ผู้จัดการตลาดหุ้นเผยทั่วโลกกังวลเหตุประชุมกลุ่มโอเปกและประเทศในกลุ่มพันธมิตรไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับร่วงลงมาจาก 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาอยู่ที่ราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กระทบเป็นลูกโซ่ในหุ้นกลุ่มพลังงาน ทรัพยากร และสถาบันการเงิน กดมาร์เกตแคปหุ้นไทยร่วงเกือบ 50% เผยปรึกษาคลังแล้วเตรียมออกมาตรการดูแลทุกระยะ พร้อมมอนิเตอร์เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบต่อการลงทุน ลั่นจับตา “Security analyst” ราคาหุ้นที่หายไปเกินจริงหรือไม่ พร้อมแนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงในช่วงตลาดผันผวน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงปัจจัยลบที่กระทบต่อตลาดหุ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเปิดภาคเช้าวันนี้ (9 มี.ค.) ปรับลดลงมากถึง 6.77% ลดลงกว่า 92.37 จุด ดัชนีหลุดมาอยู่ที่ระดับ 1,272.20 จุด ซึ่งแรงกดดันมาจากราคาน้ำมันดิบโลกปรับฐานลงแรงหลุด 40 เหรียญต่อบาร์เรล หรือลดลงรวมกันเฉลี่ยราว 30% เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงมากกว่า 5-6% และจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการรายงานให้หน่วยงานที่กำกับดูแลภาคเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับทราบเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี แต่ละอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มีความเสียหายไม่เท่ากัน โดยกลุ่มหุ้นที่กระทบจากราคาน้ำมันเป็นกลุ่มใหญ่อันดับแรก คือ 1.พลังงาน (Energy) รองลงมาคือ 2.กลุ่มทรัพยากร (Resoure) และอันดับที่ 3.กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ (Finance) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีผลต่อมาร์เกตแคปประมาณ 45-50% โดยน้ำหนักมาจากกลุ่มพลังงานและทรัพยากรรวมกันเกือบ 30% และกลุ่มธนาคารที่ถูกกระทบจากลูกค้าประมาณ 15%
"ดัชนี SET INDEX และราคาหุ้น ตลอดจนมาร์เกตแคปที่ปรับตัวลงอย่างมากในวันนี้ เมื่อเทียบกับผลกระทบทั้งปี จะต้องนำมาวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเน้นย้ำให้ทางนักวิเคราะห์ความปลอดภัย หรือ Security analyst พิจารณาข้อมูลดังกล่าวต่อไป และกลับไปพิจารณาส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้ง program trading, block trade ซึ่งขณะนี้โดยทั่วไปแล้วรายการที่เกี่ยวโยงกันต่างๆ ยังเหมือนเดิม เช่นที่ซื้อขายหุ้นในวันปกติ” นายภากร กล่าว
ขณะที่ในส่วนของมาตรการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว หรือเซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) นั้น มองว่ายังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ เพราะหากพิจารณาจากอัตราส่วนที่ลดลง ถือว่ายังไม่ถึงเกณฑ์ที่ระบุไว้ และในส่วนของหุ้นแต่ละตัวจะมีกำหนดเพดานไว้เองด้วยว่าหากราคาเกินกว่าเปอร์เซ็นต์ของเมื่อวาน ราคาหุ้นที่ซื้อขายได้จะไม่เกินนั้น และในตลาดตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) จะมีบอกเลยว่าถ้าเกิดราคาของ underwite Asset เกินจะไม่มีการซื้อขาย เพราะฉะนั้นตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นปกติ
ขณะที่ในส่วนของมาตรการเยียวยานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการคร่าวๆ ไว้ 2 ส่วนคือ มาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและมาตรการในระยะยาว โดยผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะเป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งช่วยเหลือทันที ส่วนมาตรการระยะยาวต้องแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทย
นอกจากนี้ ตลท. ได้ประสานการทำงานร่วมกันกับกระทรวงการคลังเพื่อหนุนให้ตลาดมี Investment Flow ใหม่ๆ ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้มีแนวคิดนำกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นออกมาและมีหลายมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) หรือผู้บริโภค นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพิจารณามาตรการที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทจัดการกองทุน คาดว่าเร็วๆ นี้คงจะมีมาตรการต่างๆ ออกมา เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความสนใจต่อตลาดทุนค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีคณะทำงานร่วมกันในหลายๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งคณะทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่และชุดเดิมที่มีอยู่แล้ว รับมือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
"ในขณะที่ตลาดหุ้นผันผวนนี้ที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก ขอใหนักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวและอ่านบทวิเคราะห์ถึงผลกระทบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งมุมมองบวกและลบ บางอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบมากต้องดูว่าถูกกระทบมากเกินความเป็นจริงหรือไม่ ราคาลงมากๆ บางส่วนจะเป็นโอกาสในการลงทุน ซึ่งต้องมองสัดส่วนลงทุน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรม" นายภากร กล่าวทิ้งท้าย