xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ฝ่ายค้าน”ทอดไมตรี ผนึก รบ. สู้ศึกโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป้อมพระสุเมรุ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

แม้จะมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นเวลา 1 เดือนเศษ ถึงวันที่ 30 เม.ย.63 แล้วนั้น

แม้ยังไม่มีการประเมินผลของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯของรัฐบาลออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ ที่ยังเพิ่มขึ้น “หลักร้อย” แทบทุกวัน เรียกว่าสถานการณ์ “ทรงๆ ทรุดๆ”

อีกทั้งการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องถือเป็นเพียง “เฟสแรก” ก็ยังไม่เป็นเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เหมือนอย่างที่ตอนนี้ให้อำนาจ “พ่อเมือง” ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในการออกมาตรการให้เข้ากับสถานการณ์หรือปัญหาในพื้นที่ อาทิ Lock down พื้นที่ไม่ให้เข้า-ออกโดยเด็ดขาด, ห้ามจำหน่ายสุรายาเมา หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยออกจากบ้านปรับ 2 หมื่นบาท เป็นต้น

เสมือนหนึ่งเป็นการนำร่องก่อนที่ “ส่วนกลาง” รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เปลี่ยนจากการสงวนท่าที ออกมาตรการเชิง “ขอความร่วมมือ” มากกว่าที่จะ “บังคับ” อย่างเด็ดขาด ด้วยเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ที่หนีไม่พ้นคือมาตรการ “เคอร์ฟิว” จำกัดเวลาเข้า-ออกเคหะสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 - 04.00 น. ทุกวันทั่วประเทศ ก็ยังไม่ใช่ “ยาแรงที่สุด”

เพราะต้องยอมรับว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทั้ง “ยาว” ยังเป็นปัญหาต่อไปอีกนานพอสมควร และ “ลึก” ในแง่ผลกระทบมากมายที่จะตามมาในหลายๆ ด้าน

ภาระหนักตกอยู่กับรัฐบาล โดยเฉพาะวิกฤตการณ์เกิดในช่วงคาบเกี่ยวก่อนปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรพอดี

ขณะที่แนวคิดขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อร่วมกันหาทางออกนั้น ก็ถูกพับเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะหากมีการเปิดประชุมสภาฯจริง ก็จะขัดกับหลัก Social Distancing ที่ไม่มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ดี “ฝ่ายการเมือง” ก็ยังมีความเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาออกมาเป็นระยะๆ ทั้งในส่วนที่คัดค้านประเภท “ลูกอีช่างติ” หรือประเภท “ช่างก่อ” เสนอแนวทางสร้างสรรค์ให้รัฐบาล

หรือแบบไม่ฟังอีร้าคร่าอีลม อย่าง “บิ๊กตู่” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ที่ยังเรียกประชุมกรรมาธิการการ ป.ป.ช. ในขณะที่กรรมาธิการคณะอื่นแจ้งงดการประชุมหมดแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา “ท่านเสรี” นัดประชุมกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบกรณีกักตุนและส่งออกหน้ากากอนามัย สวนสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ปรากฏว่าการประชุมล่มไม่เป็นท่า เมื่อกรรมาธิการลาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ “ฝ่ายค้าน” พรรคอื่นๆ ก็หนักไปทางข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ต้องยอมรับว่าข้อเสนอในระยะหลังๆ ดูจะ “สร้างสรรค์” มากขึ้น ไม่จะเป็นแนวทางที่เคยคัดค้านต่อต้าน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก็เสียงอ่อยยอมรับว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน

หรือกรณีที่โจมตีประเด็น “งบกลาง” ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มีวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 96,000 ล้านบาท ที่ใช้ไปหมดแล้ว ไม่เหลือสำหรับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่ “ฝ่ายค้าน” ดาหน้าถล่มแหลก ก็มีข้อเท็จจริงยืนยันแล้วว่า มีการใช้ไปแล้วทั้งสิ้น 94,029 ล้านบาท ซึ่งเป็น “กรณีจำเป็น” ทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับนโยบาย “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” หรือการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ต้องมีการปิดสถานประกอบการหลายประเภททั่วประเทศ ก็มีเสียง “ฝ่ายค้าน” สนับสนุนแต่ก็ไม่เต็มปากเต็มคำมากนัก

ถึงขนาดที่ว่า แจกเงิน 3 เดือนๆละ 5,000 บาท รวม 15,000 บาท สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านคนน้อยเกินไปด้วยซ้ำ

ตามที่ “เสี่ยโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ว่าไว้ว่า ด้วยเหตุนี้ วงเงิน 45,000 ล้านบาท ที่ใช้เยียวยาประชาชนจำนวน 3 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าสามารถเยียวยาประชาชนได้เพียง 20.7% เท่านั้น และยังเหลือประชาชนอีก 11.5 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

