xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งามหน้า“แมสก์หาย-ไข่แพง” Lock Down “ก.พาณิชย์” “ลุงตู่”ส่ง“เสือป๊อก”กำราบ “พรรคแมลงสาบ”กู่ไม่กลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านพ้นไป 1 สัปดาห์เต็ม

การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ทั่วประเทศ ภายใต้การบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โรคโควิด-19” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 30 เม.ย. หรือราว 1 เดือนเศษ

ที่ถือเป็นเพียงเฟสแรกยังไม่มีผลในแง่การลดลงของผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างมี “นัยสำคัญ” เพราะตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศยัง “ทรงๆ ทรุดๆ” มีปริมาณเพิ่มขึ้น “หลักร้อย” แทบทุกวัน

แต่คงพูดไม่ผิดว่า ในแง่การบริหารงานของรัฐบาล “ดูดีขึ้น” หลังการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศไว้ด้วยตัวเองว่า จะโดยการบัญชาการจัดการกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว

น่าสนใจว่า “รัฐบาลประยุทธ์” เลือกที่จะงดเว้นการใช้ มาตรา 6 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ว่าด้วยการ ตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ระบุว่าให้ “รองนายกฯซึ่งนายกฯมอบหมายเป็นประธานกรรมการ” ต่างจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา

เมื่อผู้นำประเทศเลือกที่จะ “รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ก็จำเป็นต้องขจัด “ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้” ที่สร้างปัญหาออกไปให้มากที่สุด

ทั้งการตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบค.” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบหมายให้ข้าราชการประจำระดับ “ปลัดกระทรวง” เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบภารกิจแต่ละด้านๆ ขึ้นตรงกับนายกฯ ที่เป็นประธานศูนย์ฯ แทนที่จะแต่งตั้งให้ “รัฐมนตรีว่าการ” แต่ละกระทรวงเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น

ไม่เท่านั้นยังออกคำสั่งโอนอำนาจตามกฎหมายกว่า 40 ฉบับ ของ “รัฐมนตรี” ให้เป็นอำนาจ “นายกฯ” ที่สั่งการแทนได้โดยตรงเป็นการชั่วคราว

ในแง่การแก้ไขวิกฤตเฉพาะหน้า ก็มองได้ว่าเป็นการลดบทบาท “ฝ่ายการเมือง” ลง เพื่อแก้ปัญหา “รัฐบาลผสม” ที่ชิงดีชิงเด่น-ต่างคนต่างทำ หรือมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง จนเกิดความไม่ชอบมาพากลเหมือนอย่างที่ผ่านมา

ก่อนการประกาศตั้ง ศบค.อย่างเป็นทางการ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย พยายามออกมา “ดักคอ” ชี้แจงถึงข้อสังเกตการมอบหมายให้ปลัดกระทรวงต่างๆเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆ แทนที่จะเป็นรัฐมนตรี

โดยระบุว่าในกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องเป็น “ข้าราชการประจำ” เท่านั้น หากแต่ถ้อยคำที่กำหนดในกฎหมายนั้น ระบุว่า “ในกรณีที่” มีการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน จะมีต้องมีตำแหน่ง “ซี” ที่ไม่ต่ำกว่าระดับอธิบดีหรือเทียบเท่า มากกว่าการบังคับให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบต้องเป็นข้าราชการประจำ

เฉกเช่นเดียวกับคำสั่งโอนอำนาจตามกฎหมายกว่า 40 ฉบับ ของ “รัฐมนตรี” ให้เป็นอำนาจ “นายกฯ” ที่สั่งการแทนได้โดยตรงเป็นการชั่วคราว ที่ว่ากันว่าเป็นไปเพื่อควาคล่องตัวในการสั่งการนั้น ก็ฟังดูไม่น่าคล้อยตามมากนัก

เพราะนายกฯในฐานะผู้นำสูงสุดของรัฐบาล มีอำนาจเต็มในการสั่งการทุกส่วนของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการถ่ายโอนอำนาจเป็นการชั่วคราวอย่างที่ประกาศออกมาแต่อย่างใด

การเทคแอ็กชันของ “บิ๊กตู่” จึงไม่ต่างจากการ “รัฐประหารเงียบ” ที่ต้องการเขี่ย “นักเลือกตั้ง” ออกจากวงจรการแก้ไขวิกฤตโควิด-19

โดยเฉพาะกระทรวงเจ้าปัญหาอย่าง “พาณิชย์-สาธารณสุข” ที่เรียกว่าถูก “ยึดอำนาจ” ไปแทบจะเบ็ดเสร็จ

** “หมอหนู” ขอหลบให้ “หมอมืออาชีพ”
ย้อนกลับไปก่อนที่วิกฤตการณ์ “โควิด-19” จะลุกลามบานปลาย รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขถูกติติงค่อนข้างมากว่า ไร้ประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากประเมินสถานการณ์ “ต่ำ” กว่าที่ควรจะเป็น

จนปลายเดือน ม.ค.63 “นายกฯตู่” เริ่มเข้ามาแอ็กชันด้วยตัวเอง โดยการตั้ง คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มอบหมาย “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีองค์ประกอบคณะกรรมการทั้งภาคราชการจากทุกกระทรวง และสำคัญที่สุดของ “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เริ่มถูกชักชวนเข้ามาช่วยงาน

แต่ก็เป็นที่สังเกตว่าการประชุมหลายครั้ง “บิ๊กตู่” เข้าร่วมและเป็นประธานในที่ประชุมด้วยตัวเอง

กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญ จากกลุ่มผู้ติดเชื้อจาก “สนามมวย-สถานบันเทิง” ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

เป็นเหตุให้ “นายกฯตู่” ต้อง “กระชับอำนาจ” โดยการออกคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คราวนี้นั่งเป็นหัวโต๊ะเอง

โดยคณะกรรมการชุดหลังนี้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกอบกู้สถานการณ์มากขึ้น

ช่วงกลางเดือน มี.ค.63 มีการเผยแพร่ภาพการหารือระหว่าง “บิ๊กตู่” กับกลุ่ม “อาจารย์หมอ” ที่ถือเป็นระดับ “ปรมาจารย์” ของประเทศ เพื่อขอคำปรึกษาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นภาพที่ถูกแชร์ต่อๆกันว่า “นายกฯมาถูกทางแล้ว”

สำหรับ “อาจารย์หมอ” ที่ปรากฏในภาพและถูกกล่าวถึง ประกอบด้วย “ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร” อดีตอธิการบดี ม.มหิดล และอดีต รมว.สาธารณสุข, “ศ.นพ.อุดม คชินทร” อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ อดีต รมช.ศึกษาธิการ, “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์, “ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี” อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ และนายกแพทยสมาคม และ “ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์” นายกแพทยสภา

อันเป็นที่มาของ “มาตรการสำคัญ” หลายเรื่องของรัฐบาล ที่ถูกนำเข้าสู่การประชุมและการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันถัดไป โดยเฉพาะความเด็ดขาดในการประกาศไม่ให้เทศกาลสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ เพื่อหยุดการแพร่ระบาด ผ่านการเดินทางและเคลื่อนย้ายของคน รวมทั้งการปิดสถาบันการศึกษา, สนามมวย, สถานบันเทิง, สถานบริการ, นวดแผนโบราณ, โรงมหรสพ, โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 14 วัน

ซึ่งว่าดันว่าเป็นการผลักดันของ “หมอยง” ร่วมกับอาจารย์หมอท่านอื่นๆ ที่จุดพลุเรื่องนี้มาแต่ตั้งต้น ร่วมกับการรณรงค์ Social Distancing ตั้งแต่ยังไม่มีใครเอ่ยถึงในประเทศไทย

ขณะที่อีกไม่กี่วันต่อมา ก็ได้ประกาศแต่งตั้ง “หมอปิยะสกล-หมออุดม” เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่เพิ่มเติมด้วย

ก่อนที่ “บิ๊กตู่” จะบุกไปร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา วันนั้นนอกเหนือจาก “หมอปิยะสกล-หมออุดม-หมอยง” แล้ว ยังมี “นักรบเสื้อกาวน์” ที่มาร่วมประชุมและเสนอแนวคิดอีกหลายต่อหลายคน

