ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทิศทางประเทศไทยในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส โควิด-19 คงจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นก่อนรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ก็มีกรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งให้ร้านสะดวกซื้อ ยันรถเข็น แผงลอย ปิดการให้บริการในเวลา 00.00 -05.00น.
และก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน ที่ จ. นนทบุรี ออกคำสั่งห้ามบุคคลออกจากเคหสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น.
เป็นการยกระดับมาตรการเข้มขึ้นของภาครัฐ แต่รัฐยังใช้คำว่า ขอความร่วมมือให้ฟังดูนุ่มนวล แต่แท้จริงแล้ว มันก็คือการสั่งอย่างเด็ดขาดนั่นเอง
ความเคลื่อนไหวนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่น่าจับตาจากภาครัฐ ในมาตรการรับมือโควิด -19 ที่ใช้ในกรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เพราะทุกครั้งที่รัฐขยับในลักษณะนี้ อีกไม่เกิน 1-2 วัน มาตรการจะเข้มข้นกว่าเดิม
จึงเหมือนเป็นสัญญาณเตือน ออกมาอีกครั้ง ให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือมาตรการที่เปรียบเหมือนยาแรงกำลังจะตามมาหลังจากนี้ โดยทางการเน้นเป้าหมายไปที่ให้ประชาชน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
ตามคาด เย็นวันพฤหัสบดีที่ 2 เม. ย. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ก็ประกาศเคอร์ฟิว ทั่วประเทศ ห้ามคนออกบ้านระหว่างเวลา 22.00-05.00 น.
การเพิ่มยาแรง มาตรการเข้ม ของรัฐบาลก็เป็นเพราะว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาหลังการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังไม่เข้าเป้า
เนื่องจาก ช่วงเวลา 7 วันที่ผ่านมา หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รัฐบาลต้องการรู้ว่า ตัวเลขผู้ป่วย โควิด-19 รายใหม่ จะเป็นอย่างไร โดย 4 วันแรก ผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ แต่ลดเพียงเล็กน้อย ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นหลักร้อย ซึ่งรัฐบาลไม่ได้พอใจกับตัวเลขดังกล่าว
ซึ่งรัฐบาลต้องการลดผู้ป่วยรายใหม่มากกว่านี้ เหมือนที่ “บิ๊กกบ”พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าด้านความมั่นคง ของ ศบค. ระบุไว้
พล.อ.พรพิพัฒน์ เป็นผู้ซึ่งออกมาชี้แนะมาตรการสู้ไวรัสโควิด-19 และมีโมเดลรักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยการให้ประชาชนทำงานอยู่กับบ้านหรือ work from home ก็ได้ออกมาระบุอีกครั้งถึงการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชนว่า
แม้การสัญจรของประชากรจะลดลง 40% แต่ยังไม่พอใจ เพราะต้องการตัวเลขที่ 90% คือต้องการให้ประชาชนอยู่บ้าน
เช่นเดียวกับท่าทีของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ต้องการความร่วมมือจากประชาชน 90%
ขณะที่หน่วยงาน “ด่านหน้า”อย่างกระทรวงสาธารณสุข แสดงออกชัดว่า ไม่พอใจกับตัวเลขผู้ป่วยที่ยังแตะหลักร้อยแบบนี้
ดังนั้น การจำกัดเวลาในกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณเตือน ให้ประชาชนเตรียมตัว เหมือนกับทุกๆ ครั้ง ก่อนจะงัดมาตรการเข้มมาใช้ ก็จะมีมาตรการเบาๆ ออกมาให้รู้ก่อนทุกครั้ง
ขณะเดียวกัน สัญญาณจากตัว “บิ๊กตู่”เอง ก็แสดงให้เห็นชัดว่า กำลังจะเพิ่มระดับ หลังจากที่แถลงว่า อาจพิจารณาให้หยุดการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือด่วน
อย่าคิดว่า นี่เป็นคำขู่ เพราะ “บิ๊กตู่”เองไม่ใช่คนซับซ้อน เหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ คิดอะไรจะพูดแบบนั้น เช่นเดียวกับเรื่องนี้
การพิจารณาให้หยุดการขนส่งสาธารณะ น่าจะมาจาก ปัญหาที่บริษัทต่างๆ ยังคงให้พนักงานเดินทางไปทำงาน แทนที่จะให้ทำงานที่บ้าน อันทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากรยังมากอยู่
ดังนั้น มาตรการดับเครื่องยนต์การขนส่งมวลชน จะเป็นเครื่องมือบีบให้บริษัทต่างๆ เหลือตัวเลือกน้อย เพราะพนักงานที่ไม่มีรถส่วนตัว จะไม่สามารถมาทำงานได้
ซึ่งหากหยุดการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร จะไม่ต่างจากการล็อกดาวน์เมืองกรุง ถือเป็นมาตรการเข้ม ที่ต้องจับตาให้ดีในสุดสัปดาห์นี้
เพราะจะครบ 7 วัน หลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รัฐบาลจะมาพิจารณาและทบทวนว่า ยาแรงพอหรือไม่ ถ้ายังไม่พอก็ต้องยกระดับมาตรการขึ้นอีก
เหตุผลสนับสนุน ที่จะมีคำสั่งดับเครื่องยนต์ขนส่งมวลชนเมืองหลวง ก็มาจากรัฐบาลตอนนี้ ให้ความสำคัญ และฟังทางบรรดาอาจารย์หมอที่ปรึกษาเป็นหลัก ซึ่งท่านเหล่านี้ต้องการให้ใช้เข้มข้นขั้นสูงสุด มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลค่อยๆ ปรับระดับ ไม่ปรับทีเดียว เพื่อให้ประชาชนปรับตัว
การเริ่มล็อกดาวน์ประเทศ ประกาศมาตรการเคอร์ฟิวไปแล้ว หลังจากนี้ หวังว่าการสกัดเขื้อระบาดไวรัสโควิด-19 น่าจะได้เห็นตัวเลขที่ดิ่งลงๆ จนคนไทยพ้นวิกฤตไปได้ด้วยความสุขกันถ้วนหน้า