Oil price war is more about market share
by M.K. Bhadrakumar
17/03/2020
พูดกันไปทั่วว่าซาอุดีอาระเบียเปิดฉากทำสงครามตัดราคาน้ำมันกับรัสเซีย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นมันกลับไม่ค่อยเป็นเช่นนั้นเอาเสียเลย ตรงกันข้ามดูเหมือนเป็นโปรเจ็กต์ของริยาดกับมอสโกด้วยซ้ำไป โดยผู้ที่บาดเจ็บหนักหน่วงที่สุดคืออุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาลของสหรัฐฯ
เรื่องที่พูดกันซ้ำๆ ได้ยินกันทั่วไปก็คือว่า ซาอุดีอาระเบียได้เปิดฉากทำสงครามตัดราคาน้ำมันสู้กับรัสเซีย โดยทั้งเพิ่มการนำผลผลิตออกสู่ตลาด และทั้งขายในราคาที่หั่นลดลงมา ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากแรงบีบคั้นของการที่อุปสงค์ความต้องการน้ำมันกำลังลดต่ำลง เพราะการปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการที่ระบบการเงินโลกกำลังย่ำแย่หนักจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ทำให้ราคาน้ำมันดิบกำลังตกฮวบฮาบลงมาราว 30% ในระยะสัปดาห์ที่แล้ว
แต่ว่านี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาหรือ? หรือกระทั่งว่า นี่คือเรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้นมาหรือ? เพราะว่าเบื้องลึกลงไป มันมีปัจจัยต่างๆ ที่สลับซับซ้อนอยู่ชุดหนึ่ง
กล่าวโดยสรุป ข้อตกลงว่าด้วยการลดการผลิต ที่รักษากันมาได้ 3 ปีระหว่างพวกรัฐสมาชิกขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กับพวกชาติผลิตน้ำมันนอกโอเปกที่มีรัสเซียเป็นรายสำคัญที่สุด (การจับกลุ่มกันเช่นนี้ เรียกขานกันว่ากลุ่มพันธมิตร โอเปกพลัส OPEC+) ได้สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 6 มีนาคม เมื่อมอสโกปฏิเสธไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของซาอุดีอาระเบียที่จะให้ลดการผลิตน้ำมันลงไปอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน –โดยที่โอเปกจะลด 1 ล้าน และพวกประเทศผู้ผลิตนอกโอเปก 0.5 ล้าน
ทำไมรัสเซียจึงมีจุดยืนเช่นนี้? โฆษกวังเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) ออกมาแถลงในวันที่ 10 มีนาคม ว่า ก่อนที่การเจรจาของ โอเปกพลัส ในกรุงเวียนนา เมื่อ 3 วันก่อนหน้านั้นจะเปิดฉากขึ้นและปิดลงอย่างกะทันหันด้วยความล้มเหลวนั้น มอสโกเองกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกต่างๆ เพื่อดูว่าอันไหนจะเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาด และ “ทางเลือกอันหลายหลากจำนวนหนึ่งก็ได้รับการคาดคำนวณและได้รับการพิจารณาเอาไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว”
กล่าวโดยพื้นฐาน จุดยืนของมอสโกก็คือ การลดการผลิตลงไปอีกจะไม่ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณากันเกี่ยวกับอุปสงค์ความต้องการน้ำมันที่ลดน้อยลงไป ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย บอกในการประชุมของพวกเจ้าหน้าที่ผู้ผลิตด้านพลังงานของแดนหมีขาวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ว่า ระดับราคาที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น (ประมาณ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) เป็นระดับที่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย เนื่องจากงบประมาณของประเทศคิดคำนวณผูกติดกับระดับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบชนิด “เบรนต์” (Brent) ที่ 42.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ปูตินกล่าวในที่ประชุมครั้งนั้นซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมอสโกว่า “ทุนสำรองของเราที่สะสมเพิ่มพูนขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยรวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (National Wealth Fund) ด้วยนั้น มีปริมาณเพียงพอที่จะสามารถรับประกันได้ว่าจะรักษาสถานการณ์อันมีเสถียรภาพเอาไว้ได้ สามารถที่จะเติมเต็มทำตามพันธะผูกพันทางด้านงบประมาณและทางด้านสังคมทั้งหลายทั้งปวง แม้กระทั่งภายใต้สถานการณ์ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก” อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า รัสเซียตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติการบางอย่างบางประการ “รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับพวกหุ้นส่วนต่างประเทศ”