มีการขนานนามว่าเป็น “ทีมอเวนเจอร์หมอไทย” ที่มาช่วยรัฐบาลสู้ศึกโควิด-19 มาจนถึงตอนนี้

ในขณะที่ “หมอมืออาชีพ” ถูกดึงเข้ามามีบทบาทช่วยงานรัฐบาลมากขึ้น กลับกัน “เจ้ากระทรวงหมอ” อย่าง “เสี่ยหนู” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ประสบกับวิกฤตส่วนตัว ที่ยอมรับด้วยตัวเองว่า “ปากพาจน” ระยะหลังต้องสวมบท “กลัวดอกพิกุลร่วง” แทนการเปิดหน้าให้สัมภาษณ์อย่างเคย

“หมอหนู” ก็เลยเลือกเฟดตัวไปทำงานเป็นแบ็คอัพอยู่เบื้องหลัง “ทีมอเวนเจอร์หมอไทย” แทน

 Lock Down กระทรวงพาณิชย์
ที่อาการหนักกว่าน่าจะเป็น “อาณาจักรสนามบินน้ำ” กระทรวงพาณิชย์ โควตาของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ ที่ดูจะ “โฉ่งฉ่าง” เดินหมากพลาดจนทำท่าจะกู่ไม่กลับ

และไม่ใช่แค่ “เสียรังวัด” ถูกยึดอำนาจเพียงอย่างเดียว พิษจากวิกฤต “หน้ากากอนามัย” ขาดแคลน “ไข่ไก่” ราคาแพง ยังอาจย้อนศรมาเล่นงานถึง “บิ๊กกระทรวงพาณิชย์” อีกด้วย

กรณีของ “พาณิชย์” ไม่เพียงถูกมองว่าทำงานไร้ประสิทธิภาพในการดูแลสินค้าที่จำเป็นในยามวิกฤต และยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า “คนค่ายสีฟ้า” เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุน และจำหน่ายสินค้าราคาแพง ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่ผู้คนแตกตื่นไปซื้อกักตุน ท่ามกลางกระแสข่าวจะปิดประเทศ-ปิดจังหวัด

โดยเฉพาะ “หน้ากากอนามัย” หรือ “แมสก์” ที่ดรามายังไม่สร่างซา คนข้างตัวรัฐมนตรีอย่าง “เจ๊ติ่ง” มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ก็มีชื่อถูกดึงเข้าไปเอี่ยวด้วย กระทั่ง “เพื่อนร่วมพรรค” จะออกมาต่อว่าสาดเสียเทเสีย

ประเด็นหน้ากากอนามัยขาดแคลน และราคาแพงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเริ่มเข้าปีใหม่เป็นต้นมา กว่าที่กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะออกประกาศห้ามกักตุน และห้ามส่งออก ก็ผ่านไปร่วมเดือน

น่าสนใจด้วยว่าก่อนจะมีการประกาศควบคุมหน้ากากอย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.นั้น ยอดส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศสูงขึ้นผิดปกติ จากช่วงเดือน ม.ค.63 ทั้งเดือนส่งออกที่ “158 ตัน” แต่ช่วงระหว่างวันที่ 1-4 ก.พ. ก่อนมีการประกาศควบคุมในวันที่ 4 ก.พ. มีปริมาณส่งออกหน้ากากอนามัยถึง “135 ตัน” เกือบเท่าทั้งเดือน ม.ค.

จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ โดย กกร.ก็ยังประกาศยึดโควตาหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศมาบริหารจัดการเองทั้งหมด

และย้อนไปอีกนิดช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน กำลังวิกฤต “จุรินทร์” ก็โผล่ไปตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี พร้อมแถลงข่าวระบุชัดเจนว่า ยังมีหน้ากากอนามัยอยู่ในสต๊อกอีกประมาณ 200 ล้านชิ้น มีเพียงพอใช้ไปได้อีก 4-5 เดือนสบายๆ

คล้อยหลังจากที่ “หัวหน้าจุรินทร์” แถลงได้แค่วันสองวัน หน้ากากอนามัยก็เริ่มหายไปจากท้องตลาด ก่อนที่ไม่กี่วันต่อมาจะมีการประกาศควบคุม

เวลาผ่านไปร่วม 2 เดือน เพิ่งมีเฉลยว่า “หน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น” ที่เคยคุยโวไว้หายไปไหน โดย บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ที่ “รมว.จุรินทร์” เคยบอกไว้นั้นเป็นยอด “วัตถุดิบ” สำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้นไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ผลิตสำเร็จแล้ว

การทำงานที่คลุมเครือของกระทรวงพาณิชย์ ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องควานหาซื้อหน้ากากอนามัยกันตกชิ้นละเกือบ 20 บาท ทั้งที่ราคาควบคุมของรัฐบาลอยู่ที่ 2.50 บาทต่อชิ้นเท่านั้น

ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่ไว้วางใจ “กระทรวงพาณิย์” มากขึ้นเรื่อยๆ

จน “นายกฯตู่” จำเป็นต้องสั่งเชือด วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (ในขณะนั้น) ให้มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีการตรวจสอบเรื่องการกักตุนและจำหน่ายหน้ากากอนามัยแล้วเสร็จ ซึ่งเจ้าตัวชิงที่จะลาออกจากราชการไปแล้ว

อีกทั้งตลอด 2 เดือนที่ “พาณิชย์” บริหารสต๊อกหน้ากากอนามัยทั้งประเทศ จากที่เคยผลิตได้ 1.2-1.3 ล้านชิ้นต่อวัน มาเป็น 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน การบริหารจัดการก็ยังไม่ดีขึ้น หน้ากากอนามัยขาดแคลน ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ ไปยันประชาชนตาดำๆ

ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นที่ “อาณาจักรสนามบินน้ำ” จึงเป็นเหตุผลที่ภารกิจแรกๆของ ศบค.คือการรื้อระบบการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่ “พาณิชย์” เคยเป็นคนคุม “หน้าเสื่อ” ทั้งหมด

โดยในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6 /2563 เมื่อวันที่ 27 มี.ค.63 ได้สั่งการจัดโครงสร้างภายใน ศบค.มีสำนักงานและศูนย์ต่างๆร่วม 10 ศูนย์ด้วยกัน

โดยที่ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” รับภาระหนักกว่าเพื่อน เมื่อต้องเป็นหัวหน้าศุนย์ 2 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์ สำหรับประชาชน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า “ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์” ควรจะอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ตามเนื้องานปกติหรือไม่ เหมือนอย่างศูนย์อื่นๆ อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 ก็มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าศูนย์ หรือศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าศูนย์ ขณะที่ ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็เป็นหัวหน้าศูนย์

นอกเหนือจากนี้ ศบค.ยังจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด กระจายหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด คือ 1.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยแห่งชาติ 2.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ระดับประเทศ และ 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการส่งออกหน้ากากอนามัย

ทว่าการชี้แจงแถลงหลักเกณฑ์การกระจายหน้ากากอนามัย กลับเป็น “รองฯวิษณุ” ที่ดูงานด้านกฎหมายมาแถลงแทนที่จะเป็น “รองฯจุรินทร์” ที่รับผิดชอบงานด้านพาณิชย์

สถานการณ์จึงแตกต่างจากการยึดอำนาจที่ “กระทรวงสาธารณสุข” อย่างเห็นได้ชัด ที่แม้รัฐมนตรีจะลดบทบาทลง แต่ก็ยังให้ “หมอ” เป็นคนจัดการแทน

แต่ที่ “กระทรวงพาณิชย์” ถูกยึดอำนาจคืน แต่เกลี่ยงานให้ “รัฐมนตรีคนอื่น” มารับผิดชอบแทน “เจ้ากระทรวง”

เท่ากับปิดตาย Lock Down กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อย ผ่านวิกฤตโควิด-19 คงไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 ส่ง “เสือป๊อก” ลุยดงแมลงสาบ
ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจงโดย “วิษณุ” หรือการโยกหน้าเสื่อหน้ากากอนามัยมาอยู่ในกำกับของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การบริหารของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

