xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีดีพีปี 63 ดิ่ง -5.3% “ลุงตู่” อย่าไปสน ต้องช่วย “แรงงาน-ผู้ประกอบการ” สุดตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต่อลมหายใจไปได้อีกเฮือกเมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ออกมาเป็นระลอก ทั้งอุ้มผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบและประกันสังคม ที่ตกงานกะทันหันจากมาตรการปิดพื้นที่เสี่ยง ทั้งทุ่มแสนล้านอุ้มตลาดเงินตลาดทุน และอุ้มลูกหนี้แบงก์-ลิสซิ่ง แต่น้ำน้อยจะดับไฟแห่งหายนะได้แค่ไหน ดูคำตอบจากตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ที่แบงก์ชาติคาดจีดีพีติดลบ -5.3% ก็รู้แล้วว่าวิกฤตหนักสุดๆ
มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลคาดว่าจะสามารถบรรเทาทุกข์ร้อนแรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้ประมาณ 3 ล้านคน อาจเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว หากดูจากตัวเลขที่สหพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ระบุว่ามีแรงงานในกลุ่มนี้ร่วม 20 ล้านคน ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ชี้ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย มีการจ้างงานราว 13.95 ล้านคน หรือคิดเป็น 85.5% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ก็ประเมินแล้วว่า มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ชั่วคราวจะส่งผลต่อผู้มีงานทำโดยตรงลดลงทันที 20% เช่น ผู้ที่ทำงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักร้อง นักแสดง และบริกรตามสถานบันเทิงต่างๆ ส่วนอีก 63% ไม่สามารถนำงานกลับไปทำที่บ้านได้

ถามว่าสภาวการณ์มีงานทำของประชากรมีจำนวนกี่มากน้อย ตามตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะอยู่ที่ประมาณ 37-38 ล้านคน นั่นหมายความว่า ตกงานทันที 20% จากจำนวน 38 ล้านคน ต้องบอกเลยว่าไม่น้อย แล้วคนจำนวนนี้จะไปทำมาหากินอะไร ยิ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกมาบังคับใช้ลากยาวไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 มองในแง่ของผู้ที่ไม่มีอันจะกินแล้วเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่การบริหารประเทศของรัฐบาลทั้งไทยและทั้งโลก ต้องงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นให้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะช้าไปบ้างสำหรับการออกมาตรการของรัฐบาลไทยที่ประกาศไล่หลังคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงจนมีผู้คนหลั่งไหลไปแออัดยัดเยียดตามสถานีขนส่ง ทั้งกลุ่มแรงงานต่างชาติ และกลุ่มที่กลับภูมิลำเนา จนหวั่นเกรงกันว่านับจากนี้ตัวเลขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะไปหนักในโซนต่างจังหวัดซึ่งต้องรอดูกันแบบวันต่อวันว่าจะเอาอยู่ไหม

สำหรับการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลนั้น หลังจาก ครม.คลอดแพกเกจแรกไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลดภาระดอกเบี้ย คืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้ประชาชน เป็นต้น ก็มาถึงมาตรการระยะที่ 2 ตามที่ ครม.เคาะเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกช่วยเหลือลูกจ้างและอาชีพอิสระ ส่วนที่สอง ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

 ส่วนแรกนั้นที่พอใจชื้นกันหน่อย คือ ให้กลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการชั่วคราว จะได้รับเงินสนับสนุนคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน กลุ่มนี้มีราว 3 ล้านคน

 ส่วนกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับสิทธิกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน กรณีรัฐสั่งหยุดรับไม่เกิน 90 วัน 

ในกลุ่มหลังนี้ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อธิบายความเพิ่มเติมว่า สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานหากผู้ประกันตนลาออกจากเดิมรับเงินว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน ก็ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 45 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน บังคับใช้ 2 ปี และกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สิทธิร้อยละ 70 แต่ไม่เกิน 200 วัน ส่วนกรณีสถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราวตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้าง 75% ของค่าจ้าง

แรงงานที่ตกงานกะทันหัน เข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนไหนก็ต้องเช็กรายละเอียดกันให้ชัดเจน

นอกจากนั้น ครม.ยังอนุมัติสินเชื่อพิเศษ รายละ 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ต้องมีหลักประกัน รัฐจัดงบส่วนนี้ไว้ 2 หมื่นล้าน, สินเชื่อฉุกเฉิน รายละ 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินรวม 4 พันล้านบาท ที่เหลือก็เป็นโรงรับจำนำรับจำดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน วงเงิน 2 พันล้านบาท, ยืดเสียภาษีบุคคลธรรมดาออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563, ปรับวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจาก 1.5 หมื่นบาท เป็น 2.5 หมื่นบาท ฯลฯ

