xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

20 ล้านคน : เราไม่ทิ้งกัน(แน่นะ)?? “ลุงตู่” เอาให้อยู่ สู้มหาศึกสงครามโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในโหมดเลวร้ายสุดๆ ทั้งคนป่วยที่มีอัตราการติดเชื้อ ตาย และเฝ้าระวังทั้งโลกพุ่งสูงไม่หยุด ทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ปากท้องค่าครองชีพ กล่าวจำเพาะประเทศไทย ดูง่ายๆ จากการเปิดลงทะเบียนเยียวยา 5 พัน 3 เดือน ที่รัฐบาลกะให้แค่ 3 ล้านคน แต่เพียง 3 วัน แห่กันมาเกิน 20 ล้านคน เป็นภาพสะท้อนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าจริงๆ แม้ส่วนหนึ่งจะมีพวกแฝงเผื่อฟลุ๊คได้กะเขามั่งก็ตาม 

ขณะที่สงครามต่อสู้กับไวรัสฯ ยังไม่จบ ศพตายเกลื่อน ธุรกิจพังพินาศ คนตกงาน อดยากยากจนทั่วทุกภูมิภาค ล่าสุด ทางธนาคารโลก ส่งเสียงเตือนให้ทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิก รีบดำเนินมาตรการตั้งรับอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยรายงาน “East Asia and Pacific in the Time of COVID-19” ของธนาคารโลกชี้ว่า กรณีที่สถานการณ์เลวร้ายสุดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อาจชะลอตัวลงถึง -0.5%

แต่หากสถานการณ์รุนแรงปานกลาง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2020 อาจชะลอตัวอยู่ที่ 2.1% ซึ่งทุกประเทศต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบอันใหญ่หลวงนี้ทั้งสิ้น แต่จะเลวร้ายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเปราะบางของแต่ละอุตสาหกรรม ตามที่เวิลด์แบงก์คาดว่าจะเจอหนักสุด เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไทยและกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก กลุ่มภาคการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น

กล่าวสำหรับประเทศไทย เวิลด์แบงก์ฉายภาพทั้งก่อนและหลังการระบาดของไวรัสฯ ว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทย อ่วมจากพิษสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ภัยแล้ง งบประมาณล่าช้า ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ฉุดให้จีดีพีในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมาย

เมื่อมาเจอกับไวรัสโควิด-19 ระบาดนับตั้งแต่ต้นปีจนบัดนี้ สร้างผลสะเทือนต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบ 16% ของจีดีพี โดยเดือนกุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวลดลง 45% และมีนาคม ลดลง 67% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนต่ำสุดในรอบ 5 ปี และยังเผชิญกับภาวะผันผวนของตลาดหุ้นอย่างหนัก

นอกจากนักท่องเที่ยวลดลง การบริโภคของภาคครัวเรือนที่ลดลงจะกระทบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก และห่วงโซ่อุปทานสำคัญของไทย เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเวลานี้ก็เห็นแล้วว่าค่ายรถยนต์หลายแห่งต่างลดกำลังการผลิต ปลดคนงาน เหล่านี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการส่งออกของไทยทั้งสิ้น ยังไม่นับรวมภาคการเกษตรที่พืชผลทางการเกษตรยกเว้นข้าวต่างมีราคาลดลง

รายงานของเวิลด์แบงก์ ไปในทิศทางเดียวกันกับแบงก์ชาติ ที่แถลงเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา โดยแบงก์ชาติชี้ว่าภาคท่องเที่ยวและโรงแรมกระทบหนักสุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังจะหดตัวมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวหดตัวสูงถึงร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ การส่งออกและนำเข้าได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองของจีน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงการผลิตและการลงทุนในภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เป็นไปดังว่าตามตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ที่แบงก์ชาติคาดจีดีพีติดลบ -5.3%

ผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยนั้น เห็นชัดจากการการปิดกิจการโรงแรมชั่วคราว และธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องนับตั้งแต่หัวเมืองภาคเหนือจรดใต้ จากอีสาน ตะวันออก ตะวันตก และเมืองหลวง ต่างอยู่ในสภาพเงียบเหงาซบเซา นักท่องเที่ยวเข้าพักมีอัตราแทบเป็นศูนย์ ความวังเวงริมหาดทรายในจังหวัดท่องเที่ยวเลื่องชื่ออย่างภูเก็ต ที่ออกมาตรการปิดเมืองเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นยกเว้นเหตุการณ์สึนามิที่หาดป่าตองเงียบเหงาราวป่าช้าในช่วงเวลานั้น