สำคัญที่ไม่ใช่แค่การบริหารจัดการกระจายหน้ากากเท่านั้น ยัง “ยื่นดาบ” ให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลภายใต้การบริหารของกระทรวงพาณิชย์ด้วย

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 31 มี.ค.63 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2497 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่

มอบหมาย “รมว.มหาดไทย” เป็นประธาน

ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อธิบดีกรมสรรพากร, อธิบดีกรมศุลกากร, อธิบดีกรมการค้าภายใน, อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ

ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยก็ได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 เพื่อให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นไปอย่างสมบูรณ์

“เมื่อ พ.ร.ก.กำหนดท้องที่เขตสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปรามการกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจน การกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน” คือคำประกาศของ “บิ๊กป๊อก” ผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมหาดไทย

งานนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียว ยังให้อำนาจรวมไปถึงเครื่องอุปโภค-บริโภค และเวชภัณฑ์ต่างๆด้วย

ขบวนกักตุนสินค้าได้ขวัญผวากันบ้าง หลังจากกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ “จุรินทร์” หลับหูหลับตาจนระบาดยิ่งกว่าไวรัส

กระทั่ง “ไข่ไก่” ที่จู่ๆก็มีกระแสข่าวว่า “ขาดตลาด” ทำเอาประชาชนแห่กันไปซื้อเก็บไว้ จนราคาไข่ไก่พุ่งกระฉูด ทำเอาหลายคนแปลกใจเพราะ “ไข่” ไม่น่าจะเป็นสินค้าขาดตลาดได้ เนื่องจากมีแม่ไก่ออกไข่ทุกวัน มีผลผลิตไม่ขาด

“จุรินทร์” เองก็เด้งดึ๋งเซ็นฉับหน้าส่งออกไข่ไก่ 1 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ แต่เซ็นได้วันเดียว ก็มีภาพไข่ไก่ไทยไปโผล่ที่ประเทศสิงคโปร์กว่า 3 แสนฟอง “เดจาวู” คล้ายตอนหน้ากากอนามัย ที่เซ็นหน้าส่งออก แต่ไปโผล่ที่คอนเทนเนอร์กรมศุลกากรเป็นล้านต้น

การแต่งตั้ง “บิ๊กป๊อก” และใช้กลไกกระทรวงมหาดไทย ทำงานแทนกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นเรื่องที่วางตาไม่ได้

ต้องไม่ลืมว่าสถานะในรัฐบาลนั้น “จุรินทร์” ในฐานะรองนายกฯควบ รมว.พาณิชย์ ถือเป็น “รองหัวหน้ารัฐบาล” นั้นมีศักดิ์และสิทธิ์เหนือกกว่า “บิ๊กป๊อก” ที่เป็นเพียง รมว.มหาดไทย ตำแหน่ง

แต่ในสถานะทางการเมืองแล้ว “พี่ป๊อก” ใจถึงใจกับ “น้องตู่” หัวหน้ารัฐบาลขนาดไหน

และต้องไม่มองข้ามสัญญาณแปร่งๆ จาก “รองฯวิษณุ” ในระหว่างการแถลงรายละเอียดการกระจายหน้ากากอนามัยอีกด้วย เมื่อมีการถามถึงสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น ที่ “จุรินทร์” เคยพูดถึง

จอมยุทธ์อย่าง “วิษณุ” ตอบให้คิดต่อว่า “ของเก่าไม่ต้องพูดถึง ว่ากันใหม่ตั้งแต่วันนี้”

น่าติดตามเหลือเกินสำหรับรายการรื้อ “ของเก่า” เพราะข่าวว่า ข้อมูลขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ส่งตรงถือ “ตึกไทยฯ” ไม่หวาดไม่หวั่นในช่วงที่ผ่านมา

งานนี้ “น้องตู่” ถึงกับต้องส่งมือดีอย่าง “เสือป๊อก-อนุพงษ์” ลงมาลุย “ดงแมลงสาบ” เลยทีเดียว.

กำลังโหลดความคิดเห็น