ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แช่แข็งเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุน ทั่วโลกหยุดชะงัก กดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 จาก 2.7% เหลือเพียง 0.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยังส่อเค้าความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก หลังจากยอดผู้ติดเชื้อนอกจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุด ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 90,000 คน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดในระดับสูงสุด ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงทางลบเพิ่มมากขึ้น โดยความกังวลที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการที่เข้มงวดในการสกัดกั้นการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศต่างๆ ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุนทั่วโลกต้องชะงักงัน
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีนมีระดับความรุนแรงและมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปมากกว่าไตรมาสแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดังนี้
1.สถานการณ์ในจีน สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า โดยไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดปะทุขึ้นมาอีก
2.สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศอิตาลี และเกาหลีใต้ สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2
3.สถานการณ์ในไทย จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ
ซึ่งสถานการณ์ข้างต้นจะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในไตรมาส 3/2563
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยคาดว่าจะหดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี และจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาทในปีนี้ ขณะที่การส่งออกไทยคาดว่าจะหดตัวถึง (-)5.6% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลงอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดดิสรัปชันในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังจีน เช่น ผลไม้ ก็มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอย่างมากจากอุปสงค์ในจีนที่อ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกลับมีแนวโน้มที่จะขยายตัว เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกัน การนำเข้าของไทยก็มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงอย่างมาก จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง ประกอบกับดิสรัปชันในห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลให้ไทยไม่สามารถนำเข้าสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางบางชนิดได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในไทย ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอลงเช่นเดียวกัน ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนไทยและต่างชาติมีแนวโน้มที่จะชะลอการลงทุนในไทย ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาครัฐอาจล่าช้าออกไปจากความเป็นไปได้ที่ดิสรัปชันในห่วงโซ่อุปทานโลกอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนสินค้าทุนที่จำเป็นต่อโครงการภาครัฐต่างๆ รวมถึงภาครัฐอาจต้องหันมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการลงทุนภาครัฐต่างๆ อาจล่าช้าออกไป นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะซบเซาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง อีกทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังก่อให้เกิดความกังวลในการออกไปจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ส่งผลให้ภาคการค้าปลีกของไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอลงส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจของไทยอาจเผชิญต่อปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มีการปิดกิจการหรือลดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทางการไทยอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 จากเดิม 2.7% ลงมาอยู่ที่ 0.5% ภายใต้สมมติฐานของสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ข้างต้น และได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ภาครัฐอาจนำออกมาใช้เพื่อเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตที่ 0.5% จะเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในปี 2552 ท่ามกลางความเสี่ยงที่ไทยอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางโครงสร้างเช่นในปี 2540 ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เกิดจากปัญหาความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน
ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ค่อนข้างลากยาวและมีผลกระทบสูง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปตามสมมิตฐาน เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่นิ่ง จึงยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจเป็นระยะๆ