ส่วนการเยียวยาผู้ประกอบการ เช่น สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ใน 2 ปีแรก โดยเอสเอ็มอีแบงก์ มีวงเงินสินเชื่อรวมหมื่นล้านบาท, ขยายเวลาการเสียภาษีนิติบุคคลออกไปถึง 30 กันยายน 2563, เลื่อนยื่นแบบและชำระภาษีทุกประเภทหนึ่งเดือน, ยกเว้นภาษีขาเข้าสินค้าที่ใช้รักษาและป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ถึงเดือนกันยายน 2563 ฯลฯ

มาตรการดังกล่าวพอจะเยียวยาได้ไหม ก็ต้องบอกว่าได้บ้าง แต่ก็อย่างที่ว่าไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าแรงงานนอกระบบนั้นมีจำนวนมากต่อมาก และที่จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรให้กลุ่มที่หาเช้ากินค่ำ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนเหล่านี้ได้รับการเยียวยาอย่างถ้วนหน้าหรือครอบคลุมไปให้ทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งในอีกไม่ช้าคงมีมาตรการเยียวยา ระยะ 3 ตามมาอีกระลอก

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เจอ “ยาแรง” แบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือลดผลกระทบ ซ้ำมาตรการรองรับของรัฐก็ไม่ได้ออกมาในคราวเดียวกันอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ถือเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่เจ็บหนัก แม้ว่าก่อนนี้จะพอประเมินสถานการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็ตาม

ตามที่ น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สะท้อนผ่านสื่อว่าหากผู้ประกอบการรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการประกาศปิดสถานประกอบการ จะเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าได้ จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลควรมีมาตรการที่เป็นโรดแมปชัดเจน มีแผนสำรองที่จะรองรับผลกระทบหลากหลายรูปแบบเพื่อให้เอกชนและประชาชนรู้และเตรียมรับมือได้ทันท่วงที

สถานการณ์ที่คนเสี่ยงตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 นี้ แบงก์ชาติ เผยถึงผลสำรวจ “ภาวะตลาดแรงงานไทยและแนวโน้ม” ซึ่งสำรวจข้อมูลและความเห็นของผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -17 มีนาคม 2563 พบว่าแรงงานในเกือบทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ทั้งการหยุดกิจการ รายได้จากโอทีที่ลดลง การเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง มีรายได้ไม่แน่นอน โดยพื้นที่ที่มีสัดส่วนแรงงานด้านการท่องเที่ยวมากสุด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และกรุงเทพฯ ตามลำดับ

ผลสำรวจยังพบว่า มาตรการปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราวจะส่งผลต่อผู้มีงานทำโดยตรง 20% เช่น ผู้ที่ทำงานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว นักร้อง นักแสดง และบริกรตามสถานบันเทิงต่างๆ ในขณะที่ผู้ที่สามารถทํางานที่บ้านได้มีเพียง 6% โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ สามารถทํางานได้ทุกที่ หรือไม่จําเป็นต้องออกไปพบปะผู้คน เช่น ผู้บริหาร โปรแกรมเมอร์ และนักการเงิน ฯลฯ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถทํางานที่บ้านได้มีถึง 63% เพราะต้องทำงานกับเครื่องมือเฉพาะ และต้องพบปะผู้คน

การคลอดมาตรการเยียวยานอกจากจะอุ้มแรงงานและผู้ประกอบการแล้ว เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา แบงก์ชาติ กระทรวงคลัง และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังออกมาตรการมาสนับสนุนเสถียรภาพและดูแลสภาพคล่อง คือ แบงก์ชาติได้จัดตั้งกลไกพิเศษปล่อยสภาพคล่องให้แบงก์พาณิชย์ ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจนกว่าตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนั้น ยังช่วยธุรกิจเอกชนที่ประสบปัญหาให้สามารถระดมทุนได้ต่อเนื่องในภาวะที่ตลาดไม่ปกติ โดยสมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง วงเงิน 70,000-100,000 ล้านบาท สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนดและต้องโรลโอเวอร์ต่อแต่ระดมทุนได้ไม่ครบ และดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่ให้ผันผวน




 การทุ่มเงินอุ้มตลาดเงินตลาดทุนนับแสนล้าน ทำให้ “กองแช่ง” รัฐบาลออกมาสวดยับว่าช่วยคนรวยทันใจดีแท้ แต่ถ้าว่ากันตามจริงก็ต้องถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้กัน เพราะหากปล่อยไปตามยถากรรมจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากๆ โดยแบงก์ชาติ ออกมาแจกแจงว่า ถ้าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีปัญหาจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างแน่นอน 

กล่าวคือ บริษัทเอกชน ไม่สามารถระดมทุนได้ อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงาน และรายได้ของลูกจ้าง ส่วนประชาชน ผู้ถือตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม ได้รับผลกระทบจากผลตอบแทนที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เพราะภาครัฐและภาคธุรกิจอาจไม่สามารถระดมทุนได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อีกมาตรการที่เรียกคะแนนได้ทันทีถ้วนหน้าเห็นจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอล รอบใหม่ ทั้งเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแถมพักหนี้ยาวครึ่งปี

