xs
xsm
sm
md
lg

แจก5พัน3เดือนเยียวยาสู้วิกฤต “โควิด-19” เตรียมออกพ.ร.ก.กู้เงิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360- คลอดแล้วมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 นายกฯ ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัด พอเพียง เตรียมออกพ.ร.ก.กู้เงิน รองรับสถานการณ์หากเข้าสู่ระยะที่ 3-4 เพราะงบฯกลางเหลือน้อย ด้าน "สมคิด" เผยครม.ไฟเขียว เยียวยาช่วยลูกจ้าง-อาชีพอิสระ ไม่อยู่ในระบบ 3 ล้านคน รายละ 5,000 บาทติดต่อ 3 เดือน และดึงแบงก์รัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่อง พร้อมทั้งให้ ธพว. เตรียมวงเงิน 1 หมื่นล้าน ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และลดภาระด้วยการยืดเวลาการจ่ายภาษี ขณะที่กระทรวงการคลัง ออกประกาศลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรนำเข้าหน้ากากฯ และวัสดุที่ผลิดหน้ากากฯ มีผล 24 มี.ค.-20 ก.ย. 63

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลายมาตรการ เพื่อดูแลแก้ปัญหาให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 2 โดยเน้นหนักไปที่ภาคประชาชน ซึ่งทุกคนจะได้รับการสนับสนุนเงินในการใช้จ่ายในช่วงนี้ แต่ขอให้ใช้เงินอย่างประหยัด ใช้เงินอย่างพอเพียงเพื่อดำรงชีพอยู่ได้ และจะทยอยออกมาตรการเป็นระยะๆ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะยังไม่ทราบว่าจะยาวนานไปแค่ไหน อย่างไร

"มาตรการที่ออกไปแล้วในระยะที่ 2 จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินให้เพียงพอ ซึ่งอาจจะต้องใช้เงินกู้บ้าง ในการเพิ่มเติมงบประมาณเหล่านี้ เพราะงบประมาณของปี 63 ก็ค่อนข้างจำกัดอยู่ในขณะนี้ งบกลางก็ใช้จ่ายไปพอสมควร เหลือจำนวนน้อยมาก เราจึงจำเป็นต้องหามาตรการในการหาเงินเข้าสู่ระบบให้มากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องจัดทำ พ.ร.ก.ฉบับต่างๆ การกู้เงินต่างๆ ของกระทรวงการคลังในระยะนี้ เพื่อเตรียมเข้าสู่ระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป เราจึงจำเป็นต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุด ทั้งสถานประกอบการ เพื่อลดการเลิกจ้างพนักงาน"

ทั้งนี้ จะมีมาตรการต่างๆ ทั้งในด้านการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆมีสภาพคล่อง รวมถึงมาตรการการเงินการคลัง ทั้งในรูปแบบของภาษีต่างๆ ที่จะออกมา ขณะที่ธนาคารของรัฐ จะเข้ามาเสริมเติมในการเข้ามาดูแล

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายประสงค์ พูนธเนศปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันเปิดเผยถึงมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่ได้รับการอนุมัติจากครม. แบ่งออกเป็น

1.มาตรการดูแลและเยียวยา “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม” ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้

1.1 มาตรการชดเชยรายได้แก่แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ เป้าหมายรวมทั้งสิ้น 3 ล้านคน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เบื้องต้นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน - มิถุนายน 2563) ผ่านการลงทะเบียน และการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ก็จะขยายระยะเวลาออกไปอีก

1.2 โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน จากธนาคารออมสินและธ.ก.ส.รวม 40,000 ล้านบาท ต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท กู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563

1.3 โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม กลุ่มประชาชนที่มีรายได้ประจำ โดยมีหลักประกัน ธนาคารออมสินปล่อยวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท กู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

1.4 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์ โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โดยดอกเบี้ยจากประชาชนไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี

1.5 มาตรการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ เสริมอาชีพ เพื่อเสริมสร้างรายได้

1.6 การเลื่อนเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมา ไปสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระและให้ผู้เสียภาษีมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

1.7 การเพิ่มหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

1.8 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

2. ในด้านมาตรการดูแลผู้ประกอบการนั้น มี 7 มาตรการ ได้แก่

โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก กู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

มาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยการเลื่อนยื่นรายการชำระภาษีรอบบัญชีปี 2562 (ภ.ง.ด. 50) ออกไปเป็นภายในวันที่ 31 สิงหาคม แทน

และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2563 (ภ.ง.ด. 51) ให้ไปยื่นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ โดยจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 50 ประมาณ 120,000 ล้านบาท และจากการเลื่อนชำระภาษีตาม ภ.ง.ด. 51 ประมาณ 30,000 ล้านบาท

มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษีทุกประเภท ที่กรมสรรพากรจัดเก็บ เช่น ผู้ประกอบการที่ต้องปิดสถานประกอบการตามคำสั่งของทางราชการ และผู้ประกอบการอื่น ๆที่ได้รับผลกระทบ โดยกระทรวงการคลังจะพิจารณาเป็นรายกรณี เพื่อลดภาระและเสริมสภาพคล่อง

การขยายเวลาชำระภาษีให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่นำสินค้าออกจากโรงอุตฯหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน 63

เลื่อนการยื่นแบบรายการภาษีพร้อมกับชำระภาษีของการประกอบกิจการสถานบริการ ไปเป็นภายในวันที่ 15 ก.ค. 63

มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และห้องชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับ กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามกรณีที่กำหนด

คลังประกาศเว้นภาษีนำเข้าหน้ากาก-วัตถุดิบฯ

กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ในฐานะหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า ส่งออก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้พิจารณาหามาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ โดยออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 3) เพื่อยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดตามประเภทย่อย 6307.90.40 และหน้ากากอนามัยเฉพาะหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษบรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามประเภทย่อย 6307.90.90 อีกทั้ง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของใดๆ ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยตามประเภทพิกัดดังกล่าวด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 และให้สิ้นผลใช้บังคับวันที่ 20 กันยายน 2563 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าหรือผลิตสินค้าหน้ากากอนามัยลดลง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ภายในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาด

อนึ่ง การนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อรับมือกับสภาวการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อุปกรณ์บางชนิดอาจอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานอื่นๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องมีการขออนุญาตก่อนการนำเข้า ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการนำเข้า กรมศุลกากรจะได้มีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวเป็นกาลเฉพาะต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น