ตามเนื้อหาการถอดความที่เผยแพร่โดยทางวังเครมลิน ปูตินบอกกับที่ประชุมวันที่ 1 มีนาคมด้วยว่า โอเปกพลัส “ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับเสถียรภาพระยะยาวให้แก่ตลาดพลังงานของโลก ทั้งนี้ เราต้องขอบคุณสภาวการณ์เช่นนี้ เพราะเราได้รายรับงบประมาณส่วนเกินเพิ่มเติมขึ้นมา และสิ่งที่สำคัญก็คือ เป็นการเอื้ออำนวยความเป็นไปได้ให้แก่พวกบริษัทที่ทำกิจการต้นน้ำ (upstream companies) ที่จะลงทุนอย่างมั่นอกมั่นใจในพวกโครงการพัฒนาที่มีอนาคตทั้งหลาย”
เห็นได้ชัดเจนว่า มอสโกไม่ได้กำลังบ่ายหน้าสู่ประตูทางออก ขณะเข้าร่วมการประชุม โอเปกพลัส ในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ประเด็นกลับอยู่ตรงที่ว่า ฝ่ายซาอุดีอาระเบียเพิกเฉยไม่สนใจจุดยืนมุ่งประนีประนอมของรัสเซีย ซึ่งเสนอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ข้อตกลงโอเปกพลัส โดยยึดเอาตามโควตาการผลิตที่จัดสรรอยู่ในปัจจุบัน และคอยเฝ้าติดตามสถานการณ์อันวูบวาบของตลาดเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำกันต่อไป
คำถามจึงอยู่ที่ว่า สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจทำไปในที่ประชุมเวียนนานั้น พวกเขากำลังมุ่งรักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่? เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้พูดสนทนาทางโทรศัพท์กับ มกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Crown Prince Mohammed bin Salman) หนึ่งวันก่อนหน้าการประชุมที่เวียนนาหนนี้
พวกผู้เชี่ยวชาญของรัสเซียสงสัยข้องใจว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเล่นเกมแบบตีสองหน้า ตามความเห็นของพวกเขานั้น ริยาดกับวอชิงตันกำลังมุ่งปั่นราคาน้ำมัน (และอัตราแลกเปลี่ยน) ในความพยายามที่จะบีบคั้นมอสโกให้ออกไปจากตลาดพลังงานโลก และสั่นคลอนเสถียรภาพของสถานการณ์ทางการเมืองในรัสเซีย
อันที่จริงแล้ว ภายในเวทีทางภูมิรัฐศาสตร์ ซาอุดีอาระเบียมีประวัติในการแสดงบทบาทอยู่เคียงข้างสหรัฐฯเรื่อยมา แล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองประเทศนี้เองซึ่งกลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์หลักจากข้อตกลงของโอเปกพลัส
ทรัมป์เฉลียวฉลาดมากในการพลิกเปลี่ยนข้อตกลงโอเปกพลัส (ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมันภายใต้ภูมิหลังที่พวกสินค้าพลังงานไฮโดรคาร์บอนต่างกำลังมีราคาลดต่ำ) ให้กลายเป็นเครื่องมือแห่งการขยายกิจการของพวกบริษัทอเมริกันที่สูบน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดาล (shale) เพราะเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูง (ต้องขอบคุณข้อตกลงโอเปกพลัส) นั่นแหละ ทำให้การผลิตน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดานของพวกบริษัทอเมริกันสามารถทำกำไรได้ และสหรัฐฯก็ยึดฉวยโอกาสเช่นนี้เอาไว้เพื่อสร้างโครงสร้างการส่งออกขนาดใหญ่ของตนให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และบุกเข้าสู่ตลาดใหญ่ๆ แห่งใหม่ๆ (เป็นต้นว่าอินเดีย)
