ราคาน้ำมันไหลลดลงอย่างไม่มีพื้นรองรับ ขนาด Goldman Sachs ออกมาเตือนในรายงานที่ส่งให้ลูกค้าเมื่อสองวันนี้เองว่า ราคาน้ำมันโลกจะไปถึง 20 เหรียญต่อ 1 บาร์เรลแน่นอน...พูดยังไม่ทันขาดคำดี เมื่อคืนนี้ราคาไปแตะช่วงซื้อขายต่ำกว่า 20 เหรียญเรียบร้อยแล้ว และปิดตลาดที่ 20 เหรียญที่นิวยอร์ก
ดูท่าทาง 20 เหรียญจะเอาไม่อยู่ด้วยซ้ำ เพราะทางซาอุฯ ได้ประกาศหลังจากรัสเซียเดินออกจากการประชุมกลุ่ม OPEC+ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ซาอุฯ จะเริ่มผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1 ล้านบาร์เรล พร้อมๆ กับลดราคาน้ำมันลงบาร์เรลละ 6-8 เหรียญ
เรียกว่า ถล่มตลาดกันทีเดียว
โดยซาอุฯ บอกว่า เขาสู้ได้กับราคาน้ำมันที่จะต่ำลงเรื่อยๆ เพราะต้นทุนการผลิตน้ำมันของเขาอยู่แค่ประมาณ 10 เหรียญต่อบาร์เรล
ถ้าราคาน้ำมันยังสูงกว่า 10 เหรียญ เขาก็ยังพอมีกำไรมาใช้จ่ายในประเทศ
เพราะบ่อที่ซาอุฯ เป็นบ่อที่สร้างมานาน ตั้งแต่ต้นทุนการสร้างยังต่ำกว่าบ่อใหม่ๆ ที่สร้างด้วยต้นทุนที่สูงกว่า
ซาอุฯ ดูจะมั่นอกมั่นใจว่า ต้นทุนของตนจะต่ำกว่าของรัสเซีย
และซาอุฯ พยายามกดดันเพื่อให้รัสเซียทนไม่ไหวกับราคาน้ำมันที่ลดลง เพื่อหันกลับมาสู่โต๊ะเจรจา OPEC+ อีกครั้งหนึ่ง
ด้วยสูตรของซาอุฯ คือ ประเทศในกลุ่ม OPEC รวมทั้งพันธมิตรนอกซาอุฯ (ได้แก่ รัสเซียและประเทศในเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศที่ลงท้ายว่า “สถาน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันทั้งนั้น) กลับมาร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้งในการ “ลด” กำลังการผลิต เพื่อให้ปริมาณน้ำมันในโลกที่ผลิตออกมาแต่ละวัน จะไม่ล้นโลกเนื่องจากความต้องการน้ำมันลดลงฮวบฮาบจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ขณะนี้
ความร่วมมือ OPEC+ มีมาได้ 3 ปีแล้ว และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้ตกลงลดปริมาณการผลิตที่สมาชิกกลุ่มจะเฉลี่ยกันในการลดการผลิต โดยมีการตรวจสอบด้วยว่า ได้ทำตามที่ได้ตกลงไว้หรือไม่ เพราะถ้ามีการเล่นไม่ซื่อสัตย์ การตกลงลดการผลิตเพื่อพยุงไม่ให้ราคาน้ำมันตกลงมากยิ่งขึ้น ก็จะไม่ได้ผลตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
เมื่อปลายปีที่แล้วในเดือนธันวาคม เศรษฐกิจยังไม่ค่อยขยายตัวดี จากผลพวงของสงครามการค้า, สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ห้ำหั่นกันมายาวถึง 2 ปีเต็ม
กลุ่ม OPEC+ จึงตกลงกันว่า...จะต้องเดินหน้าลดการผลิตอีกเป็นวันละ 1.7 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่ 1 มกราปีนี้เพื่อพยุงราคาน้ำมัน
จะลดการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นเดือนมีนาคมคือ จบไตรมาสหนึ่ง แล้วค่อยมาประเมินว่าที่ลดการผลิตวันละ 1.7 ล้านบาร์เรลนั้นพอไหม หรือจะเริ่มลดการผลิตอีกกว่า 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
การตกลงนี้ได้ทำขึ้นก่อนไวรัสโควิด-19 จะเริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น (และขยายไปยังประเทศอื่นๆ จนทำให้เศรษฐกิจโลกแทบหยุดชะงัก) และท่าทางเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในช่วงครึ่งปีแรกนี้อย่างแน่นอน
