ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -มาตามนัด พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของคุ้นชินรับมือความขัดแย้งทางการเมืองตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา
เพียงแต่ครั้งนี้ถูกใช้ในบริบทที่ต่างออกไป ไม่ใช่ใช้คุม“ม็อบ”แต่ใช้คุม “ไวรัสโควิด-19”ที่แพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ จนยอดตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนทะลุหลักพันไปแล้ว
ผิดคาดนิดหน่อย เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวหนาหูว่า รัฐบาลเตรียมจะประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เพื่อใช้สกัดการแพร่ระบาด แต่สุดท้ายยังเป็นแค่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลายคนบ่นอุบ เพราะคณะรัฐมนตรีให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กลับให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม หรืออีก 2 วัน หลังจากที่ประชุมมีมติ อย่างนี้ไม่น่าจะเรียกว่าฉุกเฉิน หากแต่ทำให้คนแตกตื่นกันอีกครั้ง หลังเพิ่งขวัญหนีดีฝ่อ ทะลักหนีกรุงไปอยู่ต่างจังหวัด เนื่องจากกรุงเทพมหานครไล่ปิดห้างร้าน
โดนค่อนแคะหนักว่าทำอะไรล่าช้า เสียของซ้ำซาก ตั้งแต่ประกาศเข้มมาตรการเข้าประเทศ ที่มีเสียงเรียกร้องให้ทำตั้งนาน แต่รัฐบาลเพิ่งจะทำมาได้กี่วัน หรือแม้กระทั่งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ทำหลังคนกลับจากเมืองกรุงไปหมดแล้ว
แต่หากถอดรหัสการดำเนินการของรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นไวรัสมรณะตั้งแต่เริ่ม ดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะไต่ระดับอย่างช้าๆ มากกว่า ไม่ใช่ไม่ทันการณ์ หากแต่รัฐบาลพยายามปรับความรู้สึกประชาชน เพื่อให้มาตรการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด โดยใช้บริบทของสังคมไทยเป็นตัวตั้ง
อย่างมาตรการที่กรุงเทพมหานครไล่ปิดห้างร้าน เปิดเฉพาะโซนอาหารเพื่อให้ประชาชนนำกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน จนคนแห่ไปสถานีขนส่งหมอชิตเพื่อกลับต่างจังหวัด พบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่กลับประเทศตัวเอง เสมือนเป็นการเปิดทางให้กลับประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดความแออัดของประชากรในกรุงเทพมหานคร เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงลง
เพราะดูตามสถานการณ์ ณ วันที่กรุงเทพมหานครประกาศปิดห้างร้านนั้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ได้กระจายไปยังทั่วภูมิภาคแล้ว โดยเฉพาะกรณีจากสนามมวย และผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะเข้ามาควบคุมดูแลชนิดที่ว่าเข้มข้น
แน่นอนว่า มีความผิดพลาด เนื่องจากจำนวนประชากรที่เดินทางกลับนั้น มีบางส่วนที่เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการชั่วคราว ทั้งค่าครองชีพ ค่าเช่าบ้าน ทำให้ตัดสินใจกลับภูมิลำเนาแบบล้นทะลัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์การใช้มาตรการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดนั้น จะพบว่าเน้นการยกระดับจากน้อยไปหามาก แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่“ตู้มเดียว”
เริ่มตั้งแต่การตรวจเข้มการเดินทางเข้าประเทศ ต่อด้วยการปิดผับ บาร์ ร้านอาหารที่มีการแสดงดนตรี ถัดจากนั้นไม่นานกรุงเทพมหานคร ปิดห้างร้าน เหลือไว้แต่ศูนย์อาหาร ร้านอาหาร กระทั่งเตรียมจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งระยะเวลาในแต่ละมาตรการห่างกันเพียงแปบเดียวเท่านั้น
ส่วนหนึ่งเพราะประเมินแล้วว่า ไม่ว่ามาตรการอะไรออกมาประชาชนจะตื่นตัว ดังนั้นจึงเน้นปรับระดับ ซึ่งประชาชนเองจะมีเวลาในการเตรียมตัวสำหรับมาตรการที่จะเข้มข้นขึ้นของรัฐ
แม้แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในครั้งนี้ ที่รัฐบาลยังปฏิเสธว่า ไม่มีการหารือเรื่องการประกาศ“เคอร์ฟิว”หากแต่มันจะเดินถึงจุดนั้นแน่นอน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่แม้ยังไม่มีผลทันที แต่ทำให้ประชาชนเกิดอาการตื่นตัวอีกครั้ง ห้างร้านบริษัทปรับระดับมาตรการลดการแออัด ให้ลูกจ้างไปทำงานที่บ้านมากขึ้น
อย่างน้อย 2 วันก่อนจะมีผล การเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับประชาชนได้เกิดขึ้นแล้ว จากนั้นรัฐบาลก็จะดำเนินการตามรายละเอียดที่พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่
จะนานหรือช้า กว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจะเดินไปสู่จุด “เคอร์ฟิว”ขึ้นอยู่ที่ว่า หลังรัฐใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้ว มีคำสั่งห้ามมั่วสุม ห้ามชุมนุมไม่เกินกี่คน เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานแล้ว ฯลฯ ภาพรวมเป็นอย่างไร จะเป็นตัวบ่งชี้ให้ไต่ระดับ
“เคอร์ฟิว”ถือเป็นการกำหนดเวลาเข้า-ออก เคหะสถาน เจ้าพนักงานมีอำนาจที่เบ็ดเสร็จพอสมควรในการควบคุมดูแล ถือเป็นมาตรการที่เข้มข้น แม้แต่ช่วงการชุมนุมทางการเมือง เมื่อเจอมาตรการนี้ยัง“เอาอยู่”
และ“เคอร์ฟิว”เอง ไม่ถือว่า เป็นมาตรการขั้นสูงสุดที่รัฐบาลเตรียมไว้ เพราะรัฐบาลมีการเตรียมการ “ยาแรง”กว่านี้นั่นคือ“ล็อกดาวน์”
การล็อกดาวน์ ทุกคนจะไม่ได้ออกมาจากเคหะสถานเลย จะมีเพียงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นออกมาปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันจะมีทีมลำเลียงเสบียงอาหารไปให้ ซึ่งแน่นอนว่าเตรียมไว้ แต่ไม่อยากจะใช้ เพราะถือว่า มีผลกระทบเยอะที่สุด
ทุกๆ มาตรการจะดูผลลัพธ์ที่ออกมา หากไม่ได้ผลเลย จะมีการยกระดับในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเตรียมแผน 2-3-4 เอาไว้รอแล้ว
“บิ๊กตู่”เองก็รู้ดีว่า ไม่ว่ามาตรการอะไรต่างๆ ออกมา ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในตอนนี้คือ ตื่นตระหนกและหวาดกลัวไวรัสโควิด-19
โดยพยายามประคองตัวเอง ที่แม้จะเมาหมัด เพื่อหอบประเทศให้ผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ ส่วนวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ค่อยว่ากันอีกที
ตอนนี้มันไม่ใช่เวลาที่ใครจะร้องเรียกให้เปลี่ยนม้ากลางศึก ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด หากแต่ต้องพาสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างน้อยก็ยังมีคนให้กำลังใจในแง่ของ“ความตั้งใจ”ที่โดนโซซัดโซเซขนาดนี้ แต่ยังกำหมัดสู้รายวัน ไม่ออกอาการยกธงขาวให้เห็น