ข้อมูลตัวเลขต่างๆ สะท้อนถึงความเป็นจริงเหล่านี้ได้อย่างดีเยี่ยม โดยที่ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งข้อตกลงโอเปกพลัสเริ่มมีผลบังคับใช้ การส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นมา 5 เท่าตัว และการผลิตน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดานก็สูงขึ้นจาก 8.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ซาอุดีอาระเบียก็เช่นเดียวกัน ได้ประโยชน์มากมายจากข้อตกลงโอเปกพลัส ดังที่มีหลักฐานจากความเคลื่อนไหวของประเทศนี้ในการนำเอารัฐวิสาหกิจซาอุดีอารัมโค (Saudi Aramco) เข้าทำไอพีโอและจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ได้เม็ดเงิ นทุนสำหรับดำเนินโครงการการปฏิรูปทางสังคมและทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ อันใหญ่โตมโหฬารของมกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ภายใต้ชื่อเรียกขานอันสะดุดตาว่า “วิสัยทัศน์ปี 2030”
ในทางตรงกันข้าม สำหรับรัสเซียแล้ว ข้อตกลงโอเปกพลัสโดยสาระสำคัญหมายถึงแดนหมีขาวจะต้องตัดลดส่วนแบ่งตลาดโดยสมัครใจ ซึ่งแน่นอนทีเดียวคือการสูญเสียรายได้ที่น่าจะมีโอกาสได้มา ด้วยเหตุนี้ จากการตอบว่า “ไม่” ของฝ่ายรัสเซียต่อข้อเรียกร้องของฝ่ายซาอุดีอาระเบียที่ให้ลดการผลิตลงไปอีก ในทางสาระสำคัญแล้วคือมอสโกกำลังส่งสัญญาณ ณ ที่ประชุมเวียนนาว่า ตนจะไม่อุดหนุนจุนเจือการผลิตของพวกบริษัทน้ำมันแหล่งชั้นหินดินดาลของอเมริกาอีกต่อไปแล้วนั่นเอง
ถึงแม้สามารถพูดได้เช่นนี้ ในอีกด้านหนึ่ง เราย่อมจับตามองได้เช่นเดียวกันว่า มกุฎราชกุมารเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ก็คงต้องมีข้อพิจารณาของพระองค์เองเหมือนกัน ในการปล่อยน้ำมันออกมาท่วมทะลักตลาดตอนที่อุปสงค์ความต้องการของตลาดกำลังอยู่ในอาการดำดิ่งย่ำแย่ ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า การต่อสู้ในเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งเป็นพระราชาธิบดีองค์ต่อไปภายในราชวงศ์ซะอูด กำลังดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และวิกฤตการณ์ในตลาดน้ำมัน ตลอดจนความตื่นตระหนกที่ติดตามมาภายในราชวงศ์ อาจจะกลายเป็นม่านควันกำบังสำหรับที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะได้ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างพวกศัตรูทางการเมืองของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความแกร่งกล้าให้แก่ฐานะของพระองค์เองในการเป็นทายาทที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ซัลมาน (ในความเป็นจริงแล้ว การปราบปรามกวาดล้างยังคงดำเนินอยู่ ยังไม่ทันจบสิ้นลงไป)
นายกรัฐมนตรี มิคาอิล มิชูสติน (Mikhail Mishustin) ของรัสเซีย เพิ่งแถลงว่า “ฝ่ายเราไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มการถอนตัวออกจากข้อตกลง (โอเปกพลัส) ตรงกันข้าม เราเสนอให้ขยายเวลาบังคับใช้ข้อตกลงฉบับนี้โดยยึดเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดจนกระทั่งถึงสิ้นไตรมาส 2 หรือยืดไปเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อที่จะไม่เพิ่มความสลับซับซ้อนให้แก่สถานการณ์ซึ่งยุ่งยากอยู่แล้วจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา” อย่างไรก็ดี มันมีเหตุผลอยู่หรอกที่จะขบคิดพิจารณาว่ารัสเซียมีการเตรียมตัวเผื่อเอาไว้แล้วสำหรับการขาดทุนจากราคาน้ำมันที่หล่นฮวบ และเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป แดนหมีขาวก็จะยกเลิกข้อจำกัดทุกอย่างในเรื่องการผลิตน้ำมันของตนเอง
รัสเซียมีทุนสำรองอย่างเพียงพอทีเดียวสำหรับระยะยาว ถึงแม้ราคาน้ำมันลดต่ำ ดังที่ มิชูสติน บอกว่า “เมื่อนับจนถึงเวลานี้ เราก็มีชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ดังนั้นเราจึงมีส่วนเกินก้อนใหญ่ที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย เป็นต้นว่า ธนาคารแห่งประเทศรัสเซีย (Bank of Russia) มีทรัพย์สินที่เป็นทองคำและที่เป็นสกุลเงินตรา รวมแล้วมากกว่า 570,000 ล้านดอลลาร์ ปริมาณของทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (National Wealth Fund) ก็ประมาณการกันว่าสูงเกินกว่า 10 ล้านล้านรูเบิล ดังนั้น แม้กระทั่งถ้าหากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำอย่างสม่ำเสมอ กองทุนเหล่านี้ก็จะยังเพียงพอสำหรับชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปได้เป็นเวลาหลายปี”
