ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเร่งผลิต “แอลกฮอล์บริสุทธิ์” จัดสรรสต็อก 133 ล้านลิตร สำหรับผลิต “แอลกอฮอล์เจล - สเปรย์แอลกอฮอล์” ที่กำลังมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในเมืองไทย
เริ่มจากการที่ “กรมสรรพสามิต” ออกประกาศเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการนำ “แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 80 ดีกรีขึ้นไป” หรือเรียกว่า “สุราสามทับ” มาแปลงสภาพ เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ เพื่อจำหน่ายหรือบริจาค โดยให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเสียภาษีลิตรละ 0 บาท โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2563
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 80 ดีกรีขึ้นไป ซึ่งสารตั้งต้นสำหรับผลิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล สำหรับป้องกันโควิด-19 ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 80 ดีกรีขึ้นไป ที่เรียกว่า สุราสามทับ ด้วยกันทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ
หนึ่ง- “องค์การสุรา” กรมสรรพสามิต รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ผู้ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กำลังการผลิต 60,000 ลิตรต่อวัน หรือ 18 ล้านลิตรต่อปี โดยเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์มีความแรง 96 ดีกรี ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก มอก. ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP เป็นเกรดที่ใช้กันในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และยา หรือที่เรียกว่า Food grade หรือ Pharmaceutical grade
สอง- “กลุ่มผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออก” ประกอบด้วย 6 โรงงาน ได้แก่ บริษัท ไทยแอลกอฮอล์ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี, โรงงานน้ำตาลกว้างสุ้นหลีของกลุ่ม KSL, กลุ่มบริษัท พรวิไล, กลุ่มบริษัทยูเนี่ยนเคมิคอล, บริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรม และบริษัทอีสเทอร์น เคมีคอล ผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 96 ดีกรี ได้คุณภาพมาตรฐานระดับ food grade หรือ pharma grade เช่นเดียวกับองค์การสุรา แต่ไม่สามารถขายภายในประเทศ เฉพาะส่งออกไปขายในต่างประเทศเท่านั้น
และสาม- “กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานอ้อยผลิตน้ำตาล ทั้งหมด 26 โรงงาน ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นประมาณ 99.5 ดีกรี แต่ความที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP เนื่องจากผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงเกิดคำถามว่า แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นมีความบริสุทธิ์หรือสะอาดเพียงพอที่จะนำไปใช้ผลิตแอลกอฮอล์เจลหรือไม่ และหากนำแอลกอฮอล์เจลไปใช้ล้างมือ รวมทั้งหยิบจับอาหารเข้าปาก ขยี้ตา เกาผิวหนัง จะเหลือสารตกค้างติดอยู่ที่มือหรือไม่ จะทำให้เกิดอาการแพ้ระคายเคืองต่อผิวหนังหรือไม่ อย่างไรก็ดี มีการนำตัวอย่างส่งตรวจในห้องแล็บของ กรมสรรพสามิตแล้ว พบว่าเป็นเกรดที่บริโภคได้เสมือนสุราประเภทหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ประกาศของกรมสรรพสามิต เกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการนำแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 80 ดีกรีขึ้นไป หรือเรียกว่า “สุราสามทับ” มาแปลงสภาพ เพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ เพื่อจำหน่ายหรือบริจาค โดยให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเสียภาษีลิตรละ 0 บาท จะทำมีผู้ประกอบเข้าร่วมผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธ์รองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
กล่าวสำหรับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ได้ “กลุ่มผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง” ซึ่งจะนำมาผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือ จนเกิดข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพตามที่กล่าวในข้างต้น ต้องทำความเข้าใจว่า แต่เดิมเมื่อนำเอทานอลแอลกอฮอล์ไปผสมกับน้ำมันเบนซินแล้วจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง ทว่า ในปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซิน ณ หน้าโรงกลั่น (ก่อนเสียภาษี) มีราคาไม่ถึงลิตรละ 10 บาท เมื่อนำมาผสมกับแอลกอฮอล์ ต้นทุนลิตรละ 20 บาท ยิ่งผสมแอลกอฮอล์มากยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โรงกลั่นจึงไม่อยากซื้อ
ส่งผลให้แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า โรงงานเอทานอล 26 แห่ง มีกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันรับซื้อได้แค่ 4 ล้านลิตร ดังนั้น มีแอลกอฮอล์ส่วนเกินเหลือวันละ 3 ล้านลิตร
ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้มีความต้องการใช้แอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ด้วยเหตุนี้ “กระทรวงพลังงาน” ร่วมกับ “กระทรวงการคลัง” เห็นควรนำเอทานอลที่เหลือจากการผลิตเชื้อเพลิงประมาณ 3 ล้านลิตร ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้โดยให้กรมสรรพสามิตปรับลดภาษีเหลือลิตรละ 0 บาท เป็นสนับสนุนนำแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 80 ดีกรีขึ้นไป หรือ สุราสามทับ ที่ใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงแปลงสภาพเป็นสารตั้งตน สำหรับการผลิตเจลล้างมือ
