xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” ฉุดเศรษฐกิจไทยวูบหนัก กนง.ลดดอกเบี้ยยังไม่พอ-ลุ้นออกมาตรการเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าจะผ่านไปยังไม่ถึง 3 เดือนแรกของปี 63 แต่ประเทศไทยโดนหลากหลายมรสุม นับแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน ความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 63 ปัญหาภัยแล้งที่หนักกว่าทุกปี มาจนถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศ และอีกหลายประเทศทั่วโลก และกลายเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงหนักที่สุดในขณะนี้...กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 0.75%

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม พร้อมทั้งขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด และดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินเพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คาดยังลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กล่าวว่า แม้ กนง.จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวาระพิเศษไปแล้ว แต่คาดการณ์ว่า กนง.อาจหั่นดอกเบี้ยอีกรอบวันที่ 25 มีนาคมนี้ และอาจออกมาตรการกึ่ง QE หรืออัดฉีดเงินที่ไทยจะใช้เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารและภาคเอกชน

"กนง.กำลังยอมรับสภาพที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยตามเศรษฐกิจโลก ส่วนจะลงดิ่งเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับมาตรการทางการเงินและการคลังที่จะรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่กระทบภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ขอชื่นชม กนง.ที่ตัดสินใจลดดอกเบี้ยโดยไม่รอวาระการประชุมปกติและมองไปข้างหน้า ธปท.น่าจะมีมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพิ่มเติม เพราะวันนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องแม้ธนาคารกลางสำคัญอัดฉีดเงินมหาศาล รอลุ้น กนง.อาจหั่นดอกเบี้ยอีกรอบวัน และอาจเผยมาตรการกึ่งๆ QE" นายอมรเทพกล่าว

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% โดยคาดว่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาสที่ 2 และในไตรมาสที่ 3 ทำให้ ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 0.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดสู่ระดับ 0% หรือติดลบ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายส่วนที่ต้องพิจารณาประกอบ โดยนโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ และไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงไปสู่ระดับ 0% หรือติดลบ

นอกจากนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคาดว่า ธปท.จะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2563 จากที่เดิมคาดว่าจะมีการเติบโต เป็นหดตัว เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ขณะที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว 1%

แนะใช้นโยบายเสริมพยุงเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ EIC SCB ให้ความเห็นว่า นอกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว กนง.น่าจะใช้นโยบายอื่นประกอบเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยอาจมีการเน้นย้ำถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากต่อเนื่อง และจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น หรืออาจสื่อสารถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะต่อไป เช่น ต้องเห็นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญ หรือเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (targeted soft loan) : ในช่วงที่ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้นอย่างมากจากทั้งความผันผวนในตลาดทุน/ตลาดพันธบัตรที่ปรับสูงขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปรับชะลอลง รวมถึงความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ EIC SCB มองว่า ธปท.อาจดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเฉพาะจุด โดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธุรกิจที่เผชิญปัญหารุนแรงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถดำเนินได้ ซึ่งในอดีต ธปท.ได้เคยดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาแล้ว รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติมน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ

ทั้งนี้ อีกประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ภาวะสภาพคล่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ที่ปรับสูงขึ้น

ความเสี่ยงในตลาดหุ้นกู้ไทย : ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลงมากและความเสี่ยงที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ corporate spread โดยเฉพาะของกลุ่ม BBB ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจไทยที่ระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตร เนื่องจากต้นทุนในการต่ออายุพันธบัตรจะสูงขึ้น ทำให้ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถต่ออายุพันธบัตร (roll-over risk) และความเสี่ยงในการชำระหนี้ (default risk) ปรับสูงขึ้น นอกจากนั้น ข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทยยังบ่งชี้ว่า ณ วันที่ 13 มีนาคม 2020 หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (non-investment grade : ต่ำกว่า BBB-) และกลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.3 แสนล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนการออกพันธบัตรประเภทดังกล่าวมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (9.6 หมื่นล้านบาท) 2) ภาคบริการ (1.8 หมื่นล้านบาท) และ 3) ภาคการเงิน (1.0 หมื่นล้านบาท)

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐ : ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนและมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีสภาพคล่องสูง มักพบว่าความต้องการถือเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐในบางประเทศ แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุลและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังมีขนาดใหญ่ ทำให้ความเสี่ยงต่อไทยในขณะนี้อาจไม่น่ากังวลมากนัก แต่ก็มองว่าจะต้องจับตามองในประเด็นนี้ต่อไป เนื่องจากในภาวะที่ COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงทำให้ดุลบริการของไทยอาจปรับลดลงเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐภายในไทยได้

ปรับลดจีดีพีกราวรูด

ก่อนหน้านี้ EIC SCB ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในกรณีฐาน จากเดิมคาดขยายตัว 1.8% จากผลกระทบของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี โดยคาดการณ์การท่องเที่ยวหดตัวคาดการณ์นักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 27.7 ล้านคน (-30.5%YOY) โดยจะมีการหดตัวมากสุดประมาณ -75%YOY ในช่วงเดือนเมษายน และจะปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ หลังจากนั้นจะกลับสู่ระดับเทียบเท่าปี 2562 (0%YOY) ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวก็จะปรับลดลงจากปีก่อนหน้าด้วย ตามราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ซบเซา

ขณะที่การส่งออกก็ยังคงหดตัว มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับลดลง 5.8% จากปีก่อนหน้า และการใช้จ่ายในประเทศจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความกังวลและตื่นกลัวกับสถานการณ์แพร่ระบาด นำไปสู่การลดการเดินทางท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอย แม้ตัวเลขการใช้จ่ายผ่านช่องทาง online จะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยการใช้จ่ายที่ลดลงได้ทั้งหมด

ด้านกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลงอีกครั้งจาก -0.4% เป็น -2.4% หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีผลกระทบอีกระลอกจากการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย โดยการปรับลดการคาดการณ์ GDP ในครั้งนี้สะท้อนพัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อและมาตรการควบคุมทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน 3 ด้านที่ส่งผลต่อการปรับประมาณ GDP ของไทยในครั้งนี้ ได้แก่

1. เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (global recession) ในครึ่งแรกของปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 0.3% ในปี 2020 ล่าสุดทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจโตได้เพียง 0.3% ในปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.2% ก่อนหน้านี้ และ 3.2% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

2. การงดเว้นกิจกรรมภายในประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้น และในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ อาจมีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาและขยายพื้นที่การ ‘ปิดเมือง’ ขึ้นก็เป็นได้จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการระบาดไวรัสโควิด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

3. ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะลดลงถึง 48% เหลือเพียง 20.7 ล้านคนในปีนี้จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะลดลง 25% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยตัวเลขจริงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยล่าสุดติดลบถึง 80% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวน่าจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากมาตรการของประเทศต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นในการห้ามประชาชนเดินทางไปยังประเทศเสี่ยงซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ ความเสี่ยงในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของนโยบายด้านสาธารณสุขในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ และมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ โดย KKP Research คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องดูแลด้านสภาพคล่องของตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และอาจรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เอกชน ในขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ และเตรียมพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย


กำลังโหลดความคิดเห็น