นอกจากนั้นแล้ว รัสเซียยังกำลังดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ในการทดแทนการนำเข้าเพิ่มเติมขึ้นอีก ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและในด้านเกษตรกรรม
พูดกันโดยองค์รวม รัสเซียดูเหมือนคาดการณ์เอาไว้ว่า “สงครามราคา” ที่ทำกับซาอุดีอาระเบียนี้ น่าจะไม่มีการยุติลงไปในเวลาอันรวดเร็ว มีความเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติในหมู่พวกผู้เชี่ยวชาญว่า ทั้งสองประเทศต่างสามารถอยู่รอดต่อไปได้กระทั่งเมื่อราคาลงมาต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่นั่นคือจุดที่พวกเขาต้องสิ้นเปลืองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพวกเขาไปเรื่อยๆ (ทุนสำรองของประเทศทั้งสองหากพูดกันเป็นตัวเลขหยาบๆ ก็ถือว่ามีอยู่พอๆ กัน นั่นคือ ราวๆ ครึ่งล้านล้านดอลลาร์) ถึงแม้รัสเซียอยู่ในฐานะที่ดีกว่ามาก เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่จะทำให้แดนหมีขาวอยู่ในภาวะสมดุลทางงบประมาณนั้น ประมาณการกันเอาไว้ว่าอยู่ที่ราว 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่จุดสมดุลทางงบประมาณของซาอุดีอาระเบียคือ 80 ดอลลาร์
เศรษฐกิจของซาอุดีอาระเบียนั้นต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันอย่างสูงลิ่ว และเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดต่ำลงก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณอย่างรุนแรง แต่ริยาดย่อมสามารถที่จะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปนี้ด้วยเงินทุนสำรองที่มีอยู่, การกู้ยืม, และแม้กระทั่งด้วยการลดค่าสกุลเงินตราแห่งชาติ ซาอุดีอาระเบียจึงสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ภายใต้ราคาน้ำมันที่ระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นเวลานานหลายๆ ปี และเป็นการประมาณการที่ยุติธรรมสมเหตุสมผลเมื่อพูดว่า ซาอุดี อารัมโค นั้น เมื่อพิจารณาจากลักษณะพิเศษต่างๆ ของแหล่งน้ำมันของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้แล้ว จะยังคงสามารถผลิตน้ำมันได้อย่างราบรื่นด้วยต้นทุนเพียงแค่ 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล “ไม่ใช่เพียงแค่ระยะยาวเท่านั้น แต่แทบจะตลอดกาลกันเลยทีเดียว” อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญชาวรัสเซียคนหนึ่งกล่าวเอาไว้
รัสเซียก็เช่นกันมีแหล่งน้ำมันซึ่งต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำมากๆ สืบเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดติดกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทว่า “สงครามราคา” ของ 2 ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดนี้ กลับจะไปสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ผลิตประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ถ้าหากวอชิงตันไม่มีการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันอย่างแรงๆ ออกมาแล้ว ถึงตอนนั้นพวกบริษัทผลิตน้ำมันจากแหล่งชั้นหินดินดาลก็จะเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผันผ่านไป
รัสเซียกับซาอุดีอาระเบียมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการเพิ่มพูนการผลิตของพวกเขาเอง และบีบบังคับให้พวกผู้ผลิตน้ำมันชั้นหินดินดานของสหรัฐฯม้วนเสื่อออกไป เพื่อที่ตลาดจะได้สามารถสร้างสมดุลให้ตนเองได้เรียบร้อยในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ช่วงเวลาถูกบีบคั้นกันอย่างหน้าเขียวหน้าเหลือง จึงกำลังขยับเข้าใกล้อุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาลของสหรัฐฯแล้ว ในเมื่อข้อจำกัดทุกๆ อย่างในเรื่องการผลิตจะหมดอายุลงไปในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และทุกๆ ฝ่ายก็จะสามารถผลิตได้ตามแต่ใจปรารถนา
