xs
xsm
sm
md
lg

ชงกระตุ้นศก.ก๊อก3เข้าครม.วันนี้ ดูแลทุกกลุ่ม“เกษตรกร-เถ้าแก่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“รองฯ สมคิด” เผยเตรียมเสนอมาตรการดูและเศรษฐกิจชุด 3 เข้า ครม.นัดพิเศษวันนี้ “อุตตม” ลั่นดูแลทุกกลุ่ม “ฐานราก-บริโภค-เอกชน-ตลาดการเงิน” พร้อมออกประกาศขยายเวลายื่นยื่น-ชำระ หวังเพิ่มสภาพคล่องในมือ ปชช.-ผู้ประกอบการ เยียวยาผลกระทบจากการถูกปิดสถานประกอบการ ตามคำสั่งของทางราชการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ “โควิด-19”

วานนี้ (2 เม.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเสนอมาตรการดูแลเยียวยาเศรษฐกิจชุดที่ 3 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจนัดพิเศษในวันที่ 3 เม.ย.63 กระทรวงการคลังเตรียมกรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมฯ เพื่อให้รับทราบว่าจะต้องดำเนินการกันอย่างไรบ้าง และต้องใช้วงเงินงบประมาณอีกเท่าใด ทั้งนี้ หากที่ประชุมให้ความเห็นชอบ กระทรวงการคลังจะได้เสนอมาตรการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.คณะใหญ่ ในวันที่ 7 เม.ย.เป็นลำดับถัดไป เพื่อทำให้มาตรการชุดใหม่นี้มีผลบังคับใช้ได้โดยทันที

“มาตรการชุดใหม่นี้จะใช้ดูแลเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มคนใน 4 กลุ่มคือ 1. เพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง 2. กลุ่มผู้ประกอบการ 3.เกษตรกรซึ่งเป็นฐานใหญ่ของประเทศ และ 4. เพื่อดูแลเสถียรภาพทั้งตลาดเงินและตลาดทุนไทย” นายสมคิด ระบุ

ส่วนกรณีหลายประเทศได้ใช้งบประมาณในระดับสูงถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องก้าวไปถึงสัดส่วนเดียวกันหรือด้วยหรือไม่นั้น นายสมคิด กล่าวเพียงว่า ขอให้รอดู โดยการจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สนับสนุนมาตรการรอบใหม่นี้ สามารถดำเนินการได้ทั้งในรูปการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน รวมถึงออก พ.ร.บ. โอนงบประมาณปี 63

เผยดูแลครอบคลุม ปชช.ทุกกลุ่ม

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจะเตรียมมาตรการชุดที่ 3 เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษในวันศุกร์นี้ (3) ซึ่งจะเป็นมาตรการที่จะดูแลครอบคลุมทั้งกลุ่มที่ต้องได้รับการเยียวยาต่อเนื่อง กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มตลาดเงินตลาดทุน โดยย้ำว่าจะมีการแจกเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไปด้วย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นกลุ่มใดบ้าง และยังไม่สามารถระบุจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ได้ เนื่องจากที่มาของจำนวนเงินและแหล่งทุนจะพิจารณาประกอบกับขนาดของชุดมาตรการ ทั้งนี้งบประมาณบางส่วนนั้น สำนักงบประมาณจะเป็นผู้ดูแลหาเงินทุน โดยอาจจะใช้วิธีที่จะปรับงบประมาณปี 63 ในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งย้ำว่า จะไม่ให้กระทบเงินเดือนประจำ ขณะเดียวกันยังระบุอีกว่าในเวลานี้กระทรวงการคลังยังระบุถึงวงเงินที่จะขอกู้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

นายอุตตม กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการชุดมาตรการใหม่นั้น จะดูแลครอบคลุมปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอย เรื่องรายได้ของผู้ประกอบการที่มีปรับตัวลดลง และมีความจำเป็นที่จะต้องตัดลดรายจ่าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและพนักงาน อย่างไรก็ตาม จะมีการดูแลระบบเศรษฐกิจให้การส่งผ่านเงินในสภาพคล่องที่ลื่นไหลทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้ง ยังจะเข้าสนับสนุนให้ระดับฐานรากมีความเข้มแข็ง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเข้าดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบเศรษฐกิจไทยยังมีความมั่นคง และเพื่อช่วยลดผลกระทบเศรษฐกิจในอนาคตให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

“คลัง”ประกาศเลื่อนยื่น-จ่ายภาษี

ด้าน นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) กรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตามที่ครม.ได้เห็นชอบให้เลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบและชำระภาษีให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการได้ติดตามความคืบหน้าการออกกฎหมายเมื่อมีผลบังคับไว้นั้น บัดนี้เรื่องดังกล่าวได้มีการประกาศกระทรวงการคลัง ออกมาแล้ว 3 ฉบับ ซึ่งกำหนดเวลายื่นแบบ และชำระภาษีประเภทต่างๆ ที่ขยายออกไป มีดังนี้

1. ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีเป็นการทั่วไป ดังนี้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2562 (แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91 และแบบ ภ.ง.ด.95) ที่ต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค.63 ได้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.63

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังยังได้ออกประกาศให้ขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2562 (แบบ ภ.ง.ด. 50 และ แบบ ภ.ง.ด. 55) เฉพาะรายที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องยื่นภายในเดือนเม.ย.63 ถึงเดือนส.ค.63 ออกไปถึงวันที่ 31 ส.ค.63 รวมถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (แบบ ภ.ง.ด. 51) เฉพาะรายที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องยื่นภายในเดือนเม.ย.63 ถึงเดือนก.ย. 63 ขยาย ออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย.63

นอกจากนี้ ยังขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีเฉพาะผู้ประกอบการที่ปิดสถานประกอบการ ตามคำสั่งของทางราชการดังต่อไปนี้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ของเดือนมี.ค.63 ที่ต้องยื่นภายเดือนเม.ย.63 และเดือนเม.ย.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพ.ค.63 ขยายออกไปถึงวันที่ 15 พ.ค.63

ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น กระทรวงการคลัง ออกประกาศในกรณีการขายสินค้าและบริการภายในประเทศ (แบบ ภ.พ. 30) ของเดือนมี.ค.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเม.ย.63 และ เดือนเม.ย.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพ.ค.63 ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พ.ค.63 ส่วนการจ่ายค่าบริการไปต่างประเทศ (แบบ ภ.พ. 36) ของเดือนมี.ค.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเม.ย.63 และ เดือนเม.ย.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพ.ค.63 ขยายออกไปถึง วันที่ 15 พ.ค.63

รวมถึง ภาษีธุรกิจเฉพาะ (แบบ ภ.ธ. 40) ของเดือนมี.ค.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนเม.ย.63 และ เดือนเม.ย.63 ที่ต้องยื่นภายในเดือนพ.ค.63 ขยายออกไปถึงวันที่ 23 พ.ค.63 แต่ไม่รวมถึงกรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ชำระในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

ส่วนอากรแสตมป์ (แบบ อ.ส. 4 แบบ อ.ส. 4ก และ แบบ อ.ส. 4ข) ที่ต้องยื่นชำระภายในวันที่ 1 เม.ย.63 ถึงวันที่ 15 พ.ค.63 ขยายออกไปถึง วันที่ 15 พ.ค.63 ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิขยายเวลาเฉพาะกรณีที่ปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการจะต้องมีหน้าที่ในการยื่นแบบและชำระภาษี
กำลังโหลดความคิดเห็น