xs
xsm
sm
md
lg

‘น้ำมันโลก’หล่นฮวบ 30% หุ้นก็ตกวูบเป็นแถว หลังซาอุดีฯประกาศ‘สงครามหั่นราคา’ หวังลงโทษ'รัสเซีย'

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์/เอเจนซีส์ –ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดำดิ่งหล่นฮวบลงมาราว 30% ในวันจันทร์ (9 มี.ค.) หลังจากซาอุดีอาระเบียประกาศสงครามทั้งหั่นราคาขาย รวมทั้งกำหนดแผนการเพื่อเพิ่มการผลิตอย่างมโหฬารตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ขณะเดียวกัน ศึกในตลาดน้ำมันคราวนี้ยังส่งผลทำให้ราคาหุ้นไหลรูดทั่วโลก

ราคาน้ำมันพากันร่วงทรุดถึงประมาณ 1 ใน 3 ทีเดียว ภายหลังความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียที่เท่ากับเป็นการเริ่มต้นสงครามตัดราคา หลังจากที่รัสเซียคัดค้านไม่ตัดลดผลผลิตลงมาอีก ตามข้อเสนอขององค์การผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งนำโดยริยาด ที่มุ่งหวังจะรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันซึ่งถูกกระหน่ำตีจากความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

สัญญาล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) ของน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือของอังกฤษ ตกลงมากว่า 27% ยืนอยู่ที่ 35.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อถึงเวลา 13.40น. จีเอ็มที (20.40 น.เวลาไทย) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ร่วงมาจนแตะ 31.02 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2016 เป็นต้นมา

สำหรับน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเทอร์มีเดียต (WTI) หรือไลท์สวีตครูด ของสหรัฐฯ ก็ร่วงมากกว่า 27% มาอยู่ที่ 32.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากก่อนหน้านั้นเซถลาลงมาจนถึง 27.34 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2016 เป็นต้นมา

น้ำมันดิบที่ถือเป็นมาตรวัด (benchmark) ของสหรัฐฯชนิดนี้ เคยตกต่ำหนักหน่วงที่สุดในปี 1991 โดยในคราวนั้นราคาก็หดหายไปราวหนึ่งในสามเช่นเดียวกัน

การแตกแยกกันหนักในเรื่องการลดกำลังการผลิตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ของกลุ่มที่เรียกกันว่า “โอเปก+” ซึ่งประกอบด้วยบรรดาสมาชิกโอเปก กับชาติผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย เท่ากับเป็นการยุติความร่วมมือกันซึ่งดำเนินมากว่า 3 ปีเพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยที่ช่วงหลังสุดนั้นคือความพยายามในการสร้างเสถียรภาพของราคาซึ่งถูกคุกคามอย่างหนักจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดไวรัสโคโรนา

ซาอุดีอาระเบียนั้นยังวางแผนการจะเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบของตนออกสู่ตลาด ให้อยู่ในระดับสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเมษายนนี้ หลังจากที่ข้อตกลงฉบับปัจจุบันซึ่งกำหนดให้ตัดลดการผลิต จะหมดอายุบังคับใช้เมื่อถึงสิ้นเดือนมีนาคม แหล่งข่าว 2 รายบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันอาทิตย์ (8)

ทั้งนี้ ซาอุดีฯซึ่งยังคงมีฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังพยายามที่จะลงโทษรัสเซีย ที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จากการไม่สนับสนุนให้ตัดลดการผลิตซึ่งทางโอเปกเสนอออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว


ในอดีต ซาอุดีอาระเบีย, รัสเซีย, และชาติผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ ก็ได้เคยทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดแบบที่เกิดขึ้นคราวนี้ โดยครั้งสุดท้ายคือช่วงระหว่างปี 2014-2016 เพื่อพยายามบีบคั้นพวกผู้ผลิตจากสหรัฐฯ ซึ่งได้เติบโตขยายตัวจนกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่มาสูบน้ำมันจากแหล่งน้ำมันชั้นหินดินดาน (shale oil) และทำผลผลิตได้สูงขึ้น 1 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่แล้ว

“นี่ชัดเจนเลยว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามตัดราคา พวกซาอุดีฯแสดงปฏิกิริยาตอบโต้รวดเร็วมากในช่วงวีกเอนด์ที่ผ่านมา โดยกำลังลดราคาขายอย่างเป็นทางการสำหรับน้ำมันดิบเดือนเมษายนของพวกเขา อย่างชนิดเป็นกอบเป็นกำทีเดียว” ไอเอ็นจี อีโคโนมิกส์ ระบุในคำแถลงสั้นๆ ฉบับหนึ่งของตน

ทั้งนี้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียได้ลดราคาขายอย่างเป็นทางการของตนสำหรับการจัดส่งเดือนเมษายน สำหรับน้ำมันดิบทุกๆ เกรดไปยังจุดหมายปลายทางทุกๆ แห่ง ในระหว่าง 6 ถึง 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทางด้าน โกลด์แมน แซคส์ชี้ว่า การพยากรณ์ตลาดน้ำมันขณะนี้เลวร้ายกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 ที่สงครามราคาครั้งหลังสุดก่อนหน้านี้อุบัติขึ้นมา เนื่องจากตอนนี้ความต้องการน้ำมันกำลังล่มจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา

โกลด์แมน แซคส์ และวาณิชธนกิจใหญ่แห่งอื่นๆ อาทิ มอร์แกน สแตนลีย์ ต่างลดการคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันลง โดยมอร์แกน สแตนลีย์คาดว่า อุปสงค์น้ำมันของจีนในปีนี้จะหยุดนิ่ง ส่วนโกลด์แมนคาดว่า อุปสงค์ทั่วโลกจะลดลง 150,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งคาดว่า ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 จะยังคงอยู่แถวๆ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความผันผวนหนักในตลาดน้ำมัน ยังส่งผลกระทบกระเทือนอย่างแรงต่อตลาดการเงินโลก โดยที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ พากันไหลรูด ในแถบเอเชียเมื่อวันจันทร์ (9) ดัชนีหุ้นนิกเคอิ ของตลาดโตเกียว ปิดลดลง 5.07% ซึ่งเป็นการลดฮวบอย่างแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2018

ขณะที่ดัชนีหุ้นหั่งเส็ง ของตลอดฮ่องกง ติดลบ 4.23% สำหรับตลาดเซี่ยงไฮ้ ก็ดิ่งลง 3.01% และตลาดเซินเจิ้น ตก 3.79%

ด้านตลาดออสเตรเลีย ดัชนี เอเอสเอ็กซ์ 200 หล่นหายไป 7.33%
กำลังโหลดความคิดเห็น