ธปท. รอดูมาตรการรัฐบาลอีกรอบที่มีเงินอัดฉีด 4 แสนล้านบาท จะช่วยพยุงจีดีพีได้ 2-3 % ย้ำพิษ covid-19 กระทบเศรษฐกิจหนัก ไตรมาศ 2 ติดลบต่ำสุด ทั้งปี 63 ติดลบ 5.3 % นับรวมมาตรการ 5,000 บาท 3 เดือนแล้ว ส่วนเศรษฐกิจเดือน ก.พ.63 ติดลบ ท่องเที่ยวเริ่มหดตัวจากcovid ส่งออกรวมทองคำบวก 3.6 %นำเข้าติดลบ 7.8 %
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์มีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากCovid-19 มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเมินเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปี 63 ติดลบ 5.3 % ที่นับรวมมาตรการ 5,000 บาท 3 เดือนแล้ว คาดว่าในไตรมาศ 2 จะหดตัวติดลบต่ำสุด หลังจากนั้นจะค่อยปรับตัวดีขึ้น โดยธปท.กำลังติดตามมาตรการของรัฐบาลอย่างใกล้ชิต ที่จะอัดเงินช่วยลดแรงกดดันและหนุนเศรษฐกิจได้ 2-3 %
ส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของCOVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 42.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่หดตัวรุนแรง เนื่องจากทางการจีนประกาศใช้มาตรการปิดเมืองในหลายพื้นที่ และ ห้ามธุรกิจท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์เดินทางออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่ขยายวงกว้างขึ้นในประเทศจีน
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะลงต่ำสุดกว่าทุกไตรมาศ เพราะ COVID-19 รุนแรงมากขึ้นในเดือนมี.ค. กระทบต่อท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ทั้งนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาล่าสุดวันที่ 28 มี.ค. มีเพียง 623 คนเท่านั้น จาก 120,000 คนในเดือนม.ค. ยังไม่รวมกับการปิดตัวลงของโรงแรม ไม่ว่าจะปิดถาวร หรือ ปิดชั่วคราว หรือ ยอดจองห้องพัก ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียยังขยายตัวดี เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในประเทศยังไม่รุนแรงในเดือนกุมภาพันธ์ นักท่องเที่ยวจึงเดินทางท่องเที่ยวตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมากส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และ ธุรกิจขนส่ง
ส่วนเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 3.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 และ มาตรการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีนลดลงมาก ทั้งการบริโภคในประเทศ การผลิต และ การขนส่งสินค้า ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนหดตัวสูง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ผลไม้ ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ รวมทั้งการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับไปฮ่องกงที่คำสั่งซื้อลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขยายตัวได้ เนื่องจากได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 7.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้าทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของจีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตของจีนต่อการผลิตของไทย ส่วนหนึ่งเนื่องจากธุรกิจยังมีสินค้าคงคลังที่เป็นวัตถุดิบ และ ชิ้นส่วนเพียงพอสำหรับการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์
ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน เนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานเป็นหลัก
สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่มีการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ หดตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดบริการ หมวดโรงแรม ภัตตาคาร หมวดขนส่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวสูงขึ้นตามยอดขายรถยนต์ทุกประเภทสอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงทั้งในมิติด้านรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่น ขณะที่ภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง
ทางด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนจากจีนเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักร อุปกรณ์ หมวดก่อสร้างตัวอื่นๆ หดตัวในทุกองค์ประกอบสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่แย่ลงจากการระบาดของ COVID-19
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.74% ลดลงจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 0.58% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และ สถาบันรับฝากเงิน (ODCs) เป็นสำคัญ และ ด้านหนี้สินตามการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันรับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค