ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในวิกฤตมีโอกาสอยู่เสมอ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งเฉลี่ยมากกว่า 100 คนต่อวัน ผู้คนต่างพากันกักตัว “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตอบรับมาตรการของรัฐ เกิดผลกระทบชนิดที่ว่าเศรษฐกิจซบเซากระทบกระเทือนทุกหย่อมหญ้า แต่ยังมี “ธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง” เติบโตสวนกระแส สินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการอย่างล้นหลาม
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 เกิดปรากฎการณ์ขาดแคลน “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Masks)” จนกลายมาเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” เกิดนวัตกรรม “หน้ากากอนามัยผ้า” ทั้งจากผ้ามัสลินที่มีคุณสมบัติกันละอองน้ำได้เป็นอย่างดี และนวัตกรรมหน้ากากอนามัยผ้ารูปแบบต่างๆ ทั้งสะท้อนหยดน้ำ กันละอองฝอยจากการไอจาม ป้องกันเชื้อโรค ยับยั้งแบคทีเรีย ฯลฯ
รวมทั้ง “เจลล้างมือ” ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด อ้างอิงข้อมูลจากองค์การเภสัชกรรม ระบุว่าการผลิตในประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 400,000 หลอดต่อเดือน หมายความว่าอาจไม่เพียงพอต่อความต้อง ณ เวลานี้ ซึ่งกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย เร่งอัตราการผลิตเพื่อช่วงชิงตลาด
นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ป๊อบปูล่าแบบสุดๆ เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวเครื่องราวของขลัง สำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งแจกและจำหน่าย มีผู้คนสนใจแห่แห่นบูชาหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน เช่น
“หัวนะโม” วัดเขาพระทอง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ลักษณะเป็นเม็ดกลม มีอักษรปัลลวะ หรืออักษรอินเดียโบราณจารึกไว้ เชื่อกันว่าป้องกันอหิวาตกโรคในอดีตกาล หลังจากจัดสร้างขึ้นเป็นรุ่นแรกคนแห่บูชาเกลี้ยงจนต้องออกรุ่นใหม่ ทั้งนี้ หัวนะโม วัดเขาพระทอง มีการจัดทำมาตั้งแต่ ต.ค. 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างโบสถ์หลังใหม่ของวัด
“หน้ากากผ้าลงยันต์” ของ หลวงพี่น้ำฝน วัดไผ่ล้อม หรือ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม “นะ ปัดตลอด” หน้ากากผ้าลงยันต์ด้านนอกพิมพ์ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า ยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ ยันต์หัวใจพระรัตนตรัย (อิ สวา สุ) ยันต์ครูหลวงพ่อพูล (ยันต์เมตตา) ยันต์ นะ อดทน ยันต์ นะ ปัดตลอด ยันต์หัวใจธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ท้าวเวสสุวรรณ พุทธ โธ เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับสภาวะการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส สำหรับหน้ากากทำจากผ้ามัสลิน ซักได้หลายครั้ง ส่วนเบื้องหลังจัดสร้างเพื่อทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน รวมทั้ง จัดหารายได้สมทบกองทุนหลวงพ่อพูล เพื่อสาธารณสงเคราะห์
“สติกเกอร์ยันต์เกราะเพชร” วัดเถรพลาย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี สติกเกอร์ขนาด 9x9 เซนติเมตร ประกอบด้วย ยันต์ตรีนิสิงเห 4 มุม 4 ทิศ ลงอักขระคาถาสำคัญ ใช้ป้องกันภัยอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ มีท้าวเวสสุวรรณ เทพเจ้าแห่งยักษ์ผู้คุ้มครองและดูแลโลกมนุษย์ และยันต์เกราะเพชร ใช้ป้องกันสิ่งอัปมงคลเข้าตัว โดยมีการสวดเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งเป็นบทสวดมนต์ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศใช้เพื่อไล่โรคภัยมาแต่ครั้งพุทธกาล ทั้งนี้ เป็นสติกเกอร์แจกฟรี โดยทางวัดจัดทำเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่มาไหว้พระ มุ่งหวังเป็นการเตือนสติ ไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ รวมถึงสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้าน
รวมถึง “เครื่องประดับแนวมูเตลู” เสมือนเครื่องรางของขลังปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่ได้รับความนิยม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
และแน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างขวัญกำลังใจในยามเกิดวิกฤตโรคระบาด สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองและใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ เพื่อให้ประเทศไทยของเราข้ามผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปได้เร็วที่สุด
นอกเหนือจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์อีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะผู้คนกำลังดำเนินชีวิตภายใต้นโยบายรัฐ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว
ในส่วนของธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ในทิศทางเดียวกัน ดังต่อไปนี้
ธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์และยา สถานการณ์เลวร้ายของ โควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ทำให้ธุรกิจกลุ่มเวชภัณฑ์และยาเติบโตต่อเนื่อง กล่าวสำหรับ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ในเมืองไทย มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี มูลค่ารวมกว่า 177,000 ล้านบาท โดยปี 2563 คาดว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มากกว่าร้อยละ 95 ของประมาณการผลิตยาทั้งหมด
รวมถึงยาสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณช่วยลดอาการจากไข้หวัด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้มีประชาชนให้ความสนใจแห่ซื้อเป็นจำนวนมาก โดยภาพรวมมูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ ปี 2563 คาดการณ์ว่าจะเติบโตทะลุ 20,000 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท
