xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก CPTPP ถึง พาราควอต “พรรคแมลงสาบ”OLD NORMAL??!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขยันเรียกแขก เชิญชวนทัวร์ลงกันเสียจริงในการทำหน้าที่เสนาบดีคุมกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ของนักการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แบบว่าความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกผสมโรงขย่ม “ค่ายกลแมลงสาบ” ที่ยังบริหารราชการแผ่นดินแบบ old normal จน FC หวั่นไหวจะได้ไปต่อกันไหม หรือจะเป็นตัวถ่วงล่ม “เรือเหล็กลุงตู่” ที่กำลังโต้คลื่นโควิด-19 แบบอกสั่นขวัญแขวนอยู่ในเวลานี้

เพิ่งใส่เกียร์ถอยแทบไม่ทันกับการฉวยโอกาสผลักดัน CPTPP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ที่จะส่งผลผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ภาคเกษตรล่มสลาย แต่ยังไม่ทันไรก็มีเรื่องกรณีสารพิษเกษตร ที่ชงเลื่อนการแบน “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ออกไปจากเดือนมิถุนายนไปเป็นสิ้นปีนี้แทน ก่อนที่จะขอถอยดีกว่าอีกเช่นกัน

เรียกได้ว่าทีมชงทีมตบทำงานกันอย่างแข็งขัน ทั้งเรื่อง CPTPP และสารพิษเกษตร เป็นการฉวยโอกาสในจังหวะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนกันแสนสาหัสจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องสาละวนกับปัญหาปากท้องของตัวเองก่อน พอประชาชนเผลอพวกนักการเมืองก็ลักไก่ผลักดันแบบไม่ยี่หระถึงผลร้ายที่จะตามมาแล้วก็เป็นมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย อีกเช่นเคยที่ถือธงนำหน้า ผนึกกับเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้นำเกษตรกร ฯลฯ ก่อกระแสคัดค้าน และที่ขาดไม่ได้คือ บทบาทของ ** “นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข”** ที่ออกมาแสดง “ความห่วงใย” ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งเรื่องที่รัฐบาลไทยจะไปทำข้อตกลง CPTPP และการแบนและการเลื่อนแบนสารพิษการเกษตร จนดูเหมือนว่าในก๊วนรัฐมนตรีว่าการสามสี่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนั้น นายอนุทินยืนหนึ่งเป็นโดดเดี่ยวผู้น่ารักเพียงหนึ่งเดียวของประชาชน

ต้องถือว่า กลเกมในเรื่อง CPTPP และสารพิษเกษตร เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน สู้กันหลายยก และไม่ใช่ว่าเมื่อเคาะระฆังจบยกแต่ละครั้งเรื่องจะจบ เลิกเวที เปล่า!เดี๋ยวมีต่อยกหน้า ประมาณว่าถึงไล่ก็ไม่เลิก แค่พักยกเท่านั้น เดี๋ยวก็ล่อกันอีก เป็นคล้ายเกมชักเย่อ ภาคประชาชนอย่าการ์ดตกไม่งั้นเรียบร้อยโรงเรียนนักการเมืองแน่ๆ

สำหรับกรณีสารพิษเกษตรที่ร้อนฉ่ากันล่าสุด ก่อนหน้านี้ ** “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” มีมติไม่แบน “ไกลโฟเสต” ส่วน “พาราคอตและคลอร์ไพริฟอส” มีมติแบนโดยขีดเวลาเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ แต่พอถึงเวลาแบนสองสารดังกล่าวงวดเข้ามา การณ์กลับกลายเป็นว่าเริ่มเกมเขี่ยลูกกันใหม่ แบบความพยายามของฝ่ายนักการเมืองและนายทุนไม่เคยสูญสิ้น จนแผ่นดินนี้ต้องอาบด้วยสารพิษหรืออย่างไร นั่นแหละ

ความที่เป็นการเคลื่อนไหวแบนสารพิษเกษตรเป็นมหากาพย์ มายกนี้เพจของไบโอไทย สรุปรวบรัดให้เข้าใจง่ายๆว่าเรื่องสารพิษเกษตรในรัฐบาลชุดนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหมวกอีกใบคือ ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นคนชงและตบเรื่อยมา นับตั้งแต่รับข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขอให้ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต และนายสุริยะ ก็ทำสำเร็จ เพราะ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สังกัดพรรค ปชป. เล่มเกมหักหน้า นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร

หักหน้าแบบไหน ก็โดยที่นายเฉลิมชัย ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สายตรงของตน เสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าประเทศไทยไม่พร้อมที่จะแบนไกลโฟเสตเพราะไม่มีสารทดแทน ทางนายสุริยะรีบเด้งรับลูกและดันจนล้มมติวันที่ 22 ตุลาคม 2562 กระทั่งสามารถล้มการแบนไกลโฟเซตเป็นผลสำเร็จ พร้อมๆ กับเลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส มาเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 แทน

พอใกล้ถึงเดดไลน์ มาคราวนี้ นายสุริยะ รับลูกข้อเสนอของ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และบริษัทสารพิษ โดยอ้างเหตุเกิดโรคไวรัสระบาดทั่วโลก ขอให้เลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 หรือจนกว่าโรคระบาดจะยุติ

“ฟังดูเหตุผลในการแบนดูพิลึกพิลั่น ไม่มีน้ำหนักอะไรเลย แต่ขอให้จับตาบทบาทนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และปลัดกระทรวงเกษตรฯ อีกครั้ง” ไบโอไทยชวนจับตาว่าวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่มีการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งนายสุริยะ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน พวกเขาจะเลื่อน/ล้มการแบนได้อีกครั้งหรือไม่

เหตุผลในการขอเลื่อนการแบน 2 สารพิษเกษตร ดูพิลึกพิลั่นไปหน่อย แต่หากไม่แบนสารพิษเกษตร คือยังดันทุรังเลื่อนการห้ามใช้กันต่อไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งถึงเวลานั้นไม่รู้ว่าจะเลื่อนกันอีกครั้งหรือไม่ ก็ต้องย้ำความจริงจากทั่วโลกกันอีกครั้งว่าหลายประเทศเขาเลิกใช้กันไปแล้ว และโลกกำลังต่อต้านสารพิษที่มีฤทธิ์เฉียบพลันสูงและก่อโรคพาร์กินสันอย่างพาราควอตและสารพิษที่มีผลกระทบทำลายสมองเด็กโดยถาวรอย่างคลอร์ไพริฟอส

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนแถวหน้า ตั้งคำถามว่า ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตจากไวรัสระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ แต่กลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสารพิษ และนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม กำลังสมคบคิดกันยืดเวลาการแบนสารพิษร้ายแรงออกไป ซ้ำเติมปัญหาสุขภาพของประชาชนให้เลวร้ายลงไปอีก หรือไม่?

ไม่เพียงแต่ตั้งคำถามเท่านั้น ยังเชิญชวน #MobFromHome อีกด้วย โดย Indy Consumer, Thai-PAN และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ชวนร่วมชุมนุมออนไลน์ ถ่ายภาพตนเองพร้อมข้อความขึ้นหน้า wall ใส่แฮชแท็กข้อความต่อไปนี้ และส่งไปยังทุกช่องทางสื่อสาร #MobFromHome #แบน3สารพิษเดี๋ยวนี้ #ครัวไทยต้องไม่ใช่ครัวโรค #อย่าฉวยโอกาสอ้างโควิดไม่แบน 3 สาร

เอาข้อมูลเชิงวิชาการกันสักหน่อย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) บอกว่า พาราควอต มี 59 ประเทศแบนไปแล้ว คลอร์ไพริฟอส ยุโรปแบนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีมากกว่า 30 ประเทศ รวมทั้งจีน เวียดนาม ที่แบนแล้ว

ไทยแพน ยังจับพิรุธในเหตุผลพิลึกกึกกือในการยืดการแบนออกไปด้วยว่า “คุณกลินท์ สารสิน คนที่ร้องเรียนขอให้ใช้ต่อ ทำไมกลืนคำพูดตัวเอง เพราะเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเพิ่งทำจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ในนามสภาหอการค้าว่าสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตร ทั้ง 3 ชนิด”

