xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันจะไหลรูดสู่ระดับ 20 ดอลลาร์ ท่ามกลางสงครามราคาซาอุดี-รัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: อลิสัน ทาห์มิเซียน มิวส์


<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กับ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ขณะเตรียมตัวถ่ายภาพหมู่ ระหว่างการประชุมซัมมิตผู้นำของกลุ่ม จี-20 ในกรุงบัวโนสไอเรส, อาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2018 </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Oil to hit $20 amid Saudi-Russian price war
by Alison Tahmizian Meuse
09/03/2020

กลุ่ม “โอเปกพลัส” ล้มครืน และซาอุดีอาระเบียก็ประกาศเร่งปล่อยน้ำมันดิบออกมาท่วมตลาด โดยที่นักวิเคราะห์ชี้ว่าราคาอาจจะลงไปจนแตะระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

การล้มครืนของกลุ่มพันธมิตร “โอเปกพลัส” (OPEC+) แล้วติดตามมาด้วยการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศนำเอาผลิตภัณฑ์ออกมาท่วมท้นตลาด สามารถที่จะทำให้ราคาน้ำมันหล่นฮวบลงสู่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในฤดูร้อนนี้ (นั่นคือในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า -ผู้แปล)

“น้ำมัน 20 ดอลลาร์ในปี 2020 กำลังจะได้เห็นกันแล้ว มีผลกระทบต่อเนื่องทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมหึมา” นี่เป็นข้อความทางทวิตเตอร์ซึ่งโพสต์โดย อาลี เคเดรี (Ali Khedery) ที่เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านตะวันออกกลางให้แก่ เอ็กซ์ซอนโมบิล (ExxonMobil) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน

ขณะที่เรื่องนี้ย่อมหมายถึง “แรงจูงใจอย่างถูกเวลา” สำหรับพวกผู้บริโภคทั่วโลก แต่มันจะกลายเป็น “ความหายนะสำหรับพวกระบอบปกครองโจราธิปไตย-ที่เหล่าผู้นำปล้นชิงความมั่งคั่งจากน้ำมัน (petro-kleptocracies) ซึ่งประสบความล้มเหลวอยู่แล้ว/หรือว่ากำลังประสบความล้มเหลว เป็นต้นว่า อิรัก, อิหร่าน, ฯลฯ” เขาบอก

การล่มสลายคราวนี้ “อาจมีผลปรากฏออกมาว่า มัน คือ หมัด 1-2 ที่ส่งผลต่อการดำรงคงอยู่ทีเดียว เมื่อมันเข้าคู่กับไวรัสโควิด-19”

บิ๊กวาณิชธนกิจอเมริกันอย่าง โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ก็ออกมาส่งเสียงเตือนเช่นกันว่า ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ อาจจะได้เห็น “การดำดิ่งที่เป็นไปได้” ในราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ (Brent) จนอยู่ในระดับบาร์เรลละ 20 ดอลลาร์ต้นๆ

“เราเชื่อว่าสงครามราคาน้ำมันระหว่างโอเปกกับรัสเซียได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนสุดสัปดาห์นี้ เมื่อซาอุดีอาระเบียแข็งกร้าวหั่นลดราคาโดยเปรียบเทียบที่ตนใช้ในการขายน้ำมันดิบของตนเองแทบจะโดยตลอดในระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 20 ปีที่ผ่านมา” แดเมียน คูร์วาลิน (Damien Courvalin) เขียนเอาไว้เช่นนี้ในรายงานสั้นซึ่งส่งถึงลูกค้า

“ในทัศนะของเรา เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงทิศทางอนาคตของตลาดน้ำมันและตลาดแก๊สไปอย่างสิ้นเชิง และนำเอากฎกติกาวิธีเล่นของ “ระเบียบใหม่ด้านน้ำมัน” (New Oil Order) กลับมาใช้กัน โดยที่พวกผู้ผลิตต้นทุนต่ำกำลังเพิ่มซัปพลายจากกำลังผลิตที่ยังเหลืออยู่ของพวกเตน เพื่อบังคับให้พวกผู้ผลิตต้นทุนสูงกว่าต้องลดผลผลิตลง” เขากล่าวต่อ

ทั้งนี้ ซาอุดีอารัมโค (Saudi Aramco) รัฐวิสาหกิจน้ำมันซาอุดีอาระเบีย แจ้งข่าวซึ่งทำให้พวกผู้ซื้อพากันระทึกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะเสนอส่วนลดให้ในระดับ 4 ถึง 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยดีลใหญ่ที่สุดนั้นสงวนเอาไว้ให้แก่พวกลูกค้าในสหรัฐฯ อาหรับนิวส์ (Arab News) สื่อซึ่งเป็นพันธมิตรกับระบอบราชาธิปไตยแห่งนี้ รายงาน

ขณะที่เขียนรายงานข่าวชิ้นนี้เมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบได้ดำดิ่งลงมาอยู่ในระดับ 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่หล่นวูบลงมาจนอยู่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์เป็นเวลาสั้นๆ อยู่ช่วงหนึ่งด้วยซ้ำ หดหายลงมามากจากระดับ 45 ดอลลาร์ในตอนปิดการซื้อขายช่วงปกติเมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.)

