ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ขณะที่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ระบาดไปทั่วประเทศ และรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทำให้การจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ หรือ จัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาด เป็นเรื่องที่กำลังทำได้ยาก
ตามที่ "ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค." ระบุถึงความต้องการ เครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา ทั้งในประเทศไทยเอง และในอีกหลายๆ ประเทศ ก็ยังมีความต้องการที่สูงเช่นกัน
แม้จะจัดหาได้ยาก สัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง"กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง" ได้ทำการประชุมและกำหนดแนวทาง กรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 สำหรับหน่วยราชการทั่วประเทศ
เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กระทรวงการคลัง ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุที่ใช้ในการป้องกัน ควบคุมหรือรักษา ดังนี้
1. การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด 19 ในแต่ละครั้ง ทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน
“จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้อง”
โดยให้เจ้าหน้าที่เจรจาตกลงราคากับผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างนั้นโดยตรง และให้ดำเนินการซื้อหรือจ้างไปก่อน แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้วให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม
2. การดำเนินการดังกล่าว หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้า โดยแนวทางดังกล่าวให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
“การกำหนดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับ ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคโควิด-19 เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สามารถช่วยชีวิตของประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน หากดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะและระบบเศรษฐกิจโดยรวม”
แนวทางดังกล่าว ให้หน่วยงานของรัฐประกาศเผยแพร่เอกสารต่าง ๆ ตามวิธีการที่ "กรมบัญชีกลาง" กำหนดให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ตามนัยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้ได้พัสดุนั้นอย่างรวดเร็วที่สุด ทันต่อการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ และอาศัยอำนาจตามมาตรา 63 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง และมาตรา 98
อีกประเด็นหนึ่ง กรมบัญชีกลาง เห็นว่า แนวโน้มของสถานการณ์อาจส่งผลกระทบต่อวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้แก่ประชาชนได้
เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ไม่ได้กำหนดให้สามารถขยายวงเงินทดรองราชการดังกล่าวได้
จึงได้อนุมัติให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด ปฏิบัตินอกเหนือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 18
กรณีขยายวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 50 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ เป็นกรณีพิเศษ
“การอนุมัติให้ขยายวงเงินทดรองราชการดังกล่าว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาดของโรค ประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรงของภัยพิบัติ วิเคราะห์สถานการณ์ ความเป็นไปได้และพฤติการณ์ปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
รวมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวต่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่ออนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการ
สำหรับพื้นที่จังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ให้คณะกรรมการป้องกันหรือยังยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจังหวัดดำเนินการประเมินสถานการณ์ ระดับความรุนแรง วิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปได้ พฤติการณ์ ปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ว่ามีความจำเป็นต้องป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินร่วมกับคณะกรรมการโรค
ติดต่อจังหวัดรวมทั้งเสนอมาตรการและแนวทางในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่ออนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการต่อไป
เรื่องนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย แจ้งผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ว่าเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่ขยายวงเงิน เป็น 50 ล้านบาท โดยให้เน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทันต่อสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19
" ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด สามารถนำไปจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ยา ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ หรือ สิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดได้
แต่รายละเอียด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัดว่าจะหารือการดำเนินการกันอย่างไร แต่ในประการสำคัญ คือ ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสฯ ยังคงรุนแรงในปัจจุบัน"
ส่วนวงเงินเดิม 10 ล้านบาท ของ "งบเชิงป้องกันหรือยับยั้ง" ยังสามารถดำเนินการได้ตามภารกิจในเชิงป้องกันหรือยับยั้งในภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เพราะภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ในแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีเพียงแต่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เท่านั้น
แต่หากมีทั้งภัยพิบัติจากสถานการณ์ไฟป่า ภัยแล้ง ผลกระทบจากพายุฤดูร้อน หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ก็มีความน่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าว จะต้องไปพิจารณาหารือเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติทุกประเภทให้ได้ อันเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชน อีกด้วย
เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น ในส่วนของท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าฯ และท้องถิ่นทั่วประเทศ ตามแนวทางการปฏิบัติการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)ในการป้องกันและควบคุมโควิด -19
ดำเนินการซักซ้อมการใช้งบประมาณของ อปท. สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใชจ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามหน้ที่ ของ อปท. พ.ศ. 2563 ข้อ 13 และข้อ 15 ว่าด้วย การสนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานรัฐ และในการจัดหา ยา เวชภัณฑ์ และวัสดุที่ใชในการป้องกันโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางหรือหนัง ผ้าปิดปากปิดจมูก ฯลฯ โดนคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด
"ส่วนการตั้งงบบประมาณในการปฏิบัติงานของบุคลากร ให้ตั้งงบประมาณในหมวดและประเภทใช้จ่าย หากมีงบประมาณ ไม่เพียงพอ ให้ใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยถือปฏิบัติตามระเบียบ มท. เรื่องการยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมในการควบคุมเพื่อสังเกตอาการผู้กลับจากประเทศเสี่ยง จากโรคโควิด-19 เมื่อ 17 มี.ค.2563"
สำหรับ “การจัดหาครุภัณฑ์” ที่ไม่มีกำหนดไว้ในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ หรือมีแต่ไม่สามารถจัดหาได้ ให้ดำเนินการตามเหตุผลระเบียบการใช้งบประมาณเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ ลงวันที่ 22 มิ.ย.2552 รวมถึงระเบียบการจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดินสิ่งก่อสร้าง ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น บางกรณีที่นำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนกรณีโควิด-19 ไม่ต้องนำมาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น
"เช่นเดียวกับ กรณีเกิดความเดือดร้อน มีผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือไม่ก็ตาม อปท.สามารถขอ เบิกจ่ายงบกลาง ประเภทเงินสำรองจ่ายในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ โดยไม่อยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยกรณีโควิด-19 สามารถใช้งบกลางโดยทันทีและฉับพลัน หากเงินสำรองไม่เพียงพอ"
แผนการใช้เงิน สู้โควิด-19 พร้อมทั้งหมดแล้ว แต่เครื่องมือทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ กลับขาดแคลน!