ราคาน้ำมันสามารถที่ลงไปสู่ระดับแค่ 20 กว่าดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อย่างง่ายดายในขณะนี้ เมื่อวันจันทร์ (16 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ หล่นลงต่ำกว่า 30ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอยู่ช่วงหนึ่งด้วยซ้ำ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา การพังครืนของตลาดน้ำมันสามารถที่จะฉุดดึงเอารัฐเทกซัส, รัฐนอร์ทดาโคตา, และแถบแอปพาเลเชีย ตลอดจนบริเวณอื่นๆ ของสหรัฐฯ ตกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จาเวียร์ แบลส (Javier Blas) หัวหน้าผู้สื่อข่าวสายพลังงานของ บลูมเบิร์ก นิวส์ (Bloomberg News) ทวิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาลของสหรัฐฯกำลังถูกเข่นฆ่ากันอย่างหมดสิ้น กำลังเลือดนองเต็มไปหมด หลักทรัพย์มูลค่าเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ถูกกวาดทิ้งไป”
เวลานี้ไอเดียที่จะให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯเข้าช่วยเหลือพวกผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สของสหรัฐฯพ้นจากภาวะล้มละลายในบางรูปบางแบบ กำลังถูกเสนอออกมาแล้วในทำเนียบขาว เป็นต้นว่า แฮโรลด์ ฮัมม์ (Harold Hamm) ผู้ก่อตั้งบริษัทน้ำมันคอนติเนนตัล รีซอร์เซส อิงค์ (Continental Resources Inc) ซึ่งบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานให้แก่ประธานาธิบดี ได้ออกมาเรียกร้องคณะบริหารทรัมป์ให้ช่วยเหลือพวกบริษัทน้ำมันชั้นหินดินดาลภายในประเทศ ต่อสู้ฟันฝ่าให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์จากการที่ราคาน้ำมันลดฮวบ
สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นในเวลานี้จึงกลายเป็นว่า ถึงแม้ซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียจะมีความแตกต่างกัน แต่พวกเขาก็มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ในเมื่อมองเห็นว่าการพังครืนของราคาในปัจจุบันกำลังสร้างความเสียหายหนักให้แก่พวกผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นดินดินดาลของสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้ดูอ่อนแอเหลือเกิน ทรัมป์ได้ประกาศเมื่อคืนวันศุกร์ (13 มี.ค.) ว่ารัฐบาลกลางสหรัฐฯจะซื้อหาน้ำมันเข้ามาบรรจุคลังสำรองน้ำมันปิโตรเลียมยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) “จนถึงระดับสูงสุด” เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ถึงแม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้จะพยายามเข้ามาแทรกแซงช่วยเหลือแล้ว ทว่าโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกจากเชื้อไวรัสโคโรนาก็ยังคงเป็นตัวทำลายอุปสงค์ความต้องการน้ำมันอย่างมากมายมหาศาลอยู่ดี ดังเห็นได้จากการที่สายการบินต่างๆ พากันยกเลิกเที่ยวบินเป็นแถวๆ ส่วนการค้าของโลกก็เหมือนกับถูกจับมัดแน่นจนดิ้นไม่หลุด สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) พยากรณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 9 มีนาคมว่า ในปี 2020นี้ อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันตลอดทั้งปีจะลดลงในระดับ 90,000 บาร์เรลต่อวัน
ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจของสหรัฐฯเองก็กำลังย่างเข้าสู่ช่วงถดถอยสืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 โดยที่วิกฤตการณ์คราวนี้มีขนาดขอบเขตอันมหึมามโหฬารยิ่ง จาก“การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั่วทั้งประเทศตกวูบลงอย่างฉับพลันทันที และการเหวี่ยงตัวของตลาดก็มีฝีก้าวที่รุนแรงอย่างชนิดไม่เคยพบเห็นกันเลยนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) (ปี 1929 จนถึงปลายทศวรรษ 1930) เป็นต้นมา” อย่างที่สื่อ โพลิติโค (Politico) เขียนเอาไว้ในวันจันทร์ (16 มี.ค.)
