xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ธรรมชาติฟื้นตัว-ธารน้ำใจฟื้นคืน เรื่องดีๆ หลังพายุ “โควิด-19” โหมกระหน่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายแผนที่ทางดาวเทียมของ NASA แสดงให้เห็นถึงปริมาณมลภาวะทั่วโลกลดลงหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด – 19
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ต้องยอมรับว่า “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” หรือ “โควิด-19” ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ในช่วงเวลาทุกข์ยากแสนสาหัส ทำให้ได้เห็นธารน้ำใจไหลล้นเอ่อจากผู้คนที่หยิบยื่นให้กัน นอกจากนี้ “โควิด-19” ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในการฟื้นฟูธรรมชาติ ลดมลพิษทางอากาศ อย่างน่าอัศจรรย์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนก่อนลุกลามไปทั่วโลกนั้น ทำให้ทุกประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อชะลอและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ส่งผลให้ผู้คนต่างกักตัวกันอยู่บ้าน โรงงาน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ทะยอยปิดตัวชั่วคราว

สำหรับการรับมือของรัฐบาลไทย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. - 30 เม.ย. 2563 หลายจังหวัดล็อกดาวน์สู้โควิด- 19 ปิดสถานเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด พร้อมนำแนวทาง Social Distinction หรือ การเว้นระยะห่างทางสังคม เข้ามาเป็นกลไกในการลดการแพร่กระจายของ โควิด-19 รวมทั้ง มาตรการ Work From Home หรือ ทำงานที่บ้าน ตลอดจนการผลักดันแคมเปญ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังยึดปฏิบัติเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตโดยเร็ว

สถานการณ์โควิด-19 ในเมืองไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 100 คนต่อวัน ตัวเลขยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง ซึ่งอนาคตตัวเลขจะลดลงโดยเร็วหรือไม่นั้น ประชาชนทุกคนเป็นผู้กำหนดด้วยตัวเอง ตามแนวปฏิบัติ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความตึงเครียดจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดปรากฎการณ์หนึ่งขึ้นในสังคมไทย

ทุกภาคส่วนรวมพลัง ธารน้ำใจหลั่งไหล โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เราเห็นน้ำใจของผู้คนในสังคมที่หยิบยื่นให้กันให้ห้วงเวลาประเทศประสบวิกฤตการณ์อีกครั้ง

ร้านอาหารหลายแห่งทั่วประเทศ ประกาศแจกฟรีอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ร้านหมูทอดเจ้าดังอย่าง ร้านหมูทอดเจ๊จง ที่ประกาศอาสาทำข้าวกล่องให้โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร วันละ 1,200 กล่อง เพื่อส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการสู้กับโรคโควิด-19 รวมทั้ง ประชาชนผู้มีจิตเมตตาออกมาประกาศ แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ไข่ไก่ ฯลฯ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

เกิดการระดมทุนของภาคส่วนต่างๆ สำหรับจัดซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ที่จำเป็นในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัย, ชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE, เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ มีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุน เช่น การจัดแข่งอีสปอร์ตเกม RoV (Arena of Valor) ในรูปแบบออนไลน์ สมทบทุนจัดหาหน้ากากและเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ในโครงการ Gamers and Givers

หรือ การจัดจำหน่ายภาพผลงานของ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งวาดไว้ในช่วงท้ายของชีวิต ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เพื่อนำรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย นำไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ สนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศในโครงการสืบศิลป์สร้างสรรค์แบ่งปันน้ำใจสู้ภัยโควิด-19

ตลอดจนการบริจาคเงินสมทบทุนที่หลั่งไหลสู่มูลนิธิทางการแพทย์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่หลักสิบหลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน จากคนไทยทั้งประเทศ เราได้เห็นการหยิบยื่นน้ำใจความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เช่น การลงทุน 100 ล้าน สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ช่วยเหลือในการผลิตหน้ากากที่กำลังขาดแคลน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน หรือ การทำประกันโควิด-19 ฟรี ให้บุคลากรทางการแพทย์หลายหมื่นกรมธรรม์

เกิดการสนับสนุนที่พักแพทย์-โรงพยาบาลสนาม อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดพื้นที่โรงพยาบาลของมหาลัยฯ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 308 เตียง รองรับผู้ป่วยโควิดแห่งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศที่อยู่ช่วงปิดการเรียนการสอน ในการทำโรงพยาบาลสนาม





ธารน้ำใจจากคนไทยที่หลั่งไหลออกมาไม่ขาดสาย
ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าของธุรกิจโรงแรมที่พักเสนอการช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนที่พักบุคคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลสนาม เช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า โรงแรมปัญจาดารา จ.นครราชสีมา พร้อมให้โรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนาม ขนาด 500 เตียงทันที โรงแรมไพลิน จ.สุโขทัย แสดงความประสงค์ให้ใช้สถานที่ห้องพักสำหรับพักฟื้น กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาหายจากการป่วยโรคโควิด-19 และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย หรือ อพาร์ทเมนต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา PSB1 ที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลศิริราชของ ครูเล็ก - ภัทราวดี มีชูธน ครูสอนการแสดง และศิลปินแห่งชาติ ที่ประกาศให้แพทย์และพยาบาลพักจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ

รวมทั้ง เกิดความตื่นรู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม เช่น แอปพลิเคชัน Covidtracker เช็กสถานการณ์โควิด-19 จุดเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ บริษัท 5Lab ที่คิดการณ์ใหญ่เพื่อสังคม พัฒนาแอปฯ สำหรับตรวจสอบสถานที่ต่างๆ ว่า บริเวณใดมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 รวมทั้ง ระบุว่าสถานะของข้อมูลแต่ละจุดว่าได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ และข้อมูลไหนเป็นข่าวปลอม นอกจากนี้ มีการพัฒนานวัตกรรมหน้ากากอนามัยผ้าชนิดพิเศษ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อรับมือสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การปรับตัวของผู้คนทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปรากฎการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

การกักตัวอยู่ในบ้านของประชาชน เป็นการลดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษทางอากาศทำให้ปริมาณมลพิษในหลายประเทศลดลงเป็นอย่างมาก องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (European Environment Agency) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์สภาพอากาศของยุโรปล่าสุด หลังจากมีการลดลงของกิจกรรมหลายชนิดที่เคยก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากการระบาดของโควิด - 19 ในยุโรป พบว่า จากการมอนิเตอร์มลพิษทางอากาศต่างๆจากสถานีตรวจวัดกว่า 3,000 สถานีทั่วยุโรป พบว่า มลพิษทางอากาศลดลงเกือบครึ่งในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองที่การจราจรลดลง ทั้งนี้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ยกตัวอย่าง เมืองมิลาน เมืองหลวงของแคว้นลอมบาร์ดี้ ที่มีรายงานการติดเชื้อมากที่สุดของอิตาลี พบว่า ก๊าซไนโตรเจนได้ออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศในช่วงเดือนที่ผ่านมาลดลงถึงกว่า 24% หรือ เมืองเบอร์กาโม่ ที่อยู่ในแคว้นเดียวกัน พบว่าก๊าซก๊าซไนโตรเจนได้ออกไซด์ลดลงเช่นกัน มีปริมาณสะสมในอากาศน้อยกว่าถึง 47% เป็นต้น โดยแนวโน้มดังกล่าวยังพบในเมืองอื่นๆ ของยุโรป หลังจากมีมาตรการล็อคดาวน์ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มาตรการล็อกดาวน์ในประเทศอิตาลี ส่งผลให้สภาพแวดล้อมกลับมาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง เมืองเวนิส ช่วงเวลาปกติผู้คนนิยมใช้เรือสัญจรไปมาในลำคลองต่างๆ เรือสินค้า และเรือท่องเที่ยว ทำให้ตะกอนถูกพัดขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ตอนนี้ไร้ผู้คนน้ำจึงกลับมาใส

ขณะที่ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษ รายงานว่าการปิดกิจกรรมประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการลดลงของมลพิษทางอากาศนี้ เช่น เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากถูกล็อกดาวน์มาตั้งแต่เดือน ม.ค. ข้อมูลขององค์การนาซ่า ระบุว่า ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในภาคตะวันออกและภาคกลางของจีน ลดลงถึง10 - 30%จากระดับปกติ

ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ประกาศมาตรล๊อคดาวน์ ปริมาณรถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถนนหลายสายจากที่เคยติดแน่นิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนตอนนี้มีความคล่องตัวขึ้น ประเมินด้วยสายตาปริมาณมลพิษในอากาศลดลงไม่มากก็น้อย

กล่าวสำหรับ สถานการณ์โควิด-19 เป็นการเยียวยาธรรมชาติครั้งใหญ่ เป็นต้นว่า ในประเทศอินเดีย ชายหาด ของรัฐ Odisha อย่าง หาด Gahirmatha และ หาด Rushikulya มีเต่าหญ้าทะเล (Olive Ridley) ที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ยกพลขึ้นมาวางไข่ครั้งที่ 2 จำนวนกว่า 72,142 ตัว ตามรายงานข่าวระบุว่า เต่าหญ้าทะเล จะไม่กลับขึ้นมาวางไข่ครั้งที่ 2 เนื่องจากชายหาดบริเวณนี้มีการรบกวนจากนักท่องเที่ยว

ในประเทศไทย โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักในภาคธุรกิจท่องเที่ยว แต่ขณะเดียวกันเป็นโอกาสให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง ในช่วงที่ผู้คนกักตัวไม่เดินทางไม่ท่องเที่ยวเพื่อลดการกระจายของเชื้อ รวมทั้ง การประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ

 สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นห้วงเวลาที่มวลมนุษยชาติได้เรียนรู้บทเรียนครั้งใหญ่ แม้เกิดผลกระทบมหาศาล แต่ต้องยอมรับว่ายังมีเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 


กำลังโหลดความคิดเห็น