xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.หั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ5.3%-คลอดเกณฑ์ช่วยลูกหนี้รายย่อย-หุ้นไทยบวก46จุด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360- กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 2 มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.75 % พร้อมหั่นจีดีพีปี 63 ติดลบ 5.3 % ผลพวงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กระทบส่งออก ท่องเที่ยว ส่วนปี 64 จะพลิกกลับมาบวก 3% ระบุต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปีนับตัวแต่วิกฤตต้มยำกุ้งที่ติดลบ 7.6% แบงก์ชาติ คลอดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเกือบทุกประเภท ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย รวม 6 กลุ่มทั้งพักชำระหนี้-ยืดเวลาจ่ายดอกเบี้ย-เงินต้น เริ่ม 1 เม.ย. 63 ด้านตลาดหุ้นไทย บวก 46 จุด รับมาตรการเยียวยาโควิด-19

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ รวมทั้งเห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีความรุนแรง และจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา ดังนั้นคณะกรรมการจึงเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.0 ในปี 2564

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับลดอัตราการเติบโตจีดีพีปี 2563 ของธปท.ที่คาดว่าจะหดตัว 5.3%นั้น ถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากปี 2541 หรือวิกฤติต้มยำกุ้งที่หดตัว 7.6% แต่ปัจจัยหลักขณะนี้อยู่ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ยังไม่นิ่ง จึงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเทศไทยที่สถานการณ์เปลี่ยนเร็วและแรงขึ้น

นายเชาว์กล่าวอีกว่า การที่ธปท.ยังคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็น่าจะรอดูสถานการณ์ในระยะต่อไป หลังจากที่เพิ่งจะลดไปเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงการออกมาตรการด้านอื่นๆเพิ่มไม่ว่าจะเป็นด้านสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ และอื่นๆ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

ธปท.อัดมาตรการลด-ยืดค่างวดช่วยลูกหนี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เสียเครดิตหรือประวัติการผ่อนชำระหนี้ ว่าแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ขั้นต่ำ แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ กลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ให้ลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 2563-2564 และเพิ่มเป็น 8% ในปี 2565 และเป็น 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ให้ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้

กลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ให้ธนาคารพาณิชย์สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน

กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ รถมอเตอร์ไซต์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท รถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และ กลุ่มลีสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน

ส่วนกลุ่มสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และกลุ่มสินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท พักชำระเงินต้น 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามสถานการณ์ของแต่ละราย ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือขั้นต่ำดังกล่าวกำหนดให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป

หุ้นพุ่ง 46 จุดรับมาตรการกระตุ้นศก.

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น วานนี้ (25 มี.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เปิดการซื้อขายในภาคเช้า สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากนักลงงทุนเริ่มมีความมั่นใจต่อมาตรการเยียวยาจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมถึงของไทยด้วย

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,099.94 จุด ต่ำสุด 1,050.72 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,080.03 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 46.19 จุด หรือ 4.47% มูลค่าการซื้อขายรวม 74,952.24 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 109.39 ล้านบาท สถาบันในประเทศ ซื้อสุทธิ 4,524.24 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 49.40 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขายสุทธิ 4,365.46 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น