xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นดิ่ง108จุดต่ำสุดรอบ4ปี-วันเดียวมูลค่าวูบ1.17ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก ผลพวงราคาน้ำมันร่วงหลังกลุ่มโอเปกไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ผสมโรงไวรัสโควิด-19 นักลงทุนไทยแห่ทิ้งหุ้นกลุ่มปตท. "PTTEP" ร่วงติดฟลอร์ กดดันดัชนีดิ่งเหวกว่า 108 จุด หรือเฉียด 8% ปิดที่ 1,255.94 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 ปี ด้วยมูลค่าซื้อขายกว่า 1.03 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดรวมวูบวันเดียว 1.17 ล้านล้านบาท ด้านเอ็มดีตลาดหุ้น "ภากร" เผยหารือคลังเตรียมออกมาตรการดูแลทุกระยะ พร้อมมอนิเตอร์เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบการลงทุน ลั่นจับตา พร้อมแนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยง ในช่วงตลาดผันผวน

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (9 มี.ค.) นักลงทุนแห่ทิ้งหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงอย่างหนักตั้งแต่เปิดการซื้อขายภาคเช้า ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลก จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลง หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันคว้าน้ำเหลว ทำให้ซาอุดีอาระเบียเปิดฉากสงครามน้ำมั่น ประกาศลดราคาขายน้ำมันทันที รวมถึงความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดที่ 1,249.31 จุด สูงสุดที่ 1,299.77 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 1,255.94 จุด ลดลงจากวันก่อนกว่า 108.63 จุด หรือคิดเป็น 7.96% มูลค่าการซื้อขายกว่า 103,623.75 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดเหลือ 13.51 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากวันก่อนที่อยู่ 14.68 ล้านบาท หรือลดลงกว่า วันเดียวลดลงจาก 1.17 ล้านล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นปิดต่ำสุดในรอบ 4 ปี 1 เดือน นับจากวันที่ 21 ม.ค. 2559 อยู่ที่ 1,245.61 จุด

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 3,995.82 ล้านบาท สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 12,719.83 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 957.57 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย ซื้อสุทธิ 15,758.08 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) ราคาปิด 28 บาท ลดลง 9.50 บาท หรือ 25.33% มูลค่าการซื้อขาย 18,688.87 ล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ปิดที่ 74.75 บาท ลดลง 31.75 บาท หรือ 29.81% มูลค่า 12,248.41 ล้านบาท และบมจ.ซีพีออลล์ ปิดที่ 63.75 บาท ลดลง 5.50 บาท หรือ 7.94% มูลค่า 6,372.56 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชีย หลักๆ ต่างปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยตลาดหุ้นโตเกียว ดัชนีนิกเกอิ ปิดที่ 19,698.76 จุด ลดลง 1,050.99 จุด หรือ 5.07% ตลาดหุ้นฮ่องกง ดัชนีฮั่งเส็งปิดที่ 25,040.46 จุด ลดลง 1,106.21 จุด หรือ 4.23% ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ดัชนีคอมโพสิต (KOSPI) ปิดที่ 1,954.77 จุด ลดลง 85.45 จุด หรือ 4.19% และตลาดหุ้นจีน ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ปิดที่ 2,943.29 จุด ลดลง 91.22 จุด หรือ 3.01%

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึง ปัจจัยลบที่กระทบต่อตลาดหุ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเปิดภาคเช้าวันนี้ (9 มี.ค.63) ปรับลดลงมากถึง 6.77% ลดลงกว่า 92.37 จุด ดัชนีหลุดมาอยู่ที่ระดับ 1,272.20 จุด ซึ่งแรงกดดันมาจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานลงแรงหลุด 40 เหรียญต่อบาร์เรล หรือลดลงรวมกันเฉลี่ยราว 30% เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมากกว่า 5-6% และจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ ฯ ได้มีการรายงานให้หน่วยงานที่กำกับดูแลภาคเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี แต่ละอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มีความเสียหายไม่เท่ากัน โดยกลุ่มหุ้นที่กระทบจากราคาน้ำมันเป็นกลุ่มใหญ่อันดับแรก คือ 1.พลังงาน (Energy) รองลงมาคือ 2.กลุ่มทรัพยากร (Resoure) และอันดับที่ 3.กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ (Finance) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีผลต่อมาร์เก็ตแคปประมาณ 45-50% โดยน้ำหนักมาจากกลุ่มพลังงานและทรัพยากรรวมกันเกือบ 30% และกลุ่มธนาคารที่ถูกกระทบจากลูกค้าประมาณ 15%

ส่วนของมาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker) นั้น มองว่ายังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ เพราะหากพิจารณาจากอัตราส่วนที่ลดลง ถือว่ายังไม่ถึงเกณฑ์ที่ระบุไว้ และในส่วนของหุ้นแต่ละตัวจะมีกำหนดเพดานไว้เองด้วยว่าหากราคาเกินกว่าเปอร์เซ็นต์ของเมื่อวาน ราคาหุ้นที่ซื้อขายได้จะไม่เกินนั้น และในตลาดตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) จะมีบอกเลยว่าถ้าเกิดราคาของ underwite Asset เกินจะไม่มีการซื้อขาย เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นปกติ

ขณะที่ในส่วนของมาตรการเยียวยานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการคร่าวๆไว้ 2 ส่วนคือ มาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและมาตรการในระยะยาว โดยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะเป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งช่วยเหลือทันที ส่วนมาตรการระยะยาวต้องแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทย

นอกจากนี้ ตลท. ได้ประสานการทำงานร่วมกันกับกระทรวงการคลังเพื่อหนุนให้ตลาดมี Investment Flow ใหม่ ๆ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้มีแนวคิดนำกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นออกมาและมีหลายมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) หรือผู้บริโภค นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพิจารณามาตรการที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุน คาดว่าเร็วๆ นี้คงจะมีมาตรการต่างๆ ออกมา เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสนใจต่อตลาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีคณะกรรมทำงานร่วมกันในหลายๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่และชุดเดิมที่มีอยู่แล้ว รับมือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"ในขณะที่ตลาดหุ้นผันผวนนี้ที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก ขอใหนักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวและอ่านบทวิเคราะห์ถึงผลกระทบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งมุมมองบวกและลบ บางอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบมาก ต้องดูว่าถูกกระทบมากเกินความเป็นจริงหรือไม่ ราคาลงมากๆ บางส่วนจะเป็นโอกาสในการลงทุน ซึ่งต้องมองสัดส่วนลงทุน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม" นายภากรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น