ก่อนหน้านี้ มาตรการอุ้มลูกหนี้ที่แบงก์ชาติออกมาลอตแรกตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ เพียงสองสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ ประมาณ 3 หมื่นราย วงเงิน 234,000ล้านบาท และหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ มีความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นโดยวงเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเป็น 310,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ เพิ่มขึ้นเป็น 156,000 ราย

ที่น่าจะมาถูกทางถูกสถานการณ์ที่ไวรัสฯ ยังแพร่ระบาดสร้างความเสียหายไม่หยุดยั้ง ก็คือการที่ แบงก์ชาติ หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารต่างชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมลิสซิ่งไทย สมาคมธุรกิจเช่าซื้อ และสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทต่างๆ ชมรมบัตรเครดิต ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล เรียกว่ามากันครบครัน ก่อนที่จะข้อสรุปมาตรการออกมาช่วยอุ้มลูกหนี้รอบใหม่แบบโดนๆ โดยจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL ให้มีผลตั้งแต่งวดการชำระเงิน ในวันที่ 1 เมษายน 2563

 รอบนี้ ครอบคลุมตั้งแต่บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ลดการชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ถึงปีหน้า ส่วนปีต่อไปก็ขยับขึ้นเป็น 8% และ 10% เหมือนเดิมในปี 2566, สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อ เช่น รถมอเตอร์ไซด์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท จะเลือกเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หรือจะพักหนี้เงินต้น 6 เดือน ก็ได้

 ส่วนลิสซิ่ง มูลหนี้เหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท เลือกได้ระหว่างเลื่อนจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 3 เดือน หรือพักหนี้ 6 เดือน ขณะที่สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้าน พักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกเบี้ยตามสภาพของลูกค้า สำหรับสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท พักชำระเงินต้น 3 เดือน และลดดอกตามสถานการณ์ของลูกค้าเช่นกัน 

เหตุที่ต้องอุ้มกันสุดลิ่มเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้ โยงเข้ากับการลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2563 ของแบงก์ชาติ ซึ่งที่ประชุมของ กนง. เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.75% โดยมี 2 เสียงที่เห็นควรให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ส่วนกรรมการอีก 1 คน ลาประชุม

ในวันดังกล่าว นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า กนง. มีความเห็นว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวแรง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบ

ขยายความเพิ่มเติมโดยนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าสถานการณ์โรคระบาดไวรัส COVID-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทาง กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2564

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาจากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราวร้อยละ 60 ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หากการระบาดรุนแรงและยาวนานจะกระทบต่อรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

หากจีดีพีของไทยปีนี้ติดลบหนักขนาดนั้น คือ -5.3 ถือเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจไทยที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และในรอบ 40 ปี น้องๆ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งจีดีพีหดตัวถึง 7.6% ในปี 2541 ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาตามลำดับ

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่อัดฉีดทุกทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพยุงระบบเศรษฐกิจไม่ให้พังทลายลง หลายๆ ประเทศทั่วโลก ต่างงัดมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยาเช่นกัน ซึ่งทางแบงก์ชาติ ได้รวบรวมให้เห็นว่า หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตทั้งภาคการผลิต การค้า ส่งผลถึงความเชื่อมั่นและการจ้างงานที่ปรับตัวลงลงทั่วโลก

ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและธนาคารกลางในต่างประเทศได้ประกาศมาตรการทางการคลังและการเงินเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-191 โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ (1) มาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและ SMEs (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (3) มาตรการดูแลครัวเรือนและการจ้างงาน และ (4) มาตรการรักษาเสถียรภาพ เช่น ให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนหรือธุรกิจเอสเอ็มอี การสมทบเงินค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น

สำหรับสหรัฐอเมริกา รอยเตอร์ อ้างผู้ช่วยระดับสูงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกันกับบรรดาสมาชิกระดับอาวุโสของรีพับลิกันและเดโมแครตในวุฒิสภา ว่าพวกเขาเห็นพ้องกันในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬารกว่า 2 ล้านล้านดอลาร์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในนั้นรวมถึงงบประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด และอีกพอๆ กันสำหรับจ่ายเงินสดโดยตรงรวมราวๆ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อครอบครัวอเมริกันหนึ่งครัวเรือน ซึ่งมีอยู่หลายล้ายครัวเรือน
ขณะที่กลุ่มผู้นำจาก 9 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ออก “Corona bonds” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับจัดการและดูแลเศรษฐกิจ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ในสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้นกว่า 182,000 ราย เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา

 มาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ออกมาทั่วโลกทั้งไทยและต่างประเทศ ล้วนเป็นพยายามอย่างสุดความสามารถในการฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ 


กำลังโหลดความคิดเห็น