ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถอยแทบไม่ทันกับมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสู้ไวรัสโควิด-19 หลังฟังเสียงก่นดาจนหูชาหน้าเครียด เหลือเพียงมาตรการทางภาษี และอัดซอฟท์โลนหรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับกระตุ้นตลาดหุ้นผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เท่านั้น พร้อมหันมาคืนเงินประกันมิเตอร์ค่าไฟฟ้าแทนแจกเงิน
ยิ่งมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งเป๋ เป็นมวยเมาหมัด พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกไม่เว้นแต่ละวัน ความเชื่อมั่นและแรงศรัทธาของ “ติ่งลุงตู่” ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด แบบไม่ไหวจะเคลียร์ เชียร์แล้วเหนื่อย เอาเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตั้งท่ามาดิบดีว่างานนี้มีแจกกันหัวละ 2 พันบาท พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งแท่น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ด้วยนั้น ต้องสั่งเลิกแจกเงินในนาทีสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรื่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ทั้งการพักเงินต้น ขยายเวลาการชำระดอกเบี้ยผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ต่อเนื่องมาจากคราวก่อนๆ รวมทั้งมาตรการทางด้านภาษีต่างๆ คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ประกอบการและชาวประชาที่เป็นหนี้เป็นสิน พอได้ถอนหายใจโล่งอีกเฮือก
แต่เอาเข้าจริงๆ ซอฟท์โลน หรือการลดหย่อนทางภาษีต่างๆ ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ประทังไปได้ในช่วงระยะสั้น ส่วนความหวังจะพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดีขึ้น จะฟื้นตัวได้หรือไม่ได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน และจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ ตัวแปรหลักยังต้องกลับไปดูต้นตอของปัญหาวิกฤตใหญ่ของโลกทั้งใบในเวลานี้ คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนได้
มิหนำซ้ำ ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศว่า ไวรัสโควิด-19 กลายเป็น “โรคระบาดระดับโลก (Pandemic)” ซึ่งเป็นระดับที่จะใช้เมื่อมีโรคใหม่ระบาดขึ้นในพื้นที่ทั่วโลก จากก่อนหน้านี้อยู่ในสถานะ “โรคระบาดระดับภูมิภาค (Epidemic)”
ผลร้ายที่เห็นกันชัดๆ คือ “ตลาดหุ้นไทย” ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ณ เวลา 14.38 น.ตลาดหุ้นไทยร่วง125.05 จุดหรือ 10% มาอยู่ที่ระดับ 1,124.84จุด จนตลาดหลักทรัพย์ต้อง หยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker Level 1)30 นาที ตั้งแต่เวลา 14:38 ถึง 15:08 น.
สถานการณ์อันผันผวนของตลาดหุ้นไทย ทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลัง เร่งศึกษาการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน หรือ กองทุนพยุงหุ้น โดยมอบหมายให้ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ศึกษาแนวทางที่เหมาะสม
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เลวร้ายลง ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกมา เป็นได้แค่ประคองกันไปและยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
ในส่วนที่จะกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดยให้ผู้ซื้อกองทุนหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund หรือ SSF) นั้น ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งกองทุนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 มีนาคมนี้ และจะยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุนฯ รวมทั้งพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งกองทุน SSF แบบอัตโนมัติ
มาตรการดังกล่าวข้างต้น นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวว่า มติ ครม. ที่เห็นชอบมาตรการขยายวงเงินลงทุน SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% โดยนักลงทุนสามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาท จากเดิมไม่เกิน 200,000 บาท รวมเป็นไม่เกิน 400,000 บาท โดยซื้อภายในเวลาระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563 นั้น เป็นแนวทางที่ดีจะช่วยกระตุ้นความมั่นใจให้กับนักลงทุน และมองว่าการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ
มาตรการนี้ บรรดาขาหุ้นจะขานรับมากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะดูจากสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปั่นป่วนกันถ้วนหน้า ไม่เพียงแค่ที่ตลาดหุ้นเท่านั้น อีกประการหนึ่ง กองทุนรวมเพื่อการออมนี้เปิดกว้างสำหรับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นการหวังว่าเม็ดเงินจะลงสู่ “หุ้นไทย” เพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่จะกระจายไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ความคาดหวังกระตุ้นการลงทุนผ่านกองทุน SSF นั่นก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะพลิกฟื้นตลาดหุ้น