การล้มครืนของ “โอเปกพลัส”

สงครามราคาคราวนี้บังเกิดขึ้นหลังจากริยาดและมอสโกล้มเหลวไม่สามารถทำความตกลงกันได้ในเรื่องการผลิต ณ การประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.) ในกรุงเวียนนา, ออสเตรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแห่งนี้

ข้อตกลงร่วมกันลดการผลิตฉบับปัจจุบัน ระหว่างโอเปกกับพวกผู้ผลิตนอกโอเปก โดยเฉพาะรัสเซีย มีกำหนดหมดอายุลงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ แต่ขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย ผู้เป็นเจ้าใหญ่อยู่ในโอเปก กำลังพยายามผลักดันให้มีการลดการผลิตลงไปอีก ท่ามกลางดีมานด์ความต้องการน้ำมันของทั่วโลกซึ่งตกฮวบ ทางฝ่ายรัสเซียกลับคัดค้าน เนื่องจากมอสโกมุ่งโฟกัสไปที่เรื่องการแข่งขันกับพวกผู้ผลิตอเมริกันซึ่งได้น้ำมันมาด้วยการเจาะสูบเอาจากแหล่งในชั้นหินดินดาล (shale)

“ดูเหมือนว่าการไล่ล่าจองล้างพวกผู้ผลิตน้ำมันจากหินดินดาล คือนโยบายของฝ่ายรัสเซีย ขณะที่นโยบายของฝ่ายซาอุดีฯคือการดึงราคาให้สูง ไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดไหน” นี่เป็นความเห็นของ จอห์น สฟาเคียนาคิส (John Sfakianakis) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอ่าวเปอร์เซีย ให้แก่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยเขาตั้งฐานอยู่ในซาอุดีอาระเบียมาเป็นเวลาราว 1 ทศวรรษครึ่ง

“ด้วยการที่ราคาน้ำมันลดต่ำ มันก็มีศักยภาพความเป็นไปได้ที่จะสามารถเบียดขับพวกผู้ผลิตจากหินดินดาลให้ออกไปจากธุรกิจ ซึ่งนี่อาจเป็นการลดซัปพลายของสหรัฐฯ ทว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่จะเล่นกันแค่สักเดือนหนึ่งหรือสองเดือน” สฟาเคียนาคิส บอกกับเอเชียไทมส์

แต่ขณะที่ฝ่ายซาอุดีเป็นผู้ที่สามารถสูบน้ำมันขึ้นมาด้วยต้นทุนต่ำที่สุดในโลก (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://aawsat.com/english/home/article/1993111/aramco%E2%80%99s-oil-production-costs-least-world-28-barrel) มันก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไปว่า ริยาดจำเป็นต้องประคับประคองราคาเอาไว้แถวๆ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อที่จะมีเงินรายรับเพียงพอสำหรับจุนเจืองบประมาณของประเทศตน

“เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตต้นทุนต่ำ จึงสามารถที่จะต่อสู้ยืดเยื้อ (ในสงครามตัดราคา) ได้ เหตุผลข้อโต้แย้งออกมาในลักษณะนี้” สฟาเคียนาคิส กล่าว แต่เมื่อนำเอาเรื่องความจำเป็นทางงบประมาณของประเทศซึ่งเศรษฐกิจอิงอาศัยน้ำมันอย่างหนัก เข้ามาพิจารณาด้วย เหตุผลข้อโต้แย้งเรื่องต้นทุนต่ำจึงสู้ยืดเยื้อได้ ก็ย่อมฟังไม่ขึ้น เขาบอก

“ซาอุดีอาระเบียไม่สามารถแบกรับราคาน้ำมัน ณ ระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ มันจะทำให้เกิดรูโหว่มหึมาทางด้านงบประมาณ นั่นจะทำให้การอยู่ดีไปได้สวยในเชิงเศรษฐกิจมหภาคของระบบเศรษฐกิจแห่งนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง ยิ่งถ้าราคาน้ำมันอยู่ที่ 20 ดอลลาร์เป็นระยะเวลายาวนานด้วยแล้ว มันก็จะเป็นข่าวร้ายสำหรับระบบเศรษฐกิจแห่งนี้” เขาแจกแจง

ราคาหุ้น“อารัมโค”หล่นฮวบ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ดูเหมือนกำลังเลือกใช้แนวทางที่แข็งกร้าว โดยกำลังพยายามอาศัยจุดได้เปรียบจากการที่ซาอุดีฯต้องเน้นหนักรักษาราคาให้สูงเอาไว้ เพื่อสนองแผนการสุดโปรดส่วนพระองค์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย นั่นคือ การตัดเอาหุ้นส่วนหนึ่งของอารัมโคออกมาเสนอขายต่อสาธารณชน และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ หลังจากได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นของซาอุดีอาระเบียเองไปแล้ว