ในสถานการณ์โรคระบาดประเทศต่างๆ เน้นพืชอาหารที่มีความปลอดภัย ทำไมทำตรงกันข้าม และเมื่อยางพารา อ้อย ข้าวโพด ราคาตกต่ำยาวเพราะผลของราคาน้ำมันผันผวน กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตระดับโลก เราควรลดการปลูกลงหรือลดต้นทุนโดยลดการใช้สารพิษร้ายแรงลง และใช้แรงงานภาคเกษตรคืนถิ่นและเครื่องจักรกลจัดการวัชพืช

แต่ที่เป็นคำถามและต้องตอบให้ชัดอยู่ที่ประเด็นนี้ ไหนก่อนหน้านี้บอกว่ามีสต็อกเหลือเยอะ รัฐไม่อยากรับภาระยึดคืนมาทำลาย เพราะเสียค่าใช้จ่ายสูง แล้วทำไมจะปล่อยให้นำเข้ามาอีก และเหตุที่แบนกรรมการก็รู้ว่ามันเป็นอันตรายแล้วจะปล่อยให้ใช้ต่อไปซ้ำเติมปัญหาสุขภาพประชาชนอีกทำไม ใช่ต้องต้องการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ค้าสารพิษ ยื้อการแบนออกไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ใช่หรือไม่?

ถอยหลังย้อนเวลากลับไปเล็กน้อย ต้องไม่ลืมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 1-1/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 พิจารณาเลื่อนระยะเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน เป็น 1 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายสต็อกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้าง โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าทำลาย ยังจำกันได้ไหม?

และในช่วงเช้าของวันที่ 30 เมษายน ก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณายืดอายุการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปจากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็น 31 ธันวาคม 2563 จะเริ่มขึ้นในวันดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ย้ำจุดยืนว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีเกษตร ทั้ง 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และไม่เห็นด้วยต่อการขยายเวลาทุกกรณี และไม่มีเหตุผลที่จะขยายเวลาอีกต่อไป ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคำนึงถึงความปลอดภัยทางสุขภาพของประชาชน เป็นอันดับแรก

นายอนุทินยังสั่งการให้ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แสดงจุดยืนไม่รับรองมติการประชุม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และขอให้บันทึกมติของผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขว่าไม่เห็นด้วยกับมติการประชุม ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เคยแถลงว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการขยายเวลาการใช้และการประกาศวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 จากที่ให้มีผลการแบนในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เลื่อนออกไปเป็น 1 มิถุนายน 2563 เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข แถลงในที่ประชุมชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีทั้งสามชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส

เจอแรงขย่มจากรอบทิศทาง จนกระทั่งทำให้ที่ประชุมบอร์ดวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ด ต้องใส่เกียร์ถอยดีกว่า

ในวันนั้น บอร์ดวัตถุอันตราย ซึ่งเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 24 คน จากทั้งหมด 28 คน ได้ลงมติอย่างเปิดเผยด้วยเสียงส่วนใหญ่ 17 เสียงให้ยึดมติเดิมเมื่อ 27 พ.ย. 2562 ที่กำหนดให้ 2 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลวันที่ 1 มิถุนายน 2563

“เสียงส่วนใหญ่ 17 เสียงให้คงการแบน 2 สารตามมติเดิม ขณะที่กรรมการอีก 6 ท่านไม่เห็นด้วยที่จะคงมติเดิม และอีก 1 ท่านที่งดออกเสียงเพราะขอกลับก่อนเนื่องจากติดภารกิจ ส่วนตัวผมนั้นยืนยันว่าเห็นด้วยกับการยึดมติเดิม” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ดวัตถุอันตรายได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร ไปหาสารทดแทนสารเคมีเกษตรที่ถูกสั่งแบนแล้วนำเสนอต่อที่ประชุมในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง ซึ่งในที่ประชุมกรมวิชาการเกษตร ได้เสนอสารทดแทน 2-3 ตัว สำหรับพืชแต่ละชนิดที่ใช้สารเคมีต่างกันไป แต่มีราคาสูงกว่าสารตัวเดิมที่ถูกสั่งห้ามใช้ ส่วนสต็อก 2 สารที่มีอยู่ขณะนี้หมื่นกว่าตันกระจายอยู่ในร้านค้า ผู้ผลิต เกษตรกร เมื่อถึงกำหนดแบนต้องส่งคืนมายังกรมวิชาการเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองมติการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมติเสียงส่วนใหญ่รับรองรายงานที่ประชุมดังกล่าว แต่มีกรรมการบางคนแจ้งขอสงวนสิทธิไม่รับรองรายงาน