ขณะเดียวกัน ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย วางแผนเตรียมเสนอมาตรการอื่นๆ เช่น การลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงไม่ต้องผ่านกองทุน โดยถือระยะเวลา 2 ปี สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงซื้อในระยะยาว แต่ขอรอดูผลจากการกระตุ้นตลาดของกองทุน SSF ประมาณ 1-2 เดือนก่อน
อีกทั้งยังประเมินว่า สถานการณ์ของตลาดหุ้นในเวลานี้ เป็นการลงทุนในระยะยาว การลงทุนระยะสั้นไม่ควรเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เพราะไม่แน่ใจว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง เนื่องจากเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก และไทยไม่มีเม็ดเงินการออมระยะยาวทำให้ตลาดอ่อนไหวมาก แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมาได้เร็วหากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยครึ่งปีหลังตลาดน่าจะฟื้นตัวแรงเพราะเศรษฐกิจไม่ได้บอบช้ำมาก
ส่วนมาตรการพยุง ภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้น ครม.เห็นชอบให้สนับสนุนให้หน่วยงานราชการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ เพื่อชะลอการเลิกจ้าง ก็ยังต้องรอดูว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะการจัดประชุม สัมมนา หรืออีเวนท์ต่างๆ เป็นจุดรวมพลคนจำนวนมากที่ง่ายต่อการแพร่ระบาด ซึ่งมีข้อแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ว่าให้หลีกเลี่ยง หรือเข้มงวดในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน เพราะสุขภาพและความปลอดภัยเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งในสถานการณ์เยี่ยงนี้
มองผ่านสายตาของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชี้ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและกลุ่มเอสเอ็มอีได้บ้าง ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนทางการเงิน อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาได้ 0.015-0.030% เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวหรือติดลบเกิน 2%
และชัดเจนว่า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน ซึ่งรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกไปแล้ว ยังไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง หากต้องการลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการควรเลือกใช้แนวทางอื่น เพราะการลดการจ่ายสมทบจะทำให้สถานะทางการเงินของระบบประกันสังคมอ่อนแอลงในระยะต่อไป
ข่าวร้ายกว่านั้นก็คือ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคค่อนข้างแน่นอน ส่วนจะถึงขึ้นเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบเกือบติดลบ 3% และหดตัวติดลบ 7.6 % ในปี 2541 หรือไม่นั้น ต้องรอประเมินอีกครั้งในเดือน เม.ย.นี้
“ตอนนี้ที่คาดการณ์ได้คือติดลบอย่างน้อยสองไตรมาสติดต่อกัน แต่วิกฤตการณ์คราวนี้หากเกิดขึ้นจะแตกต่างจากปี 2540 คราวนี้จะเกิดจะเป็นวิกฤตของเศรษฐกิจฐานรากและคนชั้นกลางระดับล่าง เป็นวิกฤตของภาคเศรษฐกิจจริง ภาคการผลิตภาคท่องเที่ยว ไม่เหมือนวิกฤตปี 40 ที่ใจกลางของวิกฤตอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป มีการลงทุนเกินตัวจนเกิดฟองสบู่และปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงิน”
สำหรับข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่ควรจะทำในเวลานี้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ เสนอว่า รัฐบาลต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการควบคุมการแพร่ระบาดของไทย และการเดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างๆ มีความปลอดภัย หากทำได้ ปัญหา COVID-19 ก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของผู้คนลดลง รัฐบาลต้องโปร่งใสและไม่ปิดบังข้อเท็จจริง
ความเชื่อมั่นจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภค หรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ผล ทำให้เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนหลายรอบ ตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจจะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อมีความเชื่อมั่น นอกจากนี้ต้องทำให้เกิด Rule of Law และประชาธิปไตยในประเทศนี้จะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น
“รัฐบาลลุงตู่” จะฟันฝ่าพาชาติรอดหรือไม่ ใช่ถึงเวลานับถอยหลังของ “เรือเหล็กรูรั่ว” แล้ว ใช่ใหม?