“รัสเซียยังต้องการที่จะผลักดันทะลุผ่านตลอดให้แก่การเปลี่ยนแปลงที่ตนเองต้องการด้วย ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางบัญชีของโอเปก ในวิธีการคำนวณว่าแก๊สมีส่วนอยู่ในการจัดสรรโควตาน้ำมันอย่างไรบ้าง --โดยนี่เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งจริงๆ แล้วสามารถทำให้รัสเซียได้เพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันของตน ตามเงื่อนไขต่างๆ ในข้อตกลงที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน” มอสโกไทมส์ (Moscow Times) รายงาน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชี้ต่อไปว่า ขณะที่ริยาดเป็นผู้นำที่มีความกระตือรือร้นยิ่งในการผลักดันให้โอเปกพลัสตัดลดการผลิต มอสโกกลับเป็นผู้ที่ “ผลิตเกินกว่าโควตาการผลิตของตนอยู่เป็นประจำ”

เศรษฐกิจของรัสเซียนั้นเติบโตขยายตัวเพียงแค่ 0.5% เท่านั้นในไตรมาสแรกของปีนี้ และเสียงต่างๆ ที่ออกมาจาฝ่ายรัสเซีย ตั้งแต่กระทรวงเศรษฐกิจ ไปจนถึง รอสเนฟต์ (Rosneft ) รัฐวิสหากิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของแดนหมีขาว ล้วนเป็นการวิพากษ์โจมตีข้อตกลงตัดลดการผลิต โดยตั้งข้อหาว่าเป็นการขัดขวางการเติบโตของการลงทุนในภาคพลังงาน

ในช่วงใกล้จะถึงการประชุมของโอเปกพลัสที่เวียนนา “รัฐวิสาหกิจ พีเจเอสซี รอสเนฟต์ ออยล์ ซึ่งเป็นผู้สูบน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของการผลิตที่รัสเซียทำได้ในแต่ละวัน กล่าวเตือนว่าจะต้องมีการเลื่อนการชะลอโครงการบางโครงการไปเป็นเวลาสองสามเดือน 'เป็นอย่างน้อยที่สุด' ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงโอเปกพลัส” มอสโกไทมส์รายงาน

ยังจะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าฝ่ายซาอุดีกับฝ่ายรัสเซียจะสามารถกลับปรองดองกันและพยายามบรรลุทางออกทางการทูตได้สำเร็จหรือไม่ หลังจากหย่าร้างแยกทางกันในเวียนนา

ขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีเครื่องช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น ซึ่งได้แก่ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศปริมาณมหาศาล และการมีต้นทุนต่ำในการสูบน้ำมัน แต่ฝ่ายรัสเซียก็มีกองทุนบริหารภาคมั่งคั่งภาครัฐ “เนชั่นแนล เวลธ์ ฟันด์” (National Wealth Fund) ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีมูลค่าเท่ากับ 150,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.2% ของจีดีพีของประเทศ ณ วันที่ 1 มีนาคม

เวลาเดียวกัน ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเวลานี้ไม่มีความแน่นอนชัดเจน แต่ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งตัดสินว่าดีมานด์ความต้องการน้ำมันของทั่วโลกจะดีดตัวกลับขึ้นมาหรือไม่ และกระเตื้องขึ้นได้ขนาดไหน

สำหรับการฟื้นคืนชีพของข้อตกลงโอเปกพลัสนั้น “เราไม่สามารถปฏิเสธไปเลยว่า ...จะไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้” คูร์วาลิน แห่งโกลด์แมนแซคส์ บอก แต่เขาเองนั้นคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นหรอก

เนื่องจาก ฟอร์แมตโอเปกพลัส “โดยเนื้อแท้แล้วมีความไม่สมดุล และการตัดลดการผลิตตามข้อตกลงนี้ก็ไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจ” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “ด้วยเหตุนี้ สำหรับขณะนี้ฐานะพื้นฐานของเราในเรื่องนี้คือ จะไม่มีข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นมา โดยที่แรงตอบโต้ใดๆ มีแต่น่าจะทำให้ราคายิ่งลดต่ำลงอย่างแรงเท่านั้น”

ในภาวะเช่นนี้ ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย อาจพบว่าพวกเขาต่างพากันบาดเจ็บกันทั่วหน้า

เป็นต้นว่า ค่าเงินรูเบิลรัสเซียเมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) หล่นฮวบมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยซื้อขายกันอยู่ในระดับ 75 รูเบิลแลกได้ 1 ดอลลาร์ เวลาเดียวกันนั้น หุ้นซาอุดีอารัมโค (จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดตอดาวุล Tadawul ของซาอุดีอาระเบียเมื่อ 3 เดือนที่แล้วนี้เอง) ก็ไหลรูดลงมา 10% ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุดที่ระบบของตลาดอนุญาต

(อูเมช เดซาย Umesh Desai บรรณาธิการข่าวการเงินของเอเชียไทมส์ ช่วยรายงานเพิ่มเติม)

อลิสัน ทาห์มิเซียน มิวส์ เป็นบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวด้านตะวันออกกลางของเอเชียไทมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น