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมการท่องเทียวและเกี่ยวข้องวิกฤตต่อเนื่อง ยังสะท้อนผ่านการดำเนินธุรกิจของสายการบินทั่วโลกที่แห่เลย์ออฟพนักงาน ยกเลิกการบินทั้งภายในและระหว่างประเทศ ล่าสุด สายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ แถลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม จะลดพนักงานประมาณ 30%, แอร์แคนาดา จะลดพนักงานประมาณ 15,000 คน, ลุฟต์ฮันซ่าของเยอรมัน ลดชั่วโมงทำงานของพนักงาน 27,000 คน, อีซีเจ็ท โลว์คอร์สของอังกฤษ ปลดพนักงานบนเครื่อง 4 พันคน ส่วนอเมริกันแอร์ไลน์ ทำแผนขอเงินช่วยเหลือ 4 แสนล้านจากรัฐบาลพยุงฐานะให้รอดพ้นวิกฤต

 สำหรับสายการบินของไทยอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่าง บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS คาดผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ของหุ้นกลุ่มการบิน ประกอบด้วย บมจ.การบินไทย (THAI) ,บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ขาดทุนรวมประมาณ 1.51 หมื่นล้านบาท จากผลกระทบไวรัสฯ ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 40-50% และสายการบินลดจำนวนเที่ยวบินจนกระทั่งหยุดบิน โดยไตรมาสสอง จะหนักกว่านี้เพราะนักท่องเที่ยวหายเกือบหมด คาดจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังโดยคาดทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน ลดลง 62% จากปีก่อน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 11 ปี 

 โนมูระฯ ประเมินว่า ปีนี้ กลุ่มสายการบินปี 2563 จะมีผลขาดทุนรวม 66,663 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุนรวม 12,166 ล้านบาท ประกอบด้วย THAI ขาดทุน 59,162 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 12,042 ล้านบาท เพราะคาดผู้โดยสายลดลง 58% ขณะ BA คาดขาดทุน 3,032 ล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 351 ล้านบาท ประเมินผู้โดยสารลดลง 43% AAV ขาดทุน 4,469 ล้านบาท จากปีก่อนขาดทุน 474 ล้านบาท ประเมินผู้โดยสารลดลง 48% 

เหตุที่โนมูระฯ ประเมินว่า AAV และ BA ได้รับผลกระทบโควิด-19 น้อยกว่า เนื่องจากมีสัดส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศน้อยกว่าเพียง 40% และ 30% ขณะที่ THAI มีสัดส่วนเส้นทางการบินต่างประเทศ 90% และบริษัทคาดว่า BA จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า AAV เนื่องจากจำนวนเครื่องบินในฝูงบินน้อยกว่า
กล่าวสำหรับการบินไทย จะรอดไหม จะไปต่อได้อย่างไร นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บอกชัดว่า ยังไงรัฐบาลก็ต้องอุ้มภายใต้เงื่อนไขการบินไทยต้องปฏิรูปองค์กร โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้การบินไทยเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในจังหวะเวลานี้การเจรจาเรื่องลดเงินเดือนพนักงานการบินไทย ที่มีอยู่ราว 20,000 คน ซึ่งปีหนึ่งๆ มีค่าจ้างนับพันล้านบาท เพื่อให้องค์กรรอดพ้นวิกฤตเฉพาะหน้านี้ไปก่อน ทางสหภาพฯ กับฝ่ายบริหารยังตกลงกันไม่ได้

ส่วนการส่งออกที่ว่าติดลบรุนแรงระดับไหน นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ภาพรวมว่า ส่งออกไทยในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 228,816 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อน 7.1% หรือลดลง 17,429 ล้านดอลลาร์ (557,728 ล้านบาท) ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดรอบ 10 ปี

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เทน้ำหนักไปที่ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงถึง 80% จะมีผลต่อการส่งออกในปีนี้ติดลบ 5.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 13,480 ล้านดอลลาร์ (431,360 ล้านบาท)

นอกจากนั้น เป็นผลกระทบจาการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สงครามการค้าสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้า โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนจะเสียหายรุนแรงมากสุดโดยลดลงประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงไปคือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ ส่วนเหตุที่ส่งออกไปยังอาเซียนลดลงมากสุดเพราะมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้การส่งออกชายแดนสะดุด ส่วนฮ่องกงเศรษฐกิจกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสฯ และจีนใช้เวลารับสินค้าจากท่าเรือนานกว่าปกติสองเท่า

 สถานการณ์ในภาพใหญ่ยังเลวร้ายสุดคาดเดา ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงถึงก้นเหวเมื่อไหร่ เฉพาะหน้ารัฐบาล “ลุงตู่” จึงต้องออกมาตรการเยียวยากันให้ถึงที่สุดเพื่อที่ว่าจะได้รอดพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม เห็นชัดว่าทุ่มกันหมดหน้าตัก โดยเงินก้อนใหญ่เทไปที่มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” โดย ครม.ทบทวนมติใหม่ให้เพิ่มจำนวนผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ จากเดิม 3 ล้านคน เป็น จำนวน 9 ล้านคน 