อย่างไรก็ดี โรงงานเอทานอลทั้ง 26 แห่ง มีความสามารถในการกลั่นแอลกอฮอล์ 99.5 ดีกรีได้ แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP เหมือนกับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขององค์การสุรา ซึ่งจัดอยู่ในระดับ Food Grade เนื่องจากวัตถุประสงค์การผลิตเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ใช้บริโภค แต่กรมสรรพาสามิตรับรองผลการทดสอบแล้วว่าปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างไร
เป็นการดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยลดภาระในการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือ ที่กำลังเป็นที่ต้องของประชาชน และที่น่าจะมีการพิจารณาอีกเรื่องก็คือ “สุราชุมชนไทย” ที่มีอยู่กว่า 2,000 แหล่ง มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล เช่นเดียวกัน โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของ ดร.พลากร บุญใส อาจารย์สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ทำการสกัดแอลกอฮอล์เข้มข้น 90 - 95% สารตั้งต้นในการทำแอลกอฮอล์เจล หรือสเปย์แอลกอฮอล์ จากสุรากลั่นชุมชน จ.พัทลุง ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิตสุรากลั่นคุณภาพดี เป็นการการันตีว่าสุรากลั่นชุมชนมีคุณสมบัติในทำการผลิตแอลกอฮอล์เจล
อนึ่ง สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการแอลกอฮอล์เจลสูงขึ้น อีกทั้งราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เดิมทีแอลกอฮอล์เจลล้างมือหนึ่งกล่องที่บรรจุ 12 ขวด ราคา 30 ดอลลาร์หรือราว 960 บาท ปัจจุบัน ราคาพุ่ง 160 ดอลลาร์ หรือประมาณ 5,000 บาท
ทำให้โรงกลั่นสุราหลายเมืองในสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนสายการผลิตทดลองผลิตแอลกอฮอล์เจลจำหน่าย โดยใช้สูตรตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เช่น บริษัท Patapsco Distilling ในรัฐแมรี่แลนด์ ที่เริ่มต้นผลิตเจลล้างมือโดยใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว เอทธานอล ผสมไกลเซอร์รีน และไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ โดยเจ้าของโรงกลั่นสุราแห่งนี้ เปิดเผยว่าจะจำหน่ายแอลกอฮอล์เจลให้คุ้มทุนก่อน หลังจากนั้นตั้งใจบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการใช้ต่อไป
ขณะที่ Brad Plummer โฆษกของ American Distilling Institute เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโรงกลั่นสุรา เปิดเผยว่า “การผลิตเจลล้างมือไม่ใช่เส้นทางธุรกิจของโรงกลั่น แต่เมื่อเราอาศัยอยู่ในชุมชน เรารู้จักพวกเขา เราเห็นความทุกข์ยากของพวกเขา และเมื่อเราขีดความสามารถที่จะช่วยได้ ทำไมเราจะไม่ช่วยล่ะ!”
หรือ “ดิอาจิโอ” เจ้าของแบรนด์จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ และสเมอร์นอฟ ประกาศบริจาคแอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิตวอดก้าเพื่อผลิตเจลล้างมือกว่า 7 ล้านขวด มอบแด่บุคลากรทางการแพทย์ ช่วยแก้ปัญหา COVID-19
แต่ที่น่าหดหู่ใจก็คือ มีผู้ไม่ประสงค์ดีฉกฉวยโอกาสลอบจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน “แอลกอฮอล์เจลปลอม” ที่มีส่วนประกอบของ “เมทิลแอลกอฮอล์” หรือ “เมทานอล” โดยแอบอ้างว่าเป็น “เอทิลแอลกอฮอล์” หรือ “เอทานอล” สำหรับผลิตแอลกอฮอล์เจล
ทั้งนี้ “เมทิลแอลกอฮอล์” เป็นสารที่มีพิษต่อร่างกายรุนแรง สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ หากหายใจหรือสัมผัสในปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลําบาก การมองเห็นผิดปกติและ อาจตาบอดได้
อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิต จัดสรรสต็อกแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีความเข้มข้นเกิน 80 ดีกรีขึ้นไป หรือ สุราสามทับ จากผู้ผลิตแอลกอฮอล์ในประเทศไทยทั้ง 3 กลุ่ม องค์การสุรา, กลุ่มผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออก และกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยผู้ผลิตสุราสามทับทั้ง 3 กลุ่ม มีกำลังการผลิต 7.395 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนตัวเลขล่าสุดสต็อกอยู่ที่ 133 ล้านลิตร สำหรับแปลงเป็นผลิตภัณฑ์แอลกฮอล์ล้างมือให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชาชน
“ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตแอลกอฮอล์แล้วจะเร่งผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จึงขอเตือนผู้ที่ฉวยโอกาส กักตุนแอลกอฮอล์ เพื่อขายเกินราคาว่าแอลกอฮอล์ไม่เหมือนหน้ากากอนามัย เป็นวัตถุไวไฟ หากจัดเก็บไว้ในปริมาณมาก อาจมีอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ตอนนี้ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมากักตุนแล้ว เนื่องจากผู้ผลิตแอลกอฮอล์ทั้ง 3 กลุ่ม มีสต็อกแอลกอฮอล์เหลือถึง 133 ล้านลิตร ขณะเดียวกันก็มีการเร่งกำลังการผลิต เพื่อนำออกมาขายในช่วงนี้อีก” นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวแสดงความเชื่อมั่นในการจัดสรรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ สำหรับผลิตแฮลกอฮอล์ล้างมือ แก้ปัญหาการขาดตลาด และจำหน่ายเกินราคา
และถ้าจะให้ดีถ้าจะมีการตั้ง “สถานีแอลกอฮอล์” เอาไว้บริเวณ “สถานีบริการน้ำมัน” เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนในราคาที่เหมาะสมก็จะเป็นการดีไม่น้อย.