และในส่วนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัย นอกจาก หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ยังมีผลิตภัณฑ์จำพวก น้ำยาฆ่าเชื้อโรค สบู่ทำความสะอาด ทิชชูเปียก กระดาษชำระ เป็นต้น ล้วนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากประชาชน
ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ช้อปปิ้งออนไลน์ การรุกตลาดทางช่องทางออนไลน์ของผู้ประกอบการเพิ่มโอกาสธุรกิจ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงหลายเท่าตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค. - 30 เม.ย. 2563 ที่มีการปิดสถานประกอบ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 20 - 30 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ หรือเพิ่มขึ้นจาก 26,200 ล้านบาทในช่วงเวลาปกติ เป็น 33,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราวๆ 6,800 ล้านบาท
สำหรับอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มในเมืองไทย อย่าง Lazada เพิ่งจัดแคมเปญ 8th Birthday Sale เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีนักช้อปให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพิ่มยอดขายให้แก่แบรนด์และผู้ค้าใน Lazada เช่นเดียวกับ Shopee ที่ยอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยสนับสนุน
อย่างไรก็ดี ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย มีมูลค่า 748,000 ล้านบาท ครองอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การจัดแคมเปญโปรโมชันตลอดทั้งปีของอี-คอมเมิร์ซแพลตฟอร์มรายใหญ่ เป็นปัจจัยกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจกลุ่มประกันชีวิต สถานการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ยอดขาย “ประกันโควิด-19” รวมทุกบริษัทพุ่งพรวดกว่า 2 ล้านกรมธรรม์ เงินสะพัดนับพันล้าน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด บริษัทประกันชีวิตเร่งออกผลิตภัณฑ์ “ประกันโควิด - 19” หลากรูปแบบรองรับความต้องการของผู้โภค จุดเด่นเบี้ยประกันถูก จ่ายหลักร้อยคุ้มครองหลักแสน มีแผนคุ้มครองให้เลือกหลายหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทตรวจพบเชื้อโควิด-19 จ่ายเงินทันที ประเภทดูแลค่ารักษาพยาบาล ประเภทสินไหมชดเชยรายได้ เป็นต้น
และด้วยความหวาดกลัวของผู้คนและความต้องการหลักประกันในชีวิต ทำให้คนไทยแห่ซื้อประกันโควิด-19อย่างล้นหลาม จนบริษัทประกันเว็บไซต์ล่มรวมทั้งออกกรมธรรม์ไม่ทัน อีกทั้ง ยังมีการปรับเงื่อนไขเข้มข้น เพิ่มเบี้ยประกัน สำหรับผู้เอาประกันรายใหม่อีกด้วย
ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ วิดิโอสตรีมมิ่ง การระบาดของ โควิด - 19 เพิ่มโอกาสในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ต่างๆ โดยเฉพาะยอดผู้ชม หนัง - ซีรีย์ ผ่านบริการสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ที่พุ่งพรวด ถึงขั้นผู้ให้บริการสตรีมมิงต้องยอมลดคุณภาพของวิดีโอ เพื่อแก้ปัญหาผู้ชมจำนวนมากแย่งชมรายการที่มีความละเอียดสูง จนทำให้การใช้งานช้าลงนั่น โดย New York Times รายงานว่า ธุรกิจสตรีมมิ่งอย่าง Netflix เกิดปรากฏการณ์ uptick หรือ การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ทั่วโลก รวมทั้ง ราคาหุ้นในตลาดของ Netflix เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เรียกว่า อุตสาหกรรมสตรีมมิง ได้รับอานิสงค์จากการที่ประชาชนกักตัวอยู่บ้านอย่างถ้วนหน้า
ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่แอปพลิเคชั่น (Food Delivery Application) เช่น Grab, Line man. Food Panda และ Get ในแต่ละวันออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่โตต่อเนื่องทุกปีประมาณ 10% มูลค่ารวมของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ปี 2562 ซึ่งอยู่ราวๆ 33,000 - 35,000 ล้านบาท ความนิยมของฟู้ดเดลิเวอรี่นอกจากสร้างมูลค่าให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของร้านอาหารในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด - 19
อีกทั้ง ผลกระทบของโควิด-19 ไม่เพียงทำให้ฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นธุรกิวดาวรุ่ง ฟู้ดเดลิเวอรี่ยังมีความต้องการกำลังคนมาเสริมทัพอีกเป็นจำนวนมาก โดยศูนย์บริการจัดหางานพาร์ทไทม์ (Part-time) ระบุว่า ตำแหน่ง พนักงานเดลิเวอรี่ เปิดรับมากว่า 20,500 อัตรา สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของตำแหน่งงานพาร์ทไทม์ ว่าง 28,363 อัตรา
อย่างไรก็ดี การระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเรียกความเชื่อมั่นให้แบรนด์ อาทิ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ออกนโยบายเร่งด่วน หยุดผลิตชุดชั้นใน หันมาผลิต หน้ากากอนามัย จากผ้าสเปเซอร์แจกฟรี สู้ภัยโควิด-19, บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีเปิดไลน์ผลิตหน้ากากผ้า นำร่องแจกจ่ายให้พนักงาน ก่อนส่งต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐ,
บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอย่างนีเวีย และยูเซอริน ผลิตแอลกอฮอล์ทำล้างมือ 20,000 ลิตร เพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ, ชุดนักเรียนตราสมอ ประกาศแจกฟรีหน้ากากผ้า 300,000 ชิ้น ให้กับลูกค้าและประชาชนทั่วไป โดยสามารถรับได้ที่ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ
หรือ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศงดการใช้งบโฆษณาผลิตภัณฑ์ทุกแบรนด์ในเครือ เพื่อนำเม็ดเงินไปใช้ในการร่วมแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ด้วยการร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
จะเห็นว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดขอไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยตรง ยังมีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์อยู่จำนวนไม่น้อย รวมทั้ง การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แบรนด์อีกต่างหาก