ออกจากบ้าน ไม่ต้องไปไหน ก็ควรจะได้ดูโทรทัศน์ ว่าเกิดอะไรขึ้น เขาเจ็บกันไปกี่คน ตายกันกี่คน แล้วปรากฏว่าโทรทัศน์ไม่มีใครออกแล้ว ก็ไม่ได้ ก็ยังทำได้ตามปกติ ตรงนี้เป็นนโยบายที่รัฐอยากสนับสนุนให้ทำ แต่ว่ามาตรการในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อ ก็มีด้วย เพราะโดยผลของการใช้พระราชกำหนดนั้น มาตรา 9 ของพระราชกำหนดเขาก็บอกไว้แล้วว่า จะต้องมีการเข้มงวดกวดขันในส่วนของสื่อ ที่ผมใช้คำว่า Fake News หรือการบิดเบือน ตรงนี้ท่านต้องระมัดระวัง เพราะฉะนั้นจึงตั้งท่านปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบด้านสื่อสารมวลชน โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย เราก็จะใช้มาตรการเพียงแค่ว่า ถ้ามันผิดหรือมันเท็จ เริ่มต้นเราก็จะเตือนให้หยุด ถ้าไม่หยุดเราก็ขอให้แก้เสียให้มันถูก แล้วถ้ามันหนัก รุนแรง เราก็จะดำเนินคดี โดยใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือใช้พระราชกำหนดนี้เอง ซึ่งจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรการที่เกี่ยวกับสื่อมีแค่นี้
ตอบ - ไหน ๆ ท่านถามแล้ว ผมพูดต่อเสียเลยว่า มีคนโทรศัพท์เข้ามาถามว่า พระราชกำหนดนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพอะไรของประชาชนไหม ก็จำกัดอย่างที่ว่ามานี้่ล่ะครับ แต่ว่าท่านยังมีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นในเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับโควิดอันเป็นเท็จ ท่านจะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ท่านก็ยังทำได้ตามปกติ จะติ จะชมรัฐบาล ก็ยังทำได้เหมือนที่เคยทำ ก็ไม่มีอะไรเดือดร้อน
ถาม - เรื่องของการเคอร์ฟิวที่ท่านบอกแล้วว่ายังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว แต่ที่บอกว่าอาจจะมีต่อ อะไรที่จะเป็นตัวตัดสินใจเรื่องของเคอร์ฟิว และจะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าหรือไม่เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก
ตอบ - การออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ซึ่งไม่มีเคอร์ฟิว และจัดอยู่ในมาตรการประเภท ควร ยังไม่ได้ห้าม และยังไม่ได้บอกว่าให้ มันเป็นคำเตือนระดับที่ 1 แต่เมื่อจะไปถึงขั้นห้าม จะต้องมีเตือนโดยไม่ต้องออกเป็นข้อกำหนดอีกล่วงหน้า เหมือนอย่างที่เราจะออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 เราก็เตือนตั้ง 48 ชั่วโมง แล้ว ต่อไปก็ต้องเตือนอย่างเดียวกัน เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก เพื่อไม่ให้เกิดการกักตุน ไม่ให้กวาดต้อนซื้อข้าวซื้อของกันโกลาหะ เพราะแม้เคอร์ฟิว ถ้าสมมุติจะมี เคอร์ฟิวครั้งต่อไปมันจะไม่เหมือนเคอร์ฟิวที่เราเคยเจอ เคอร์ฟิวที่เราเคยเจอคือกลางวันอยู่บ้านได้ แต่กลางคืนห้ามออก เคอร์ฟิวมันมีกลางคืน 3 ทุ่ม ถึงตี 4 สมมุติในอดีต นั่นเป็นเพราะว่าเคอร์ฟิวเพื่อรักษาความมั่นคง แต่โรคโควิดมันไม่ได้ออกมาตอนเที่ยงคืน มันไม่ได้จ้องจะออกมาตอน 3 ทุ่ม มันออก 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าเคอร์ฟิวในเรื่องโควิด มันจะเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แต่มันจะต้องมีข้อยกเว้น เพราะว่าเคอร์ฟิวมันไม่กระโดดจากนาย ก. ไปสู่นาย ข. ง่ายนักหรอก ถ้าระมัดระวัง เราก็พูดถึงเรื่อง Social Distancing พูดถึงหน้ากาก พูดถึงเจล พูดถึงการไม่ติดต่อสัมผัส ฉะนั้นเคอร์ฟิวถ้ามี ก็ต้อง 24 ชั่วโมง แต่ต้องมีข้อยกเว้นเป็นอันมาก เพื่อให้ไปซื้อหาอาหารได้ ไปหาหมอได้ ไปแจ้งความตำรวจได้ ไปขึ้นศาลได้ เพราะว่าคดีมันจะขาดอายุความ ศาลท่านไม่เลื่อน เมื่อท่านไม่เลื่อนเราก็ต้องไป ไปธนาคารได้ ไปกดตู้ ATM ได้ รวมทั้งไปส่งสินค้าได้ ไปรับสินค้าได้ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เขามาส่งได้ ไม่ใช่ว่าคนมาส่งติดเคอร์ฟิว มาไม่ได้ วิทยุ โทรทัศน์ ก็ยังต้องจัดรายการได้ ไม่อย่างนั้นคนก็ตาบอดหูหนวก อยู่กับบ้านไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เหล่านี้แปลว่าข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นท่านลองไปอ่านข้อกำหนดฉบับที่ 1 เรื่องที่บอกว่า คน 3 ประเภท ซึ่งมันก็เหมือนเคอร์ฟิวแล้ว แต่เขาก็ยกเว้นไว้ให้ ข้อยกเว้นเหล่านั้นคือข้อยกเว้นที่จะยกมาใส่เวลาเคอร์ฟิวกับคนทุกประเภท