พักยกเรื่องสารเคมีเกษตรชั่วคราว (อีกครั้ง) กลับมาดูเรื่อง CPTPP ซึ่งต้องไม่ลืมว่า “พักยก” ชั่วคราวเช่นกัน เพราะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่ถอนวาระการเสนอเรื่อง CPTPP จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งเตรียมพิจารณาเรื่องนี้กันเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่ามีความเห็นแย้งกันและจะไม่เสนอเรื่องนี้อีกตราบใดที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้จะเลิกเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนฯนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะถอนวาระไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงแค่การเบรกเกม ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจึงเดินหน้าขย่มต่อตั้งเป้าหมายต้องประกาศยกเลิกการเข้าร่วม #CPTPP และยุติการแก้ไขกฎหมายตาม #UPOV1991 รณรงค์ร่วมชุมนุมออนไลน์ครั้งประวัติศาสตร์จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย ด้วย #MobFromHome #NoCPTPP #อย่าฉวยโอกาส #วิกฤติโควิดต้องคิดใหม่ #ไม่เอาCPTPPการค้าล้าหลัง #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม #ความมั่นคงทางอาหาร #ความมั่นคงทางยา #คือความมั่นคงของสังคม

อย่างที่รู้กันดี ในมุมที่อยากเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจฯ เป็นเพราะมองว่าจะช่วยขยายตลาดการส่งออกของไทยให้กว้างขึ้น ขายสินค้าได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในฟากของผู้ผลักดันให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ก็มีเหตุผลน่ารับฟัง ตามที่ **นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม** อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมผลการศึกษา และผลการรับฟังความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสีย ในการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ (ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ขณะที่สหรัฐฯ ถอนตัวไปในปี 2560

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นที่กรมฯได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็น และเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กนศ. พิจารณา คือ หากประเทศไทยเข้าร่วมจะทำให้จีดีพี ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.12% มูลค่า 13,323 ล้านบาท หากไม่เข้าร่วม จีดีพี ไทยลดลง 0.25% มูลค่า 26,629 ล้านบาท เมื่อเทียบการขยายตัวจีดีพีไทยปี 2561 พร้อมกับยกตัวอย่างเวียดนาม ที่เข้าร่วม CPTPP สถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 2558-2562 การส่งออกโตขึ้น 7.58% สิงคโปร์ ส่งออกโตขึ้น 9.92% ขณะที่ประเทศไทยการส่งออกเข้าไปในกลุ่มประเทศ CPTPP โตเพียง 3.23%

“... จะเห็นว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะเสียไปนั้นสูง และหากรอให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วมเข้าไปก่อน การเจรจาอาจจะยากขึ้นได้” นางอรมน ให้เหตุผล

สำหรับประเด็นอ่อนไหว เช่น เรื่องการเข้าถึงสิทธิบัตรยา นางอรมน บอกว่า ประเด็นนี้ถูกถอดออกจากข้อตกลงหลังจากสหรัฐฯได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก TPP ตั้งแต่ปี 2560 และประเทศสมาชิกก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ส่วนข้อกังวลการคุ้มครองพันธุ์พืช ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเกษตรกร สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใช้ในการเพาะปลูกได้ แต่หากจะทำการค้าจำเป็นจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์

ขณะที่เสียงหนุนไม่เอา CPTPP ที่ถือเป็น “บิ๊กเนม” ในสังคมในแวดวงต่างๆ ก็ล้นหลาม เช่น “อาจารย์ยักษ์” นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ก็ชูธง “กสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศร่วมคัดค้าน” พร้อมแชร์ โปสเตอร์เผยแพร่ของไบโอไทย ที่มีข้อความว่า “เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ ไม่ใช่อาชญากรรม หยุด UPOV1991” และ “คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP เพื่อประโยชน์บรรษัท ทำลายความมั่นคงทางอาหาร”

