xs
xsm
sm
md
lg

EIC SCB ลดเป้าจีดีพี ภาคการผลิตฟุบ เสี่ยงตกงานเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

EIC SCB ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.5% ส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักลามไปถึงภาคการผลิตและกระทบการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ปีหน้ายังเผชิญหลากปัจจัยเสี่ยง

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 จาก 2.8% เหลือ 2.5% โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวประมาณ 2.6% โดยสาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวมาก โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้าง และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการลดลงของส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อ ซึ่งน่าจะทำให้การฟื้นตัวของการจ้างงาน รายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยแม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวที่ 0.1% ในช่วงไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) แต่ก็นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2561

อย่างไรก็ดี หากพิจารณา GDP ภาคการผลิต พบว่า ยังอยู่ในภาวะ technical recession โดยล่าสุด ภาคการผลิตยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า -0.9% QoQ sa ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2562 (-1.7% และ -0.5% QoQ sa ในไตรมาสที่ 2 จากแนวโน้มการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการสะสมสินค้าคงคลังของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้น อีไอซีมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะยังเป็นไปอย่างช้าๆ ในระยะต่อไป ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าได้มีการหลุดออกจากภาวะ technical recession แล้ว โดยกลับมาขยายตัวได้ 1.0% QoQ sa หลังจากหดตัว 2 ไตรมาสติดในช่วงครึ่งปีแรกของปี อย่างไรก็ตาม การกลับมาขยายตัวได้ของการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่มาจากการซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร (ขยายตัว 1.4% QoQ sa) ในขณะที่ภาคการก่อสร้างแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.1% QoQ sa (เทียบกับ 0.0% ในไตรมาสที่ 2/2562)

**ชี้ปีหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอน**
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ยังให้ภาพที่ชะลอตัวตามผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ประเด็นค่าเงินบาทที่ลดทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออก ท่ามกลางการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังโตในกรอบจำกัด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายครัวเรือนยังสามารถเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง โดยทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะยังคงมีภาพที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3 แต่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ช่วยประคองภาพรวมการใช้จ่ายครัวเรือน ตลอดจนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 น่าจะโตดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 3 แต่คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมทั้งปี 2562 ขยายตัวได้ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ที่ 2.8% ในขณะที่ยังมองกรอบล่างไม่ต่ำกว่า 2.5%

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังเผชิญปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งเรื่องสงครามการค้า และ Brexit ที่ยังไม่มีจุดลงตัว ประกอบกับทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจหลักของโลก ค่าเงินบาทที่ยังคงมีทิศทางแข็งค่า ทำให้ภาพการฟื้นตัวของส่งออกไทยในปีหน้ายังเป็นความท้าทายและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่สถานการณ์สงครามการค้าที่เหมือนจะมีความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเบื้องต้น แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงในการหาข้อสรุปสุดท้าย เนื่องจากการบรรลุข้อตกลงในการเจรจาขั้นถัดไปมีความซับซ้อนของประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้ง ทั้งในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา และข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่ให้จีนมีการปฏิรูปนโยบายอุตสาหกรรม รวมถึงการอุดหนุนจากภาครัฐ ทำให้สหรัฐฯ จะยังคงใช้การจัดเก็บภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองกับจีน ดังนั้น สถานการณ์ที่สหรัฐฯ เลื่อนการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมจากจีน มองว่าเป็นการยืดระยะเวลาออกไป ในขณะที่ไม่ได้มีการส่งสัญญาณถึงการยกเลิกแผนการดังกล่าว รวมถึงแผนที่จะยกเลิกภาษีนำเข้าที่ได้จัดเก็บไปแล้วในวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บรรยากาศการค้าโลกในปีหน้าจะยังถูกปกคลุมด้วยความไม่แน่นอนจากเรื่องสงครามการค้า

และเมื่อประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากโครงสร้างการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ส่งผลให้ภาพการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีหน้ายังเป็นความท้าทายและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น นโยบายการเงินการคลังแบบผ่อนคลายยังคงมีความจำเป็นในการดูแลโจทย์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้ประคองการขยายตัวได้ในกรอบการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในเบื้องต้นที่ 2.5-3.0%
กำลังโหลดความคิดเห็น