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า นี่มันไม่ใช่สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียจริงๆ หรอก มันมีลักษณะที่เหมือนกับเป็นการหลอกลวงกัน และแม้กระทั่งดูเหมือนเป็นโปรเจ็กต์ของซาอุดีอาระเบียบกับรัสเซียด้วยซ้ำไป โดยผู้ที่เสียหายเจ็บหนักเท่าที่มองเห็นกันเวลานี้ก็คืออุตสาหกรรมน้ำมันชั้นหินดินดาลของอเมริกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนเอาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ๆ ที่พวกเขาต้องสูญเสียไป
ถ้าหากมองดูสถานการณ์รอบๆ ทั่วๆ ด้วยแล้ว ยังจะพบว่ามีความขมขื่นแค้นเคืองแฝงฝังเอาไว้เยอะทีเดียว บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของบลูมเบิร์กชี้เอาไว้ว่า “รัสเซียกำลังโกรธเคืองมากขึ้นทุกทีกับการที่คณะบริหารทรัมป์แสดงความตั้งอกตั้งใจที่จะใช้พลังงานมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมอสโกมีความระคายเคืองเป็นพิเศษจากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการแซงก์ชั่นเพื่อกีดกันไม่ให้โครงการสร้างสายท่อส่งแก๊สที่เชื่อมแหล่งแก๊สในไซบีเรียของรัสเซียกับเยอรมนี ซึ่งมีชื่อรู้จักกันในนามสายท่อส่งแก๊ส “นอร์ด สตรีม 2” (Nord Stream 2) มีความคืบหน้าจนกระทั่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์ นอกจากนั้นทำเนียบขาวยังพุ่งเป้าเล่นงานธุรกิจในเวเนซุเอลา ของ “รอสเนฟต์” (Rosneft) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมันของรัสเซียอีกด้วย”
อเล็กซานเดอร์ ดืย์นคิน (Alexander Dynkin) ประธานของสถาบันเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Institute of World Economy and International Relations) ในมอสโก ซึ่งเป็นคลังความคิด (think tank) ที่บริหารโดยภาครัฐ ได้รับการอ้างอิงว่า ได้ออกมาพูดว่า “วังเครมลินตัดสินใจที่จะเสียสละ โอเปกพลัส เพื่อหยุดยั้งพวกผู้ผลิตน้ำมันชั้นหินดินดาลของสหรัฐฯ และลงโทษสหรัฐฯสำหรับการเข้ามาสร้างความยุ่งเหยิงให้แก่ นอร์ด สตรีม 2 แน่นอนทีเดียวว่าการสร้างความผิดหวังให้แก่ซาอุดีอาระเบียนั้น อาจกลายเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง ทว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ของรัสเซียในชั่วขณะนี้ – เป็นเรขาคณิตแห่งผลประโยชน์ที่สามารถยืดหยุ่นกันได้”
เท่าที่ผ่านมาภายในอุตสาหกรรมน้ำมันรัสเซียก็มีแรงต่อต้านไม่ใช่น้อยๆ เลยต่อข้อตกลงโอเปกพลัส ซึ่งทำให้ต้องจำกัดลดการผลิตลงมา มีความเป็นไปได้ทีเดียวว่า การล็อบบี้ของอุตสาหกรรมนี้เป็นตัวที่เพิ่มเติมบวกเข้ากับความผิดหวังของวังเครมลิมเองในช่วงหลังๆ มานี้ เนื่องจากการลงทุนของซาอุดีอาระเบียในรัสเซียตามที่คาดหวังกันเอาไว้นั้นไม่ได้บังเกิดอะไรเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา
กระนั้นก็ตาม ทางรัฐมนตรีพลังงานของฝ่ายรัสเซียและของฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังพยายามรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรเอาไว้ และกลไกต่างๆ ทางการทูตของกลุ่มโอเปกพลัส ก็ยังดำรงคงอยู่ไม่ได้ยุบเลิกไปไหน เป็นการรักษาประตูให้เปิดเอาไว้ต่อไปเผื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจหันกลับมาจับคู่เต้นแทงโก้ขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง
ดังนั้น แน่ใจได้เลยว่า โอเปกพลัสยังไม่ยุติจบสิ้นไปหรอก
(เก็บความจากเว็บไซต์ indianpunchline ของ เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ h https://indianpunchline.com/oil-price-war-is-more-about-market-share/)
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี โดยที่ราวครึ่งหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปประจำยังประเทศที่เคยเป็นดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต ตลอดจนไปอยู่ที่ปากีสถาน, อิหร่าน, และอัฟกานิสถาน ประเทศอื่นๆ ที่เขาเคยไปรับตำแหน่งยังมีเกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, และตุรกี ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในเว็บไซต์ “อินเดียน พันช์ไลน์” (https://indianpunchline.com) ของเขา หลักๆ แล้วเขียนถึงนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย และกิจการของตะวันออกกลาง, ยูเรเชีย, เอเชียกลาง, เอเชียใต้, และเอเชีย-แปซิฟิก