เป็นการเขย่าตัวเลขกันใหม่ เมื่อดูจากผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านไปแค่ 3 วัน ลงกันจนเว็บล่ม ปาเข้าไปมากกว่า 20 ล้านคน นี่ต้องกรองออกไปมากกว่าครึ่งหนึ่งกันเลยทีเดียว

สำหรับการชดเชยภายใต้มาตรการดังกล่าว ในเดือนแรกคือเมษายนนี้ จะนำงบฉุกเฉิน ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท มาใช้ก่อน โดยเงินงวดแรกนี้ เมื่อเช็กสิทธิ์ผ่านแล้วเงินจะเข้าบัญชีภายใน 7 วัน

ส่วนเดือนต่อๆ ไปรัฐบาลกำลังหาแหล่งเงินอยู่ว่าจะมาจากไหน ซึ่งอาจจะออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกันนอกรอบกับ “รองฯสมคิด” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ “ขุนคลัง” นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งแบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้า

ทวนกันอีกครั้ง ใครมีสิทธิ์ได้และกลุ่มไหนจะกินแห้ว ในจำนวนผู้ที่ลงทะเบียน ซึ่งตามข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 21 ล้านราย สำหรับหลักเกณฑ์ ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท คือเป็นลูกจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ, ไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม ไม่ได้เป็นข้าราชการ หรือเกษตรกร และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใครได้รับผลกระทบจริงหรือประกอบอาชีพอิสระจริง จะดูจากข้อมูลที่ลงทะเบียนที่ต้องตอบคำถาม เช่น ถ้าเป็นวินมอเตอร์ไซด์ คนขับแท็กซี่ ต้องใส่ข้อมูลใบขับขี่สาธารณะเลขที่เท่าไหร่ ระบบจะตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบกว่า ใช่เป็นคนขับรถสาธารณะจริงหรือไม่ หรือถ้ารับจ้างอิสระ ก็ต้องตอบคำถามข้อมูลนายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง ทำงานให้ใคร ที่ไหน ทำอะไร หากค้าขายต้องตอบร้านอยู่ที่ไหน ตลาดที่ขายชื่ออะไร เป็นต้น

ส่วนกลุ่มไหนที่ไม่เข้าเกณฑ์ เตรียมทำใจไว้ได้เลยก็คือ ลูกจ้างหรือแรงงานที่ได้รับเงินเดือนครบที่ยังทำงานเหมือนเดิมหรือทำงานจากบ้าน และคนที่ตกงานมานานแล้วเป็นปี หรือตกงานมานานกว่านั้น และกลุ่มที่เป็นลูกจ้างอิสระ ทำงานในร้านค้าที่ปิดกิจการก่อนการระบาดของโควิด 19

สำหรับกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่ามีการประกันการว่างงานที่รับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนงวดสุดท้าย ไม่เกิน 180 วัน และมีการปรับใหม่ถ้าหากครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับไม่ถึง 5,000 บาท ก็ปรับให้ได้รับ 5,000 บาท เท่ากับกลุ่มอาชีพอิสระ

 มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” เหมือนจะพยายามช่วยเยียวยาลูกจ้างให้ได้มากที่สุด แต่เชื่อเถอะว่ามีลูกจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยง “ถูกทิ้ง” ไว้ข้างหลัง เช่น หาบเร่ รถเข็น หรือแผงลอยที่ขายในจุดที่ไม่ใช่จุดผ่อนผัน ไม่มีหลักฐานมายืนยันแหล่งทำมาหากินได้ คือเป็นพวกค้าขายที่อยู่นอกระบบจริงๆ ถูกจับ ถูกไล่ ถ้าเอากฎระเบียบมาวัดก็ผิดตั้งแต่ต้น คนพวกนี้มีจำนวนไม่น้อย แต่เป็นพวกที่มีตัวตนอยู่จริง เดือดร้อนจริงเหมือนกัน 

สำหรับกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่ได้อยู่ในมาตรการช่วยเหลือคราวนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรออกมาเป็นระยะๆ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย ฯลฯ ก็ใช่ แต่เอาเข้าจริงชีวิตเกษตรกรประชาชนคนไทยส่วนใหญ่วนเวียนอยู่กับปัญหาต่างๆ เป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ลืมตาอ้าปากได้ยาก และผลสำรวจแหล่งรายได้ของครอบครัวเกษตรกรส่วนใหญ่ เป็นรายได้ที่มาจากนอกภาคเกษตร คือ ลูกหลานที่ไปทำมาหากินในเมืองแล้วส่งเงินทองมาจุนเจือครอบครัว เมื่อลูกหลานตกงานกลับมาบ้านก็ขาดแหล่งรายได้จุนเจือไปอีกทาง

