xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันดิ่งเหว $4 หลุด $42 หลังโอเปก-รัสเซียเจรจาล่ม โควิด-19 ฉุดหุ้นมะกันร่วงต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ราคาน้ำมันดิ่งลงมากกว่า 10% ในวันศุกร์ (6 มี.ค.) หลังข้อเสนอลดกำลังผลิตเพิ่มเติมระหว่างชาติผู้ผลิตถูกฉีกเป็นชิ้นๆ กระพือความกังวลอุปทานล้นตลาดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปัจจัยแห่งความกังวลเกี่ยวกับไวรัสมรณะยังถล่มวอลล์สตรีทไม่หยุด ฉุดดาวโจนส์ปิดลบอีก 200 จุด ขณะที่ราคาทองคำบวกแข็งแกร่ง

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 4.62 ดอลลาร์ หรือ 10.1% ปิดที่ 41.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นการปรับลงวันเดียวหนักหน่วงสุดตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2014 แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016

ส่วนเบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 4.72 ดอลลาร์ หรือ 9.4% ปิดที่ 45.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2017

ตลอดทั้งสัปดาห์สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ลดลง 7.8% ส่วนเบรนต์ลดลง 8.9%

ความเคลื่อนไหวขยับลงหนักในวันศุกร์ (6 มี.ค.) มีขึ้นหลังจากบรรดาชาติผู้ผลิตหลักล้มเหลวในข้อตกลงลดกำลังผลิตเพิ่มเติม หลังจากรัสเซียคัดค้านข้อเสนอของโอเปกที่ต้องการปรับลดกำลังผลิตเพิ่มอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่ลดน้อยถอยลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

โอเปกมีมติเมื่อวันพฤหัสบดี (5 มี.ค.) ในการลดกำลังการผลิตอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยโอเปกต้องการให้ประเทศพันธมิตรให้ความร่วมมือลดการผลิตน้ำมันจำนวนอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ดี รัสเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยยืนยันจุดยืนเดิมที่ต้องการให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันปรับลดกำลังการผลิตตามโควตาเดิมในขณะนี้ต่อไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 2

ในการประชุมของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในปีที่แล้ว ที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิตอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน รวมเป็น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันศุกร์ (6 มี.ค.) ปิดลบแรง ขณะที่ไวรัสโควิด-19 แผ่ลามไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มเติมและก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้น ห้างร้านธุรกิจเวิ้งว้างว่างเปล่าและฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกดำดิ่ง

ดาวโจนส์ ลดลง 256.50 จุด (0.98 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 25,864.78 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 51.57 จุด (1.71 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,972.37 จุด แนสแดค ลดลง 162.98 จุด (1.87 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 8,576.62 จุด

จากการนับของเอเอฟพี ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 3,407 คน ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งแตะ 100,002 คน หลังจากพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ 17.00จีเอ็มทีของวันพฤหัสบดี (ตรงกับเมืองไทย 24.00 น.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่าน อีกจุดสาหัสของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติม 1,234 คน ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา

จีน ซึ่งไม่รับรวมฮ่องกงและมาเก๊า จุดที่ไวรัสปรากฏตัวขึ้นมาครั้งแรกในช่วงปลายเดือนธันวาคม ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 80,552 คน ในนั้นเสียชีวิต 3,042 ราย โดยนับตั้งแต่ 17.00 จีเอ็มที ของวันพฤหัสบดี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 30 ราย

ส่วนในดินแดนอื่นๆ นอกประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อรวมกันทั่วโลกแล้วกว่า 19,450 คน ในนั้นเสียชีวิต 365 ราย โดยนับตั้งแต่17.00 จีเอ็มที ของวันพฤหัสบดี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกจีน 2,349 คน และเสียชีวิต 31 ราย

ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดรองจากจีน ได้แก่ เกาหลีใต้ (ติดเชื้อ 6,284 คน เสียชีวิต 42 คน), อิตาลี (ติดเชื้อ 3,858 คน เสียชีวิต 148 คน), อิหร่าน (ติดเชื้อ 4,747 คน เสียชีวิต 124 คน) และ ฝรั่งเศส (ติดเชื้อ 577 คน เสียชีวิต 9 คน)

นักลงทุนเพิกเฉยต่อข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมองว่ามันเก่าไปแล้ว และไม่ได้เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจที่ปัจจุบันกำลังถูกกดดันจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อความยุ่งเหยิงต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทานในจีน, การเดินทางระหว่างประเทศ เช่นเดียวกับความกังวลที่ว่าโรคร้ายนี้จะปิดกั้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกา

ด้านราคาทองคำในวันศุกร์ (6 มี.ค.) ขยับขึ้นพอสมควร นักลงทุนหันถือครองสินทรัพย์เสี่ยง จากแรงเทขายในตลาดหุ้น โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 4.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,672.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตลอดทั้งสัปดาห์พุ่งขึ้นถึง 105.70 ดอลลาร์ ทำสถิติปรับขึ้นรายสัปดาห์มากสุดนับตั้งแต่ปี 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น