พร้อมแนบ “ข้อเสนอแนะเชิงสนับสนุน” ในการบประมาณด้านความมั่นคงของปีงบประมาณ 2563 ไม่น้อยกว่า 80,000 ล้านบาท พร้อมทั้งออก พ.ร.ก.เงินกู้ 200,000 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

"พรรคก้าวไกล จึงขอส่งข้อเสนอแนะเชิงสนับสนุนให้กับรัฐบาลได้พิจารณา และเข้าใจถึงความปรารถนาดีของพรรคก้าวไกล ที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อช่วยกันนำพาให้ประชาชนได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้ร่วมกัน"โฆษกพรรคก้าวไกล ว่าไว้

คล้ายกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ที่ชี้เป้าให้รัฐบาล “โยกงบ” ในส่วนที่อาจจะยังไม่จำเป็นมาใช้ก่อน อาทิ งบบูรณาการบางส่วนที่ตั้งไว้ 2.3 แสนล้านบาท และงบตามยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงบางส่วนที่ตั้งไว้ 4.2 แสนล้านบาท เป็นต้น

ทำนองเดียวกับ นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง ที่เสนอว่า “รัฐควรปรับแผนการใช้เงินงบประมาณ และโอนงบที่ไม่เร่งด่วน หรือมีแนวโน้มว่าจะใช้ไม่ทันในปีงบประมาณมาเป็นเงินทุน เพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ทุกกระทรวง กระทรวงละ 10% ได้เพิ่มอีกประมาณ 3 แสนกว่าล้าน"

หรืออย่างรายของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เรียกร้องให้มีการเยียวยา “นิสิต-นักศึกษา” ช่วงโควิด-19 ระบาด โดยขอให้รัฐบาลและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆให้พิจารณาคืนค่าเทอมในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัย และพิจารณา ปรับลดค่าเทอมในเทอมต่อไป ตลอดจนการดำเนินนโยบายเงินเดือนเยาวชน ซึ่งเป็นนโยบาย “อดีตพรรคอนาคตใหม่” อุดหนุนให้เยาวชนอายุ 18-22 ปี เดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน คำนวณให้เสร็จสรรพว่า มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 4.3 ล้านคน ใช้งบประมาณ 25,860 ล้านบาท

ขณะที่ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ “มองการณ์ไกล” ในการเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ที่กำหนดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯนช่วงเดือน พ.ค.นี้ว่า ต้องมีการจัดสรรงบประมาณสำกรับการศึกษาวิจัย “วัคซีนโควิด-19” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

แต่ก็ไม่วาย “แขวะ” รัฐบาลได้อีกว่า “เราต้องเปลี่ยนงบกระสุนมาเป็นงบวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โลก ณ ปัจจุบันนี้ อธิปไตยของชาติอาจไม่ใช่ว่าใครมีอาวุธ มีแสนยานุภาพกองทัพขนาดไหน แต่เป็นใครสามารถผลิตวัคซีนเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของตนได้มากกว่ากัน”

เรื่องของเรื่องก็มาจาก “งบด้านความมั่นคง” ที่เกาะติดกันมาตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ “งด” การเกณฑ์ทหารในปีนี้ เพื่อนำงบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาทไปใช้ในการแก้ไขวิกฤตการณืโควิด-19 แทน

หรือกรณีล่าสุดที่มี “กระแสข่าว” ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการนำวาระพิจารณาจัดซื้อ “เรือยกพลขึ้นบก” จากประเทศจีน มูลค่า 6,100 ล้านบาท ก่อนจะมีการชี้แจงว่า โครงการได้ผ่านการอนุมัติ และมีการทำสัญญาไป ตั้งแต่ พ.ย.2562 แล้ว แต่เรื่องที่เข้า ครม.เป็นเรื่องของรายละเอียดต่างๆ โดยปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมได้ถอนเรื่องออกจากวาระการพิจารณาออกไปก่อน

ทั้งนี้ทั้งนั้น “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็ยื่นไมตรีแบบ “สุภาพบุรุษ” มายังรัฐบาลแล้วว่า

“ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผมและพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทั้งในด้านการจัดสรรงบประมาณ การออกกฎหมายเร่งด่วน และการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อเราจะได้ฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน รัฐบาลจะต้องมีมาตรการและแผนรองรับที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งบประมาณปี 2563 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ประเทศยามนี้มีปัญหาหลายสิ่งที่ถาโถมเข้ามารอบด้าน ทั้งโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือ ปัญหาภัยแล้ง เป็นบทพิสูจน์ความร่วมมือร่วมใจของพวกเราคนไทยทุกคน ในการเอาชนะวิกฤตการณ์ที่หนักหนาสาหัสครั้งนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชน ประชาชนเองก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ นี่คือเวลาที่จะหันหน้าเข้ามาร่วมมือกัน ช่วยนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤต”

 หาก “ฝ่ายค้าน” มีเจตนารมณ์ตามที่แสดงออกมานั้น ก็ถือเป็นการพลิก “วิกฤตเป็นโอกาส” ในการร่วมมือทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์. 


กำลังโหลดความคิดเห็น