xs
xsm
sm
md
lg

SCB EIC คาด GDP ทั้งปีมีโอกาสโตกว่า 4% แนะจับตาค่าเงิน-มาตรการกีดกันการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


SCB EIC คาด GDP ทั้งปีมีโอกาสโตกว่า 4% หลัง Q1/61 สูงกว่าตลาดคาด แนะจับตาค่าเงิน-มาตรการกีดกันการค้าในช่วงที่เหลือของปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่ GDP ทั้งปีจะโตมากกว่า 4.0% หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 4.8%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 2.0% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล

โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว หนุนเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปเงินบาทในไตรมาส 1 ขยายตัวได้ที่ 4.7%YOY ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี โดยเป็นการขยายตัวในสินค้าหลายหมวดสำคัญ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, เคมีภัณฑ์ และอาหารและเครื่องดื่ม ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจไทย โดยการส่งออกภาคบริการในไตรมาส 1 ขยายตัวกว่า 9.4%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตกว่า 15%YOY โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่ขยายตัวสูงถึง 30%YOY

ขณะที่ยอดขายรถดันการบริโภคภาคเอกชนโตต่อเนื่อง สำหรับการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 3.6%YOY นำโดยสินค้าคงทนที่เติบโต 9.4%YOY ซึ่งหมวดที่โตอย่างโดดเด่นในไตรมาสแรก คือ รถยนต์นั่งที่มียอดขายเป็นจำนวนคันเพิ่มขึ้น 14.8%YOY ขณะที่การเติบโตของการบริโภคในกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน และไม่คงทน ซึ่งเป็นตัวแทนการบริโภคของครัวเรือนส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.4%YOY และ 2.0%YOY ตามลำดับ

การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัว โดยการบริโภคภาครัฐเติบโต 4.3%YOY และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.0%YOY โดยมาจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลยังหดตัวที่ 0.3%YOY สะท้อนถึงผลกระทบของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐที่ยังคงมีอยู่

ภาคเอกชนขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปีนี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1%YOY โดยนอกจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนแล้ว การลงทุนในสิ่งก่อสร้างก็กลับมาขยายตัวได้ 3.4%YOY หลังจากไตรมาสก่อนหดตัว โดยมาจากการเร่งขึ้นของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

“มองว่าข้อมูลที่ออกมาดีเป็นสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงมากขึ้นทั้งในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชน และภาครัฐ โดยเฉพาะในด้านการลงทุนที่มีสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมิน” SCB EIC ระบุ

SCB EIC คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากหลายปัจจัย นำโดยกำลังซื้อจากต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้า และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโมเมนตัมการขยายตัวที่แข็งแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ แรงส่งจากต่างประเทศที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มฟื้นตัว จะมีส่วนช่วยทำให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่แล้ว จากการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทนที่ยังเติบโตดี ประกอบกับการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งนี้ ประมาณการการเติบโตเดิมของ SCB EIC ที่ 4.0% มีโอกาสสูงที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวดีกว่าที่คาด

ในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตด้วยสินค้าคงทนที่ขยายตัวสูง ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัวต่ำสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนที่มีการพึ่งพากลุ่มผู้มีรายได้สูงมาโดยตลอด สาเหตุมาจากรายได้ของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง และอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล GDP ที่ประกาศออกมา การกระจุกตัวดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงบ้าง หลังการใช้จ่ายทั้งในหมวดสินค้ากึ่งคงทน และไม่คงทนเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังสะท้อนถึงสัญญาณบวกจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า เช่น รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9%YOY ในเดือน เม.ย. หลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากต้นปีที่อยู่ที่ 1.3% จากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%YOY ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดูกาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ย 3.9%YOY ในไตรมาสแรก นำโดยสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรม และร้านอาหาร โดยทั้ง 3 สาขาจ้างงานรวมกันราว 15 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้ในฝั่งรายได้จะเริ่มเห็นสัญญาณบวก แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย และปานกลาง ยังคงมีปัญหาภาระหนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2560 พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และปานกลาง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การกลับมาเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวในระยะต่อไปเกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก

SCB EIC ประเมินความเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญ 3 ประการ อันประกอบไปด้วย การแข็งค่าของเงินบาท นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความผันผวนทางการเงินอันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินโลกที่ตึงตัว พบว่า ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงในช่วงที่ผ่านมายังมีจำกัด สำหรับประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เงินบาทเริ่มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องทำให้แรงกดดันในส่วนนี้คลี่คลายลงบ้าง ขณะที่ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยยังมีไม่มาก เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น เครื่องซักผ้า ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยังสามารถกระจายความเสี่ยงไปส่งออกตลาดอื่นๆ ได้ ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ภาวะการเงินของไทยตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ไม่กระทบภาคเศรษฐกิจจริงมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังมีอยู่มาก และพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะยังมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีได้ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูความคืบหน้าประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ หลังจากมีการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสองประเทศไว้ชั่วคราว และทั้งสองประเทศจะมีการเจรจาการค้าต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินโลก และทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวนสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น