อย่างที่เพจไบโอไทย ว่าไว้ ห้วงเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่โอกาสของเกษตรกรส่วนใหญ่ เพราะราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการผลิตนั้นมีราคาลดลง หนักสุดคือเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและยางพารา เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาลดลงมากถึง 24.6% ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันลดลง ส่งผลให้ทั้งอ้อยที่ปลูกเพื่อผลิตเอทานอลและข้าวโพดจำนวนหนึ่งมีราคาดิ่งเหว

ส่วนยางพารามีราคาลดลงมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ราคาขึ้นไปช่วงสั้นๆ ประมาณกลางปี จากนั้นก็ดำดิ่งมาตลอด เฉพาะช่วงเดือนมีนาคม ราคาลดลง 21.7% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ จนถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจถดถอยอันเกิดจากไวรัสระบาด

มีเพียงข้าวที่มีราคาขยับสูงขึ้น โดยในตลาดโลกราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 3% แต่ราคาในประเทศขยับสูงขึ้นมากกว่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ว่า ความแห้งแล้งร้ายแรงในรอบ 40 ปี จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังของไทยที่จะหายไปถึงครึ่งหนึ่ง และประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น เวียดนาม ชะลอการทำสัญญาการส่งออกข้าวรอบใหม่เพื่อสร้างหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด จะได้รับข่าวร้ายซ้อนข่าวร้ายนี้ เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้งจะทำให้ได้ผลผลิตน้อยไปกว่าเดิม ไม่รวมถึงชาวสวนผลไม้ซึ่งภัยแล้งได้ส่งผลกระทบแล้วในหลายจังหวัด

กล่าวโดยสรุป ประชาชนที่อยู่ในภาคการผลิตทั้งอุตสาหกรรม บริการ การท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส ในขณะที่เกษตรกรที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมก็หนักหนาไม่แพ้กัน

แต่มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” เฟสแรกนี้ขอทิ้งแรงงานกลุ่มเกษตรกร ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า มีอยู่ประมาณ 13.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34 ของกำลังแรงงานในระบบทั้งหมดนี้ไว้ก่อน แล้วค่อยไปว่าเอาตอนเยียวยาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งน่าจะมีหมุนวนมาเป็นประจำทุกปี หรือไม่งั้นก็รอมาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไป โปรดอดใจรอกัน

สำหรับมาตรการชุดที่ 3 และ 4 ที่จะตามมาในอีกไม่ช้านี้ “รองฯสมคิด” วางเป้าสร้างโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้มีการผลิต มีการจ้างงาน มีตลาด รองรับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยจะให้ ธ.ก.ส. และแบงก์ออมสิน เป็นแหล่งเงินทุนหลักและจะดึงเอกชน เช่น ปตท. เป็นพื้นที่กระจายสินค้า เป็นต้น

นอกจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” แล้ว กรมสรรพากร ยังลดภาระด้านภาษีให้กับผู้ประกอบการและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เหลือเงินในกระเป๋าสำหรับไว้ใช้สอย โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ประเมินว่า มาตรการยืดระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบ คือ รอบรายได้ปีที่แล้วให้ยืดไปสิ้นเดือนสิงหาคม และรอบรายได้ครึ่งปีนี้ยืดไปถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 จะช่วยให้ผู้ประกอบการนิติบุคคล มีสภาพคล่อง ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

ส่วนมาตรการลดวงเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% นับจากเดือนเมษายน - กันยายน 2563 และ จากกันยายน - ธันวาคม 2563 หักในอัตรา 2% จะช่วยให้มีสภาพคล่องราว 8.6 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยืดระยะเวลาการชำระภาษีออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ จะช่วยให้เหลือเงินในกระเป๋าราว 2 หมื่นล้านบาท และการขอรับคืนภาษีที่เร่งคืนให้เร็วขึ้น ซึ่งถึงตอนนี้กรมสรรพากร ได้คืนภาษีไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 87% ของยอดที่ขอคืนภาษีกว่า 3 หมื่นล้านบาท

เรียกได้ว่าออกมาตรการเยียวยากันอุตลุต หลังเป็นงงอยู่พักใหญ่ จากการออกประกาศปิดกิจการชั่วคราวเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ในเมืองหลวงและปริมณฑลจนคนตกงานกระทันหันแบบไม่ทันตั้งตัว

 แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องผนึกกำลังสู้ไปด้วยกันในสงครามต่อสู้โควิด-19 ต้องเอาให้อยู่ และ “เราจะไม่ทิ้งกัน” 


กำลังโหลดความคิดเห็น