นอกจากนั้น ยังมี นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเวลานี้สวมหมวกประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อัดคลิปเผยแพร่เตือนภัยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจฯ ว่าภาคเกษตรจะได้รับผลกระทบ และเรียกร้องให้เกษตรกรส่งเสียงถึงรัฐบาลเพราะถ้านิ่งเฉยอาชีพเกษตรล่มสลายแน่

ขณะที่ฟากฝั่งสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาคัดง้างกับกระทรวงพาณิชย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ คุมอยู่ แบบเข้มๆ ตามรายงานข่าวว่า “ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้...” และนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ต่อครม. ในประเด็นที่ห่วงกังวลถึงผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์

เช่นเดียวกับ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทนไม่ไหว ลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวอย่างรุนแรงว่า การเข้าร่วม CPTPP จะสร้างผลเสียหายร้ายแรงทั้งด้านความมั่นคงด้านอาหาร กระทบต่อภาคเกษตร และเรื่องยา ขอให้ประชาชนคนไทยจดจำชื่อนักการเมืองที่ทำให้ประเทศชาติวิบัติในคราวนี้ไว้ด้วย

ส่วน รศ.ดร.สรพงค์ เบญจศรี นักปรับปรุงพันธุ์พืช สาขาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ อธิบายขยายความเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกษตรกรไทยต้องเผชิญต่อความเสี่ยงที่เพิ่มต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้น จากอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ “UPOV 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants)” โดยข้อกำหนดเบื้องต้นของ UPOV 1991 คือ ให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช (บริษัทเมล็ดพันธุ์) หรือ Plant Breeder’s Right และเกษตรกรมีสิทธิในการผลิต ขาย จ่าย แจก เมล็ดพันธุ์ (หรือส่วนขยายพันธุ์) แต่หลังจากนั้น จะจํากัดสิทธิดังกล่าวให้เหลือน้อยลงเป็นลำดับ และท้ายที่สุดคือ ห้ามเกษตรกรในประเทศสมาชิก UPOV 1991 เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ (seed preservation) เพื่อปลูกต่อในรุ่นถัดไป ซึ่งจะส่งผลแต่เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์พืชได้ยากขึ้นกว่าปัจจุบัน ภายใต้ข้อจํากัดของสิทธิเกษตรและการขยายสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์พืชที่ผลิตใหม่มีราคาแพงขึ้นประมาณ 3-4 เท่า

“ลองคิดดูนะครับ ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่เกษตรกรเก็บและปลูกเอง เมล็ดพันธุ์โอพี (Open pollination) ราคากิโลกรัมละ 30-50 บาท เมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 (F1 hybrids) กิโลกรัมละ 700-800 บาท แล้วหากเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรอีก 3-4 เท่าตัว โดยเป็นเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท และผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องซื้อข้าวโพดต้มตามตลาดเปิดท้ายกินกันจากราคาฝักละ 10-15 บาท เป็นฝักละ 40-50 บาท มันแพงไปไหม? นี่แค่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานนะครับ”รศ.ดร.สรพงค์ยกตัวอย่างให้เห็น

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เรื่อง CPTPP โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเมล็ดพันธุ์นั้น ไม่ปรากฏความคิดเห็นจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยเฉพาะ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เล่นบทเตมีย์ใบ้มาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี เมื่อเจอกระแสรุมถล่มในที่สุดนายจุรินทร์ ต้องใส่เกียร์ถอย (ชั่วคราว) รอนักการเมืองใจถึงคนใหม่ มาเริ่มเกมเขี่ยลูกอีกครั้ง ไม่แตกต่างไปจากเรื่องสารพิษเกษตร ที่ชักเย่อกันไปมา ศึกนี้ยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพนักรบผู้กล้าทั้งสองฝั่ง

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ ก่อนที่จะเจรจาใดๆ สมควรที่จะต้องอธิบายขยายความให้ “ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย” เข้าใจอย่างถ่องแท้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย เพราะนี่เป็นเรื่องที่กระทบกับชีวิตของทุกคนในประเทศโดยตรง.

กำลังโหลดความคิดเห็น