ความรุนแรงของการระบาดใหญ่นี้ ทำให้การบริโภคน้ำมันโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะทั้งเรือบินโดยสารก็เหลือเที่ยวบินน้อยมาก รวมทั้งรถยนต์, รถโดยสารก็แทบหยุดหมด เนื่องจากมีการใช้มาตรการเด็ดขาดเพื่อชะลอการระบาดด้วยการประกาศหยุดกิจกรรมแทบทุกชนิด และให้ทุกคนทำงานอยู่กับบ้าน
การแตกหักระหว่างรัสเซียกับซาอุฯ เกิดขึ้นจากการที่รัสเซียได้สะสมความไม่พอใจตลอดเกือบ 3 ปีที่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่ม OPEC+
โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่รัสเซียอิดออดไม่อยากให้มีการลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ตกลงอีก
รัสเซียออกมาให้เหตุผลว่า เป็นการกระทำของพวกที่ชอบทำร้ายตนเอง (Masochist) ที่มัวแต่ลดการผลิต แต่เป็นการเปิดทางให้สหรัฐฯ และเหล่าประเทศอื่นๆ นอกโอเปก เช่น น้ำมันในทะเลเหนือของนอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ กลับได้ที-ขยายส่วนแบ่งตลาด โดยเฉพาะเหล่าบริษัทน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil+gas) ของสหรัฐฯ และแคนาดาที่มีต้นทุนสูงอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรล
เพราะประเทศนอกโอเปก เห็นช่องว่างที่ปริมาณน้ำมันจากประเทศ OPEC+ หายไปจากตลาดโลก รีบเพิ่มการผลิตมาแทนที่น้ำมันที่หายไปจากกลุ่ม OPEC+
เหมือนกับเป็นการเสียรู้กับประเทศนอกโอเปกนั่นเอง
โดยเฉพาะสหรัฐฯ ฉวยโอกาสผลิตน้ำมันออกมามากมายทำลายสถิติ บางวันผลิตสูงและส่งออกถึง 13 ล้านบาร์เรล
รัสเซียพูดขู่ซาอุฯ ด้วยว่า เขาพร้อมสู้ได้ถึง 8 เหรียญด้วยซ้ำ และรัสเซียต้องการให้ราคาน้ำมันตกจนบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ ต้องล้มละลาย และรัสเซียก็มีสินค้าตัวอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์, ทองคำ, ยูเรเนียม รวมทั้งล่าสุดได้พัฒนาภูมิภาคตะวันออกไกล (เมืองวลาดิวอสต็อก) จนเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหม่ และสามารถผลิตข้าวสาลีส่งออกด้วยราคาต้นทุนที่ถูกมาก เขาคุยว่าเขาส่งออกข้าวสาลีได้อย่างมหาศาลขณะนี้ ซึ่งทำให้รัสเซียสามารถสู้ได้กับราคาน้ำมันโลกที่ตกลงมากขณะนี้
หลายคนอาจคิดว่า ในเมื่อมีประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน เช่น จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน เป็นต้น พวกเขาคงดีใจที่น้ำมันราคาตกดิ่งขนาดนี้
แต่ปรากฏว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต่างหยุดชะงักหมดจากการระบาดภายในประเทศของไวรัสร้าย
ที่ร้ายสุดคือ กลุ่มสถาบันการเงินของโลกที่ปล่อยกู้ให้อุตสาหกรรมน้ำมัน จะเกิดอาการล้มละลายตามหลังการล่มของราคาน้ำมัน
รวมทั้งพันธบัตรของบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่ขายในตลาดโลก ซึ่งสถาบันการเงินเป็นผู้ซื้อเอาไว้ ก็จะกลายเป็นเศษกระดาษ
นี่เป็นสาเหตุที่ถล่มตลาดทุนตลาดพันธบัตรทั่วโลก ตามหลังการถล่มทลายของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง
สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันของเราลดลงน้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันโลกที่ลงมาเกือบ 70% ตั้งแต่ต้นปี (ต้นปีราคาอยู่ที่ 70 เหรียญ)
ราคาสินค้าในตลาดของเรา น่าจะต้องลดลงมาแทบทุกรายการ อาจถึง 50% ด้วยซ้ำ
แล้วจะมีผู้มีอำนาจคนใดเข้ามาจัดการให้ผู้ผลิต ผู้ขายยอมลดราคาสินค้าตามต้นทุนจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากมายขณะนี้หรือไม่?? ขณะที่รายได้ของประชาชนกำลังลดลงจากการถดถอยของเศรษฐกิจ